สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(3กรกฎาคม 2568)---------ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ของธนาคารที่ 'bbb' และ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating: VR) ที่ 'bbb-' และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ 'F2'
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นปัจจัยหนุนอันดับเครดิต: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของ TTB มีปัจจัยในการพิจารณามาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล หรือ GSR ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีโอกาสสูงที่รัฐบาลไทย (BBB+/Stable/F1) จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) แก่ธนาคาร ในกรณีที่จำเป็น ในขณะที่อันดับเครดิตภายในประเทศยังพิจารณาเปรียบเทียบโครงสร้างเครดิตของ TTB เทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลสะท้อนถึงความสำคัญเชิงระบบ: อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ TTB อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยอยู่ 1 อันดับ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของฟิทช์สำหรับธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ (D-SIB) รายอื่นๆ และมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ธนาคารในกรณีที่จำเป็น TTB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย นอกจากนี้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลยังพิจารณาถึงการถือหุ้นส่วนน้อยและการมีตัวแทนในคณะกรรมการของธนาคารโดยกระทรวงการคลัง แม้ประเด็นดังกล่าวจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการกำหนดอันดับเครดิต
ภาวะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่อ่อนแอลง: อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในปี 2568 ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (open economy) ที่มีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างสูง สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นข้อจำกัดต่อโอกาสการเติบโตและผลการดำเนินงานของธนาคาร ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับคะแนนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานขึ้นเป็น 'bbb' ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอันดับคะแนนตามเกณฑ์ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่ารัฐบาลไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน อาทิ มาตรการกำกับดูแลและมาตรการทางการคลังที่นำมาใช้ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
เครือข่ายธุรกิจที่ดี: อันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างธุรกิจ (business profile) ของ TTB ที่ 'bbb-' สะท้อนถึงการที่ธนาคารมีเครื่อข่ายธุรกิจที่ค่อนข้างดี ในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 แม้ขนาดธุรกิจและความหลากหลายของธุรกิจของ TTB อาจจะยังไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกันกับธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นในประเทศไทย อีกทั้งการประเมินคะแนนด้านโครงสร้างทางธุรกิจยังได้คำนึงถึงจุดแข็งของ TTB ในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย รวมถึงสถานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อีกด้วย
ระมัดระวังในการเติบโต: อันดับคะแนนปัจจัยด้านความเสี่ยง (risk profile) ที่ 'bbb-' ของ TTB สะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคารที่อยู่ในระดับปานกลางและมีความสม่ำเสมอ แม้การกระจายตัวของพอร์ตสินเชื่อยังต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น นอกจากนี้การประเมินยังรวมการพิจารณาถึงการหดตัวของสินเชื่ออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งฟิทช์เชื่อว่าสะท้อนถึงมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ระมัดระวัง ซึ่งมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไป
แรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ฟิทช์คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของ TTB จะเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.2% ในไตรมาส 1 ปี 2568 หลังจากที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 3.1% ตั้งแต่ปี 2564 ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจะปรับตัวสู่จุดสูงสุดในปี 2568 เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่อ่อนแอสำหรับสินเชื่อรายย่อยในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของ TTB น่าจะยังคงอยู่ในกรอบที่สอดคล้องกับอันดับคะแนนตามเกณฑ์ในกลุ่ม ‘bbb’ ซึ่งอยู่ที่ต่ำกว่า 4.0%
แรงกดดันต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568: อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Operating profit/RWA) ของ TTB อยู่ที่ 1.8% ในไตรมาส 1 ปี 2568 (ปี 2567: 1.8%, ปี 2566: 1.5%) แต่อาจปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของปี 2568 จากอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง ตามสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลง แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคงแนวโน้มอันดับคะแนน ‘เป็นบวก’ เนื่องจากคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ TTB อาจจะยังปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 1.5% ได้ โดยเฉพาะหากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญทยอยปรับตัวลดลงในอนาคต
ฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่งต่อเนื่อง: ฟิทช์ปรับอันดับคะแนนปัจจัยด้านเงินกองทุนและระดับหนี้สินของ TTB เป็น 'bbb+'/แนวโน้มอันดับคะแนนมีเสถียรภาพ จากเดิม 'bbb'/แนวโน้มอันดับคะแนนเป็นบวก เนื่องจากธนาคารมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 18.2% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 (ปี 2567: 16.9%) อย่างไรก็ตามอัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 อาจปรับตัวลดลงบ้างในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะจากแผนการซื้อหุ้นคืนและการจ่ายเงินปันผล แต่ทั้งนี้ฟิทช์ยังคาดว่าเงินกองทุนของธนาคารจะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น ซึ่งจะช่วยรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด
ฐานเงินฝากที่มั่นคง: อันดับคะแนนปัจจัยด้านการระดมเงินทุนและสภาพคล่องที่ 'bbb' ของ TTB สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและความสม่ำเสมอของเครือข่ายทางธุรกิจด้านเงินฝากของธนาคาร อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากปรับตัวดีขึ้นเป็น 93.9% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 (ปี 2566: 96.4%) ขณะที่อัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 229% ณ สิ้นปี 2567 และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 4 ปีที่ 194%
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ
การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน และอันดับเครดิตภายในประเทศอาจต้องมีการทบทวนการพิจารณาในกรณีที่ฟิทช์อาจมองว่าโครงสร้างเครดิตของ TTB ปรับตัวด้อยลงเมื่อเทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล หากรัฐบาลมีความสามารถที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้จากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย นอกจากนี้หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่ TTB จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมีการปรับตัวด้อยลง เช่นในกรณีที่เกิดการปรับตัวลดลงของระดับความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ เช่น การยกเลิกสถานะธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ หรือการเปลี่ยนแปลงในกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่มีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับระดับความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับลดอันดับ หากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์อย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการทบทวนการประเมินอันดับคะแนนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของอุตสาหกรรมธนาคาร และรวมถึงปัจจัยอื่นที่ใช้ในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน เช่น อันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างธุรกิจและอันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างความเสี่ยงของธนาคาร
นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB อาจถูกปรับลดอันดับได้ หากฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวอ่อนแอลงและส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับคะแนนในหลายปัจจัยในคราวเดียว เหตุการณ์ดังกล่าว อาจเกิดขึ้นได้จากในกรณีที่ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ย 4 ปี ปรับตัวเพิ่มสูงกว่า 6% อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่า 100% (ไตรมาส 1 ปี 2568: 149.6%) รวมทั้งอัตราส่วนเงินกองทุน CET1 ปรับลดลงไปที่ต่ำกว่า 13.0% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงต่ำกว่า 1.0% (ไตรมาส 1 ปี 2568: 1.8%)
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลได้รับการปรับเพิ่มอันดับ และการปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศจะพิจารณาเปรียบเทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
การที่รัฐบาลมีความสามารถในการให้การสนับสนุนแก่ TTB ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนได้จากการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของประเทศไทย อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลได้รับการเพิ่มอันดับ แต่สมมติฐานของฟิทช์ในด้านโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้หากอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ TTB ก็ไม่น่าที่จะเกิดขึ้น
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หาก TTB มีความสามารถในการหารายได้และทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีฐานะทางการเงินโดยรวมที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้จากการที่ธนาคารมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่า 2.0% อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้อย่างมีนัยสำคัญ หรือ มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมต่ำกว่า 2.7% อย่างต่อเนื่อง และรักษาความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในด้านเงินกองทุน CET 1 ให้อยู่ในเกณฑ์ดี
อันดับเครดิตหุ้นกู้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TTB ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ TTB อยู่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินในกรณีที่เป็นอันดับเครดิตภายในประเทศ (implied National VR) และเป็นอันดับเครดิตอ้างอิงของหุ้นกู้ด้อยสิทธิอยู่ 2 อันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) และสอดคล้องกับกรณีพื้นฐานตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ เนื่องจากฟิทช์มองว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิมีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืน (recovery rate) ในอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้ถูกปรับลดอันดับเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) ทั้งนี้มีการกำหนดเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (point of non-viability) คือเมื่อหน่วยงานของรัฐบาล เช่น ธนาคารกลาง ตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร
อันดับเครดิตที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาล (ex-government support: xgs)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของ TTB และอันดับเครดิตสากลที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีปัจจัยพิจารณาหลักมาจากโครงสร้างเครดิตของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ 'F3(xgs)' เทียบจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาล และสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์
อันดับเครดิตหุ้นกู้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ TTB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตของโครงการหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับโครงสร้างเครดิตของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ดังนั้นการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาล และอันดับเครดิตสากลที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ TTB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ แต่ทั้งนี้ฟิทช์จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับสถาบันสถาบันการเงินอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB จะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับเครดิตสากลที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกยกเลิก เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวจะไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต แต่อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลอาจจะไม่เปลี่ยนแปลง เว้นแต่อันดับคะแนนปัจจัยด้านการระดมเงินและสภาพคล่องของธนาคารได้รับการประเมินให้อยู่ที่ระดับ 'bbb+' หรือหากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+'
การปรับอันดับคะแนนของปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับคะแนนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์มาตรฐานที่ 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนจากปัจจัยด้านอันดับเครดิตของประเทศ
แหล่งข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการพิจารณาอันดับเครดิต
แหล่งที่มาของข้อมูลหลักที่ใช้ในการประเมินอันดับเครดิตมีรายละเอียดเปิดเผยอยู่ในเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้องของฟิทช์
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ TTB มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศรยะยะยาวของประเทศไทย
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังต่อไปนี้:
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F2’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AA+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'
- อันดับความแข็งแกร่งทารการเงินคงอันดับที่ 'bbb-'
- อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลคงอันดับที่ 'bbb'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลคงอันดับที่ 'BBB-(xgs)'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลที่คงอันดับ 'F3(xgs)'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ ‘BBB’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 คงอันดับที่ 'A(tha)'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิคงอันดับที่ 'BBB-(xgs)'