Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทิศทางอุตสาหกรรม PCB ไทย ภายใต้สงครามการค้าและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

170

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(2 กรกฎาคม 2568)-------• ไทยเป็นฐานการผลิต PCB ที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในระดับโลก โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนการผลิตคิดเป็น 4.7% ของโลกในปี 2025 จากกระแสลดการพึ่งพาจีน และการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน

• ผู้ผลิต PCB เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะ PCB ขั้นสูง อย่าง HDI PCB รวมแล้วกว่า 10 โครงการในช่วงปี 2023-2024 สะท้อนการยกระดับสู่เทคโนโลยีขั้นสูง

• มูลค่าการส่งออก PCB ไทยในปี 2025 คาดว่าจะเติบโต 3.9% แม้จะเผชิญแรงกดดันด้านภาษีจากสหรัฐฯ โดยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตที่ 0.4% ชะลอลงจากครึ่งแรกที่เติบโตสูงถึง 8.0% จากการเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ ก่อนการขึ้นภาษีทรัมป์


ไทยเป็นฐานผลิต PCB สำคัญของโลก ท่ามกลางกระแสลดการพึ่งพาจีน

ไทยเป็นผู้ผลิต PCB รายสำคัญของโลก โดยคาดว่าปีนี้จะมีสัดส่วนการผลิตราว 4.7% ของโลก เพิ่มขึ้นจากราว 2.5% ในปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ปัจจัยดังกล่าวรวมถึงความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันช่วงปลายปี 2022 เร่งกระแสลดการพึ่งพาจีน และผลักดันการย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รวมถึง PCB มายังอาเซียน โดยไทย เวียดนาม และมาเลเซียเป็นจุดหมายหลักในการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน

ท่ามกลางกระแสย้ายฐานผลิต ผู้ผลิต PCB รายใหญ่ 25 อันดับแรกของโลกได้ทยอยเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิต PCB ในอาเซียน โดยมีการตั้งโรงงานในไทยใหม่จำนวน 9 โรงงาน ซึ่งมากกว่าเวียดนามและมาเลเซียที่รวมกันมีเพียง 6 โรงงาน (รูปที่ 1)
ทั้งนี้ ไทยเป็นจุดหมายหลักของการลงทุน เนื่องจากมีห่วงโซ่อุปทาน PCB ครบวงจร และเป็นแหล่งผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ PCB เป็นจำนวนมาก โดยเงินลงทุนเฉลี่ยในช่วงปี 2023-2024 มีมูลค่ามากกว่าช่วงปี 2020-2022 ถึงเกือบ 6 เท่า (รูปที่ 2)

การย้ายฐานผลิตยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรม PCB ไทยสู่เทคโนโลยีขั้นสูง
การลงทุน PCB ขั้นสูงในไทย มีทิศทางเพิ่มขึ้นตามกระแสลดการพึ่งพาจีน โครงการลงทุนส่วนใหญ่หลังสงครามการค้ารอบแรกมุ่งเน้นไปที่การผลิต Multi-layer PCB ซึ่งเป็น PCB แบบหลายชั้นที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมรรถนะสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2023 ไทยเริ่มมีโครงการลงทุนใน High Density Interconnection (HDI) PCB ซึ่งเป็นแผงวงจรความหนาแน่นสูงสำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น สมาร์ทโฟนและดาวเทียม รวมแล้วกว่า 10 โครงการ (รูปที่ 3)

ส่งออก PCB ไทยในปี 2025 เผชิญแรงกดดันจากภาษีทรัมป์ 2.0
แม้ไทยจะได้รับอานิสงส์จากการลดการพึ่งพาจีน แต่ในปี 2025 ส่งออก PCB ไทยก็ต้องเผชิญแรงกดดันใหม่จากมาตรการภาษี Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ โดยสินค้า PCB ไทยถูกเก็บภาษีในอัตรา 36% ก่อนที่สหรัฐฯ จะปรับลดชั่วคราวเหลือ 10% ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 8 กรกฎาคม 2025

การส่งออก PCB ไทยในปี 2025 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน (รูปที่ 4) โดยเป็นผลจากการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8.0% จากการเร่งส่งออกล่วงหน้าก่อนมาตรการภาษีมีผลในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอลง โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.4% จากผลกระทบของมาตรการภาษีที่เริ่มบังคับใช้แล้ว

ความเสี่ยงของอุตสาหกรรม PCB
• ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญของอุตสาหกรรม PCB เนื่องจากกระบวนการผลิตอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายรูปแบบ เช่น จากการใช้สารเคมีและโลหะหนัก ที่หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสมตามมาตรฐาน อาจส่งผลให้เกิดการรั่วไหลได้ จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างทั่วถึงเพื่อป้องกันผลกระทบในระยะยาว
• ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า สหรัฐฯ อาจพิจารณาบังคับใช้มาตรา 232 กับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจรวมถึง PCB นอกเหนือจากภาษี reciprocal tariff
• ผู้ผลิตที่มาลงทุน PCB ในไทยอาจไม่ลงทุนเพิ่มเติม หากไทยเสียเปรียบด้านการเจรจาภาษีทรัมป์เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และ มาเลเซีย

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

กองหนุน By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ วานนี้ เห็นพลังกองทุน ซื้อคนเดียว แบกของ วันนี้เชื่อว่า กองทุน กองหนุน คงทำหน้าที่ต่อเนื่อง..

มัลติมีเดีย

รู้จักพร้อมเปิดพื้นฐาน NUT ก่อนเทรด 11 มิ.ย.- สายตรงอินไซด์ - 9 มิ.ย.68

รู้จักพร้อมเปิดพื้นฐาน NUT ก่อนเทรด 11 มิ.ย.- สายตรงอินไซด์ - 9 มิ.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้