Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

HSBC Private Bank แนะกลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 3 ปี 2568 ในธีม ฝ่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจด้วยพอร์ตลงทุนที่ยืดหยุ่น

122


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(2 กรกฎาคม 2568)--------ภายใต้ความไม่แน่นอนของการค้าโลก เอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ (HSBC Private Bank) แนะนำให้นักลงทุนสร้างพอร์ตการลงทุนที่แข็งแกร่ง ผ่านการกระจายการลงทุนแบบหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก การบริหารจัดการเชิงรุก การลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพ และธีมการเติบโตเชิงโครงสร้าง

สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ธนาคารยังคงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นโลกเล็กน้อย โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมองว่าตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากโอกาสการเติบโตเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานและกระบวนการสร้างรายได้จากนวัตกรรม

ในด้านตราสารหนี้ ธนาคารมีมุมมองเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ และพันธบัตรการลงทุนของยุโรป และมีมุมมองที่เป็นกลางต่อตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ โดยกลยุทธ์นี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการตอบโต้มาตรการภาษีระหว่างประเทศ และความกังวลต่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) พันธบัตรเอกชน และการจัดสรรกลยุทธ์การลงทุนในหลักทรัพย์นอกตลาด (Private Equity) สินเชื่อภาคเอกชน และโครงสร้างพื้นฐาน

ในด้านค่าเงิน ธนาคารมีมุมมองเป็นกลางต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมองว่าความเสี่ยงเชิงนโยบายจะถูกชดเชยจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ โดยธนาคารยังคงเน้นกลยุทธ์ป้องกันความผันผวนสองทิศทาง (two-way volatility) ของค่าเงิน ผ่านการถือครองทองคำและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ พร้อมกลยุทธ์ลดความเสี่ยงด้านความผันผวน

นางชึก วาน ฟาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน ประจำภูมิภาคเอเชีย (Chief Investment Officer, Asia) ของเอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ กล่าวว่า ความไม่แน่นอนด้านนโยบายได้ท้าทายแนวคิด ‘ความพิเศษเหนือชาติอื่นของอเมริกา’ (US exceptionalism) และส่งแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เราคาดการณ์ว่ากำไรของภาคธุรกิจจะยังคงแข็งแกร่ง มาตรการลดภาษี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมถึงนโยบายกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมและการผ่อนคลายกฎระเบียบจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากที่เคลื่อนไหวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรก แต่เราไม่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (stagflation) แต่คาดว่าการเก็บภาษีที่สูงขึ้นอาจทำให้การเติบโตของ GDP ของสหรัฐฯ ชะลอตัว เหลือเพียง 1.6% ในปี 2568 และ 1.3% ในปี 2569 ทั้งนี้ การเติบโตของกำไรจากการลงทุนใน AI และการสนับสนุนจากนโยบายที่เป็นมิตรต่อตลาดในช่วงครึ่งปีหลังจะช่วยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นทั่วโลก เล็กน้อย

“แนวทางของสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการเจรจาแทนการเผชิญหน้าโดยตรง ช่วยเสริมบรรยากาศการลงทุนในตลาดเอเชีย เราจึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเอเชีย ที่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยภายในประเทศและนโยบายภาครัฐ เช่น จีน อินเดีย และสิงคโปร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ต่ำมาก โดยอยู่ที่ 2.2%, 3.3% และ 2.0% ตามลำดับ” นางชึก กล่าวเสริม

“เศรษฐกิจจีนมีความเปราะบางต่อภาษีของสหรัฐฯ น้อยลงกว่าช่วงปี 2561 เนื่องจากจีนลดการพึ่งพาการค้าโดยตรงกับสหรัฐฯ ปัจจุบันมีเพียงราว 13% ของการนำเข้าสหรัฐฯ ที่มาจากจีน และมีเพียงไม่ถึง 15% ของการส่งออกของจีนที่ไปยังสหรัฐฯ โดยในปี 2567 ประมาณ 70% ของเศรษฐกิจทั่วโลกมีการค้ากับจีนมากกว่าสหรัฐฯ ทำให้เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนระหว่างประเทศที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ ไปสู่ตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในเอเชีย” นางชึก กล่าวเสริม

“เราเห็นว่าตราสารหนี้คุณภาพดี (quality bonds) เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว และในขณะที่ยังมีมูลค่าที่น่าดึงดูด เราจึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ และตราสารหนี้การลงทุนของยุโรป แม้จะมีความกังวลต่อปัญหาหนี้และการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ แต่เรายังคงมีมุมมองเป็นกลางต่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรเอกชนของสหรัฐฯ เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนที่สูงและมีค่าความเสี่ยงต่ำ” นางชึก กล่าวสรุป

เอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ แนะ 4 กลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 3 ปี 2568

(1) เพิ่มการลงทุนในหุ้น โดยกระจายความเสี่ยงผ่านภูมิภาคและกลุ่มอุตสาหกรรมการขยายการลงทุนในหุ้นอย่างทั่วถึงช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงธีมการลงทุนใหม่ ๆ และช่วยลดผลกระทบจากการปรับตัวของตลาดที่ไม่คาดคิด โดยโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจจำนวนมากมักกระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคและอุตสาหกรรม

(2) คว้าโอกาสการเติบโตทั่วโลกจากการนำ AI มาใช้และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วในทุกอุตสาหกรรม โดยเปลี่ยนการให้ความสำคัญจากกลุ่มฮาร์ดแวร์และเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ไปยังกลุ่มซอฟต์แวร์และองค์กรที่นำ AI มาใช้จริงในระดับกลางถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการประยุกต์ใช้ AI และกระบวนการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์

(3) ลดความเสี่ยงของพอร์ตด้วยกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก การกระจายสินทรัพย์ และกลยุทธ์จัดการความผันผวน

กลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ผสม (Multi-Asset) สามารถช่วยลดความผันผวนของพอร์ตในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูงได้ โดยสินทรัพย์ทางเลือกและกลยุทธ์จัดการความผันผวนสามารถทำหน้าที่ป้องกันความเสี่ยงด้านขาลงในตลาดหุ้น พันธบัตร และสกุลเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(4) เพิ่มโอกาสจากความแข็งแกร่งภายในของเอเชียและการเติบโตเชิงโครงสร้างภายใต้สภาวะความไม่แน่นอนทางการค้าโลก เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการกระจายความเสี่ยงและโอกาสการเติบโตในระยะยาว โดยเฉพาะตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศ เช่น จีน อินเดีย และสิงคโปร์

แนวโน้มการลงทุนในเอเชียในไตรมาสที่ 3 ปีพ.ศ. 2568


เอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ แนะนำ 4 ธีมการลงทุนในเอเชียที่น่าสนใจที่สุด ภายใต้แนวคิดหลัก “เอเชียในระเบียบโลกใหม่” (Asia in the New World Order)

• แชมป์นวัตกรรมของจีน


ธีมการลงทุนนี้เน้นโอกาสการเติบโตเชิงโครงสร้างจากการเร่งพัฒนาและการสร้างรายได้จากเทคโนโลยี AI ของจีน โดยได้รับแรงผลักดันจากนวัตกรรมแบบโอเพ่นซอร์สของบริษัท DeepSeek ขณะที่จีนแซงหน้าสหรัฐฯ และยุโรปในด้านผลผลิตงานวิจัย AI ทำให้ประเทศจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกในปัจจุบัน ได้ครอบครองสิทธิบัตรด้าน AI มากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของทั้งหมดในโลก และมีนักวิจัย AI ประมาณ 50% ของทั่วโลกอาศัยอยู่ในจีน โดยหลังจากที่เกิดการปรับมูลค่าหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีจีนโดยมี DeepSeek เป็นผู้นำ ธนาคารยังคงมองว่าหุ้นเทคโนโลยีของจีนยังมีราคาต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ แต่หากจีนยังสามารถสร้างความก้าวหน้าในด้าน AI ได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถช่วยลดช่องว่างด้านมูลค่าหุ้นในระยะยาวได้


• เร่งผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้นในเอเชีย


ท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาด เรายังคงมองหาผลตอบแทนจากหุ้นที่มีความผันผวนน้อยในทุกสภาวะตลาด โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการเพิ่มผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ผ่านการจ่ายเงินปันผลสูงและการซื้อหุ้นคืน จากคาดว่าผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 11% ในปีที่ผ่านมา เป็น 12.5% ภายในปี 2569


• บริษัทเอเชียที่ยืนหยัดระยะยาว


ธีมนี้เน้นไปที่บริษัทขนาดใหญ่และขนาดใหญ่มากที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของเอเชีย โดยบริษัทเหล่านี้มีโมเดลธุรกิจที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่น มีงบดุลที่แข็งแกร่ง และแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง


เราคัดเลือกผู้นำในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มเทคโนโลยี การเงิน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็น ซึ่งเราเชื่อว่านักลงทุนระยะยาวสามารถใช้เป็นแกนกลางของพอร์ตการลงทุนเชิงกลยุทธ์ได้ ดัชนี S&P Asia 50 ซึ่งประกอบด้วยหุ้นบลูชิพ 50 อันดับแรกของเอเชีย ปัจจุบันซื้อขายที่ราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญ


• ตราสารหนี้คุณภาพในเอเชีย


ธนาคารคาดว่า ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม จากแนวโน้มเงินเฟ้อลดลงและความไม่แน่นอนด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดตราสารหนี้ในเอเชียที่ได้รับแรงสนับสนุนจากกระแสเงินลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงและความต้องการรายได้ที่มั่นคงจากนักลงทุนในประเทศ ธีมนี้เน้นไปที่ตราสารหนี้การลงทุนในเอเชีย รวมถึงพันธบัตรภาคเอกชนของญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเครดิตทางการเงินในเอเชีย
เรามีมุมมองเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินของจีน และพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของอินเดีย เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ ในขณะเดียวกัน เรายังเห็นโอกาสที่น่าสนใจในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม (TMT) ของจีน รวมถึงพันธบัตรธุรกิจเกมในมาเก๊า

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและคำแนะนำการลงทุนไตรมาสที่ 3 ปีพ.ศ. 2568

นายเจมส์ เชียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย (Chief Investment Officer, Southeast Asia and India) ของเอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 เริ่มต้นได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย GDP ไตรมาสแรกขยายตัวถึง 3.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของการนำเข้าสินค้าบริการ และการผลิตขยายตัว 0.7% สะท้อนถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสัญญาณเชิงบวก แต่ความต้องการบริโภคภายในประเทศยังคงเปราะบาง ขณะที่ภาคเอกชนมีการระบายสินค้าคงคลังต่อเนื่อง ซึ่งอาจสะท้อนถึงแรงขับเคลื่อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแออยู่

การเติบโตที่เกินคาดดังกล่าว สร้างความท้าทายต่อแนวโน้มนโยบายการเงินในระยะสั้น แม้เงินเฟ้อจะชะลอลง และการแข่งขันจากการนำเข้าสินค้าจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีน อาจส่งผลให้มีการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดกลับเพิ่มความเสี่ยงให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม ทั้งนี้ ความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังถูกจำกัดโดยระดับหนี้ครัวเรือนและหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง

“หากมองไปข้างหน้า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และไทย หากการเติบโตชะลอลง อาจส่งผลให้ ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ในช่วงปลายปีนี้ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ดังนั้น เราคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ (USD-THB) จะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2568” นายเจมส์ กล่าว

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

กองหนุน By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ วานนี้ เห็นพลังกองทุน ซื้อคนเดียว แบกของ วันนี้เชื่อว่า กองทุน กองหนุน คงทำหน้าที่ต่อเนื่อง..

มัลติมีเดีย

รู้จักพร้อมเปิดพื้นฐาน NUT ก่อนเทรด 11 มิ.ย.- สายตรงอินไซด์ - 9 มิ.ย.68

รู้จักพร้อมเปิดพื้นฐาน NUT ก่อนเทรด 11 มิ.ย.- สายตรงอินไซด์ - 9 มิ.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้