สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(27 พฤษภาคม 2568)-------ในปีนี้ นอร์เวย์ประสบความสำเร็จในการก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยปริมาณการส่งออกอาหารทะเลระดับพรีเมียมกว่า 2.8 ล้านตัน ไปยัง 150 ตลาดทั่วโลก หรือเทียบเท่ามื้ออาหารกว่า 38 ล้านมื้อต่อวัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5.60 แสนล้านบาท (1.75 แสนล้านโครนนอร์เวย์) ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในประวัติศาสตร์การส่งออกอาหารทะเลของนอร์เวย์ สำหรับประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นตลาดอันดับหนึ่งของนอร์เวย์ในภูมิภาคนี้ โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 13% ที่หนึ่งหมื่นล้านบาท (3.06 พันล้านโครนนอร์เวย์) และมีปริมาณเพิ่มขึ้น 8% คิดเป็น 42,500 ตัน โดยในจำนวนนี้ 91% เป็นปลาในตระกูลแซลมอนสด (แซลมอนและฟยอร์ดเทราต์รวมกัน) สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภคชาวไทยที่มีต่ออาหารทะเลสดคุณภาพสูง และจุดยืนของแบรนด์ ‘Seafood from Norway’ ที่แข็งแกร่งในประเทศไทย
ภายในงาน THAIFEX – Anuga Asia 2025 ผู้ส่งออกอาหารทะเลจากนอร์เวย์จำนวน 21 ราย ได้ร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารทะเลระดับพรีเมียมหลากหลายชนิด ในระหว่างวันที่ 27 – 31 พฤษภาคม ณ Seafood from Norway Pavilion อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 ประตูทางเข้า 1 หมายเลขบูธ K29 – L29 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายคริสเตียน เครเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) เปิดเผยว่า “ปี 2567 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการผลิตแซลมอนเป็นอย่างมาก รวมถึงความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม นอร์เวย์ยังสามารถส่งออกทะเลกว่า 60 สายพันธุ์ ไปมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลของนอร์เวย์ก็เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วงปี 2563 ถึง 2567 เพียงระยะเวลาห้าปี มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นราว 2.25 แสนล้านบาท (เจ็ดหมื่นล้านโครนนอร์เวย์) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอาหารทะเลจากนอร์เวย์ในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี”
นอร์เวย์อยู่ในสภาพแวดล้อมทางการค้าที่เอื้ออำนวยสำหรับการทำการตลาดในประเทศไทย อันเป็นผลมาจากความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่เพิ่งลงนามร่วมกันภายใต้กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ในปัจจุบัน อาหารทะเลมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดจากนอร์เวย์มายังประเทศไทย ความตกลงนี้คาดว่าจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้า กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า และลดภาษีนำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์ในช่วงอีกหลายปีข้างหน้า โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดประเทศไทยจะเติบโตขึ้นถึง 16% ภายในปี 2573
นางสาวโอซฮิลด์ นัคเค่น ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) เปิดเผยว่า “ตลาดประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องสำหรับอาหารทะเลจากนอร์เวย์ แซลมอนครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 70% และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ขณะที่ฟยอร์ดเทราต์ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน และนอร์วีเจียนซาบะก็เป็นเมนูที่พบได้บ่อยในร้านอาหารญี่ปุ่น ในประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นกว่า 5,700 แห่ง และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการบริโภคอาหารทะเลจากนอร์เวย์”
ในปี 2567 ประเทศไทยนำเข้าปลาแซลมอนจำนวนทั้งสิ้น 19,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าหกพันล้านบาท (1.9 พันล้านโครนนอร์เวย์), ฟยอร์ดเทราต์จำนวน 8,000 ตัน มูลค่า 2.31 พันล้านบาท (722 ล้านโครนนอร์เวย์), และนอร์วีเจียนซาบะจำนวน 11,500 ตัน มูลค่า 940 ล้านบาท (293 ล้านโครนนอร์เวย์)
“ปี 2568 เป็นอีกหนึ่งปีที่น่าตื่นเต้น เพราะยังเป็นโอกาสครบรอบ 120 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและนอร์เวย์อีกด้วย เราเตรียมกิจกรรมการตลาดไว้มากมาย อาทิ แคมเปญ ‘Salmon Saturday เสาร์สุดฟิน ชวนกินแซลมอน’ ที่เชิญชวนให้ผู้บริโภคเลือกกินหรือทำเมนูแซลมอนในวันเสาร์ โดยร่วมมือกับร้านอาหารและร้านค้าพาร์ทเนอร์ทั่วประเทศ, แคมเปญ ‘From Sea to Sky: 120 Years of Friendship จากท้องทะเลสู่น่านฟ้า 120 ปีแห่งมิตรภาพไทย-นอร์เวย์’ ร่วมกับการบินไทย, เทศกาล Seafood from Norway ซึ่งมุ่งสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารทะเลจากนอร์เวย์ในวงกว้าง ตลอดจนกิจกรรมอีกมากมายตลอดทั้งปี”