สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(19 พฤษภาคม 2568)-------------สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทอ่อนค่าตามราคาทองคำในตลาดโลก ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาบางส่วนตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณอ่อนแอ
เงินบาทอ่อนค่าตามการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกและสัญญาณขายสุทธิของต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทย ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นรับข่าวสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงปรับลดอัตราภาษีศุลกากรฝ่ายละ 115% เป็นเวลา 90 วัน ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะยังไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจากคำกล่าวของรมว. คลัง สหรัฐฯ ที่ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการทำให้การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ เป็นประเด็นในการหารือเพื่อเจรจาการค้า
เงินบาทแข็งค่ากลับมาช่วงปลายสัปดาห์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณอ่อนแอกดดันเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากยังมีแรงขายทำกำไรทองคำในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง
• ในวันศุกร์ที่ 16 พ.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 พ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,361 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 19,880 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 18,818 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,062 ล้านบาท)
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 19-23 พ.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.80-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 ของไทย สถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าสำคัญ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย. ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางอินโดนีเซีย รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีน ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย. และดัชนี PMI เดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่นเช่นกัน