Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ หน่วยงานพันธมิตร เปิดตัว 'คู่มือการบริหารจัดการด้านบัญชีและภาษี ในภาวะวิกฤติ - ภัยพิบัติ'

75

 สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(10 พฤษภาคม 2568)---------------กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านบัญชีและภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร สภาวิชาชีพบัญชี สำนักงานประกันสังคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมสำนักงานด้านบัญชี และสมาพันธ์ SME จัดทำ 'คู่มือการบริหารจัดการด้านบัญชีและภาษี ในภาวะวิกฤติ - ภัยพิบัติ' เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ประสบภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขจัดปัญหาและอุปสรรคด้านบัญชีและภาษีอากร ลดอัตราการกระทำผิดของธุรกิจ และสามารถดำเนินธุรกิจภายหลังประสบภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วโดยไม่สะดุด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ในรอบปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น สถานการณ์การเกิดอุทกภัยในจังหวัดภาคเหนือ หรือภูมิภาคอื่นๆ โดยในปี 2568 นี้ มีพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว 47 จังหวัด มีธุรกิจในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 336,282 ราย หรือแม้แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวทั่วประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างต่อภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางธุรกิจเอกสารทางบัญชีและภาษีสูญหายหรือเสียหาย ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดภาวะชะงักงัน

ที่ผ่านมาเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นส่งผลให้ธุรกิจเกิดการหยุดชะงัก ผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับการซ่อมแซมอาคารสถานที่ และฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาประกอบการได้โดยเร็วที่สุด จนทำให้ลืมการดำเนินการเกี่ยวกับสมุดบัญชี เอกสารหลักฐานต่างๆ หรือการจัดทำบัญชีและงบการเงินว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรจึงจะถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้ง ไม่ทราบว่าจะต้องติดต่อแต่ละหน่วยงานอย่างไร เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนบางครั้งธุรกิจได้รับผลกระทบจากการไม่ดำเนินการตามกฎหมาย หรือดำเนินการล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะผลกระทบด้านบัญชีและภาษีอากร เช่น การแจ้งเอกสารทางบัญชีและภาษีอากรสูญหาย/เสียหาย การไม่ส่งงบการเงินภายในกำหนดเวลา การบันทึกหรือปรับปรุงบัญชีที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจด้านการบัญชี ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคเมื่อภาคธุรกิจประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงมีแนวคิดที่จะช่วยบรรเทาปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวแก่ภาคธุรกิจ โดยได้เชิญหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพากร สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานประกันสังคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ สมาคมสำนักงานบัญชีไทย สมาคมสำนักงานสอบบัญชีไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมกันจัดทำ 'คู่มือการบริหารจัดการด้านบัญชีและภาษี ในภาวะวิกฤติ - ภัยพิบัติ' เพื่อเป็นแนวทางและแหล่งความรู้แก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ประสบภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ให้สามารถดำเนินการด้านบัญชีและภาษีอากรได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ลดอัตราการกระทำผิด เพื่อให้ธุรกิจก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงโดยไม่สะดุด

ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่สนใจสามารถดาวน์โหลด 'คู่มือการบริหารจัดการด้านบัญชีและภาษี ในภาวะวิกฤติ - ภัยพิบัติ' ได้แล้ว ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th >> คู่มือการทำธุรกิจ >> คลังความรู้ ทั้งนี้ ในคู่มือฯ ได้ใส่หมายเลขโทรศัพท์และช่องทางการติดต่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น *กองกำกับบัญชีธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า *ศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร และ *สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้โดยตรง

ทั้งนี้ กรมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า 'คู่มือการบริหารจัดการด้านบัญชีและภาษี ในภาวะวิกฤติ - ภัยพิบัติ' จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจในยามที่เกิดภาวะวิกฤติที่เกิดจากเหตุภัยธรรมชาติ และช่วยให้ผู้ประกอบการมีคู่มือฯ นำทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผ่านพ้นไปด้วยดีและรวดเร็ว

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

ประคับประคอง By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ บ่ายวันนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย คงประคับ ประคอง แกว่งตัวไปมา ท่ามกลาง บริษัทจดทะเบียนไทย...

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้