Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

ส.อ.ท. ผนึก 9 พันธมิตร ยกระดับการบริหารจัดการน้ำของประเทศสู่ “เศรษฐกิจน้ำที่มั่นคงและยั่งยืน”

77


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(8 พฤษภาคม 2568)-------สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 9 หน่วยงานหลักด้านน้ำทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ภายใต้แนวคิด “น้ำมั่นคง น้ำยั่งยืน” สะท้อนความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการสร้างระบบเศรษฐกิจน้ำที่พร้อมรับมือกับความท้าทายของอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ดร.ชนะ ภูมี ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และความยั่งยืนของเศรษฐกิจโดยรวม เราต้องยกระดับประสิทธิภาพการใช้น้ำและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดร.ชนะ กล่าว
ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ปี 2564 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยยังมีประสิทธิภาพการใช้น้ำเฉลี่ยเพียง 7.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 238 บาท (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 31.76 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงเกือบ 3 เท่า โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมซึ่งมีการใช้น้ำถึง 75% ของประเทศ แต่สร้างมูลค่าเพียง 11.4 บาท/ลบ.ม. ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ใช้น้ำน้อยกว่า (รวม 25%) แต่สร้างมูลค่าสูงถึง 1,059 และ 931 บาท/ลบ.ม. ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าจากการใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด และความจำเป็นในการวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำอย่างรอบด้าน เพื่อตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ การอุปโภคบริโภค และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ดร.ชนะ กล่าวย้ำว่า “เรากำลังเผชิญกับโจทย์ใหญ่ด้านทรัพยากรน้ำในทุกมิติ การร่วมมือกันในวันนี้คือจุดเริ่มต้นสำคัญของการขับเคลื่อนให้การจัดการน้ำไม่ใช่เพียงเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือภารกิจร่วมของทั้งสังคมไทย ที่สะท้อนถึงความตระหนักร่วมกันของทุกภาคส่วน ต่อความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น และแม้ประเทศไทยจะมีประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งมาโดยตลอด แต่การผนึกกำลังครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างรอบด้าน” เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และยั่งยืน”

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศ จะมีการดำเนินงานผ่าน 5 เสาหลักสำคัญ ได้แก่
1. สมดุลน้ำและข้อมูล (Water Balance & Data): ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล การติดตาม ประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ
2. การบริหารจัดการเชิงระบบ (Systematic Management): สนับสนุนข้อมูลและการบริหารจัดการแบบบูรณาการ สร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของน้ำทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
3. องค์ความรู้และนวัตกรรม (Water Innovation): ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ผ่านการฝึกอบรมและศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ
4. เครือข่าย WARROOM ระดับพื้นที่ (Local Water War Room): ยกระดับการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่ด้วยการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประเมินสถานการณ์น้ำ
5. การสื่อสารข้อมูล (Water Communication): สังเคราะห์และนำเสนอข้อมูลสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย
ความร่วมมือครั้งนี้มีพันธมิตรจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
• ด้านนโยบายและแหล่งน้ำ: สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
• ด้านข้อมูลและการพยากรณ์: สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.), กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมควบคุมมลพิษ
• ด้านการใช้น้ำและภาคเอกชน: การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), สมาคมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเอกชน, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
การขับเคลื่อนนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำ (Water Management) และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการใช้น้ำ (Water Productivity) อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำท่าจีน เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยง และเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาว
ส.อ.ท. เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศไปสู่ความยั่งยืน สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างแท้จริง
รายชื่อหน่วยงานที่ร่วมลงนาม MOU:
1. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
2. 2. กรมชลประทาน
3. 3. กรมทรัพยากรน้ำ
4. 4. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
5. 5. สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.)
6. 6. กรมอุตุนิยมวิทยา
7. 7. กรมควบคุมมลพิษ
8. 8. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
9. 9. สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทย และพันธมิตร
10. 10. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

เฟด คงดอกเบี้ย By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย พัก แบบปรับฐาน ในเช้าวันนี้ หลังจากวานนี้ ดัชนฯพุ่งแรง ประกอบกับ เฟด ....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้