สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(6 พฤษภาคม 2568)-------ซีบีอาร์อี ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก มองเห็นการเติบโตและความสามารถในการปรับตัวที่โดดเด่นของภาคธุรกิจค้าปลีกสินค้าลักซ์ชัวรี่ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ตลาดมีมูลค่าถึง 1.47 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปีจนถึงปี 2571 และจะส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในแถวหน้าของตลาดค้าปลีกสินค้าลักซ์ชัวรี่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจัดอยู่อันดับที่ 7 ในเอเชียแปซิฟิก
รายงานแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2568 ของ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงการผนึกกำลังที่แข็งแกร่งระหว่างภาคการท่องเที่ยวและค้าปลีก ด้วยแรงสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 35.5 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาในปี 2567 และการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ศูนย์การค้าในเขตใจกลางกรุงเทพฯ กว่า 410,000 ตารางเมตรช่วงระหว่างปี 2567-2568 การขยายตัวอย่างมากนี้มอบโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ค้าปลีกสินค้าแบรนด์หรู เนื่องจากความต้องการจากลูกค้าผู้มีรายได้สูงในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นเพิ่มสูงขึ้น
นอกเหนือจากผลประโยชนี้ที่มาจากการท่องเที่ยวแล้ว ประเทศไทยยังมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่มีกำลังซื้อสูง ผ่านโครงการวีซ่าระยะยาว รวมถึงการที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะ "แหล่งพักพิงที่ปลอดภัย (Safe Haven)" นอกจากนี้ จากการที่สายการบินได้กลับมาให้บริการเที่ยวบินตามปกติและนโยบายวีซ่าที่เอื้ออำนวย คาดว่า จำนวนกลุ่มผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individual - HNWI) ทั้งที่เดินทางมาเยือนและอาศัยอยู่ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีก
ผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกได้ตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ค้าปลีกระดับชั้นนำในศูนย์การค้าหลักในย่านใจกลางธุรกิจ โดยการให้ความสำคัญกับแบรนด์หรู ผ่านการยกระดับประสบการณ์ด้วยการนำเสนอร้านอาหารชั้นเลิศและความบันเทิงระดับพรีเมียม รวมถึงออกแบบผังร้านใหม่สำหรับแฟล็กชิปสโตร์และโซนสินค้าหรูโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอบริการอื่น ๆ เช่น ล่ามแปลภาษาที่มีความหลากหลาย และสินค้าปลอดภาษี เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า
ในปัจจุบัน แบรนด์หรูที่เข้ามาหรือขยายธุรกิจในประเทศไทยนั้นมีความพิถีพิถันในการเลือกสถานที่ โดยนิยมเลือกสถานที่ที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์และฐานลูกค้าของตนเองค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลต่อแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มผู้พัฒนาและผู้บริหารศูนย์การค้า ให้มุ่งเป้าไปยังพื้นที่ที่มีกลุ่ม HNWI หนาแน่นเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น การเติบโตของย่านลุมพินีในกรุงเทพฯ ที่มีการเติบโตจากการลงทุนที่นำมาซึ่งการปรับโฉมและขยายสาขาของเซ็นทรัล ชิดลม รวมถึงเซ็นทรัล เอ็มบาสซี อีกทั้งยังมีตัวอย่างของ DIOR Gold House อันเป็นคอนเซปต์สโตร์ของแบรนด์ Dior ที่ตั้งอยู่ในย่านนี้ด้วย สำหรับตลาดภูเก็ตเองซึ่งมีกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงนั้นก็มีความคึกคักของการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ไม่แพ้กัน เช่น การปรับโฉมและเพิ่มพื้นที่ค้าปลีกของเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า และการวางแผนเปิดสยามพรีเมียมเอาท์เล็ตแห่งที่สองของสยามพิวรรธน์
ทำเลที่ตั้ง การเข้าถึง และการมองเห็น ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในโครงการค้าปลีกที่พัฒนาแบบผสมผสาน ตัวอย่างเช่น ดิ เอ็ม ดิสทริค ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่ได้อานิสงค์จากการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน และการที่สยามพิวรรธน์วางแผนเพิ่มแบรนด์หรูพิเศษอีกกว่า 15 แบรนด์ใหม่ให้กับสยามพารากอนและไอคอนสยามในปี 2568 จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความต้องการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องต่อแหล่งช้อปปิ้งระดับไฮเอนด์ การจัดสัดส่วนของร้านค้าที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน รวมถึงการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เหนือกว่าในศูนย์การค้าเหล่านี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความแตกต่าง ดึงดูดแบรนด์หรูรายใหม่ ๆ และยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งสินค้าหรูให้กับโครงการค้าปลีกอย่างมีนัยสำคัญ
อีกแนวโน้มที่น่าสังเกตคือ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่การค้าปลีกแบบเดิมให้กลายเป็นพื้นที่ค้าปลีกเชิงประสบการณ์ เนื่องจากแบรนด์ต่างก็มองหาพื้นที่ที่ยืดหยุ่นและสามารถสร้างประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตน เพื่อให้ผู้คนสามารถมีส่วนร่วมและแชร์ประสบการณ์ต่อได้ โครงการ เกษรวิลเลจ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ “LV The Place Bangkok” ของ Louis Vuitton เป็นตัวอย่างของการสร้างพื้นที่แบบหลายมิติ โดยผสานพื้นที่ค้าปลีก ร้านอาหาร และพื้นที่จัดนิทรรศการ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและความตระหนักรู้เกี่ยวกับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
“วิวัฒนาการของธุรกิจสินค้าแบรนด์หรูของประเทศไทยขับเคลื่อนโดยการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง จำนวนบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูงที่เดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น และความต้องการประสบการณ์ค้าปลีกที่เหนือกว่า ผู้พัฒนาและผู้ค้าปลีกที่ให้ความสำคัญกับทำเลที่ตั้ง นวัตกรรม และการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าประทับใจ จะสามารถก้าวไปพร้อมการเติบโตรอบใหม่ได้” นางสาวโชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการและวิจัยตลาด ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว
จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของพื้นที่ค้าปลีกและฐานผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น คาดว่าการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และในขณะที่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นตลาดสินค้าแบรนด์หรูชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การผนึกกำลังระหว่างภาคการท่องเที่ยวและการค้าปลีกจึงยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดอนาคตของภาคธุรกิจนี้