AT THE OPEN (#ATO)
SET Index อยู่ในรอบ Sideways/Sideway Up
กลยุทธ์เลือกหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ
Market Strategy
SET Index ขยับกรอบขึ้นไปที่ 1150-1170 จุด หนุนจากกำแพงภาษีสหรัฐฯ ที่อยู่บนความคาดหวังต่อความคืบหน้าเจรจา ผสานแรงเก็งกำไรหุ้นที่คาดงบเติบโตดี หุ้น Top Pick ประจำสัปดาห์นี้เลือก MTC และหุ้นเด่นของวันเลือก NER
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับขึ้นทุกดัชนีเฉลี่ย 0.7% หนุนจากการรายงานงบ 1Q68 ดีกว่าตลาดคาดและแรงกดดันต่อกำแพงภาษีสหรัฐฯ ที่ลดลง โดยคุณทรัมป์เผยจะได้ข้อสรุปข้อตกลงการค้ากับประเทศคู่ค้าในช่วง 3-4 สัปดาห้ข้างหน้า ด้านท่าทีของจีนอิงรายงาน WSJ เผยว่ากำลังพิจารณายกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ บางรายการ เช่น เซมิคอนดักเตอร์บางประเภท เครื่องผลิตชิป วัคซีน ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยา เป็นต้น ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น เราเชื่อว่าจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความคืบหน้าในทางบวกทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหุ้นอินเดีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ กลับมายืนเหนือก่อนวันประกาศภาษีตอบโต้ (2 เม.ย.) ไปแล้ว สำหรับบ้านเราคงต้องติดตามพัฒนาการว่าจะสามารถนัดเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้เมื่อใด
สำหรับประเด็นอื่นๆเราให้น้ำหนักไปที่การรายงานงบ 1Q68 จากการรวบรวมหุ้นใน SET Index (ไม่รวม PF&REIT) ที่มีคาดการณ์โดย Bloomberg Consensus คิดเป็น 60% ของ Market Cap ทำกำไรสุทธิรวม 1.67 แสนล้านบาท ขยายตัว 16%QoQ แต่หดตัว -1%YoY โดยกลุ่มที่เราคาดว่าจะขยายตัวเด่นเติบโต QoQ/YoY คือ กลุ่มอาหาร จากราคาหมูฟื้นและต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง กลุ่ม ICT จากคุมค่าใช้จ่ายที่ดี กลุ่มอิเล็คทรอนิกส์จาก DELTA และรับเหมาฯ จากการฟื้นของ STEC ส่วนกลุ่มที่กำไรมีแนวโน้มหดตัว QoQ/YoY คือ กลุ่มพลังงานจากกลุ่มน้ำมันและโรงกลั่น กลุ่มอสังหาฯจากกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย กลุ่มท่องเที่ยวจาก MINT ที่เป็นช่วง Low Season โดยเราเลือก 5 หุ้น Top Pick คือ PR9 GFPT OSP WHA และ NER ที่กำไร 1Q68 แนวโน้มเติบโตเด่นและระดับ Valuation ปัจจุบันซื้อขายบน PER68 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (รายละเอียดหุ้นที่น่าสนใจเพิ่มเติมติดตามในบทวิเคราะห์ Strategy Update ฉบับวันนี้)
Market Summary
SET Index ปรับขึ้น 12 จุด แรงหนุนหลักมาจากกลุ่มอิเล็คฯ ที่หนุนดัชนี 7 จุด จาก DELTA ที่ปรับขึ้น 8.6% จากการเก็งกำไรงบ 1Q68 และหุ้นอื่นๆ ได้ Sentiment บวกตามอย่าง HANA +7.4% CCET +5.4% กลุ่มที่ราคา Laggard WHA 4% AMATA +4.8% หลังแรงกดดันเรื่องภาษีสหรัฐฯ-จีนเบาลง กลุ่ม ร.พ. หนุนจาก BDMS +2.2% จากคาดเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเม็ดเงิน TESGX และ OSP +4.6% ที่คาดกำไร 1Q68 ปรับขึ้น QoQ และ YoY ส่วนกลุ่มที่ Underperform คือ กลุ่มธนาคาร -0.6% จาก TISCO TTB ที่ขึ้นเครื่องหมาย XD แรงซื้อหลักมาจากสถาบันในประเทศ 1.6 พันล้านบาท
DAILY Stock Pick
NER
กำไรงวด 1Q68 เด่น
พร้อมกับ Valuation น่าสนใจ
เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 5.00 บาท
Bloomberg Consensus คาด กำไรงวด 1Q68 ที่ 570 ล้านบาท (+26%YoY, +59%QoQ) เติบโตจากทั้งราคาขายที่สูงขึ้น ตามทิศทางราคายาง ขณะที่ต้นทุนของสต๊อกที่ราคาสูง เริ่มทยอยหมดลง
ณ ราคาปัจจุบัน ถูกซื้อขาย PE68 ที่ 4.7 เท่า (-1.5SD ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี) พร้อมกับอัตราเงินปันผลที่ 9.5% ปัจจัยดังกล่าวช่วยจำกัด Downside อีกทั้งบริษัทตั้งเป้าปริมาณการขาย 5 แสนตัน (+13%YoY) ส่งผลให้ Bloomberg Consensus คาดกำไรปี 68/69 เติบโตถึง 14.6%/17.4% ตามลำดับ
WEEKLY Stock Pick
MTC
เก็งกำไร กนง. ปรับลดดอกเบี้ย
เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 60.00 บาท
การประชุม กนง. ในวันพุธที่ 30 เม.ย. 68 Economist จำนวน 12 จาก 17 ท่าน คาด ลดดอกเบี้ย 25 bps (อ้างอิงแบบสำรวจ Bloomberg Consensus) ส่งผลให้ MTC ได้รับ อานิสงค์จากต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง
เราคาดว่า MTC เป็นหุ้นที่ได้รับประโยชน์จาก Reweight จาก LTF (1% ของ NAV) เป็น TESGX (1.5% ของ NAV) ตามสัดส่วนที่มากขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง กลต. แถลงความคืบหน้า โดยกองทุน TESGX เสนอขายพร้อมกับสลับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ในวันที่ 2 พ.ค. 68 เป็นปัจจัยหนุน
KEY FACTOR
ตลาดหุ้นสหรัฐฯในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ฟื้นตัว S&P500 ปิด +0.74% ส่วน Nasdaq +1.26% จากสถานการณ์สงครามการค้าที่ผ่อนคลายลง โดยตลาดน่าจะกลับมาเริ่มให้น้ำหนักปัจจัยอื่นๆ มากขึ้นในสัปดาห์นี้ นำโดย 1) การรายงาน GDP 1Q68 ของสหรัฐฯ (Consensus คาด +0.4% QoQ) 2) รายงานงบฯ หุ้น Big Cap (เช่น Meta, GM, Apple) ที่แม้จะยังไม่สะท้อนผลกระทบจากสงครามการค้า แต่อาจส่งสัญญาณสะท้อนความไม่แน่นอนทางธุรกิจในช่วงถัดไป
ส่วนปัจจัยในประเทศที่มีน้ำหนัก นำโดย 1) การประชุม กนง. (30 เม.ย.) ซึ่ง Consensus คาดลดดอกเบี้ยจากระดับ 2.0% สู่ระดับ 1.75% 2) การรายงานงบฯ 1Q68 ในกลุ่ม Real sector ที่เริ่มเร่งตัวมากขึ้นในสัปดาห์นี้
EYES ON
30 เม.ย. : การประชุม กนง., GDP 1Q68 ของ สหรัฐฯ และ Eurozone, การจ้างงานเอกชน ADP ของสหรัฐฯ
2 พ.ค. : เงินเฟ้อ Eurozone, การจ้างงานนอกภาคเกษตร และ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ
นักกลยุทธ์ : ธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์, ชาญชัย พันทาธนากิจ, ออมทรัพย์ โง้วศิริ