Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่องแนวโน้มอุตสาหกรรมโพลิเมอร์ไทย

164


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(21 เมษายน 2568)------ ในปี 2568 กำไรธุรกิจโพลิเมอร์ไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าช่วงปี 2565 เพราะส่วนต่างระหว่างราคาโพลิเมอร์และวัตถุดิบตั้งต้น (Spread) แม้จะเพิ่มขึ้น 8.8% ตามทิศทางหดตัวของราคาแนฟทา แต่ Spread ก็ยังต่ำกว่าปี 2565 อยู่ 17%


ในขณะที่ อุปสงค์โพลิเมอร์ไทยคาดว่าจะโต 1.6% จากการขยายตัวของปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม และการเพิ่มขึ้นของยอดขายอะไหล่ซ่อมบำรุงรถยนต์ อย่างไรก็ดี การหดตัวของตลาดเครื่องนุ่งห่มก็จะส่งผลให้อุปสงค์โพลิเมอร์ปรับตัวขึ้นไม่มากนัก


ปริมาณส่งออกโพลิเมอร์คาดว่าจะลดลง 2.7% ในปีนี้ โดยการส่งออก PE/PP ไปจีนมีทิศทางหดตัวจากการเพิ่มกำลังการผลิตของจีน ในขณะที่ การส่งออก PET ก็มีแนวโน้มลดลงตามการส่งออกไปยังสหรัฐฯ

 

กำไรธุรกิจโพลิเมอร์มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในปี 2568 แต่ยังต่ำกว่าช่วงปี 2565
เพราะอุปสงค์โพลิเมอร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างราคาโพลิเมอร์และวัตถุดิบตั้งต้น (Spread) แม้จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าปี 2565 อยู่ 17% (รูปที่ 2)

 

Spread ซึ่งสะท้อนอัตรากำไรเบื้องต้นในธุรกิจโพลิเมอร์ คาดว่าจะโต 8.8% ในปี 2568 (รูปที่ 2)
ในปีนี้ Spread ของ PE PP และ PET คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 9.9% 6.9% และ 4.0% ตามลำดับ (รูปที่ 3) เพราะ
1. ราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะแนฟทามีแนวโน้มหดตัวตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่อยู่ในทิศทางขาลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้คาดว่าจะหดตัวลง 12% จากปี 2567 มาอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล
2. ราคาโพลิเมอร์ในเอเชียคาดว่าจะไม่ปรับตัวลงแรงเท่ากับราคาวัตถุดิบ เพราะมีแรงหนุนด้านอุปสงค์จากจีนที่มีนโยบายเน้นกระตุ้นการบริโภค และเพิ่มเป้าหมายขาดดุลงบประมาณเป็น 4% ต่อ GDP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568
อุปสงค์โพลิเมอร์ในตลาดไทยคาดว่าจะโต 1.6% ในปี 2568 (รูปที่ 4)

 

 


1. ความต้องการ PE ในประเทศคาดว่าจะโต 1.5% (รูปที่ 5)
เพราะปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่จะเติบโตตามธุรกิจร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.6% นอกจากนี้ การใช้วัสดุก่อสร้าง เช่น ท่อพลาสติก จะเติบโตตามตลาดก่อสร้าง โดยเฉพาะงานก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งกลับมาดำเนินการได้หลังจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าในปี 2567

2. ความต้องการ PP คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.3% (รูปที่ 6)
เนื่องจากการเติบโตของการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจากที่กล่าวข้างต้น ประกอบกับยอดขายชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงรถยนต์ของไทยที่คาดว่าจะขยายตัว 3.6% ในปีนี้ ตามปริมาณรถยนต์จดทะเบียนสะสมที่เพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันมีอยู่ราว 20 ล้านคัน
3. ความต้องการ PET คาดว่าจะขยายตัว 2.1% (รูปที่ 7)
ตามการเติบโตของความต้องการ PET ในการผลิตขวดน้ำดื่มและบรรจุภัณฑ์อาหาร แต่ก็ได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้เส้นใยสังเคราะห์ซึ่งผลิตจาก PET ที่คาดว่าจะลดลงตามการหดตัวของตลาดเครื่องนุ่งห่ม เพราะการแข่งขันกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาย่อมเยาที่นำเข้าจากจีน
การส่งออกโพลิเมอร์ไทยคาดว่าจะหดตัว 2.7% ในปี 2568 (รูปที่ 8)
การส่งออกโพลิเมอร์ไทยไม่ถูกกระทบจากการเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ เพราะ PET ซึ่งมีการส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ ราว 1 ใน 4 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด ถูกยกเว้นการเก็บภาษีต่างตอบแทน ในขณะที่ ไทยแทบไม่ส่งออก PE และ PP ไปยังสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกของแต่ละผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้ (รูปที่ 9)

1. ปริมาณส่งออก PE คาดว่าจะปรับตัวลง 2.2% เพราะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยส่งออก PE เป็นอันดับหนึ่ง มีแนวโน้มนำเข้า PE ลดลง จากแผนการเพิ่มกำลังการผลิต PE ราว 5 ล้านตัน และ 6.5 ล้านตันในปีนี้และปีหน้า ตามลำดับ
2. ปริมาณส่งออก PP คาดว่าจะลดลง 0.8% จากการที่จีนมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิต PP 7.1 ล้านตันในปี 2568 อย่างไรก็ดี การส่งออก PP คาดว่าจะไม่ปรับตัวลงแรงนักในปีนี้ เพราะการส่งออกไปยังอินโดนีเซียยังคงมีแนวโน้มเติบโต หลังรัฐบาลอินโดนีเซียยกเลิกแนวคิดจำกัดการนำเข้า PP ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไทยส่งออก PP ไปอินโดนีเซีย คิดเป็นราว 1 ใน 4 ของปริมาณส่งออก PP ใกล้เคียงกับการส่งออกของไทยไปยังตลาดจีน
3. ปริมาณส่งออก PET คาดว่าจะหดตัว 6.1% เพราะการส่งออก PET ไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว รวมถึงการที่สหรัฐฯ หันไปนำเข้า PET จากประเทศในทวีปอเมริกาเหนือมากขึ้น เช่น เม็กซิโก อย่างไรก็ดี ตลาดญี่ปุ่นยังคงเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ เนื่องจากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของญี่ปุ่นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงช่วยชะลอแรงกดดันต่อการส่งออก PET ของไทยบางส่วน
ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมโพลิเมอร์ไทยในระยะกลางถึงยาว
• การมาของกฎระเบียบด้านการจัดการพลาสติกอาจผลักดันการใช้วัตถุดิบรักษ์โลก แผนจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ของไทย กำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าที่ใช้พลาสติกเป็นวัตถุดิบ ต้องรับผิดชอบในการรวบรวมและจัดการขยะพลาสติก ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตหันไปใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งพลาสติกชีวภาพและพลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น
• การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในตลาดโพลิเมอร์โลก จากการเพิ่มกำลังการผลิตของจีนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังการผลิตโดยรวมขยายตัวเฉลี่ย 6% ในช่วงปี 2564-2568 ในขณะที่อุปสงค์ในตลาดโลกเติบโตเฉลี่ยเพียง 3% ทำให้เกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน และสร้างแรงกดดันต่อราคาโพลิเมอร์โลก

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้