Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

ฟิทช์ คงอันดับเครดิต บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ ที่ BBB(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

337

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(10 เมษายน 2568)-------- บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ หรือ BAFS) ที่ 'BBB(tha)' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F3(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ 'BB+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศจัดอันดับเครดิต ให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันที่จะเสนอขายของ BAFS จำนวน 1 พันล้านบาท ที่ 'BBB(tha)'

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) ของ BAFS จะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 7.0 เท่าภายในปี 2568 โดย (ปี 2567: 7.7 เท่า) ซึ่งเป็นระดับเกณฑ์ที่ หากอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ดังกล่าว ฟิทช์อาจจะพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต การลดลงของอัตราส่วนหนี้สิน จะได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานท่ามกลางการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศไทยและการเพิ่มจำนวนของฝูงบิน

หุ้นกู้ที่เสนอขายดังกล่าวมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAFS เนื่องจากมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ส่วนต่างอัตราส่วนหนี้สินเทียบกับเกณฑ์อันดับเครดิตที่ต่ำ ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่สูงขึ้น: ฟิทช์คาดการณ์ว่าอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ของ BAFS จะปรับตัวลดลง แต่ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนของ BAFS มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 พันล้านบาทในปี 2568 และ 900 ล้านบาทในปี 2569 (2567: 453 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการก่อสร้างท่อเชื่อมต่อ และการปรับปรุงประสิทธิภาพธุรกิจเติมน้ำมันเพื่ออากาศยาน กระแสเงินสดสุทธิของ BAFS น่าจะกลับมาติดลบชั่วคราวในปี 2568 (2567: กระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก 98 ล้านบาท) เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่สูงก่อนที่จะกลับมาบวกในปี 2569 เมื่อค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนค่อยๆลดลง

การเติบโตของกำไร: กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ BAFS ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 พันล้านบาทในปี 2567 (2566: 1.1 พันล้านบาท) จากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ที่เพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของระดับก่อนการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส อย่างไรก็ตาม EBITDA ในปี 2567 ต่ำกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้เนื่องจากปริมาณการเติมเชื้อเพลิงฟื้นตัวช้ากว่าจำนวนนักท่องเที่ยว เนื่องจากข้อจำกัดของจำนวนเครื่องบิน ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 80 ของระดับก่อนการระบาดของโคโรน่าไวรัส

ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ BAFS จะฟื้นตัวต่อเนื่องไปถึงระดับประมาณ 1.6 พันล้านบาทในปี 2568 และ 1.7 พันล้านบาทในปี 2569 ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 88 ของระดับก่อนการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในปี 2568 และประมาณร้อยละ 92 ในปี 2569 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการวางแผนขยายฝูงบินของสายการบินในประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการ จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย สายการบินในไทยมีแผนที่จะเพิ่มขนาดฝูงบินให้ไปอยู่ในระดับร้อยละ 95-97 ของระดับก่อนการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสภายในปี 2569

สัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อยังคงอยู่ในระดับต่ำ: สัดส่วนรายได้จาก บริษัท บาฟส์ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ BPT ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BAFS น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณร้อยละ 12 ในปี 2568 เนื่องจากปริมาณขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจะถูกลดทอนด้วยส่วนลดค่าบริการที่เพิ่มขึ้น ฟิทช์คาดว่า BPT จะยังคงให้ส่วนลดค่าบริการต่อไปเพื่อเป็นแรงจูงใจให้บริษัทน้ำมันเปลี่ยนมาใช้บริการท่อส่งน้ำมันแทนการขนส่งด้วยรถบรรทุกในช่วงแรก ฟิทช์คาดว่า BPT จะเริ่มปรับส่วนลดให้น้อยลง เมื่อบริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 60 ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นหลังจากโครงการเชื่อมต่อท่อขนส่งน้ำมัน เริ่มดำเนินการในปี 2570

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยาน: BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานแต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับสายการบินต้นทุนต่ำ

บริษัทฯ ได้รับการต่ออายุสัญญาบริการเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานสมุย สุโขทัย และตราดเป็นเวลา 25 ปี ตั้งแต่ปี 2568 ถึง 2592 การแข่งขันมีจำกัดเนื่องจากต้องได้รับสัมปทานจากผู้ดำเนินการท่าอากาศยานเพื่อให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน

ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด: BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่ อีกทั้งธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยานเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันจำกัด เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับสัมปทานในการดำเนินธุรกิจ

รายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียน: การขยายธุรกิจไปยังธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ BAFS น่าจะช่วยสนับสนุนสถานะทางธุรกิจในระยะกลางด้วยกระแสเงินสดที่คงที่ แต่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความแปรผันของแหล่งพลังงาน โครงการพลังงานหมุนเวียนได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีอายุเฉลี่ย 20-25 ปี และคู่สัญญาที่แข็งแกร่ง เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาร่วมกับบริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ฟิทช์คาดว่าธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์จะสร้างรายได้ที่สม่ำเสมออยู่ที่ระดับประมาณ 280-290 ล้านบาทต่อปีให้แก่ BAFS

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ: หุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BAFS มีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAFS ที่ 2 อันดับ เพื่อสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องรองรับผลขาดทุนที่สูงกว่าปกติ เมื่อเทียบกับหนี้อื่นๆ ของบริษัทฯ โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีส่วนของหนี้ที่คิดเป็นทุน (Equity Credit) ร้อยละ 50 ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ โดยลักษณะที่คล้ายทุนของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวประกอบด้วย สถานะด้อยสิทธิเป็นอย่างมาก การมีระยะเวลาไถ่ถอนที่น่าจะเป็น (Effective Maturity) คงเหลือมากกว่า 5 ปี สิทธิของผู้ออกหุ้นกู้ในการเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และการกำหนดเหตุผิดนัดมีจำกัด ส่วนของหนี้ที่คิดเป็นทุนถูกจำกัดที่ร้อยละ 50 เนื่องจากดอกเบี้ยที่มีการเลื่อนการชำระจะต้องมีการสะสมเอาไว้ชำระภายหน้า

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ/สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) NNEG และ GPSC มีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีลักษณะสัญญาแบบต้องซื้อหรือจ่าย (Take-or-Pay PPAs) ทั้งสองบริษัทผลิตไฟฟ้าและ BAFS เผชิญกับความเสี่ยงด้านการแข่งขันที่ต่ำ แต่กระแสเงินสดของ BAFS มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมากกว่า ซึ่งขับเคลื่อนโดยการท่องเที่ยวและการเติบโตของ Gross Domestic Product (GDP) อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS อยู่ในระดับสูงกว่า ตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส และการลงทุนขนาดใหญ่ ฟิทช์จึงจัดอันดับ BAFS ต่ำกว่า NNEG และสถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC สองอันดับ

บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGJWD (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/สถานะเครดิตโดยลำพังที่ bbb(tha)) ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการในปี 2566 มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า BAFS เนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้น SCGJWD มี EBITDA ในปี 2566 สูงกว่า BAFS ประมาณสองเท่า แต่มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่า มุมมองด้านอัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงของ SCGJWD ชดเชยสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ส่งผลให้ฟิทช์จัดอันดับสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGJWD ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAFS

สถานะทางธุรกิจของ BAFS แข็งแกร่งกว่าบริษัท โกลบอล กรีน เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A-(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ/สถานะเครดิตโดยลำพังที่ bbb(tha)) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลและเคมีภัณฑ์จากน้ำมันในประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากกว่า อย่างไรก็ตาม GGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า ชดเชยสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ส่งผลให้สถานะเครดิตโดยลำพังของ GGC เท่ากับอันดับเครดิตของ BAFS แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ GGC สะท้อนถึงความเสี่ยงในการลดอัตราส่วนหนี้สิน

สมมติฐานที่สำคัญ
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 88 ของระดับก่อนการเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดโคโรน่าไวรัสปี 2568 และร้อยละ 92 ในปี 2569 (2567 อยู่ที่ร้อยละ 82);
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับร้อยละ 42-43 ในปี 2568 และ 2569 (2567 อยู่ที่ร้อยละ 41);
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 1.1 พันล้านบาทในปี 2568 และ 0.9 พันล้านบาทในปี 2569 รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนสำหรับโครงการเชื่อมต่อท่อและค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษา
- ประมาณการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
- อัตราส่วน EBITDA Net Leverage ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 7 เท่า อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยบวก:
- อัตราส่วน EBITDA Net Leverage ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 6 เท่า อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง
BAFS มีส่วนของหนี้สินจำนวน 1.9 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปี 2568 ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 700 ล้านบาทและเงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระจำนวน 1.2 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะได้รับการชำระจากเงินสด (ตามคำจำกัดความของฟิทช์) จำนวน 708 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกถอนจำนวน 560 ล้านบาท และแผนการออกหุ้นกู้จำนวน 1.0 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 นอกจากนี้ สภาพคล่องยังได้รับการสนับสนุนจากการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารและตลาดตราสารหนี้จากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง

ลักษณะธุรกิจ
BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 2 แห่ง BAFS มีบริษัทย่อยที่ BAFS ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 75.85 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อ จากคลังน้ำมันบางจากไปยังท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง และเป็นเจ้าของระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือระบบแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ BAFS ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีกำลังผลิตรวม 36 เมกะวัตต์ในประเทศไทยและ 13 เมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่น

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้