Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

597

 


ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook

แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ อัปเดต Momentum Tracker แนวโน้มตลาดหุ้นโลกและทองคำ
Key Takeaways:
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกและพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลงในระดับใกล้เคียงกัน โดย MSCI All-Country World ลดลง 1.3% และ US 7-10Y Treasury ลดลง 1.1% ขณะที่ทองคำเพิ่มขึ้น 1%
ผลประกอบการของบริษัทใน S&P500 รายงานแล้ว 37% มี 75% ที่ทำ EPS ได้สูงกว่าคาด แต่อัตรากำไรสุทธิลดลงจาก 12.2% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็น 12% ใน 3Q24
ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ JOLTs Job Openings, PMI จีน, การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่น โดยไฮไลท์จะอยู่ที่วันศุกร์ จากรายงานตัวเลข Nonfarm Payrolls และอัตราการว่างงานสหรัฐ ซึ่งเรามีมุมมองในเรื่องนี้
รายละเอียด:
"ภาวะการลงทุนในสัปดาห์ก่อน"
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกและพันธบัตรสหรัฐระยะยาวให้ผลตอบแทนติดลบใกล้เคียงกัน โดยดัชนี MSCI All-Country World ลดลง 1.3% และ US 7-10Y Treasury ลดลง 1.1% ในขณะเดียวกัน ทองคำปรับตัวขึ้น 1% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
สำหรับดัชนี SET ก็ปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นโลก โดยปรับตัวลดลง 1.8% ขณะที่มีอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นสวนตลาดเพียงกลุ่มเดียว ได้แก่ Electronics 4.2%
"พัฒนาการที่สำคัญในต่างประเทศสัปดาห์ที่แล้วมีดังต่อไปนี้"
บริษัทในสหรัฐที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี S&P500 ได้ทยอยรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 แล้ว 37% ของทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ พบว่า 75% สามารถทำกำไรต่อหุ้นได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ (positive EPS surprise) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในแง่ของความสามารถในการทำกำไร พบว่าอัตรากำไรสุทธิ (net profit margin) ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 12% จากระดับ 12.2% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการชะลอตัวนี้มีความกระจายตัว สะท้อนจากการที่มีเพียง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้นที่สามารถรักษาระดับ margin ให้เพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่อีก 7 เซคเตอร์กลับมี margin ที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มพลังงานแสดงให้เห็นการปรับตัวลงของ margin อย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงจาก 10.6% ในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 8.1% ในไตรมาสนี้
แม้ว่าจะมีสัญญาณการชะลอตัวของอัตรากำไรสุทธิ แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองเชิงบวก โดยคาดว่าตัวเลข margin จะสามารถรักษาระดับที่สูงกว่า 12% ได้ต่อเนื่องในอีก 3 ไตรมาสข้างหน้า ซึ่งในมุมมองของเรา การคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงการมองโลกในแง่ดีเกินไป จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับประมาณการกำไรลงในอนาคต
"ปัจจัยเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่"
วันอังคาร: US JOLTs Job Openings (consensus คาดสหรัฐจะรายงานตัวเลขการเปิดรับสมัครงานเดือนกันยายนจะชะลอตัวลงสู่ 7.92 ล้านตำแหน่ง จาก 8.04 ล้านตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า)
วันพฤหัสบดี: (1) CN NBS Manufacturing PMI (consensus คาดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนเดือนตุลาคมจะฟื้นตัวสู่ระดับ 50.1 ซึ่งเป็นโซนขยายตัวเล็กน้อย จากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า), (2) JP Interest Rate Decision (consensus คาดธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25%), (3) US Core PCE (consensus คาดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน PCE สหรัฐเดือนกันยายนไว้ที่ 0.2% MoM เร่งตัวขึ้นจาก 0.1% ในเดือนก่อนหน้า)
วันศุกร์: (1) US Nonfarm Payrolls (consensus คาดสหรัฐจะรายงานการ จ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนตุลาคมที่ 140,000 ตำแหน่ง ชะลอตัวลงจาก 254,000 ตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า) และ (2) US Unemployment Rate (consensus คาดอัตราการว่างงานสหรัฐเดือนตุลาคมจะทรงตัวที่ระดับ 4.1%)
"แนวโน้มของราคาสินทรัพย์ต่างๆ ในระยะสั้น"
1 สัปดาห์นี้ ดัชนี MSCI All-Country World Equity มีแนวโน้มผันผวน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจากจะมีการประกาศรายงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์ โดยเราประเมินว่าตัวเลขมีโอกาสออกมาต่ำกว่าที่ consensus คาดการณ์ไว้ ด้วยเหตุที่ nonfarm payrolls เป็นการสำรวจแบบ established survey ซึ่งเก็บข้อมูลโดยตรงจากบริษัทต่างๆ เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของจำนวนตำแหน่งงาน และในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญสองประการที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวเลขการจ้างงาน นั่นคือ ผลกระทบจากพายุเฮอริเคนและการนัดหยุดงานของพนักงานบริษัทโบอิ้ง ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ยังอาจส่งผลกระทบต่อผลสำรวจสถานประกอบการอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานด้วย จึงทำให้มีความเป็นไปได้ว่ารายงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะแสดงตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และอาจส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลเมื่อได้เห็นตัวเลขที่แย่กว่าคาดดังกล่าว
2 ราคาทองคำ (Gold Spot) แม้จะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในสัปดาห์ที่แล้ว แต่กลับมีสัญญาณเชิงลบจาก Volume Index ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น negative divergence กับการปรับตัวขึ้นราคา พร้อมกับภาวะ overspeculation ในตลาด พิจารณาได้จาก net speculative long position ที่อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 2.1 เท่า เราจึงแนะนำให้ระมัดระวังกับการลงทุนในทองคำช่วงนี้ จากความเสี่ยงของความผันผวนในระยะสั้น
3 สัปดาห์ที่แล้ว ราคาน้ำมัน WTI รีบาวด์ 3.7% หลังจากที่ปรับตัวลงแรงในช่วงก่อนหน้า เราคาดว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อในสัปดาห์นี้ หนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากการโต้ตอบทางการทหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันอาจไม่ยั่งยืนตลอดทั้งไตรมาส 4 เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันจากความอ่อนแอของอุปสงค์ ส่งผลให้การประเมินทิศทางราคาน้ำมันในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้าจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น สำหรับ Long-to-Short Ratio ล่าสุดอยู่ที่ 3.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 6.9 เท่า สะท้อน bearish sentiment ในตลาดน้ำมัน
4 ราคาพันธบัตร 10 ปีสหรัฐเผชิญกับแรงกดดันจาก No Landing Scenario ที่ตลาดเริ่มพูดกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราไม่คิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปี 2025 ตามเหตุผลที่ได้อัปเดตมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้คาดว่า พันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี จะเริ่มมีแรงซื้อคืนที่ยีลด์ใกล้บริเวณ 4.4%

สรุปภาพตลาดวานนี้
ตลาดบวกเล็กๆ ปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดย DELTA เป็นตัวดันพร้อมกับนิคมฯ WHA AMATA กับการสลับหุ้นใหญ่กลุ่มอื่นๆ มาช่วยดัน อย่าง TRUE SCB BH WHA MTC CRC เพื่อปะทะกับแรงขายกลุ่ม GULF-ADVANC ปิโตรเคมี TOP SCC ขณะที่หุ้นสายซิ่งวานนี้ ได้แก่ MGI MCA PMC

แนวโน้มตลาดวันนี้
ขึ้นรถผิดสาย (ก็แค่เปลี่ยน)
สัปดาห์ที่แล้ว หุ้นที่ขึ้นแรงแซงโค้ง เริ่มหยุดพักตามที่เราคาด แต่ที่หนักว่าคาด คือ แรงขายลามไปยังหุ้นต่างๆที่มีประเด็นลบเกิดขึ้นระหว่างทาง และแรงซื้อไม่ได้หมุนลงมายังกลุ่มรอง ตามที่เราประเมิน ทำให้ดัชนีฯ และผลตอบแทนพอร์ตลดลงผิดคาด จนเราต้องยอมขายตัดขาดทุนหุ้นบางตัวออก และเปลี่ยนตัวเล่น
โดยระหว่างสัปดาห์พบ แรงขายหุ้นใหญ่กระจายไปมากกว่าที่คาด เช่น กลุ่ม ปตท. (PTTGC TOP GPSC) ทั้งปัจจัยเฉพาะตัว การ Downgrade คำแนะนำกลุ่มโรงกลั่นของ BLS Research และ ผลกระทบโครงการลงทุนโรงกลั่นใหม่ ของ TOP ที่ล่าช้าจากสาเหตุผู้รับเหมาหลักไม่ชำระเงินผู้รับเหมาช่วง ส่งผลกระเทือนไปทั้งกลุ่มหากการผลิตเชิงพาณิชย์ล่าช้า และลากหุ้นรับเหมา EPC ร่วงตามไปด้วย ขณะที่หุ้นท่องเที่ยว โรงแรม โดนจิตวิทยาลบ เลื่อนโครงการเที่ยวด้วยกัน
บาทกลับมาอ่อน และหุ้นเล่นรับดอกเบี้ยพลิกติดลบ หลังผู้ว่าแบงก์ชาติ กล่าวในที่ประชุม IMF ไม่ลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. แถมระบุแนวโน้มนโยบายการเงินไทยยังไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายเหมือนที่อื่น, การเมืองในประเทศ กับคดีครอบงำพรรคเพื่อไทย ฯลฯ
ด้วยกลยุทธ์ ของเรารอบนี้ ที่เน้นการ “Switching” เรายังคงกลยุทธ์ดังกล่าว โดยไม่เดินหน้าซื้อหุ้นเก็บเข้าพอร์ตแบบซื้อขาเดียว แต่จะเป็นการ ขายตัว เปลี่ยนเข้าอีกตัว ซึ่งการปรับเปลี่ยนหุ้นในพอร์ต เราจำเป็นต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับหุ้น เข้าออกทันที เมื่อสถานการณ์ลงทุนเปลี่ยน ดั่งเช่นที่เราปรับพอร์ตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา...
ส่วนประเด็นที่ต้องติดตาม และ เรามองว่าน่าจะเป็นตัวแปรเปลี่ยนโมเมนตั้มตลาดได้เมื่อราคาหุ้นลงมาได้ที่ คือ งบการเงิน 3Q24 ที่ดีกว่าคาด, การเมืองในประเทศสงบขึ้นในอีก 15 วันข้างหน้า โดยเราคาดแนวรับดัชนีฯระหว่างสัปดาห์ที่ 1,456 จุด เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 25 วัน และคาดแนวต้าน 1,475 จุด ครั้งแรกที่มีการทะลุผ่านเส้นแนวโน้ม

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์แนะนำ เลือกหุ้นเล่นเป็นรายตัว โฟกัสไปข้างหน้า เน้นไปที่แนวโน้มผลการดำเนินงานที่จะมีโอกาสถูกปรับเพิ่มประมาณการณ์ หรือ มองเห็นปัจจัยหนุนชัดเจนที่จะเข้ามาเกื้อหนุนต่อผลการดำเนินงานหลังจากนี้

วิเคราะห์ทางเทคนิค
สัปดาห์แห่งการปรับฐานของดัชนี โดยหลุดเส้น EMA 5 และล่าสุดทดสอบเส้นล่าง (EMA 25) + ตำแหน่ง Fibonacci retracement 23.6% บริเวณ 1,450-1,460 จุด สู้ได้ไม่ยอมให้หลุด! ขณะที่ RSI ปรับลงจากเขตแดน overbought กลับเข้าสู่ภาวะปรกติอยู่ที่ level 50 แนะจุดสังเกต…นับตั้งแต่ดัชนีเปลี่ยนเป็นขาขึ้น สามารถเกาะแนวเส้น EMA 25 ได้อย่างเหนียวแน่น
สรุป: ทรงกราฟยังเป็นขาขึ้น ลุ้นไปต่อ โดยมีเงื่อนไขต้องยืนเหนือโซนรับบริเวณ 1450-1460 จุด ส่วนมุมเทรดวันนี้ นำเสนอหัวข้อแผนแก้เกมส์ “กลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยว” / Pair trade: IVL & TOP / หุ้นกราฟสวยแนะนำ MTC & AAV ส่วน SCB ถูกทาง แนะลุยเพิ่มครับ (อ่านต่อหน้า 11)

 

 


What to watch
รายงานงบการเงินหุ้นใหญ่สัปดาห์นี้ วันที่ 28 ต.ค. คาด PTTEP SCGD, 29 ต.ค. คาด HMPRO GLOBAL SCGP, 30 ต.ค. คาด SCC และ 1 พ.ย. คาด ADVANC (รายละเอียดใน Figure 1-3 รายงานกลยุทธ์ประจำสัปดาห์)
ศาลรธน.ยังไม่รับคำร้องยุบเพื่อไทย ปม "ทักษิณ" ครอบงำ สั่ง อสส.แจงใน 15 วัน
MSCI รอบใหม่ประกาศ 6 พ.ย. และมีผล 26 พ.ย. 67 มีลุ้นเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย จับตา IVL-MTC
คาดหุ้นเข้า ออก จากการคำนวณ SET50-100 รอบใหม่ ได้แก่ SET50 เข้า COM7 BANPU SAWAD (ออก BCP EA TIDLOR) ส่วน SET100 เข้า CCET COCOCO JTS (ต้องผ่านเกณฑ์ทั้งหมดใน ต.ค.-พ.ย.) KAMART (ออก MBK TIPH RBF SKY)

หุ้นแนะนำวันนี้
WHA การลงทุนโดยตรงจาก ตปท.มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากการขยายฐานการผลิตกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคที่เข้ามาในภูมิภาคโดยอาศัยไทยเป็นศูยน์กลาง
(S 5.9 R 6.30 SL 5.8)

 

 

 

 

 


รายงานพื้นฐานวันนี้

Agro Sector
CPF ยังดูดี ท่ามกลางแนวโน้ม 4Q24 ที่อ่อนแอลง
แนวโน้มกลุ่มปศุสัตว์ใน 4Q24 ธุรกิจสุกรที่มีแนวโน้มสดใสทั้งในไทยและต่างประเทศ ขณะที่ราคาสุกรยังคงทรงตัว แม้ว่าในไตรมาสนี้จะเข้าสู่ช่วง Low Season แล้วก็ตาม โดยราคาสุกรไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 71 บาท/กก. สำหรับ 9M24 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 72 บาท/กก. ในช่วงปลายปี (ระยะสั้น ต.ค. อาจจะมีพักฐานบ้าง) ขณะที่ราคาสุกรในเวียดนามยังคงทรงตัวที่ระดับมีกำไรดี ส่วนราคาสุกรในจีนอยู่ที่ระดับคุ้มทุน (ไม่กลับไปขาดทุน) และแนวโน้มต้นทุนมีโอกาสปรับตัวลดลงจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง
ในส่วนราคาไก่ ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ราคาไก่ลดลงเหลือ 38.5 บาท/กก. (จาก 43-44 บาท/กก. ช่วง เม.ย.-ส.ค.) และราคาชิ้นส่วนไก่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด และคาดว่าอุปสงค์ในประเทศที่มียังไม่น่าจะทำให้ราคาไก่กลับไปสูงได้เร็วๆ นี้ เพราะเป็นช่วง Low Season ของการส่งออกด้วย
Fundamental view: เราแนะนำ “ซื้อ” CPF และเป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม และคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” สำหรับ TFG แต่ปรับลดคำแนะนำ GFPT และ BTG เป็น “ขาย” (ขาดปัจจัยหนุน)
สำหรับ CPF เราชอบสุด ด้วยปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ 1) ราคาสุกรใน 3 ประเทศหลัก (ไทย, เวียดนาม และจีน) ที่ยังยืนระดับที่สูง และ 2) มี Free Cash Flow (กระแสเงินสดอิสระ) ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปชำระหนี้ระยะยาวและอาจหนุนให้กำไรปี 2025 เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบาย 25bps ยังช่วยเพิ่มกำไรปี 2025 อีก 4.6%
ส่วน TFG ยังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” เนื่องจากมีรายได้จากสุกรในไทยและเวียดนามด้วยเช่นกัน

HMPRO-GLOBAL
(Re-initiation)
โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์
สยามโกลบอลเฮ้าส์
ยังรอการฟื้นตัว ระยะสั้นเสี่ยงตลาดปรับประมาณการ
วันนี้เราออกบทวิเคราะห์ HMPRO และ GLOBAL กลับมาให้คำแนะนำ (Re-initiation) ด้วยคำแนะนำ “ถือ” เพราะเราคาดว่าราคาหุ้น HMPRO GLOBAL ในระยะสั้นยังมีแรงกดดัน 2 สาเหตุ คือ
1) คาดการณ์กำไรหลัก 3Q24 จะปรับลงทั้ง YoY, QoQ ทั้ง HMPRO GLOBAL เกิดจากกำลังซื้ออ่อนแอ คาด SSSG ไม่ฟื้น โดย -5.5% YoY ใน 3Q24 ขณะที่ผลบวกประหยัดต่อขนาดได้ประโยชน์น้อยลง โดยคาด %SG&A/sales จะปรับขึ้น สหรับ HMPRO +70bps YoY และ GLOBAL +180bps YoY
2) แนวโน้ม 4Q24 ตัวเลข SSS วันที่ 1-15 ต.ค. ยังปรับลงที่ ติดลบ 1-3% YoY ถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ช้า โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
Fundamental view: ดังนั้น เราประเมินว่าตลาดมีโอกาสจะปรับประมาณการกำไรหลัก HMPRO GLOBAL ลงต่อจากนี้ ทั้งนี้ กำไรหลักปี 2024 ของเราต่ำกว่า ตลาด ราว 3% สำหรับ HMPRO และราว 4% สำหรับ GLOBAL
อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้ ช่วงที่ราคาหุ้นจะอ่อนตัวลง เรามองเป็นโอกาสทยอยลงทุนหุ้น ดักการฟื้นตัวที่จะฟื้นตัวได้ก่อนและต่อเนื่อง โดย GLOBAL ดูน่าสนใจกว่า HMPRO เพราะคาดกำไรหลักปี 2025-26 จะฟื้นตัวได้สูงกว่า จาก SSSG เพิ่มขึ้น หลังการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐมีมากขึ้น และ GM ที่จะได้อานิสงส์สัดส่วนสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ (GM สูง) ขยับขึ้น
ทั้งนี้ เราให้ราคาเป้าหมาย GLOBAL ที่ 17.50 บาท ส่วน HMPRO ราคาเป้าหมายที่ 10.50 บาท

 

 


รายงานผลประกอบการวันนี้

 

 

 

DELTA รายงานกำไรสุทธิ 3Q24 ที่ 5.9 พันล้านบาท หักรายการพิเศษกำไรหลักจะอยู่ที่ 6.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% YoY และ 1% QoQ สูงกว่าที่เราและตลาดคาด 6% และ 8% ตามลำดับ เกิดจาก GM ที่มากกว่าคาด โดย GM ที่ดีขึ้น เป็นผลมาจาก Product mix (ส่วนของสินค้า AI-Data Center ดีขึ้น กลบผลลบของกลุ่ม EV และระบบระบายความร้อน) และการกลับรายการสำรองสต็อค ช่วยกลบผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าได้ ส่วนแนวโน้ม 4Q24 คาดว่ากำไรหลักจะเติบโตสูง 30% YoY และทรงตัว QoQ ได้ และจะเห็นกลุ่ม AI มีสัดส่วนรายได้ขยับไปเหนือ 10% ภายในปี 2024 หนุน GM ทั้งนี้ เราปรับประมาณการกำไรปี 2024 ขึ้นเล็กน้อย 2% โดยเช้านี้จะมีประชุมนักวิเคราะห์ คาดจะมีการโฟกัสไปที่ GM ที่สูงต่อ ใน 4Q24 และมีโอกาสเห็นการ Re-rate valuation รับแนวโน้มที่กลับมาดี

 


TRUE รายงานขาดทุนสุทธิ 3Q24 ที่ 810 ล้านบาท แต่หักรายการพิเศษ กำไรหลักจะอยู่ที่ 2,907 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน YoY และเพิ่มขึ้น 36% QoQ สูงกว่าที่เราและตลาดคาด 30% และ 81% ตามลำดับ เกิดจากตเนทุนที่ต่ำกว่าคาด แนวโน้ม 4Q24 คาดกำไรหลักยังดีต่อ QoQ (และ Turnaround YoY) เราปรับเพิ่มประมาณการกำไรหลักปี 2024-25 ขึ้น 16% และ 38% ตามลำดับ และ fine-tunes สมมติฐาน WACC (ตามตัวเลขใหม่ของ BLS สำหรับงวด 1H25) จะได้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 15 บาท (เพิ่มจาก 11.90 บาท) และแนะนำซื้อเก็งกำไร


สรุปประเด็นจาก Quick take

BBL
ธนาคารกรุงเทพ ประเด็นสำคัญจากการประชุมนักวิเคราะห์
BBL ประเมินภาพรวมธุรกิจและคุณภาพสินทรัพย์ยังสอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคาร
View From Fundamental: เรามีมุมมองเป็นกลาง โดยยังแนะนำ ซื้อ จากแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์จะทยอยฟื้นตัวในปี 2025 และ Valuations ถูกกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้