Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

515

 

ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook

แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ ดัชนี Flash PMI เดือน ต.ค. เผยเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเปราะบาง กดดัน BoJ รับมือโจทย์ยาก
Key Takeaways:
ดัชนี S&P Global Flash PMI ญี่ปุ่นเดือน ต.ค. สะท้อนถึงสัญญาณเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน โดย Composite Output และ New Orders กลับมาหดตัว ขณะเดียวกันแรงกดดันด้านเงินเฟ้อทั้งในต้นทุนการผลิตและราคาผลผลิตเร่งตัวขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด Inflation Loop และ Entrenched Inflation
สถานการณ์นี้เพิ่มความท้าทายให้กับ BoJ ในการดำเนินนโยบายทางการเงิน เนื่องจากหากมุ่งเน้นการควบคุมเงินเฟ้อด้วยการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด อาจยิ่งกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวให้แย่ลงกว่าเดิม
รายละเอียด:
เมื่อวานมีตัวเลข S&P Global Flash PMI ของญี่ปุ่น เดือน ต.ค. ประกาศออกมา จากข้อมูลพบว่าภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงการออกสตาร์ตไตรมาส 4 มีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยดัชนีผลผลิตรวม (Composite Output) พลิกกลับมาหดตัว จากที่เคยขยายตัวในช่วงก่อนหน้า ซึ่งการหดตัวนี้เกิดขึ้นทั้งในภาคการผลิตที่หดตัวแรงขึ้น และภาคบริการที่พลิกกลับมาหดตัว
สถานการณ์ด้านคำสั่งซื้อใหม่ก็มีแนวโน้มเชิงลบ ซึ่งตามปกติเรามักจะติดตามทิศทางของตัวเลขนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็น leading indicator ที่สำคัญในการทำนายแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่แย่ลงในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น New Orders และ New Export Orders ที่ล่าสุดอยู่ในโซนหดตัวทั้งคู่ และเป็นการหดตัวทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ สะท้อนถึงอุปสงค์ในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง
ในด้านการจ้างงานก็มีสัญญาณเชิงลบ เพราะแม้ว่า Composite Employment จะยังคงขยายตัวแต่ก็ชะลอลงทั้งในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่พลิกมาหดตัว ขณะที่ภาคบริการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนงานคงค้าง (Backlogs of Work) หดตัวแรงขึ้นในทุกภาคส่วน สะท้อนถึงกำลังการผลิตส่วนเกินที่เพิ่มขึ้น
ประเด็นที่น่ากังวลคือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะลอตัวท่ามกลางภาวะแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เห็นสัญญาณเร่งตัวขึ้น โดยราคาผลผลิต (Output Prices) และต้นทุนการผลิต (Input Prices) เร่งตัวขึ้นทั้งคู่ ซึ่งหากโมเมนตัมยังเป็นเช่นนี้ต่อไปในหลายเดือนข้างหน้า ก็จะสร้างความท้าทายในการดำเนินนโยบายทางการเงินให้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มากขึ้น จากเหตุผลหลายประการ
ประการแรก การที่ต้นทุนการผลิต (Input Prices) เร่งตัวขึ้นพร้อมกับราคาผลผลิต (Output Prices) สะท้อนว่าธุรกิจเริ่มมีการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาขายปลีกมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิด "วงจรเงินเฟ้อ" (Inflation Loop)
ประการที่สอง ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว การที่ธุรกิจยังสามารถปรับขึ้นราคาได้ อาจสะท้อนว่าเงินเฟ้อเริ่มมีลักษณะ "ฝังรากลึก" (Entrenched Inflation) ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การควบคุมเงินเฟ้อทำได้ยากขึ้นและอาจต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

 

ประการสาม สถานการณ์นี้อาจนำไปสู่ "ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันพร้อมเงินเฟ้อ" (Stagflation) ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นภาวะที่ยากต่อการแก้ไขด้วยนโยบายการเงิน เพราะหาก BoJ ต้องการจัดการกับเงินเฟ้อด้วยการเข้มงวดนโยบายการเงิน ก็จะยิ่งกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก
ประการที่สี่ BoJ เพิ่งปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นและยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ การเร่งตัวของเงินเฟ้อในจังหวะนี้อาจทำให้ตลาดกังวลว่า BoJ จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของค่าเงินและเสถียรภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป
ตัดกลับมาที่เรื่อง PMI สำหรับตัวชี้วัดอื่นๆในภาคการผลิตที่เห็นสัญญาณเชิงลบ ได้แก่ หมวดสินค้าคงคลังทั้งวัตถุดิบ (Stocks of Purchases) และสินค้าสำเร็จรูป (Stocks of Finished Goods) ที่เกิดการหดตัว พร้อมกับปริมาณการซื้อ (Quantity of Purchases) ที่ลดลง
โดยสรุปแล้ว ข้อมูล Flash PMI ได้ส่งสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน อันเป็นผลมาจากความอ่อนแอของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็ได้กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะข้างหน้าอาจเป็นไปอย่างเปราะบาง
จากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เรามีมุมมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความผันผวนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังอาจได้รับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

สรุปภาพตลาดวานนี้
SET ร่วงต่อมาแนวรับใหม่ 1460 จากแรงขายปรับพอร์ตของสถาบันฯ โดยรอบนี้เป็นการขายบลูชิปแถวรองลงมาอย่าง AOT CPALL CRC CPAXT BDMS MINT GPSC BGRIM OR TRUE เป็นต้น (กลุ่ม Lead ก่อนหน้าอย่าง GULF ADVANC ประคองตัว) ขณะที่แรงซื้อไปอยู่ DELTA WHA AMATA IVL SCB และกลุ่มขายมือถือ COM7 SYNEX JMART ADVICE อย่างไรก็ดี เห็นการเก็งกำไรตาม Sentiment จาก Nvidia อย่าง LTS INSET SICT เข้ามาด้วย

แนวโน้มตลาดวันนี้
จูนพอร์ตใหม่
แรงขายหุ้นใหญ่กระจายไปมากกว่าที่คาด โดยเมื่อวานกลุ่ม ปตท. PTTGC TOP GPSC ผลกระทบโครงการลงทุนโรงกลั่นใหญ่ ของ TOP ที่ล่าช้าจากการประท้วงของผู้รับเหมาฯ ส่งผลกระเทือนไปทั้งกลุ่ม (คนอื่นที่ลงทุนกลัวจะมีปัญหาคล้ายกัน แถม ปตท.แม่อาจต้องเข้าเพิ่มทุน) เริ่มไม่ใช่ประเด็นที่เกิดเฉพาะตัวไทยไออยล์ ลากหุ้นรับเหมา EPC ร่วงตามไปด้วย ขณะที่หุ้นท่องเที่ยว โรงแรม โดนจิตวิทยาลบ เลื่อนโครงการเที่ยวด้วยกัน, ผู้ว่าแบงก์ชาติ กล่าวที่ประชุม IMF ไม่ลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. แถมระบุแนวโน้มนโยบายการเงินไทยยังไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายเหมือนที่อื่นซึ่งมีปัญหาแตกต่างกัน, การเมืองในประเทศ กับคดีครอบงำพรรคเพื่อไทย ฯลฯ
จากประเด็นที่แทรกเข้ามาทำให้เราต้อง ปรับ จูน พอร์ตใหม่ตามสถานการณ์ ด้วยการเปลี่ยนหุ้นเชื่อมโยงประเด็นลบออก ล๊อกกำไรหุ้น และเพิ่มหุ้นอื่นทดแทน

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์แนะนำ เลือกหุ้นเล่นเป็นรายตัว โฟกัสไปข้างหน้า เน้นไปที่แนวโน้มผลการดำเนินงานที่จะมีโอกาสถูกปรับเพิ่มประมาณการณ์ หรือ มองเห็นปัจจัยหนุนชัดเจนที่จะเข้ามาเกื้อหนุนต่อผลการดำเนินงานหลังจากนี้


วิเคราะห์ทางเทคนิค
กราฟแท่งเทียน candle บ่งชี้รูปแบบ “Shooting star” แม่นยำ ล่าสุดดัชนีหลุดเส้น EMA 5 และกำลังทดสอบเส้นล่าง (EMA 25) บริเวณ 1,460 จุด ขณะที่ RSI ปรับลงจากเขตแดน overbought กลับเข้าสู่ภาวะปรกติ level 50 แนะจุดสังเกต…นับตั้งแต่ดัชนีปรับตัวขึ้นจาก low 1,273 จุด จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยหลุดเส้น EMA 25 อาจมีลงทดสอบบ้าง แต่ไม่หลุด! ขณะที่ตัวเลข Fibo 23.6% ชี้ตำแหน่งโซนรับใกล้เคียงกันที่ 1,450 จุด…
สรุปทรงกราฟขาขึ้นควรต้องยืนเหนือโซนรับบริเวณ 1450-1460 จุดให้ได้ ส่วนแผนเทรดวันนี้ไม่มีหุ้นเพิ่ม จะเป็นการรีวิวหุ้นที่เคยแนะนำ เช่น CPF, KKP และ SCB…..เงื่อนไขไม่หลุดโซนรับ แนะถือต่อครับ (อ่านต่อหน้า 10)

What to watch
เครื่องมือ FedWatch ของ CME บ่งชี้ว่า ตลาดคาดการณ์ว่า มีโอกาส 93% (ขึ้นจากเดิม 89.6%) สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมของเฟดในเดือนพ.ย. และมีโอกาส 69.8% ที่เฟดจะลดอีก 0.25% ในเดือน ธ.ค.
งบกลุ่มธนาคารที่เหลือออกครบวันนี้ หลังจากนั้นงบกลุ่ม Non-Bank: คาดวันที่ 25 ต.ค. DELTA TRUE, 28 ต.ค. PTTEP SCGD, 29 ต.ค. SCGP, 30 ต.ค. SCC
รอ ครม. เคาะนำร่อง ลงทุนกาสิโน แสนล้านบาท เดือน ตค.นี้ (มีแนวโน้มเลื่อน หรือล่าช้าออกไป)
สถาบันวางแผนด้านนโยบายของจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนออกพันธบัตรพิเศษมูลค่า 2 ล้านล้านหยวน (2.80 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อระดมทุนจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพตลาดหุ้น ด้านผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกล่าวว่า ธนาคารกลางกำลังดำเนินการศึกษาข้อเสนอดังกล่าว
MSCI รอบใหม่ประกาศ 6 พ.ย. และมีผล 26 พ.ย. 67 มีลุ้นเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย จับตา IVL-MTC โอกาสสูงเข้าคำนวณ แนะเก็งกำไร IVL เป้าราคา 34 บาท ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดหุ้นไทยไตรมาสสุดท้าย กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะออกมาดี ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า วายุภักษ์-กองทุน TESG หนุน เล็งจับมือสมาคมบลจ. กระตุ้นตลาดทุน หวังวอลุ่มฯ ตลาดปีนี้ดีกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 53,331 ล้านบาทต่อวัน (ที่มา ข่าวหุ้น)
ศาลรธน.ยังไม่รับคำร้องยุบเพื่อไทย ปม "ทักษิณ" ครอบงำ สั่ง อสส.แจงใน 15 วัน // เราคิดว่าจะเป็นประเด็น Over-hang ตลาดไปสักพัก (อาจเป็นเหตุผล ที่หุ้นผู้นำตลาดถูกขาย ดึงดัชนีปรับฐานแรงวันนี้) เพราะ นลท.สายการเมือง อาจจะกลัวการรับคำร้อง ซึ่งไปเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ต่อให้เป็นกรณีรับคำร้อง ตลาดจะคลายกังวลไปก่อนเนื่องจากยังมีเวลาให้รัฐบาลทำงานต่อได้อีกนานหลายเดือนกว่าคำวินิจฉัยจะออก ในทางตรงข้าม ถ้าไม่รับคำร้องเลย เรามองเป็นบวกต่อจิตวิทยาการลงทุน

หุ้นแนะนำวันนี้
WHA การลงทุนโดยตรงจาก ตปท.มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากการขยายฐานการผลิตกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคที่เข้ามาในภูมิภาคโดยอาศัยไทยเป็นศูยน์กลาง
(S 5.7 R 6 SL 5.6)

Tactical port
ถอด THCOM AWC VGI CPNREIT เพิ่ม WHA

 


รายงานพื้นฐานวันนี้

Refining Sector
ต้องชิงจังหวะขายก่อน
รายงานกลุ่มโรงกลั่นวันนี้ เราแนะนำ “ขาย” ทั้งกลุ่ม โดยเราคาดว่าแม้ค่าการกลั่น (GRM) ใน 4Q24 จะปรับตัวดีขึ้นตามฤดูกาลจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในฤดูหนาว ขณะเดียวกัน ความต้องการน้ำมันเครื่องบินก็เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศ อย่างไรก็ตาม GRM ไม่น่าจะไปได้ไกลกว่านี้ เพราะการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ในปี 2024 ประกอบกับความต้องการในจีนที่ยังคงซบเซา จะจำกัดการฟื้นตัวของ GRM ให้ไม่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้
จากการศึกษารูปแบบการเคลื่อนไหวของ GRM (ใช้สถิติปี 2014-23) มักจะปรับตัวขึ้นในไตรมาส 4 ก่อนที่จะลดลงในไตรมาส 1 ของปีถัดไป เรามองว่าหากราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นที่ปรับตัวขึ้นตาม GRM ในไตรมาสนี้จะเป็นโอกาสในการขายทำกำไร
สำหรับคาดการณ์ผลประกอบการ 3Q24 เราคาดว่าบริษัทในกลุ่มโรงกลั่นจะมีผลขาดทุนรวม 1.18 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักมาจาก GRM และ GIM ที่ลดลง และขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน แนวโน้มใน 4Q24 คาดว่ากำไรหลักจะอ่อนแอลง YoY โดยเฉพาะในกลุ่ม BCP, IRPC และ SPRC ที่น่าจะถูกกดดันจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นตามฤดูกาล ขณะที่ TOP คาดว่าจะเป็นบริษัทเดียวที่เห็นการฟื้นตัวของกำไร QoQ ส่วน BCP, IRPC และ SPRC น่าจะถูกกดดันจากค่าใช้จ่าย SG&A ที่สูงขึ้นในฤดูกาล
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยสงครามในตะวันออกกลาง ที่หากทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น จะกดดัน Crude Premium และ GRM มากกว่าที่คาดไว้ด้วย
Fundamental view: เราปรับลดคำแนะนำลงเป็น “ขาย” ทั้ง BCP IRPC SPRC TOP

THCOM
ไทยคม
การเติบโตรอบใหม่ จะเด่นชัดหลังปี 2027
THCOM เป็นผู้ให้บริการดาวเทียมรายเดียวในไทยที่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการวงโคจรที่ 50.5 องศาตะวันออก โดยได้รับสิทธิ์จาก กสทช. ล่าสุด แม้ไม่มีแผนที่ชัดเจนในระยะสั้นในการสร้างรายได้จากวงโคจรนี้ แต่การที่ THCOM ถือสิทธิ์ในวงโคจรทั้งหมดในไทย ทำให้ตำแหน่งของบริษัทแข็งแกร่งมาก ซึ่งการ เข้าแข่งขันในตลาดนี้จะยากมากสำหรับผู้เล่นรายใหม่
เราประเมินว่า Thaicom-10 (ร่วมมือกับ SpaceX ในการปล่อย) จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลักหลังปี 2027 โดยจะเป็นดาวเทียมความเร็วสูงที่มีขีดความสามารถ 120Gbps ซึ่งครึ่งหนึ่งของกำลัง การบริการได้ถูกขายให้กับ Eutelsat แล้ว และหากใช้งานถึง 70-80% ของกำลังบริการทั้งหมด ของ Thaicom-10 ภายในปี 2030 คาดว่ากำไรหลักของ THCOM จะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1 พันล้านบาทในปีนั้น
แม้ว่าในปี 2025-26 THCOM จะมีปัจจัยบวกจากการขยายธุรกิจในอินเดียและการเพิ่มกำไรจากการลงทุนในลาว (LTC) แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการล่าช้าในการขอสิทธิ์ดำเนินการในอินเดีย รวมถึงการลดค่าเงินกีบลาว ซึ่งยังมี Downside risk ต่อแนวโน้มผลประกอบการ
Fundamental view: เราได้เลื่อนไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2025 ที่ 15.70 บาท (อิงวิธี DCF และใช้ WACC 8.1%) แต่ยังไม่เห็นว่าปี 2025-26 จะมีปัจจัยหนุนกระตุ้น จึงยังคงให้คำแนะนำ “ถือ”


สรุปประเด็นจาก Quick take

MINT
ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
คาดกำไรหลัก 3Q24 ดีกว่าที่เราคาดไว้
จากข้อมูลผลการดำเนินงานธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และแผนการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายใน 3Q24 ทำให้เราคาดว่ากำไรหลัก (ไม่รวมรายการพิเศษ) จะอยู่ที่ 2.74 พันล้านบาท โต 20% YoY และลด 15% QoQ (ตามปัจจัยฤดูกาล) ซึ่งสูงกว่าประมาณการของเราก่อนหน้าที่ 2.5 พันล้านบาท
View From Fundamental: เรามองบวกต่อผลการดำเนินงานหลัก (ไม่รวมรายการพิเศษที่เกิดจาก FX และ derivatives และ hedging transactions) ใน 3Q24 ซึ่งอาจทำให้กำไรปี 2024 ดีกว่าที่เราและตลาดคาด

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้