Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

581

 

ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook

แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ
Retail Consumption Divergence: ความอ่อนแอที่ซ่อนอยู่ของกำลังซื้อ แม้ยอดค้าปลีกสหรัฐจะโตเกินคาด
Key Takeaways:
▶️ ยอดค้าปลีกสหรัฐที่เติบโตดีกว่าคาดในเดือนกันยายน 2024 กระจุกตัวในหมวดสินค้าเบ็ดเตล็ดและเสื้อผ้า ขณะที่สินค้าคงทนและฟุ่มเฟือยยังชะลอตัว นอกจากนี้ การเติบโตของยอดค้าปลีกอาจได้รับผลจากปัจจัยตามฤดูกาล เช่น Back to School หรือผลกระทบของพายุเฮอริเคน ซึ่งอาจไม่สามารถรักษาโมเมนตัมในเดือนถัดไป
▶️ มีสัญญาณบ่งชี้ว่ากำลังซื้อผู้บริโภคสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนแอ จากการมี negative divergence ของยอดค้าปลีกกับตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ชั่วโมงทำงานและการเติบโตค่าจ้างที่ชะลอตัวลง รวมถึงดัชนี Visa Spending Momentum Index ที่หดตัว และอัตราการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 12 ปี
การบริโภคสหรัฐอาจไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่คิด
แม้ยอดค้าปลีกสหรัฐในเดือนกันยายน 2024 จะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่าอาจไม่ได้สะท้อนความแข็งแกร่งของการบริโภคอย่างแท้จริง จากประเด็นสำคัญดังนี้
เมื่อพิจารณาการเติบโตรายหมวดหมู่ พบว่าการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในหมวดที่อาจเป็นเพียงการซื้อครั้งเดียวจากปัจจัยฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมวดสินค้าร้านเบ็ดเตล็ดและเสื้อผ้าที่เติบโตถึง 4% และ 1.5% ตามลำดับ
ในทางตรงกันข้าม หมวดสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยหมวดเฟอร์นิเจอร์ปรับตัวลดลง 1.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงถึง 3.3% ที่สำคัญ สินค้าทั้งสองหมวดเติบโตติดลบ MoM เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็นมากขึ้น
อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ ปัจจัยตามฤดูกาลที่มักส่งผลต่อการบริโภคในเดือนกันยายน ซึ่งประกอบด้วยการซื้อสินค้าเพื่อเตรียมเปิดภาคเรียนใหม่ (Back to School) การจับจ่ายเสื้อผ้าเพื่อเตรียมรับฤดูหนาว และการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากผลกระทบของพายุเฮอริเคนที่มักรุนแรงในเดือนกันยายน ด้วยเหตุนี้ การเติบโตที่ดีกว่าคาดดังกล่าว จึงอาจไม่สามารถรักษาโมเมนตัมได้ในเดือนถัดๆไป
ค่าคาดการณ์ยอดค้าปลีกมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้มาก เมื่อเทียบกับ High frequency economic indicator อื่นๆ
ตัวเลขยอดค้าปลีกนับเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับการทำโมเดลคาดการณ์ โดยมักพบว่าตัวเลข consensus มีความคลาดเคลื่อนสูงกว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจระยะสั้นอื่นๆ ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญหลายประการดังต่อไปนี้
ประการแรก คือความอ่อนไหวต่อปัจจัยระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ สภาพอากาศแปรปรวน หรือกระแสความนิยมของสินค้าใหม่ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคหลังโควิดมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเติบโตของช่องทางออนไลน์ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 17% ของยอดค้าปลีกรวม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยจากช่วงก่อนโควิดที่อยู่ที่ 10-12% ส่งผลให้การคาดการณ์ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากการสำรวจข้อมูลของตัวแปรนี้จะทำไตรมาสละครั้ง ต่างจากหมวดอื่นๆที่ทำทุกเดือน
ประการที่สอง ข้อมูลชี้นำ (leading data) สำหรับการคาดการณ์ยอดค้าปลีกมีจำกัดเมื่อเทียบกับตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม กรณีการจ้างงาน (Payroll) มีตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน (Jobless claims) รายสัปดาห์เป็นตัวช่วยในการคาดการณ์ให้แม่นยำขึ้น
ประการที่สาม การเก็บข้อมูลยอดค้าปลีกมีความซับซ้อน เนื่องจากต้องรวบรวมจากร้านค้าหลากหลายประเภทและขนาด รวมถึงช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้อาจเกิดความล่าช้าหรือไม่ครบถ้วนในแต่ละเดือน ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวเลขย้อนหลังบ่อยเมื่อมีการประกาศตัวเลขใหม่
ประการสุดท้าย การปรับปรุงปัจจัยฤดูกาล (seasonal adjust) นั้น แม้จะมีสูตรคำนวณ แต่ไม่สามารถขจัดผลกระทบตามฤดูกาลได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยที่มีความผันผวนสูง เช่นในช่วงฤดูเฮอริเคนที่มักเกิดขึ้นถี่ในเดือนกันยายนมากกว่าเดือนอื่นๆ
สาเหตุที่ทำให้เรากังวลเรื่องกำลังซื้อในสหรัฐ
จากการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เราพบสัญญาณที่บ่งชี้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนแอลง ดังนี้
ประการแรก การลดลงของเวลาทำงานและการชะลอตัวของการเติบโตค่าจ้าง โดยเวลาทำงานของพนักงานรายสัปดาห์มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงกลางปี 2021 เหลือเพียง 34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปัจจุบัน ขณะที่อัตราการเติบโตของค่าจ้างรายสัปดาห์ก็ชะลอตัวลงจากจุดสูงสุดที่ 7% ต่อปีในช่วงกลางปี 2021 มาอยู่ที่ 4%
ประการที่สอง ดัชนี Visa Spending Momentum Index (SMI) มีแนวโน้มชะลอตัว โดยตัวเลขดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งปัจจุบันดัชนีได้ปรับตัวลงต่ำกว่า 100 ที่เป็นโซนหดตัว และหากไม่นับรวมช่วงวิกฤตโควิด ระดับดัชนีเฉลี่ยปี 2024 ก็นับว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ เรายังพบสัญญาณเตือนจากภาวะตึงตัวทางการเงินของผู้บริโภคอื่นๆ พิจารณาได้จากสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่อการใช้จ่ายทั้งหมด (Credit Card Loan to PCE) ที่อยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วง pre-Covid แต่กลับมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงกว่ามาก สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นจาก delinquency rate ของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 12 ปี ผลที่ตามมาคือธนาคารมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภค ดังจะเห็นได้จากตัวเลข Net Percentage of Domestic Banks Tightening Standard for Credit Card Loans ที่อยู่ในระดับสูง
โดยสรุป แม้ว่ายอดค้าปลีกเดือนกันยายนจะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐแข็งแกร่งและจะรักษาโมเมนตัมเช่นนี้ต่อไปในไตรมาส 4 เนื่องจากมีสัญญาณ negative divergence กับตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับกำลังซื้อของผู้บริโภคตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

 

 

 

สรุปภาพตลาดวานนี้
ประเด็น Overhang จากการเมืองกลับมาเป็นแรงกดดันอีกครั้ง โดยเป็นข้ออ้าง (Execution) ในการขายกลุ่มดันดัชนีขึ้นมาก่อนหน้าอย่าง GULF ADVANC INTUCH กลุ่มธนาคาร และกลุ่มพลังงานใหญ่ แม้ DELTA แท็คทีมมากับ TRUE CPAXT AMATA จะพยายามช่วยพยุงไว้ก็เอาไม่อยู่ เพราะแรงน้อยไป อย่างไรก็ดี หุ้นบวกสวนยังมีให้เห็น เช่น STEC (วันก่อนลงแรง หลังครบเทนเดอร์) PR9 (ที่เราออก Tactical Idea Call กำไรจะดีกว่าตลาดคาดไป) เป็นต้น

แนวโน้มตลาดวันนี้
แค่พักนะ ใช่...ใช่ไหม
ดัชนีหุ้นไทยพักฐานลงตามแนวรับที่เราคาด 1470 แต่มีแนวโน้มจะลงได้ต่ำกว่าแนวรับที่ประเมิน (ยังมองเป็นแค่ Error) ตามราคาหุ้นใหญ่ที่มีผลต่อดัชนีปรับลดลง หลังราคาหุ้นทั้งหลายเหล่านี้ เช่น GULF INTUCH ADVANC แรลรี่ขึ้นแรงแซงเพื่อนๆ
แต่เรายังคงคาดว่าเงินที่ขายจากหุ้นที่ขึ้นแรงแซงตลาดรอบนี้ ยังไม่ออกจากตลาดหุ้นในทันที ตรงข้ามเรามองเป็นการเติมสภาพคล่องในตลาด หรือหากนักเก็งกำไรระยะสั้น ยังไม่ขายหุ้นทั้งหลายเหล่านี้ ก็อาจนำไปเป็นหลักประกัน มาเล่นหุ้นต่อได้ (เล่นในบัญชี Margin)
ดังนั้นเราจึงประเมินว่า ดัชนีฯอาจปรับฐานเกินกว่าที่คาด แต่ราคาหุ้นอีกหลายตัวใน ธีม Switching Combo คาดว่ายัง Valid และเล่นต่อได้
แม้ตลาดหุ้นและนักลงทุนสายการเมือง อาจมีความกังวลเพิ่ม จากประเด็น ศาล รธน. สั่ง อสส. ให้เวลา 15 วัน เพื่อหาหลักฐานคดีครอบงำพรรคเพื่อไทยมาเพิ่ม และรอพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเราให้เหตุผลผ่าน Wealth Connex ไปว่าจะส่งผลกับตลาดแค่ในระดับหนึ่งช่วงสั้นๆ สุดท้ายจะผ่านไปได้ด้วยดี

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์แนะนำ เลือกหุ้นเล่นเป็นรายตัว โฟกัสไปข้างหน้า เน้นไปที่แนวโน้มผลการดำเนินงานที่จะมีโอกาสถูกปรับเพิ่มประมาณการณ์ หรือ มองเห็นปัจจัยหนุนชัดเจนที่จะเข้ามาเกื้อหนุนต่อผลการดำเนินงานหลังจากนี้

วิเคราะห์ทางเทคนิค
กราฟแท่งเทียน candle บ่งชี้รูปแบบ “ Shooting star” เปิดสูงปิดต่ำตามมาด้วยแท่งแดงในวัดถัดไป ตามสูตร! บ่งชี้เงื่อนไขการปรับฐานของตลาดแม่นยำ ล่าสุดดัชนีหลุดเส้น EMA 5 วันที่ 1475 จุด ปรับตัวลงจากเขตแดน overbought ภาวะความผันผวนสูง มีโอกาสลงทดสอบเส้น EMA 25 วัน (ค่าเฉลี่ยรายเดือนเส้นล่าง) บริเวณ 1460 จุด ลงไม่ลึก! ส่วน theme play ชอบ นิคม AMATA ค้าปลีกเลือก CPAXT แบงค์เพิ่ม SCB ส่วนแบงค์กลาง KKP เด่นกว่าตัวอื่น (แผนเทรดติดตามคอลัมน์ถัดไป) ส่วนตปท. จับตา US dollar & US bond yield เป็นสิ่งที่ตลาดพูดถึงกัน (ติดตามในบทวิเคราะห์ World asset class) เช้านี้ครับ

 

What to watch
เครื่องมือ FedWatch ของ CME บ่งชี้ว่า ตลาดคาดการณ์ว่า มีโอกาส 89.6% สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมของเฟดในเดือนพ.ย. และมีโอกาส 10.4% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม
งบกลุ่มธนาคารที่เหลือออกครบวันนี้ หลังจากนั้นงบกลุ่ม Non-Bank: คาดวันที่ 25 ต.ค. DELTA TRUE, 28 ต.ค. PTTEP SCGD, 29 ต.ค. SCGP, 30 ต.ค. SCC
รอ ครม. เคาะนำร่อง ลงทุนกาสิโน แสนล้านบาท เดือน ต.ค.นี้
สถาบันวางแผนด้านนโยบายของจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนออกพันธบัตรพิเศษมูลค่า 2 ล้านล้านหยวน (2.80 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อระดมทุนจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพตลาดหุ้น ด้านผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกล่าวว่า ธนาคารกลางกำลังดำเนินการศึกษาข้อเสนอดังกล่าว
MSCI รอบใหม่ประกาศ 6 พ.ย. และมีผล 26 พ.ย. 67 มีลุ้นเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย จับตา IVL-MTC โอกาสสูงเข้าคำนวณ แนะเก็งกำไร IVL เป้าราคา 34 บาท ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดหุ้นไทยไตรมาสสุดท้าย กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะออกมาดี ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า วายุภักษ์-กองทุน TESG หนุน เล็งจับมือสมาคมบลจ. กระตุ้นตลาดทุน หวังวอลุ่มฯ ตลาดปีนี้ดีกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 53,331 ล้านบาทต่อวัน (ที่มา ข่าวหุ้น)
ชงของบ 2.4 หมื่นล้านฟื้น 'เราเที่ยวด้วยกัน' กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เร่งบูสต์รายได้ท่องเที่ยว จ่อหารือ ก.คลัง ของบฯกว่า 2.4 หมื่นล้าน ฟื้นโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" กระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศอีกระลอกใหญ่ เผยนายกฯอิ๊งค์เห็นด้วยแล้ว คาดคิกออฟได้ช่วงโลว์ซีซั่นปี'68 เผยดันเก็บ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" ขอเปลี่ยนเป็น Traveling Tax ดันเข้า ครม.อีกรอบเร็วๆ นี้ ตั้งเป้าจัดเก็บทันกลางปีหน้า ล่าสุดเตรียมเจรจาขอเพิ่มสิทธิ "แอ่วเหนือคนละครึ่ง" ปลุกท่องเที่ยว 17 จังหวัดภาคเหนือช่วงไฮซีซั่นนี้

ศาลรธน.ยังไม่รับคำร้องยุบเพื่อไทย ปม "ทักษิณ" ครอบงำ สั่ง อสส.แจงใน 15 วัน // เราคิดว่าจะเป็นประเด็น Over-hang ตลาดไปสักพัก (อาจเป็นเหตุผล ที่หุ้นผู้นำตลาดถูกขาย ดึงดัชนีปรับฐานแรงวันนี้) เพราะ นลท.สายการเมือง อาจจะกลัวการรับคำร้อง ซึ่งไปเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ต่อให้เป็นกรณีรับคำร้อง ตลาดจะคลายกังวลไปก่อนเนื่องจากยังมีเวลาให้รัฐบาลทำงานต่อได้อีกนานหลายเดือนกว่าคำวินิจฉัยจะออก ในทางตรงข้าม ถ้าไม่รับคำร้องเลย เรามองเป็นบวกต่อจิตวิทยาการลงทุน

หุ้นแนะนำวันนี้
BEM พักในหุ้น Defensive Low Beta (S 8 R 8.2 SL 7.9)

 

 

รายงานพื้นฐานวันนี้

ECON
สินค้าจีนทะลัก เปิดความเสี่ยงตลาดในประเทศ
การนำเข้าสินค้าจากจีนในยุคหลังโควิดทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเหล็ก เสื้อผ้า และรองเท้า เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำของจีน ทำให้สินค้าจากจีนมีราคาถูกและเข้าสู่ตลาดไทยมากขึ้น
จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก และในปี 2023 มีมูลค่าส่งออก 3.39 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 14.5% ของการส่งออกทั่วโลก ขณะที่ไทยมีมูลค่าส่งออกเพียง 0.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.2% ของการส่งออกทั่วโลก โดยปัจจุบันการนำเข้าของไทย 25.4% มาจากจีน
การนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 13.4% ต่อปีในช่วงปี 2021-2023 ทำให้ผู้ผลิตสินค้าในไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากสินค้าจีนที่มีราคาต่ำกว่า ทั้งนี้ การแข่งขันในตลาดส่งออกระหว่างผู้ผลิตไทยและจีนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
สินค้ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากการนำเข้าสินค้าจากจีน ได้แก่:
1. สินค้าที่มีความเสี่ยงสูง: เช่น เหล็ก เส้นด้าย สิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า
2. สินค้าที่พึ่งพาการนำเข้าสูง: เช่น สินค้าทุน เครื่องจักร และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
3. สินค้าที่มูลค่าการนำเข้าเติบโตเร็ว: เช่น ซีเมนต์และทองแดง ซึ่งอุตสาหกรรมของจีนผลิตเกินความต้องการในประเทศ

 


Tourism Sector
โต้คลื่น ไปกับกลุ่มท่องเที่ยว
จากงาน BLS Tourism Day ที่ผ่านมา ที่เราได้เชิญผู้บริหารของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TAT หรือ ททท.), Trip.Com Group และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เข้าบรรยาย ภาพรวมทุกฝ่ายแสดงความมั่นใจในแนวโน้มการท่องเที่ยวช่วง 4Q24 และ 2025
เริ่มต้นจาก ททท. ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2025 ที่ 39 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 36.9 ล้านคนในปี 2024 และคาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวปี 2025 ที่ 3.4 ล้านล้านบาท ซึ่งกลับสู่ระดับเดียวกับปี 2019 (ก่อนโควิด) โดย ททท. เน้นการโปรโมตในตลาดที่เติบโตสูง เช่น ตะวันออกกลางและเอเชียใต้ รวมถึงการร่วมมือกับสายการบินในการเปิดเที่ยวบินใหม่ โดยแผนกลยุทธ์หลัก คือการดึงดูดนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ กลุ่มครอบครัว กลุ่มชอบความหรูหรา กลุ่ม LGBTQIAN+ และ Event ต่างๆ นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นประเด็นใหม่ว่าเทรนด์ความยั่งยื่นจะถูกนำมาใช้เป็นธีมในกลุ่มของการท่องเที่ยวมากขึ้น
สำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2024 โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวหนุ่มสาว ครอบครัว และนักท่องเที่ยวระดับหรู โดยปัจจุบันเน้นมาจัดงานแต่งและฉลองครบรอบ ซึ่ง กทม. พัทยา ภูเก็ต และสมุย เป็นเป้าหมายการเดินทาง ส่วนฤดูกาลจะมีเทศกาล Holi และ Dawali (ต.ค. และ มี.ค.) นอกจากนี้ ททท. เตรียมจัดงาน Music Festival ใหญ่ดึงดูดด้วยในปีหน้า
ส่วนการท่องเที่ยวจากจีนเห็นความนิยมในการจองผ่านแอปพลิเคชัน และการจองที่พักที่คุ้มค่า เช่น โรงแรม 4 ดาว นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ไทยจะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT (วางแผนท่องเที่ยวด้วยตัวเอง) จากจีน ซึ่งเข้ามาทดแทนกลุ่มทัวร์ที่หายไป ทั้งนี้ มาตรการ Free Visa ถือว่าได้ผลมาก
แนวโน้มธุรกิจของผู้บริหารบริษัทชั้นนำ ผู้แทนบริษัทต่างๆ เช่น CENTEL, ERW, SPA, VRANDA, AAV, และ SAFE ได้แสดงถึงแนวโน้มที่แข็งแกร่งของธุรกิจในช่วง 4Q24 และ 2025 (ติดตามรายละเอียดในรายงานแยกรายบริษัทลำดับถัดไป)

VRANDA (Visit Note)
วีรันดา รีสอร์ท
ฐานเริ่มนิ่ง แต่จะวิ่งต้องมีแรงสะกิด
เราจัดงาน BLS Tourism Day ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย VRANDA ได้เข้ามาร่วมบรรยาย ภาพรวมเราพบว่านักลงทุนมีความสนใจในธุรกิจของ VRANDA มากขึ้น จากแนวโน้มที่กำลังจะกลับมาเป็นขาขึ้นรอบใหม่ตั้งแต่ 2H24 ไปยันปีหน้า โดยใน 3Q24 คาด RevPAR เติบโต 11% YoY และเป้าหมาย 4Q24 คาดเติบโตต่อช่วง 10-15% YoY ซี่งปัจจุบันเห็นยอดกลุ่ม นทท. ที่จองล่วงหน้าเข้ามาเพิ่มขึ้นเทียบปีที่แล้วราว 30% YoY ภาพรวมแนวโน้มกำไร 3Q-4Q24 คาดเติบโตทั้ง YoY, QoQ แม้จะมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มจากการเปิดโรงแรมใหม่ (ค่าพนักงาน ค่าเสื่อม) แต่จะได้อานิสงส์จากทั้งฐานต่ำ และการโอนอสังหาฯ เข้ามาช่วย
นอกจากนี้ จะมีความตื่นเต้นเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1) เตรียมเปิดโรงแรมใหม่ Veranda Resort Phuket Autograph Collection จะเปิดในช่วง ธ.ค. และ 2) การเปิดส่วนขยายโรงแรมที่สมุย ซึ่งปัจจุบัน Occ. rate ค่อนข้างใกล้เต็ม ทำให้ภาพรวมปี 2025 จำนวนห้องจะเพิ่มราว 25% YoY และนอกจากรายได้โรงแรม จะมีการโอนอสังหาฯ โครงการใหม่ที่ภูเก็ต หนุนรายได้เข้ามาเพิ่มอีกทาง ภาพรวมบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้น 38% YoY ซึ่งหากทำได้ตามแผนจะมี Upside ต่อประมาณการรายได้ของตลาด (อิง Bloomberg และ Settrade) ราว 10% ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดคาดการณ์กำไรหลักของ VRANDA ปี 2025 เติบโตเฉลี่ย 22% สูงกว่ากลุ่มโรงแรมที่เราให้คำแนะนำ (MINT CENTEL ERW AWC) ที่เติบโตเฉลี่ย 17%
Tactical view: ปัจจุบัน VRANDA ซื้อขายบน PER ปี 2025 (อิง Consensus EPS) ที่ 17 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม รร. ที่เราแนะนำที่ 24 เท่า แม้จะไม่ได้อยู่โซนแพง และแนวโน้มดูดีขึ้น แต่ปัญหาหลักที่ นลท. ยังไม่กล้าเข้าไปเล่นหุ้น คือ 1) กังวลต้นทุนเพิ่มจากโรงแรมใหม่ใน ธ.ค. และ 2) กังวลสภาพคล่องที่ซื้อขายหุ้นน้อยเกินไป เราจึงแนะนำให้รอ Volume ซื้อขายเพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากช่วงหลังงบฯ 3Q24 ออก จึงจะเป็นจังหวะสะสมเข้าไปสะสมเก็งกำไรตามแนวโน้มที่ดี เบื้องต้น ให้กรอบราคาเทคนิค แนวรับ 5.3-5.4, Take Profit จุดแรกที่ 6.0 ตัดขาดทุน 5 บาท

TMT Strategy
บอสหวงจะเข้ามาลงทุนด้านไหนในไทย?
Nvidia เตรียมประกาศแผนการลงทุนในไทย เราประเมินโอกาสจากประเด็นข่าวนี้น่าจะมาในรูปแบบของ Data center และ AI Center โดยคาดเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาคน ซึ่งใกล้เคียงกับการลงทุนในอินโดนีเซียราว $200m แต่คาดไม่น่าจะเท่าระดับมาเลเซียที่ $4.3bn ซึ่งเป็นการลงทุนทั้งด้าน Supercomputer และ LLM โดย Nvidia ได้ร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น เช่น YTL Power ในมาเลเซียและ Indosat Ooredoo Hutchison ในอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI และศูนย์ข้อมูล
สำหรับการผลิตไม่น่าจะเป็นการลงทุนหลักเนื่องจาก Nvdia เป็น Fabless company ที่ให้บริษัทอื่น เช่น TSMC ผลิต ดังนั้น ด้วยรูปแบบการลงทุนที่คล้ายกัน คาดว่าในไทย Nvidia อาจจับมือกับบริษัทใหญ่อย่าง WHA และ GULF ในการพัฒนาโครงการ AI ขนาดใหญ่ รวมถึงอาจมีการลงทุนร่วมกับบริษัทเช่น STT GDC และ GreenNode ซึ่งมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและคลาวด์ในไทย
Fundamental view: ภาพรวมเราคาดกลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เช่น นิคมฯ (WHA AMATA), GULF Group (ADVANC) และเฟสต่อไปคือกลุ่มผู้ให้บริการ SI เช่น LTS ในด้านของกลุ่มชิ้นส่วนคาดได้ Sentiment เชิงบวก โดย DELTA มีความเกี่ยวข้องมากที่สุด เนื่องจาก DELTA Taiwan อยู่ใน Supply chain นี้อยู่แล้ว

KCE
เคซีอี อีเลคโทรนิคส์
ชะลอตัวระยะสั้น
เรามองตลาดการผลิตรถทั่วโลกยังถูกดดันจากภาพเศรษฐกิจโลกโดยรวม อีกทั้งยังมีการชะลอการออกสินค้าใหม่ๆ บางรุ่น นอกจากนี้ยังเห็นเทรนด์ของการเพิ่มสัดส่วนรถที่ใช้ content per car ลดลง สำหรับภาพการผลิต KCE ยังน่าจะได้รับการกดดันจากคอขวดของ HDI ใน 3Q24 และคาดอัตรากำไรขั้นต้นจะถูกกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าและราคาทองแดงที่ปรับตัวขึ้น
เราประเมินกำไรหลัก 3Q24 ที่ 431 ล้านบาท ลดลง 8% YoY และ 19% QoQ
Fundamental view: ยังคงคำแนะนำ wait-and-see


สรุปประเด็นจาก Quick take

KKP
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
ประเด็นสำคัญจากการประชุมนักวิเคราะห์
KKP ยังเน้นดำเนินธุรกิจแบบระมัดระวัง ขณะที่ธุรกิจตลาดทุนจะฟื้นตัวดีขึ้น
View From Fundamental: เรามีมุมมองเป็นกลาง โดยประเมินว่าธุรกิจตลาดทุนจะฟื้นตัวดีขึ้น และขาดทุนจากการขายรถยึดจะลดลงในปี 2025 จึงแนะนำ ซื้อ

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ดันต่อ By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง วันนี้ หุ้นใหญ่ หน้าเดิม ดันSET ฝ่า 1,200 จุด ต่อ การสลับหน้าที่กันไป ห้วงระหว่างอยู่ ผลการ....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้