Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

427

 

ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook

แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ
3 สัญญาณเตือนที่เป็น Turning Point
Key Takeaways:
▶️ กำลังซื้อสหรัฐอาจอ่อนแอกว่าที่ปรากฏ?: แม้ตัวเลขค้าปลีกจะดูดี แต่การเติบโตส่วนใหญ่มาจากสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่สินค้าคงทนหดตัว นอกจากนี้ ยอดขายร้านอาหารและอัตราการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตส่งสัญญาณลบ ชี้ถึงความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐ
▶️ อุตสาหกรรม Semiconductor ใกล้ถึงจุดสูงสุดของวัฏจักรระยะสั้น?: แม้หุ้นกลุ่มนี้จะปรับตัวดีขึ้น แต่มีสัญญาณว่าอัตราการเติบโตของยอดขายใกล้ถึงจุดสูงสุดในระยะสั้น สะท้อนจาก YoY Growth Rate ที่ใกล้ระดับสูงสุดในอดีต และ Taiwan Electronic & Optical Manufacturing PMI ที่เริ่มเข้าสู่โซนหดตัว
▶️ ตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ในภาวะ Complacency?: ระดับการถือครองเงินสดจาก BofA Global Fund Survey อยู่ในระดับที่ต่ำมาก ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่ในระดับสูง ทำให้มีความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นโลกอาจกลับทิศหากมีปัจจัยลบเข้ามากระทบ
1 เบื้องหลังการบริโภคสหรัฐ: กำลังซื้อที่แท้จริงอาจอ่อนแอกว่าที่คิด:
แม้ว่า Bloomberg US Economic Surprise Index จะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ -0.6 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ตัวเลขล่าสุดยังคงอยู่ในโซนติดลบ โดยการรีบาวด์ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขค้าปลีกที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ากำลังซื้อไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่ตลาดคิด เนื่องจากหมวดที่เติบโตดีส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและเพื่อสุขภาพ ซึ่งมักจะแข็งแกร่งใน late economic cycle เป็นปกติ ในขณะที่หมวดสินค้าคงทนยังเห็นการเติบโตติดลบเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เช่น เฟอนิเจอร์ -0.7%, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า -1.1% เป็นต้น
นอกจากนี้ การบริโภคในร้านอาหารของปี 2024 ก็แสดงสัญญาณของการชะลอตัวอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2023 โดยผลการสำรวจจาก National Restaurant Association ชี้ว่าผู้ประกอบการร้านอาหารได้รายงานยอดขายสาขาเดิม (same store sales) ลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าที่รายงานว่ามียอดขายสูงขึ้นในทุกๆ เดือนของปีนี้ในช่วงมกราคมถึงสิงหาคม ซึ่งแตกต่างจากปี 2023 ที่มีผลสำรวจในทิศทางตรงกันข้าม ส่งผลให้ Restaurant Performance Index อยู่ต่ำกว่า 100 ซึ่งเป็นโซนหดตัวเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน สอดคล้องกับสัญญาณลบจากอัตราการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในเกือบ 13 ปี ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐมี downside risk ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 68% ของ GDP
2 วงจรธุรกิจ: Semiconductor
แม้หุ้นกลุ่ม Semiconductor จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาตามการฟื้นตัวของ Electronics PMI (ใช้ตัวเลขของไต้หวันเป็นตัวแทนเนื่องจากเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก) แต่มีสัญญาณลบที่ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอัตราการเติบโตของยอดขายของกลุ่มนี้จะผ่านหรือใกล้จุดสูงสุดแล้ว สัญญาณแรกที่สังเกตได้คือ YoY Growth Rate มักจะพีคบริเวณโซน 25-32% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทียบกับปัจจุบันที่ 28% ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณของตัวเลข Taiwan Electronic & Optical Manufacturing PMI ที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือนพฤษภาคม 2024 โดยล่าสุดได้ปรับตัวลงสู่โซนหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของอุตสาหกรรม
อีกหนึ่งสัญญาณที่น่าสนใจคือ ตัวเลข New Orders - Inventories ของ Taiwan Manufacturing PMI ชะลอตัวลงเป็นอย่างมากจาก 21.7 ในเดือนพฤษภาคม 2024 สู่ 1.8 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้ติดลบ และต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 สิ่งนี้สื่อโดยนัยว่า restocking cycle ของกลุ่ม Semiconductor ใกล้หมดแรงส่งแล้ว (อุตสาหกรรมหลักของไต้หวันคือกลุ่ม Semiconductor) ด้วยภาพรวมทั้งหมดนี้ ทำให้ Semiconductor ETF (SOXX) จึงมีโอกาสเผชิญกับแรงขายในระยะอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าได้มี frenzy trade เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับฐานจาก negative guidance ของบริษัท
3 วงจรจิตวิทยา: Complacency
ระดับการถือครองเงินสดจากผลการสำรวจของ BofA Global Fund Manager Survey ได้ปรับตัวลงสู่ 3.9% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 4.2% ที่เป็น threshold ของ sell signal เนื่องจากสถิติในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาชี้ว่ามักตามมาด้วยการกลับตัวของตลาดหุ้นสหรัฐ สอดคล้องกับข้อมูลนี้ 8-Week Bull-Bear Spread ล่าสุดอยู่ที่ 48% สูงกว่า +1SD ที่ระดับ 46% ทำให้วงจรจิตวิทยาตลาดอยู่ในสภาวะ complacency ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่ตลาดหุ้นมี valuation ที่แพง แต่นักลงทุนกลับซื้อหุ้นเพิ่มจนมีเงินสดในระดับที่ต่ำมาก สถานการณ์เช่นนี้เพิ่มโอกาสที่จะเกิดการปรับฐานตามมาจากปัจจัยลบ คล้ายกับเหตุการณ์ในอดีตหลายๆ ครั้ง ทั้งนี้ เราประเมินว่ามีปัจจัยกระตุ้นหรือสัญญาณที่ชี้ว่าจะทำให้เกิดการปรับฐานที่รุนแรงตามมาในตลาดหุ้นสหรัฐในอนาคตอันใกล้ ดังต่อไปนี้
ประการแรก %earnings beat to miss มีแนวโน้มที่จะลดลงในฤดูกาลประกาศงบไตรมาส 3 นี้จากการชะลอตัวตาม late business cycle สังเกตได้จากการที่ net และ gross margin ได้ผ่านวงจรที่ดีที่สุดไปแล้ว รวมถึงการมีจำนวนบริษัทที่รายงาน net profit margin ลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าบริษัทรายงานว่ามาร์จิ้นเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ earnings มีโอกาสเกิดภาพ downside surprise มากกว่า upside surprise
ประการที่สอง VIX Index หรือดัชนีความกลัวไม่ได้ปรับตัวลงตามการทำจุดสูงสุดใหม่ของ S&P500 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเทรดเดอร์มืออาชีพเริ่มเฮดจ์ความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงิน
ประการที่สาม ปัญหาในตะวันออกกลางกำลังเข้าสู่ critical point ตามที่เราได้อัปเดตเมื่อวาน ซึ่งอาจทำให้เกิด negative shock ต่อตลาด
ประการสุดท้าย การฟอร์มตัวของดัชนี Nasdaq100 ซึ่งประกอบด้วยหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 100 บริษัทของสหรัฐกำลังอยู่ในรูปแบบ Rising Wedge ซึ่งเป็น bearish pattern ที่มักเกิดภาพการกลับทิศอย่างรุนแรงหากมีปัจจัยลบเข้ามากระทบ (sharp reversal)
ปัจจัยเหล่านี้รวมกันชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐ และอาจนำไปสู่การปรับฐานที่รุนแรงในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็น busy month ของฤดูประกาศงบ

สรุปภาพตลาดวานนี้ หุ้นไทยกลับมาบวกแรงเกินต้าน หลัง กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายก็เห็นกลุ่มไฟแนนซ์-AMC บวกขึ้นมาแทบยกแผง โดยเฉพาะตัวหลักอย่าง JMT BAM CHAYO MTC SAWAD TIDLOR SINGER SGC ตามด้วยอสังหาฯ SIRI SPALI SC AP ORI วัสดุก่อสร้าง TASCO SCCC ก็เด้งมาด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ยังเห็น DELTA ไม่ได้ลงตามอิเล้กฯ ต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ หุ้นบวกแรงอื่นๆ

 


แนวโน้มตลาดวันนี้
SET กดไม่ลง (ลงทุนโหนกระแส)
เมื่อวาน กนง.สร้างความประหลาดใจเชิงบวกให้กับตลาดฯ ด้วยการลดดอกเบี้ย 0.25% เลยรอบนี้ ไม่รอปลายปี
ดึงดัชนีหุ้นไทยบวกขึ้นทันที ปล่อยให้เรารอเก้ออยู่ที่ฐาน...ในเมื่อตลาดบวกแรงเกินคาด และกลับเข้าลู่วิ่งอีกครั้ง กลยุทธ์เราต้องกลับลำยอมซื้อแพง หลังจากเมื่อวาน ถอดหุ้นออกจากพอร์ตกลยุทธ์ ไปแล้วเพื่อเก็บเงินรอซื้อหุ้นใหม่ เล่นรอบหน้า
วันนี้ แนะนำทยอยเพิ่มหุ้นเข้าพอร์ต Follow Buy หุ้นตามกระแสลงทุนช่วงนี้คือต้นทุนทางการเงินทุกจะอย่างจะเริ่มลดลง 1) ต้นทุนทางการเงินลดลงจากการลดดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดของ กนง. (โรงไฟฟ้า กลุ่มซีพี REITs สินเชื่อบุคคล เก็บหนี้ อสังหา) 2) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ Mega project จากต้นทุนในการกู้ยืมเงินหรือออกหุ้นกู้ชุดใหม่ของรัฐบาล มีต้นทุนที่ลดลง (STEC CK MCOT คาสิโนฯ, นิคมฯ, ดาต้าเซ็นเตอร์, เวนคืนสัมปทานรถไฟฟ้า) 3) บาทจะเริ่มอ่อนค่า หนุนการลงทุนโดยตรงในอนาคต (DELTA CCET)
ส่วนกลุ่มธนาคารคาดกระทบราคาหุ้นไม่นาน สักพักจะฟื้นเมื่อตลาดรับรู้ว่าผลกระทบพื้นฐานจากการลดดอกเบี้ยนั้นน้อยกว่าที่คิด...
กลยุทธ์แนะเลือกเก็งกำไรหุ้นตามกระแส และงบการเงินที่ดีขึ้นเมื่อมองไปข้างหน้า

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์แนะนำ เลือกหุ้นเล่นเป็นรายตัว โฟกัสไปข้างหน้า เน้นไปที่แนวโน้มผลการดำเนินงานที่จะมีโอกาสถูกปรับเพิ่มประมาณการณ์ หรือ มองเห็นปัจจัยหนุนชัดเจนที่จะเข้ามาเกื้อหนุนต่อผลการดำเนินงานหลังจากนี้

วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET ขึ้นสู่เป้าฯรายเดือนที่ 1,480 จุด...สำเร็จ โดยมีปัจจัยหนุนจากกนง.เซอร์ไพรส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ต่อปี การลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ นอกจากนี้ยังสามารถลดความร้อนแรงของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องต่อการลงทุนด้วยเช่นกัน แนวโน้มดัชนีลุ้นเดินหน้ากันต่อ มอง target สิ้นปีจะอยู่ที่ 1,535 จุด (ตำแหน่ง Fibonacci retracement 61.8%)
Note: หุ้นแนะนำ....เน้นกลุ่มที่ได้ประโยนช์จากดอกเบี้ยขาลง เช่น ไฟแนนซ์ อสังหาฯและโรงไฟฟ้า

 


What to watch
งบธนาคาร: วันที่ 17 คาด งบ BBL วันที่ 18 คาด KTB TTB KKP และวันที่ 21 คาด KBANK SCB
ตั้งกองทุนซื้อคืนสัมปทาน รถไฟฟ้า เดินหน้าโครงการ 20 บาทตลอดสาย
รอ ครม. เคาะนำร่อง ลงทุนกาสิโน แสนล้านบาท เดือน ตค.นี้
การประชุม กนง. 16 ต.ค. มติเป็นเอกฉันท์ ลดดอกเบี้ย สร้างความประหลาดใจเชิงบวกให้กับตลาด (Consensus เริ่มคาดจะลดอีก 0.25% ในเดือน ธ.ค. เหลือ 2%)
คาดเศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 4.5%, คาดธนาคารกลางยุโรป ลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เหลือ 3.25%
MSCI รอบใหม่ประกาศ 6 พ.ย. และมีผล 26 พ.ย. 67 มีลุ้นเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย จับตา IVL-MTC โอกาสสูงเข้าคำนวณ แนะเก็งกำไร IVL เป้าราคา 34 บาท ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดหุ้นไทยไตรมาสสุดท้าย กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะออกมาดี ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า วายุภักษ์-กองทุน TESG หนุน เล็งจับมือสมาคมบลจ. กระตุ้นตลาดทุน หวังวอลุ่มฯ ตลาดปีนี้ดีกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 53,331 ล้านบาทต่อวัน (ที่มา ข่าวหุ้น)

หุ้นแนะนำวันนี้
AAVประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง(S 2.7 R 2.80 SL 2.64)

Tactical port
ถอด BBL เพิ่ม AAV AWC VGI CPNREIT

 


รายงานพื้นฐานวันนี้

ECON
มุมมองต่อ กนง. ประกาศลดดอกเบี้ย 0.25%
กนง. ได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดกอเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% ต่อปี เหลือ 2.25% ต่อปี นับว่าเป็นการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคาด เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ของประชาชน โดยไม่กระทบต่อการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ ภายใต้สินเชื่อที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงยังอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ
BLS มองว่า ในระยะถัดไป อาจจะมีโอกาส (ประมาณ 50%) ที่ทาง กนง. จะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง (0.25%) ในเดือนธันวาคม เหลือ 2.0% เพื่อประคองการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการส่งออก (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของ GDP) ที่อาจจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดในช่วงต้นไตรมาส 4 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง การสิ้นสุดการเร่งนำเข้าสินค้าจีน หรือ Front Load Demand ของสหรัฐฯ ในช่วงปลายกันยายนก่อนการขึ้นภาษี รวมถึงผลของการแข็งค่าของเงินบาทที่แม้ ณ ปัจจุบันจะมีทิศทางอ่อนค่าลงบ้าง แต่ก็ยังนับว่าแข็งค่ากว่าค่าเงินของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 8.3% ขณะที่ค่าเฉลี่ยการแข็งค่าของเงินในภูมิภาคอยู่ที่ 3.0% อันจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการส่งออกไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง
ขณะเดียวกัน มองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดการสร้างหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยเศรษฐกิจภาพรวมที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง อันจะกระทบกับรายได้และกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ย่อมส่งผลกดดันต่อการพิจารณาสินเชื่อเป็นทุนเดิม สำหรับนโยบายการแก้ไขหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ทั้งในเรื่องของ Responsible Lending ในปัจจุบัน รวมถึงเกณฑ์การกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) สำหรับการให้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2025 ก็จะมีส่วนช่วยคุมการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือน นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงยังมีส่วนช่วยทำให้ Sentiment การลงทุนภาคเอกชนดีขึ้น


Retail
Finance
ได้เวลาลุย
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่ม Retail Finance มากขึ้น โดยเราปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนจาก UNDERWEIGHT เป็น NEUTRAL พร้อมกับปรับเพิ่มคำแนะนำของ SAWAD และ TIDLOR ขึ้นเป็นซื้อ (เดิม ขาย) โดยมองว่าเป็นจังหวะในการเข้าซื้อ MTC, SAWAD และ TIDLOR จาก 3 เรื่อง ได้แก่
1) จากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่าในช่วงที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปี 2019 ราคาหุ้นในกลุ่ม Finance outperform SET index หลังจากที่มีการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 เดือนและ 6 เดือนไปแล้ว
2) NPLs ของกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนน่าจะควบคุมได้ดีกว่าที่เราคาดไว้เดิม หลังจากที่ TISCO ประกาศงบออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เราพบว่า NPLs/loans ratio ของกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนของ TISCO ค่อนข้างทรงตัว ซึ่งสะท้อนได้ว่าแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ของหุ้นในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนที่เราศึกษา น่าจะได้ทรงตัวได้ เพราะ NPLs ในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนของ TISCO และกลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อจำนำทะเบียนค่อนข้างเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และ
3) เราปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2024-25 ของกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนขึ้น 1-3% หลักๆ เป็นการปรับ credit cost assumption ลงเล็กน้อย เพราะประเมินว่า credit cost น่าจะดีกว่าที่เราทำไว้เดิมที่ค่อนข้างระมัดระวัง
โดยเรายังเลือก MTC เป็น Top pick ของกลุ่มฯ และแนะนำซื้อ SAWAD และ TIDLOR


Bank
มุมมองกลุ่มธนาคารหลัง กนง. ลดดอกเบี้ย
หลังจากที่ กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 2.25% วานนี้ เรายังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร “NEUTRAL” โดยเลือก BBL, KBANK และ KTB เป็น Top picks โดยเรามองปัจจัยบวกต่อกลุ่มธนาคาร ได้แก่
1) เราไปศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่าในช่วงที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปี 2007, 2011 และ 2019 ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคาร outperform SET index ในช่วง 1 เดือน, 2 เดือน และ 6 เดือน หลังจากที่เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ขณะที่ผลกระทบจากการที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วกว่าที่เราคาดไว้ 2 เดือน จะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ของกลุ่มธนาคารเพียง 0.6% เท่านั้น และ
2) เรามองว่าแนวโน้มการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนจะออกมามากขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์ของกลุ่มธนาคารให้ฟื้นตัวดีขึ้น

Residential Property
การเปิดตัว ก.ย. ช้าลงกว่าคาด แต่สัญญาณคอนโดยังดี
การเปิดตัวโครงการใหม่ในเดือนกันยายน อยู่ที่ 2,408 ยูนิต ลดลง 38% MoM โดยปรับตัวลงทุกหมวดหมู่ บ้านเดี่ยวเปิดตัวทั้งหมด 1,117 ยูนิต ลดลง 26% MoM โดยยังคงกระจุกตัวอยู่ในช่วงราคากลางถึงสูง (5-20 ล้านบาท/ยูนิต) ทาวโฮมเปิดตัวทั้งหมด 679 ยูนิต ลดลง 61% MoM และ คอนโดอยู่ที่ 606 ยูนิต ลดลง 7% MoM ถึงแม้การเปิดตัวโครงการใหม่จะลดลง แต่ยอด take-up rate โดยรวมปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ 15% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 10% ในเดือนสิงหาคม โดยหลักๆมาจาก ยอดจองซื้อที่ดีขึ้น ในกลุ่มของคอนโด และ ทาวโฮม โดยคอนโดยังคงสามารถทำยอดจองซื้อได้สูงในระดับ 25% ต่อเดือน
สำหรับภาพ 4Q24 เรามองว่าการเปิดตัวโครงการใหม่จะสูงขึ้นกว่าใน 3Q24 โดยผู้ประกอบการใน Coverage วางแผนเปิดตัวกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% QoQ โดยจะเริ่มเห็นการเปิดตัวโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ทำให้เรามองว่ายอด presales และโอนของกลุ่มอสังหาจะเติบโตโดดเด่น
สำหรับข่าวที่ กนง ประกาศลดดอกเบี้ย 25bps เรามองว่าจะเป็น sentiment บวกต่อกลุ่มอสังหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง yield gap ของ rental rate ที่สูงขึ้น อัตราเงินปันผล ที่ยังคงอยู่ในระดับ 5-6% ในปีนี้ และหากดูสัดส่วน fix ต่อ floating debt ของกลุ่มอสังหา จะอยู่ราว 1:3 ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเห็น upside ต่อประมาณการของเราในปีหน้า ที่ 1-2%
Fundamental view: โดยเรายังคงให้ SPALI SIRI เป็น top pick สำหรับกลุ่มอสังหา


DELTA
เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)
AI หนุนการเติบโต
DELTA เราประเมินกำไรหลัก 3Q24 ที่ 5.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% YoY ทรงตัว/ลดลงเล็กน้อย QoQ โดยคาดรายได้จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าคาดกระทบ GM 2% อย่างไรก็ตามเรามองว่าอาจจะมีการใช้ inventory provision reversal ซึ่งหากใช้ระดับ 500-600 ล้านบาท เทียบกับทั้งหมด 6 พันล้านบาท น่าจะทำให้ GM ยืนระดับ 27% ได้ ในด้านของ AI คาดจะเห็นรายได้เพิ่มขึ้นใน 4Q24 และมีอัพไซด์จากฝั่งของ AI infrastructure สำหรับตลาด ASEAN ซึ่งมีโอกาสอัพไซด์จากรายได้ 1-8% ในอนาคต
Fundamental View: เราปรับราคาเป้าหมายไป ณ สิ้นปี 2568 ที่ 135 บาท

 


สรุปประเด็นจาก Quick take
Electronics
จาก ASML สู่หุ้น Elect ไทย
ASML บริษัทผู้ผลิตเครื่องผลิตชิปรายงาน Order book ต่ำกว่าตลาดคาดไปครึ่งหนึ่ง และปรับ Guidance ลง
View From Fundamental: เนื่องจาก ASML เป็นผู้เล่นหลักในตลาดส่งผลให้หุ้นชิปหลักๆปรับตัวลงหมด Philadelphia SE Semiconductor Index ปรับตัวลงไป 5% เรามองว่าจากภาพตลาดที่อ่อนแอน่าจะส่งผลมาที่หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอกนิกส์ไทย เช่น HANA (ตลาดจีน), CCET (สินค้ากลุ่ม SSD) และกระทบ Sentiment ภาพรวมทั้ง KCE, DELTA อย่างไรก็ตามมุมบวกจากประเด็นจีนคือมีโอกาสที่จะเห็นการย้ายคำสั่งจากจีนออกมาอย่างต่อเนื่อง และสำหรับ DELTA ยังได้ประเด็นหนุนจาก Potential กลุ่ม AI ที่ยังแข็งแรง


Tourism
อัตราดอกเบี้ยลด กลุ่มท่องเที่ยวได้ประโยชน์อย่างไร
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมวันที่ 16 ตุลาคม 2024 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
View From Fundamental: อ้างอิงข้อมูลงบการเงินสิ้นงวด มิ.ย. 2024 สำหรับทุกๆ การลดลงของอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เราประเมินผลต่อบริษัทฯ ในกลุ่มท่องเที่ยว ดังนี้
AOT: หนี้ส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินเยน เราจึงคาดไม่มีผลบวกอย่างมีนัยยะ
ERW: สัดส่วนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 100% ของหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย เราจึงคาดดอกเบี้ยจ่ายลดและเพิ่มกำไรได้ 3% ในปี 2025
AWC: คาดสัดส่วนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 30% ของหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดและเพิ่มกำไรได้ 3% ในปี 2025
CENTEL: สัดส่วนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 48% ของหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย เราจึงคาดดอกเบี้ยจ่ายลดและเพิ่มกำไรได้ 1% ในปี 2025
MINT: สัดส่วนหนี้สิน สกุลหลัก คือ EURO (65%) และไทย (26%) และสัดส่วนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 44% ของหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย เราจึงคาดดอกเบี้ยจ่ายลดและเพิ่มกำไรได้ 1% ในปี 2025


วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้