สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(18 กันยายน 2567)-------บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank) ที่ ‘AA(tha)’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
น่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล: อันดับเครดิตของ ibank สะท้อนถึงการที่ฟิทช์คาดว่ารัฐบาลไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) น่าจะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปกติ (extraordinary support) แก่ธนาคาร ในกรณีที่มีความจำเป็น ibank เป็นธนาคารรัฐและถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ภายใต้กฎหมายเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักชะรีอะฮ์ในประเทศไทย อันดับเครดิตของธนาคารยังพิจารณาเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตของสถาบันการเงินอื่นในประเทศไทยที่มีปัจจัยด้านการสนับสนุนเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิตได้รับการจัดอันดับเครดิต ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA(tha)' สะท้อนถึงโอกาสการผิดนัดชาระหนี้ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับบริษัทและธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ
มีบทบาทเชิงนโยบายที่สำคัญ: ibank ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่ประชากรมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ibank เป็นธนาคารแห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์และฟิทช์คาดว่าบทบาทดังกล่าวจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในระยะกลาง และจะยังคงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์นโยบายโดยรวมของรัฐบาลต่อไป
ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างมากและต่อเนื่อง: ที่ผ่านมา ibank ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงินในปี 2560-2561 ในช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงการคลังได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน ibank เป็น 99.6% จากเดิมที่ต่ำกว่า 50% และยังได้โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพส่วนใหญ่ของ ibank ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ กำไรสะสมของธนาคารในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังคงอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ ibank ยังมีเงินกองทุนติดลบ แต่อย่างไรก็ตามธนาคารได้รับการผ่อนผันด้านเกณฑ์การดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำ และยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ
ไม่ได้เป็นธนาคารรัฐหลักของรัฐบาล: อันดับเครดิตของ ibank อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของธนาคารรัฐอื่นที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟิทช์อยู่ 2 อันดับ สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า
ตามที่กำหนดไว้ใน พรบ. จัดตั้งธนาคาร สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังใน ibank จะถูกจำกัดไว้ที่ 49% แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดดังกล่าวได้รับการผ่อนปรนชั่วคราวตามแผนการปรับโครงสร้างของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าในระยะยาวสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังน่าจะลดลงกลับไปสู่ระดับเดิม และฟิทช์ยังมองว่าฐานะทางการเงินที่อ่อนแอและขนาดที่จำกัดของธนาคารปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินนโยบายรัฐเมื่อเทียบกับธนาคารรัฐอื่น
ความสัมพันธ์กับรัฐบาลช่วยสนับสนุนการระดมเงินทุน: ibank พึ่งพาการระดมทุนจากเงินฝากเป็นหลัก โดยเงินฝากคิดเป็น 95.5% ของการเงินทุนรวม (ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้น) ธนาคารได้รับประโยชน์จากการเป็นธนาคารรัฐ ซึ่งช่วยรักษาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน แม้ว่าธนาคารจะมีฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างอ่อนแอต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 90.8% ในปี 2567 (ปี 2566: 83.7%) เนื่องจากการเติบของสินทรัพย์ในช่วงปีที่ผ่านมา ฟิทช์ยังคาดว่าธนาคารน่าจะยังคงสามารถเข้าถึงวงเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงวงเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารรัฐ และจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการระดมเงินทุนของธนาคาร
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของ ibank ได้ หากฟิทช์มองว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคารมีการปรับตัวลดลง ตัวอย่างเช่น หากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของธนาคารจากการเป็นธนาคารรัฐ หรือ การลดลงของระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาลและอำนาจในการควบคุมการดำเนินงานของรัฐ หรือการคาดว่ารัฐบาลจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ ibank
การปรับตัวลดลงของความสามารถของรัฐบาลในการสนับสนุนระบบการเงินอาจส่งผลให้มีการทบทวนโอกาสที่ ibank จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศ ทั้งนี้การปรับลดอันดับเครดิตจะพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงสร้างเครดิตของสถาบันการเงินไทยรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศอาจเกิดขึ้นได้ หากฟิทช์มองว่ามีการเพิ่มขึ้นของโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ ibank แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับบริษัทและธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หากฟิทช์ทบทวนการประเมินและเชื่อว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะให้ ibank ยังคงมีบทบาทเพิ่มขึ้นในเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว และหากธนาคารมีความสามารถในการสนับสนุนนโยบายรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิตได้เช่นกัน
แหล่งข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการพิจารณาอันดับเครดิต
แหล่งที่มาของข้อมูลหลักที่ใช้ในการประเมินอันดับเครดิตมีรายละเอียดเปิดเผยอยู่ในเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้องของฟิทช์
อันดับเครดิตที่เชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ ibank มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างเครดิตของประเทศไทย
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘AA(tha)’; ‘แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F1+(tha)’