สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(9 กรกฎาคม 2567)------นางสาวชญานี สังข์ทองวิเศษ กรรมการ บริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) GSC เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ("บริษัท") ได้เผยแพร่หนังสือเลขที่ GSC 0010/2567 เรื่องชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ("ตลาดหลักทรัพย์ฯ")ไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 แล้วนั้น บริษัทขอชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 ความคืบหน้าในการดำเนินคดีตามกฎหมายกับ Digital P.V.
ตามที่บริษัทได้ชี้แจงข้อมูลตามหนังสือเลขที่ GSC 0008/2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 เกี่ยวกับการผิดสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน ฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ("สัญญาจะซื้อจะขายฯ") ของบริษัท ดิจิตอล พี.วี. จำกัด ("ผู้จะขาย") โดยบริษัทได้ส่งหนังสือขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายฯและขอให้ผู้จะขายดำเนินการคืนเงินมัดจำจำนวน 60 ล้านบาท และเงินค่าทรัพย์สินงวดที่ 2 จำนวน 40 ล้านบาทรวมเป็นเงินจำนวน 100 ล้านบาท (เรียกรวมกันว่า "เงินที่บริษัทจ่ายไปทั้งหมด")พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 100 ล้านบาท ("ดอกเบี้ย")นับแต่วันที่ผู้จะขายได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจนกว่าจะชำระเงินจำนวน 100 ล้านบาทให้แก่บริษัทฯ ครบถ้วนโดยขอให้ชำระภายใน 14 วันนับแต่วันที่ผู้จะขายได้รับหนังสือฉบับนี้จากบริษัทนั้นต่อมา เมื่อวันครบกำหนด 14 วันนับแต่วันที่ผู้จะขายได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวจากบริษัท ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้จะขายกลับเพิกเฉยไม่ได้คืนเงินที่บริษัทจ่ายไปทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยแต่อย่างใด
ดังนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัท บริษัทจึงได้ดำเนินการทางกฎหมายและเรียกค่าเสียหายต่าง ๆ กับผู้จะขายต่อไป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 บริษัทได้ยื่นฟ้องผู้จะขายเป็นจำเลย ต่อศาลแพ่งธนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.821/2567 ในข้อหาหรือฐานความผิด ผิดสัญญา เรียกมัดจำคืนและเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำนวนทุนทรัพย์ 113,070,254.79 บาทโดยศาลได้กำหนดนัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 นี้
2) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ผู้จะขายได้ยื่นคำร้องขยายระยะเวลายื่นคำให้การ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้จะขายยื่นคำให้การได้ภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2567
ประเด็นที่ 2 ความคืบหน้าของความเห็นของคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับความเหมาะสมของการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเงินมัดจำซื้อที่ดิน 100 ล้านบาท ความเหมาะสมของแนวทางแก้ปัญหา และความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบ(ในกรณีที่มีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการ)
คณะกรรมการได้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นว่า การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับเงินมัดจำซื้อที่ดิน 100 ล้านบาทมีความเหมาะสมแล้วเนื่องจากในวันที่ครบกำหนดสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ตัวแทนของผู้จะขาย(บริษัท ดิจิตอล พี.วี. จำกัด)ไม่ได้นําโฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญามาเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัทตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา
นอกจากนี้ บริษัทยังตรวจพบว่าในวันโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญายังคงมีการจดทะเบียนภาระผูกพันกับธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน)
ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับการชําระหนี้จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก่อนบริษัทและยังไม่ได้มีการปลดภาระผูกพันดังกล่าวมาเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัทแต่อย่างใดด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่บริษัทจะไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากผู้จะขาย เนื่องจากผู้จะขายไม่มีความสามารถโดยแท้จริงในการโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาและในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาเพื่อดําเนินคดีตามกฎหมายกับผู้จะขายต่อไปรายละเอียดปรากฎตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ดังนั้น
บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสํารองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งจำนวนเป็นเงิน 100 ล้านบาทไว้ในงบการเงินปี 2566
ประเด็นที่ 3 ความคืบหน้ากรณีขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน A2R 37 ล้านบาท
3.1 กรณีการตัดรายการซ้ำซ้อนใน Q3/66 ที่นำส่งให้ผู้สอบที่ทำให้ตัวเลขที่คำนวณแสดงเป็นกำไรจากการขาย A2Rตามที่บริษัทฯ เคยได้เปิดเผยข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปก่อนหน้านี้ว่า ในระหว่างงวดไตรมาส 3 ปี 2566 บริษัทมีการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อย (คือ บริษัท แอสเซท เอเจนท์ แอนด์ เรียลเอสเตท จำกัด) นั้นบริษัทขอเรียน ในระหว่างการตรวจสอบงบการเงินเพื่อจัดทำงบการเงินของบริษัทสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ผู้สอบบัญชีและบริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและพบว่าการบันทึกข้อมูลในเอกสารของงบการเงินไตรมาสที่ 3/2566 ที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทาน มีการตัดรายการซ้ำซ้อน อันส่งผลให้บริษัทได้แสดงรายการในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมของบริษัทไว้เป็นกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนจำนวน 22.86 ล้านบาท
ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงได้มีการพิจารณาทบทวน และแก้ไขความคลาดเคลื่อนในการตัดรายการดังกล่าว เพื่อให้งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมที่ปรากฏในงบการเงินของบริษัทสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566แสดงรายการดังกล่าวอย่างถูกต้อง กล่าวคือ จะต้องแสดงไว้เป็นผลขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยจำนวน 36.84 ล้านบาท ตามความเห็นที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้ตรวจสอบ
ประเด็นที่ 4 ความคืบหน้าของการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายการการซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการขายบริษัท แอสเซท
เอเจนท์ แอนด์ เรียลเอสเตท จำกัดภายหลังการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายการการซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการขายบริษัท แอสเซท เอเจนท์ แอนด์ เรียลเอสเตท จำกัด รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามในการทำธุรกรรมดังกล่าวตามที่บริษัทได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566, วันที่ 1 เมษายน 2567, วันที่ 29 เมษายน 2567และวันที่ 15 พฤษภาคม 2567
บริษัทขอเรียนชี้แจงว่าบริษัทได้เข้าตรวจสอบเอกสารและข้อเท็จจริงการดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 และพบว่าการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2566มีการจัดประชุมและมีกรรมการเข้าร่วมจำนวน 8 คนจากจำนวนทั้งหมด 9 คน ครบเป็นองค์ประชุมจริงโดยกรรมการผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 8 คนดังกล่าวได้พิจารณาการเข้าทำธุรกรรมและได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ในการอนุมัติทำธุรกรรมดังกล่าวจริงกรณีจึงปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนมีการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และการขายบริษัท แอสเซท เอเจนท์ แอนด์ เรียลเอสเตท จำกัด ได้มีการเสนอการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่3/2566 โดยกรรมการที่เข้าร่วมประชุมจำนวน 8 ท่านได้พิจารณาการทำธุรกรรมและได้มีมติเอกฉันท์ในการอนุมัติให้ทำธุรกรรมดังกล่าวจริง อันทำให้บริษัทเชื่อว่าธุรกรรมดังกล่าวได้ถูกพิจารณาและได้รับการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์จากกรรมการผู้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวโดยชอบแล้วบริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่บริษัทชี้แจงข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของผู้ลงทุนสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท