Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับวันที่ 11 มิ.ย. 67)โดย วิจัยกรุงศรี

670

 

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ขอส่ง บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับวันที่ 11 มิ.ย. 67) โดย วิจัยกรุงศรี ดังนี้


เศรษฐกิจโลก
ECB นำร่องปรับลดดอกเบี้ยก่อน FED หลังเงินเฟ้อชะลอลงตามแผน ขณะที่เศรษฐกิจจีนปรับดีขึ้นเล็กน้อยแต่อาจเผชิญความเสี่ยงในระยะข้างหน้า


แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐดีกว่าคาด แต่สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจเปิดทางให้เฟดปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ในเดือนพฤษภาคม ดัชนี PMI นอกภาคการผลิตกลับมาขยายตัวที่ 53.8 จากเดือนก่อนที่ 49.4 สำหรับการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 272,000 ตำแหน่ง จากเดือนก่อนที่ 165,000 ตำแหน่ง ขณะที่ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.1% YoY กับ 0.4% MoM ในเดือนพฤษภาคม จากเดือนก่อนที่ 4.0% กับ 0.2% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวส่งสัญญาณชะลอตัว อาทิ ดัชนี ISM ภาคการผลิตปรับตัวลงสู่ 48.7 ในเดือนพฤษภาคม จากเดือนก่อนที่ 49.2 นอกจากนี้ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 และตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ (JOLTS) ในเดือนเมษายน ลดลงสู่ระดับ 8.05 ล้าน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564

ดัชนีชี้วัดหลายตัวบ่งชี้ถึงภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐที่เริ่มชะลอตัว อาทิ (i) GDP ไตรมาสแรกที่ชะลอตัวลงสู่ 1.3% QoQ annualized จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.4% (ii) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมต่ำสุดในรอบ 6 เดือน (iii) การใช้จ่ายที่แท้จริง (ขจัดผลของเงินเฟ้อ) เดือนเมษายนหดตัว 0.01% MoM และ (iv) อัตรา ส่วนตำแหน่งงานว่างอยู่ที่ 1.24 เท่าของผู้ว่างงานทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโควิด-19 ด้านมูดี้ส์ระบุว่าธนาคารระดับภูมิภาคอย่างน้อย 6 แห่งมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ขณะที่เงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ (Demand-pull inflation) มีแนวโน้มปรับลดลง เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของเศรษฐกิจและทิศทางเงินเฟ้อ วิจัย
กรุงศรีคงมุมมองว่าเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเริ่มปรับลดในเดือนกันยายนสู่ระดับ 4.50-4.75% ณ สิ้นปี

 

ECB ปรับลดดอกเบี้ยลงตามคาด แต่การดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อภาคบริการสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ในเดือนพฤษภาคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.3 จากเดือนก่อนที่ 45.7 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการอยู่ที่ 53.2 จากเดือนก่อนที่ 53.3 ส่งผลให้ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.2 สูงสุดในรอบปี ขณะที่ GDP ไตรมาสแรกขยายตัว 0.3% QoQ เทียบกับไตรมาสก่อนที่ 0% อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกหดตัวที่ -0.5% MoM ในเดือนเมษายน

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 ที่ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลงสู่ 3.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายนจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงตามแผน อย่างไรก็ตาม ประธาน ECB คริสตีน ลาการ์ด ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ในปีหน้า (คาดการณ์อยู่ที่ 2.5% ในปี 2567 และ 2.2% ในปี 2568) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การปรับลดดอกเบี้ยในระยะถัดไปยังขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นสำคัญ (Data dependence) ล่าสุดเงินเฟ้อภาคบริการอยู่ที่ 2.9% YoY ในเดือนพฤษภาคม สะท้อนว่า ECB อาจไม่จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ECB สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ระดับ 3.25%


ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนบรรเทาลงเล็กน้อย ขณะที่การส่งออกขยายตัวดีขึ้นแต่เผชิญความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความรุนแรง การหดตัวของยอดขายบ้านใหม่ของผู้พัฒนาอสังหาฯ 100 อันดับแรกชะลอลงจาก -44.9% YoY ในเดือนเมษายนเป็น -33.6% ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่รัฐบาลเร่งออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยภาคอสังหาฯ เช่น (i) เงินทุนดอกเบี้ยต่ำมูลค่า 41.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเข้าซื้อบ้านใหม่คงค้าง (ii) การลดสัดส่วนเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกและผู้ซื้อบ้านหลังที่สอง ด้านการส่งออกในเดือนพฤษภาคมขยายตัวถึง 7.6% YoY จาก 1.5% ในไตรมาสแรก โดยสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 5.6%

แม้ยอดขายบ้านกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ปัญหาสำคัญยังคงเป็นระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำ ประกอบกับยอดบ้านใหม่คงค้างที่อยู่ในระดับสูงซึ่งต้องใช้เวลาระบาย 2-3 ปี ดังนั้น ภาคอสังหาฯ จึงมีแนวโน้มหดตัวต่อในช่วงครึ่งปีหลัง แม้อาจชะลอลงจากผลบวกของมาตรการกระตุ้น ขณะที่ภาคการส่งออกที่ขยายตัวมากขึ้นจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวในภาคการผลิตในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาตลาดต่างประเทศที่มากเกินไป ท่ามกลางการบริโภคภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ อาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นในระยะถัดไปเนื่องจากกระแสการปกป้องทางการค้าในหลายประเทศมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น

 

เศรษฐกิจไทย
ทางการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการท่องเที่ยวเน้นเมืองรอง ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย หนุนกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี

รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) วันที่ 4 มิถุนายน เห็นชอบมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ จำแนกเป็น (i) บุคคลธรรมดา สามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือจ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย หรือสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการท่องเที่ยวในเมืองรอง (55 จังหวัด) มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามค่าใช้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท/คน และ (ii) นิติบุคคล ให้นำรายจ่ายจากค่าจัดการอบรม สัมมนา ให้แก่พนักงาน มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าของรายจ่ายจริง สำหรับที่จัดขึ้นในเมืองรอง และ 1.5 เท่าสำหรับการจัดในพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองหลัก ทั้งนี้ มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์

ทางการคาดหวังว่ามาตรการลดหย่อนภาษีดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ ช่วยสนับสนุนกิจกรรมและภาคธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว รวมถึงช่วยส่งเสริมการจ้างงานและการบริโภคอีกด้วย โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยอยู่ที่ 67.6 ล้านคน-ครั้ง สำหรับทั้งปี 2567 วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 195 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นจาก 185 ล้านคน-ครั้ง ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม แรงส่งการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่เข็มแข็งนัก สะท้อนจาก (i) อุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลงหลังจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy E-Receipt ในช่วงกลางไตรมาสแรกของปี (ii) ภาคท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วง Low season จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนและพฤษภาคมปรับลดลงต่ำกว่า 3 ล้านคนติดต่อกัน และ (iii) ความอ่อนแอของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน หนุนกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 12 มิถุนายนนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1.54% YoY จาก 0.19% เดือนเมษายน โดยอยู่ในแดนบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 13 เดือน เป็นผลจาก (i) ปัจจัยชั่วคราวจากฐานที่ต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าในปีก่อน (ii) การทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลในประเทศจนไปแตะที่ระดับ 32.94 บาทต่อลิตร ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และ (iii) ราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะผักสด และไข่ไก่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้มีปริมาณผลผลิตน้อยลง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.39% จาก 0.37% เดือนเมษายน สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี (มกราคม-พฤษภาคม) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ -0.13% และ 0.42% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมได้กลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 สำหรับในช่วงที่เหลือของปี วิจัยกรุงศรีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว เนื่องจาก (i) ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับลดลงหลังผ่านพ้นภาวะอากาศที่ร้อนจัด (ii) มาตรการบรรเทาค่าครองชีพจากการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของครัวเรือน อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% และเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 0.7%

สำหรับมุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบาย วิจัยกรุงศรีประเมินจากหลายปัจจัยบ่งชี้ว่าโอกาสปรับลดดอกเบี้ยมีน้อยลงอย่างชัดเจน ทั้งจากตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2567 ที่เติบโตใกล้เคียงกับการประมาณการของธปท. ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ตลอดจนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ของภาครัฐหลายแห่งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งช่วยลดความจำเป็นสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวงกว้าง ดังนั้น วิจัยกรุงศรีจึงคาดว่าการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% และมีแนวโน้มตรึงไว้ตลอดในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

ข้อมูลเพิ่มเติม
วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home
อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

พีที สเตชั่น จับมือ "โป๊ยเซียน" แจกยาดม 2 หมื่นหลอด เติมความสดชื่นเต็ม MAX ในแคมเปญ "เพื่อนคู่ใจทุกการเดินทาง"

พีที สเตชั่น จับมือ "โป๊ยเซียน" แจกยาดม 2 หมื่นหลอด เติมความสดชื่นเต็ม MAX ในแคมเปญ "เพื่อนคู่ใจทุกการเดินทาง"

งบหมดแล้ว By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ภาคเช้าที่ผ่านมา SET หมุนทะลุเส้น 1200 จุด อีกครั้ง ด้วยแบงก์ ,อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงาน....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้