
PTG ร่วมลงทุน "ยูนิท" ตั้ง MAXBIT
ลุยธุรกิจ Digital Asset Broker
PTG จับมือกับ ยูนิท สตาร์ทอัพผู้ชำนาญด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทุ่มเม็ดเงินลงทุน 300 ล้านบาท ตั้งบริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด (MAXBIT DIGITAL ASSET CO.,LTD) ลุยธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) จ่อเปิดผลิตภัณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลตอบโจทย์และเข้าถึงได้ทุกกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ปฏิวัติวงการสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย
นายปกเขตร รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด (MAXBIT DIGITAL ASSET CO.,LTD) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มของแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นบิทคอยน์ โดยทางกลุ่ม PTG จึงได้ทำการศึกษาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยเช่นกันเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี โดยจะให้ความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนค่อนข้างมาก ประกอบกับการที่กฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับในไทยมีความชัดเจนและเอื้ออำนวยมากขึ้นจึงทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตสูงเพิ่มขึ้น จึงทำให้บริษัทฯมีแนวคิดที่จะลงไปแข่งขันในตลาดอย่างจริงจัง ซึ่งจะอาศัยฐานข้อมูลจากบัตรแม็กซ์ การ์ด (Max Card) ที่มีสมาชิกมากกว่า 17 ล้านคน ซึ่ง 7.29 ล้านคน เป็นกลุ่มอายุระหว่าง 18-40 ปี เป็นกลุ่มอายุที่ใกล้เคียงกับกลุ่มอายุที่นิยมลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency)
สำหรับรูปแบบของการทำสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ จะเน้นฟังก์ชั่นการซื้อขายที่ง่ายสะดวกและรวดเร็ว เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงในการลงทุนได้ โดยมีลักษณะจะคล้ายกับ คอยน์เบส ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลจากสหรัฐ ซึ่งแพลตฟอร์มที่บริษัทฯได้ทำการพัฒนาขึ้นมาใหม่ มีชื่อว่า "MAXBIT" ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG และ บริษัท ยูนิท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและการร่วมลงทุน ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีทางการเงิน อย่างสินทรัพย์ดิจิทัล และการพัฒนาระบบบล็อกเชน พร้อมจัดตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด (MAXBIT DIGITAL ASSET CO.,LTD)
สำหรับการร่วมลงทุนในครั้งนี้มีทั้งหมด 4 ส่วนเป็นคนไทยทั้งหมด โดย บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG มีสัดส่วนการลงทุนที่ 35%, บริษัท ยูนิท จำกัด ลงทุน 35% ส่วนที่เหลืออีก 30% จะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย 2 ราย โดยเงินลงทุนเริ่มแรกจะอยู่ที่ 300 ล้านบาท เพื่อขอใบอนุญาตประกอบการเป็นตัวแทนการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย และเพื่อใช้พัฒนาระบบและแอพพิเคชั่นแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้ได้ทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ทุกกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทฯได้รับไลเซนส์มาแล้วทั้งหมด 4 ใบ จากทางธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้บริษัท แมกซ์ โซลูชัน เซอร์วิส หรือ Max Card ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ อี มันนี่ ( E-Money ) และ กระเป๋าเงินดิจิทัล (E-Wallet) โดยเฉพาะ
ในส่วนของการยื่นเรื่องขอใบอนุญาตประกอบการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker)ในประเทศไทย กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการปรึกษาหารือและเตรียมเอกสารเพื่อรอยื่นขอใบอนุญาตกับทาง ก.ล.ต.
ด้านแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นที่ทางผู้ใช้งานจะใช้เทรดนั้น สำหรับตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯนั้นได้ทำการพัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากได้ใบอนุญาตจากก.ล.ต. แล้วจึงจะสามารถดำเนินกิจกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯจะมีความแตกต่างจากการแลกเปลี่ยนเงินของสินทรัพย์ดิจิทัล
สำหรับการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จะทำให้บริษัทฯสามารถจัดซื้อ จัดหา สินทรัพย์ดิจิทัลที่ลูกค้าอยากได้จากทุกหนแห่งมาเสนอราคาให้ลูกค้าได้ โดยจะมีการเปรียบเทียบราคาสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับลูกค้าผ่านแอพพิเคชั่น MAXBIT พร้อมนำเสนอราคาที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ณ ตอนที่ลูกค้าซื้อกับแพลตฟอร์มบริษัทฯ
"การเข้ามาลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในครั้งนี้ ทางกลุ่ม PTG มองการเติบโตในตลาดไม่ต่ำกว่าอันดับ 2 แน่นอน และจะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอนาคตในที่สุด ซึ่งคงต้องจับตามองกันต่อไป สุดท้ายแล้วหากเราประสบความสำเร็จ สิ่งที่เราพัฒนาขึ้นมานั้น เชื่อว่าจะเปลี่ยนวงการสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยได้จริงๆ รวมถึงจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กลุ่ม PTG จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากธุรกิจ Non-oil อย่างยั่งยืนต่อไป" นายปกเขตร กล่าว
NER จ่อปิดดีลลูกค้าล้อยางอินเดียรายใหญ่
มั่นใจรายได้ตามเป้า 28,000 ล้านบาท
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆและกลุ่มผู้ค้าคนกลางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์สงครามรัสเชีย ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดีดตัวสูงขึ้น ส่วนความคืบหน้าการเจรจาลูกค้าอินเดีย ล่าสุดทางลูกค้าเดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงงานเพื่อพิจารณาคุณภาพและตรวจสอบสินค้า และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีเยี่ยม
ด้านเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวม คาดรายได้ตามเป้าที่ 28,000 ล้านบาท ส่วนปริมาณการขายคาดว่าจะสามารถทำยอดขายยางพาราอยู่ที่ 500,000 ตัน จากกำลังการผลิตทั้งหมด 510,000 ตัน โดยสัดส่วนของยอดขายในปี 2565 บริษัทยังวางนโยบายการจำหน่ายสินค้าในประเทศและต่างประเทศเป็น 65:35 เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราค่าระวางเรือที่ปรับเปลี่ยนในทิศทางที่สูงขึ้น โดยมองว่าความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยังดีต่อเนื่อง หากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ก็จะทำให้มีการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางอากาศ และทางเรือสูงมากขึ้น ส่งผลดีต่อความต้องการใช้ธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้บริษัทขอเชิญชวนผู้ถือวอร์แรนต์ (NER-W1) ให้แจ้งการใช้สิทธิแปลงสภาพครั้งสุดท้าย ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 โดยมีระยะเวลาการแจ้งความจำนงในการใช้สิทธิครั้งสุดท้ายระหว่างวันที่ 11 – 25 พฤษภาคม 2565 ณ สถานที่ติดต่อในการใช้สิทธิคือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ณ อาคารเซ็นทรัลซิตี้บางนา ชั้น 28 กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย ซื้อหุ้นสามัญของบริษัทได้ 1 หุ้น ในราคาใช้สิทธิ 1.80 บาทต่อหุ้น
สำหรับวัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตและยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น จากนโยบายของบริษัทที่เดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และช่วยเสริมให้บริษัทมีฐานเงินทุนที่เข้มแข็งขึ้น สำหรับการขยายการดำเนินงานในอนาคต
---จบ---