Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

HotNews: ส่องกลุ่มแบงก์ หลัง ธปท.ออกเกณฑ์ช่วย SME-ไฟเขียวปันผลระหว่างกาลได้ โบรกฯ เคาะ SCB,TTB ,KBANK เด่น

2,865

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (11 มิถุนายน 2564)---- ธปท. ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมหลังมีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย เฟส 3 เมื่อเดือนก่อน โดยรอบนี้จะเน้นช่วยเหลือกลุ่ม SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โบรกฯ เคาะ SCB,TTB ,KBANK เด่น


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้างต่อธุรกิจและประชาชน ธปท. ได้ออกมาตรการทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้สอดคล้องกับลักษณะปัญหา รวมถึงสร้างกลไกให้สถาบันการเงิน (สง.) สามารถส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงได้มากขึ้น เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรอง และลดต้นทุนทางการเงินของ สง. ด้วยการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เป็นต้น

 

จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลซ้ำเติมต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ขณะที่ระบบ สง. ยังมีความมั่นคง ด้วยระดับเงินกองทุนเงินสำรอง และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ธปท. จึงได้ทบทวนแนวนโยบายในการส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ และกระตุ้นให้ สง. เร่งปรับโครงสร้างหนี้โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกหนี้ในอนาคต ขณะที่ยังรักษาความมั่นคงและการบริหารความเสี่ยงที่ดีของระบบ สง. โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

1. ขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่จะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่ เช่น กิจการทียังไม่เปิดทำการตามปกติ ทำให้ สง. ไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้ มาตรการนี้จึงไม่ใช่การชะลอชำระหนี้เป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตถึงลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบตามนิยามที่แต่ละสถาบันการเงินใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะครอบคลุมมากกว่า SMEs ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ทำให้มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายได้รับการให้ความช่วยเหลือได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับกระบวนการปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของ สง. ไม่ต้องปรับระบบงานในการส่งผ่านความช่วยเหลือให้กับลูกหนี้ เพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน โดย สง. สามารถคงการจัดชั้นหนี้เดิมได้จนถึง 31 ธ.ค. 2564 และในระหว่างนี้ ให้ สง. เข้าไปดูแลลูกหนี้เพื่อเร่งหาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็วต่อไป


2. กำหนดกลไกเพื่อจูงใจให้ สง. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณา (1) ความสามารถในการชำระคืนหนี้ และ (2) ระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ ให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ที่ลูกหนี้จะได้รับในอนาคต โดย ธปท. จะยังคงความยืดหยุ่นของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง หาก สง. ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การลดเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยค้างรับ การลดอัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้


3. ให้ สง. สามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ไม่เกินอัตราจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ของแต่ละ สง. ในปี 2563 และไม่เกินร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2564 รวมถึงให้งดซื้อหุ้นคืน และห้ามไถ่ถอนหรือซื้อคืนตราสารเงินกองทุนก่อนครบกำหนด เว้นแต่มีแผนการออกทดแทน เพื่อคงมาตรการเชิงป้องกันในการดูแลความมั่นคงของระบบ สง. รองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน ซึ่งจะช่วยให้ สง. สามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับแนวทางของผู้กำกับดูแลส่วนใหญ่ในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และบางประเทศในกลุ่มยุโรป ที่ยังคงนโยบายจำกัดหรืองดการจ่ายเงินปันผลของ สง. ทั้งนี้ ธปท. จะประเมินสถานการณ์การระบาดและแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของ สง. แต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ในช่วงไตรมาส 4 ต่อไป


สำหรับการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 จากร้อยละ 0.46 ต่อปี ที่จะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2564 ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาความจำเป็นในการขยายอายุ โดยคำนึงถึงการส่งผ่านไปช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ

ธปท. เห็นว่าการดำเนินการตามมาตรการข้างต้นจะเป็นประโยชน์กับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์ นอกจากนี้ ธปท. จะเร่งผลักดันมาตรการอื่น ๆ ในการเพิ่มสภาพคล่อง ภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ที่ปรับเงื่อนไขให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น พร้อมปรับโครงสร้างหนี้เดิม เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน ผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ การชะลอชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่รายได้หยุดชะงัก โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะ 3 และการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นในระยะต่อไป

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ว่า ธปท.อนุมัติปันผลระหว่างกาลพร้อมออกมาตรการช่วยลูกหนี้ SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดย3 นโยบาย หลัก

1.ขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่ เช่น กิจการที่ยังไม่เปิดทำการตามปกติ ทำให้ไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยส่วนมากได้แก่ ลูกหนี้ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว

2.กำหนดกลไกเพื่อจูงใจให้ ธนาคารปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดย ธปท. จะยังคงความยืดหยุ่นของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง หากธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว


3.ให้ธนาคารสามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ไม่เกินอัตราจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ของแต่ละที่ในปี 2563 และไม่เกินร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2564

มุมมองของเรา : เรามองตลาดจะตอบรับกับมาตรการนี้ได้ดี โดยเป็นที่คาดไว้แล้วว่าจะมีการยืดระยะมาตรการหลังมีการยืดระยะให้กับกลุ่มลูกหนี้รายย่อยในเดือนก่อน

การอนุญาตจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นข่าวดีต่อตลาดเนื่องจาก 1. แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 นั้นสามารถจัดการได้ และธพ. มีเงินสดเพียงพอต่อการตั้งรับความเสี่ยงต่างๆ แม้จ่ายเงินปันผลแล้วก็ตาม 2. การจ่ายปันผลคาดจะเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ ภาคธนาคารในระยะสั้น โดยเราได้ปรับคำแนะนำการลงทุนในภาคธนาคารเป็น Overweight โดยมี SCB/TTB เป็น top picks โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 136 บาท และ 1.51 บาท ตามลำดับ


ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า เมื่อ 10 มิ.ย.64 ธปท.ออกมาตรการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ ขยายเวลาชำระคืนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ SMEและมีเกณฑ์เรื่องการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล & ห้ามซื้อหุ้นคืน โดยสรุปได้ดังนี้

1. ขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้กลุ่มลูกค้า SME ที่จะครบกำหนด 30 มิ.ย.64 ไปถึงสิ้นปี 64 โดยใช้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดโควิดระลอกใหม่ โดยเป็น SME ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท
2. กำหนดกลไกจูงใจให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบฯ โดยพิจารณาจาก 1)ความสามารถในการชำระหนี้, 2) ระยะเวลาจ่ายคืนหนี้ที่สอดคล้องกับประมาณการรายได้ที่ลูกหนี้จะได้รับในอนาคต
3. ให้สถาบันการเงินมีอัตราการจ่ายปันผล (Dividend Payout ratio) ระหว่างกาลไม่เกินอัตราที่จ่ายในปี 63 และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ 1H64 และงดการซื้อหุ้นคืน ห้ามไถ่ถอนหรือซื้อคืนตราสารการเงินกองทุนก่อนครบกำหนด เว้นแต่เป็นการออกทดแทน

• ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาความจำเป็นในการขยายระยะเวลาลดอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ จาก 0.46% ต่อปีเป็น 0.23% ต่อปี ที่จะสิ้นสุดในสิ้นปี 64


• ความเห็นเชิงกลยุทธ์ DBSVTH : การขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้SME ไปอีก 6 เดือน สิ้นสุดในสิ้นปี 64 จะช่วยประคับประคองธุรกิจลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระบาดระลอกที่ 3 และถึงแม้ว่าจะทำให้รายได้และ NIM ของสถาบันการเงินอ่อนลง แต่ก็ช่วยให้NPL สถาบันการเงินไม่พุ่งขึ้นแรง และลดภาระในการตั้งสำรอง ECL ลง ทั้งนี้หลายธุรกิจและหลายบริษัทยังมีแนวโน้มระยะยาวดี เพียงแต่ในระยะสั้นถูกกระทบจากโควิดระบาด โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว


สำหรับการไม่ให้อัตราการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสูงกว่าอัตราที่จ่ายในปี 63 และไม่ให้เกิน 50% ของกำไรสุทธิในครึ่งแรกปี 64 นั้นคาดว่าจะกระทบกลุ่มแบงค์ไม่มาก เพราะแบงค์มีแนวโน้มจะจ่ายปันผลไม่สูงอยู่แล้วสำหรับธนาคารที่จ่ายปันผลระหว่างกาล ประกอบด้วย BBL, KBANK, KKP, SCB ซึ่งในปี 63 มีอัตราการจ่ายปันผล 28%, 20%, 37%, 29% ของกำไรสุทธิ


ส่วน KTB,TISCO และ TTB จ่ายปันผลปีละ 1 ครั้ง โดยมีอัตราการจ่ายเงินปันผล 23%, 83% และ 45%จะเห็นได้ว่ามีเพียง TISCO ที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 50% ของกำไรสุทธิในปี 63 สำหรับปี 64F เราประมาณการเงินปันผลไว้ที่ 6.30 บาท (เท่ากับปี 63) คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล 79% ของกำไรสุทธิที่ประมาณการไว้ ซึ่งต่ำกว่าปีก่อน แต่สูงกว่า 50% ดังนั้นประมาณการเงินปันผลของ TISCO อาจมี Downside riskถ้าหากให้ TISCO จ่ายปันผล 50% ของกำไรสุทธิปี 64F พบว่าเงินปันผลจะอยู่ที่ประมาณ 4 บาท/หุ้น ณ ราคาหุ้นปัจจุบัน 89.25 บาท จะคิดเป็น Dividend yield 4.5% ซึ่งก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่3.5%

 

ส่วนบทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เรายังคงมุมมองบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคารไทย และคาดว่าสถานการณ์ที่ดีขึ้นจากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นและจำนวนการติดเชื้อต่อวันที่ลดลงจะทำให้กลุ่มธนาคารมีผลงานดีขึ้นในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า หุ้นเด่นของเราคือ KBANK ราคาเป้าหมาย 160 บาท (ROE ปี 64 ที่ 9.1%, P/BV 0.8 เท่า) และ TISCO ราคาเป้าหมาย 110 บาท (ROE ปี 64 ที่ 17.7%, P/BV 2.1 เท่า) เรามองเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ KBANK หลังราคาหุ้นร่วง 14% QTD จากประเด็นการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและการหลุดจากดัชนี MSCI เราชอบ TISCO ในแง่ความสามารถในการทำกำไรสูง งบดุลที่มั่นคง และอัตราเงินปันผลตอบแทนที่ดี

ขยายมาตรการบรรเทาหนี้ SMEs ธนาคารจ่ายปันผลครึ่งปีแรกได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ SME ไปสิ้นสุด ธ.ค. 64 จากเดิม มิ.ย. 64 โดยให้ธนาคารปรับโครงสร้างสินเชื่อ SME เพื่อรองรับกระแสเงินสดของลูกค้า นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ธนาคารจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ แต่อัตราการจ่ายถูกจำกัดไว้ที่ระดับปี 2563 และ 50% ของกำไรในครึ่งปีแรก นอกจากนี้ยังพิจารณาด้วยว่าจะขยายค่าธรรมเนียม FIDF ที่ลดลง 23bp หรือไม่ ซึ่งจะหมดอายุภายในสิ้นปีนี้

เรามีมุมมองบวกต่อการประกาศของ ธปท.

เรามีมุมมองบวกเล็กน้อยกับข่าวที่ว่าธนาคารต่างๆ สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ในปีนี้ เนื่องจากสะท้อนเป็นนัยว่าธนาคารไทยมีระดับเงินทุนที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับผลกระทบของโรคระบาดได้ สำหรับข่าวที่เกี่ยวข้อง การขยายมาตรการบรรเทาหนี้ SMEs สอดคล้องกับมุมมองของเรา หลังจากที่ ธปท. ได้ขยายมาตรการบรรเทาหนี้ลูกค้ารายย่อยออกไปอีก 6 เดือน และสิ้นสุดในเดือน ธ.ค. 64 จากเดือน มิ.ย.64

คาดการดำเนินงานทยอยดีขึ้นจากปี 65 เป็นต้นไป

เรายืนยันมุมมองที่ว่ารายรับของธนาคารจะค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2565 โดยได้รับแรงหนุนจากการฉีดวัคซีนและการเปิดประเทศ โดยในไตรมาส 2/64 เราคาดว่า NIM ของภาคธุรกิจจะปรับตัวลดลงเนื่องจากลูกค้าอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างใหม่โดยมีระยะเวลาการชำระเงินนานขึ้นและค่างวดรายเดือนที่ลดลง ดอกเบี้ยค้างรับน่าจะเพิ่มขึ้น QoQ เนื่องจากสัดส่วนเงินกู้ภายใต้โครงการบรรเทาหนี้ที่สูงขึ้น ในแง่บวก เราคาดว่าธนาคารจะบันทึกกำไรจากการลงทุนเพื่อชดเชยกับแนวโน้มรายได้ที่อ่อนแอในไตรมาส 2/64


---จบ---

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้