Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

HotNews : 5 แบงก์ ตุนเงินสด รับเทศกาลปีใหม่

3,582

HotNews : 5 แบงก์ ตุนเงินสด รับเทศกาลปีใหม่

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (24 ธันวาคม 2562)  5 แบงก์ ตุนเงินสด รับเทศกาลปีใหม่  นำโดย  SCB  สำรองธนบัตรช่วงเทศกาลปีใหม่ 63  ,BAY  สำรองเงินสดช่วงเทศกาลปีใหม่ 63 กว่า 14,300 ล้านบาท ให้บริการผ่านสาขา/กรุงศรีเอทีเอ็มทั่วประเทศ , KBANK สำรองเงินสด 45,800 ล้านบาท รับเทศกาลปีใหม่ ,  BBL  สำรองเงินสดช่วงเทศกาลปีใหม่กว่า 30,000 ล้านบาท 'สาขาไมโคร' เปิดบริการปกติไม่มีวันหยุดกว่า 300 แห่ง  และ  CIMBT สำรองเงินสดช่วงเทศกาลปีใหม่  รวม 250 ล้านบาท

 

 

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สำรองธนบัตรช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 เพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้าจำนวน 63,000 ล้านบาท โดยเป็นการสำรองที่ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากพฤติกรรมการถอนเงินสดของลูกค้าโดยรวมที่มีแนวโน้มลดลงประมาณ 8% รวมถึงตามสัดส่วนจำนวนสาขาที่ลดลง ทั้งนี้ ธนาคารมีการติดตั้งเครื่องรับฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) เพิ่มขึ้นทดแทน โดยแบ่งเป็น ตู้เอทีเอ็ม จำนวน 42,000 ล้านบาท และสาขา จำนวน 21,000 ล้านบาท ปัจจุบัน (ณ เดือน พ.ย. 62) ธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 698 สาขา มีเครื่องเอทีเอ็มรวม 9,373 เครื่อง

 

 

 

 

 

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY)เตรียมสำรองเงินสดเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินของลูกค้าและประชาชนทั่วไปผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม และสาขาของธนาคารทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2563 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 - 1 มกราคม 2563 (จำนวน 6 วัน) รวม 14,367 ล้านบาท ทั้งนี้ แบ่งเป็นเงินสดสำรองสำหรับบริการผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 9,124 ล้านบาท และช่องทางสาขาของธนาคารจำนวน 5,243 ล้านบาท โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขาจำนวน 650 สาขา และเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 6,898 เครื่องทั่วประเทศ (ข้อมูลจำนวนเครื่อง/สาขา ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562)

 

 

 


ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ 28 ธันวาคม 2562 - 1 มกราคม 2563 รวมทั้งสิ้น 45,800 ล้านบาท ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 11,800 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน4,500 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 7,300 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี 900 สาขา ทั่วประเทศสำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 8,200 เครื่องทั่วประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 34,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 15,000 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 19,000 ล้านบาท

 

 

 

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จัดสรรเงินสดสำรองไว้ให้บริการแก่ลูกค้าในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่กว่า 30,000 ล้านบาท ผ่านตู้เอทีเอ็มที่รองรับการให้บริการเกือบ 10,000 จุดทั่วประเทศ ย้ำสาขาไมโครในห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศกว่า 300 แห่ง เปิดให้บริการปกติไม่มีวันหยุด โดยกำหนดแผนดูแลการเติมเงินสดเป็นพิเศษในจุดท่องเที่ยวหลักรายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ระหว่างวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 - วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 นั้น ทางธนาคารได้ดำเนินการสำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 30,000 ล้านบาท ผ่านช่องทางบริการเอทีเอ็มที่มีเกือบ 10,000 จุดทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่พร้อมอำนวยความสะดวกและให้สามารถทำรายการธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น บริการบัวหลวงโฟน โทร. 1333 หรือ 0-2645-5555 บริการบัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง และบริการบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง รวมถึงบริการรับชำระสินค้าและบริการผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) เป็นต้น

 


ทั้งนี้ สาขาของธนาคารทั่วประเทศยังคงเปิดให้บริการในวันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2562 และในช่วงวันหยุดดังกล่าวลูกค้าสามารถใช้บริการทางการเงินของธนาคารกรุงเทพที่สาขาไมโคร ที่เปิดให้บริการเป็นปกติภายในห้างสรรพสินค้าและจุดชุมชนกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้สาขาทั่วประเทศจะเปิดทำการเป็นปกติตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

 


นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการดูแลและเพิ่มความถี่ในการจัดเตรียมเงินสดในตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในจุดท่องเที่ยวทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ เพราะฉะนั้นลูกค้าของธนาคารจึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถเบิกถอนเงินสดสำหรับใช้จ่ายในช่วงเทศกาลดังกล่าวได้อย่างสบายใจ
สำหรับลูกค้าที่ต้องการตรวจสอบรายชื่อสาขาไมโครที่เปิดให้บริการ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ www.bangkokbank.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อศูนย์บริการธนาคารทางโทรศัพท์ โทร. 1333 หรือ 0-2645-5555

 

 

 

 


ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) สำรองเงินสดช่วงเทศกาลปีใหม่ ผ่านสาขาและตู้เอทีเอ็มจำนวน 100 ตู้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 250 ล้านบาท

 

 

 

 

 


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด เม็ดเงินใช้จ่ายคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลปีใหม่ หดตัว 3.2%

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 จะอยู่ที่ 29,800 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากประชาชนมีการประหยัดและระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับประชาชนมีการใช้จ่ายล่วงหน้าจากมาตรการกระตุ้นของทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากในช่วงที่เหลือของเทศกาล ภาครัฐและภาคเอกชนมีมาตรการหรือกลยุทธ์เพื่อสร้างความคึกคักให้กับเทศกาล จะหนุนให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ อาจกลับมาทรงตัวเทียบกับปีก่อนได้

 

 


หากสังเกต จะพบว่า ปีนี้การซื้อของขวัญของฝาก เป็นกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ มีการปรับลดลง ทั้งในส่วนของการซื้อให้ตนเอง ซื้อให้ครอบครัว การซื้อให้กับลูกค้าองค์กร รวมถึงการซื้อเพื่อจับสลาก ซึ่งนอกจากเป็นการปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อแล้ว ยังเป็นผลจากนโยบายการรณรงค์งดให้งดรับของขวัญในช่วงปลายปี (No gift policy) ที่ได้รับการตอบรับจากองค์กรต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยคาดว่ากลุ่มสินค้าประเภทกระเช้าของขวัญ น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่นิยมให้กับองค์กรมากที่สุด

 

 

การจัดกิจกรรมอีเว้นท์ (Events) โดยเฉพาะการลดแลกแจกแถมสินค้า ยังคงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ได้รับความสนใจและช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสูงที่สุด นอกจากนี้ แม้ว่าผู้บริโภคจะยังเลือกใช้ช่องทางร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านเป็นช่องทางหลักในการเลือกซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 แต่ช่องทางออนไลน์ ทั้ง E-marketplace และ Social Commerce ก็ได้รับการตอบรับและมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้น การคัดเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมกับประเภทสินค้า จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

 



เทศกาลปีใหม่ 2563 นี้ คนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 58.2 ของคนที่ทำแบบสำรวจ เลือกที่จะทำกิจกรรมและเฉลิมฉลองอยู่ในกรุงเทพฯ ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ร้อยละ 59.0 โดยภาพรวมนั้นคนกรุงเทพฯ ยังคงมีการทำกิจกรรมในช่วงปีใหม่เช่นเดียวกันปีก่อนๆ แต่ที่มีความแตกต่างคือการตั้งงบประมาณรายจ่ายในแต่ละกิจกรรมที่ค่อนข้างระมัดระวัง โดยเน้นประหยัดมากขึ้น ในเกือบทุกกิจกรรม ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจต้องวางแผนรับมือ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมรวมถึงกลยุทธ์การตลาด ที่จะดึงให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังคงพอมีกำลังซื้อ ให้ออกมาใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่มากขึ้น

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 29,800 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเหตุผลหลักน่าจะมาจากภาวะกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ภาคประชาชนหันมาประหยัดและใช้จ่ายระมัดระวังในการทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ ทำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการให้เงินกับบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะที่อยู่ในต่างจังหวัด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ชะลอตัว รวมถึงภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้เม็ดเงินส่วนนี้ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว น่าจะมีส่วนช่วยให้เม็ดเงินดังกล่าว กระจายลงสู่ภาคธุรกิจต่างๆ ในต่างจังหวัดได้ในระดับหนึ่ง

 

 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า กำลังซื้อของภาคประชาชน ส่วนหนึ่งได้ถูกแบ่งใช้จ่ายไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งจากกิจกรรมของภาคเอกชน อาทิ เทศกาลช็อปปิ้งวันคนโสด 11.11 (วันที่11เดือน11) รวมถึงการต่อยอดมาถึงเทศกาลลดราคาครั้งใหญ่ 12.12 (วันที่12 เดือน 12) ซึ่งในปีนี้กิจกรรมข้างต้นได้รับความสนใจจากผู้ซื้อค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาครัฐเอง ก็มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายหรือ ชิมช็อปใช้ ในช่วงก่อนหน้า (คนกรุงเทพฯ มีการลงทะเบียนทั้งเฟส1 และเฟส2 สัดส่วนร้อยละ 63.8 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม) ซึ่งเบื้องต้นช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่มีมาตรการพอสมควร แต่ก็มีผลต่อการทำกิจกรรมในช่วงปีใหม่ ที่อาจลดลงในส่วนที่ได้ทำไปแล้ว อาทิ การซื้อสินค้า การทานอาหาร หรือการท่องเที่ยว เป็นต้น

 

 


จากผลสำรวจที่เกิดขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 แยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 9,800 ล้านบาท รองลงมาคือ ท่องเที่ยวในประเทศ (ค่าเดินทางกลับบ้าน เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงค่าที่พัก) 8,000 ล้านบาท ซื้อของขวัญ/ของฝาก 7,800 ล้านบาท การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 2,500 ล้านบาท และทำบุญ/ไหว้พระ 1,500 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง บริจาคสิ่งของ) 200 ล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,400 บาท เทียบกับปี 2562 ที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,600 บาท

 

 

กิจกรรมการซื้อของขวัญถูกลดบทบาทลงจากปัจจัยด้านกำลังซื้อและนโยบาย No gift policy ส่งผลให้เม็ดเงินที่เคยกระจายไปสู่ภาคธุรกิจสินค้าต่างๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ อาจให้ภาพที่ไม่คึกคักหากเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ เลือกที่จะปรับพฤติกรรม โดยการปรับลดการซื้อของขวัญของฝากลงคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 95.7 ของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง แต่ทั้งนี้ หากแยกวัตถุประสงค์ของการซื้อของขวัญ พบว่าคนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะซื้อของขวัญของฝากให้กับครอบครัว/คนสำคัญมากที่สุดสัดส่วนร้อยละ 46.3 ซึ่งสินค้าที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์สามอันดับแรกคือเครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ คุกกี้/ช็อกโกแล็ต และเครื่องใช้ไฟฟ้า/ของใช้ในครัวเรือน

 

 

ขณะที่การซื้อของขวัญให้กับลูกค้าองค์กร มีสัดส่วนน้อยที่สุด โดยมีเพียงร้อยละ 9.5 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายงดให้งดรับของขวัญในช่วงปลายปี (No gift policy) ที่รณรงค์ต่อเนื่องมาหลายปี และค่อนข้างได้รับการตอบรับจากองค์กรธุรกิจต่างๆ สูง โดยสินค้า 3 อันดับแรกที่คนกรุงเทพฯ ที่ยังคงซื้อเพื่อมอบให้กับองค์กรคือ กระเช้าของขวัญ เครื่องสำอาง/สกินแคร์ และสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ ซึ่งพบว่ากระเช้าของขวัญน่าจะได้รับผลกระทบสูงกว่าสินค้าประเภทอื่น ขณะที่สินค้าประเภทอื่นๆ สามารถจับตลาดได้หลากหลายมากกว่า ทั้งการซื้อให้กับตนเอง/ครอบครัว หรือการจับสลาก

 

 

การจัดกิจกรรมอีเว้นท์ (Events) อาจต้องใช้ควบคู่กับการเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายที่ตอบโจทย์พฤติกรรมคนซื้อ เพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัว แต่คาดว่า ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องยังคงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมและกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับสำหรับกลุ่มที่ยังคงพอมีกำลังซื้อ รวมถึงเพื่อให้เกิดการจดจำในภาพลักษณ์หรือตราสินค้าในช่วงเวลาที่มีคนออกมาทำกิจกรรมมากที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชนต่อธุรกิจในระยะต่อๆ ไป โดยเฉพาะกลยุทธ์ลดแลกแจกแถม รวมถึงการจัดชิงโชคแจกของรางวัล และการร่วมสนุกลุ้นรางวัล ณ จุดขาย ถือว่าเป็นที่กลยุทธ์ที่คนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงเทศกาลปีใหม่

 

 


อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ตรงใจแล้ว การคัดเลือกช่องทางการจัดจำหน่าย สำหรับสินค้าที่ซื้อเป็นของขวัญในเทศกาลปีใหม่ที่หลากหลาย นอกเหนือจากช่องทางหลักคือร้านค้าปลีกทั่วไป (ห้างสรรพสินค้า, ดิสเคาน์สโตร์, ซูเปอร์มาร์เก็ต) สำหรับสินค้าในแต่ละประเภท จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสินค้า สามารถตอบโจทย์และเข้าถึงผู้ซื้อได้มากขึ้น อาทิ ผู้บริโภคจะนิยมใช้ช่องทาง E-marketplace (เช่น Lazada/Shopee/JD Central) เป็นช่องทางการซื้อสินค้าประเภทเครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์ รองจากร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ช่องทาง Social Commerce (เช่น Facebook/IG/Line) ถูกใช้เป็นช่องทางเสริมในการซื้อเสื้อผ้า/รองเท้าเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจที่หวังพึ่งเม็ดเงินจากการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงเทพฯ อาจต้องเผชิญความท้าทายจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี คาดว่า ภาครัฐและเอกชนน่าจะเห็นทิศทางกำลังซื้อ และอารมณ์การจับจ่ายของประชาชนที่ชะลอตัวลงได้ค่อนข้างชัดเจน และคาดว่าคงมีการผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นกำลังซื้อในช่วงเทศกาลก่อนสิ้นปี โดยในส่วนของภาครัฐ ก็มีมาตรการออกมาบ้างแล้ว อาทิ การขยายมาตรการชิมช้อปใช้ไปถึงเดือนมกราคม 2563

 

 

พร้อมกับการจัดกิจกรรมแจกของรางวัลสำหรับผู้ใช้จ่าย การจัดรายการสินค้าลดราคาร่วมกับผู้ประกอบการ การยกเว้นค่าทางด่วนและมอเตอร์เวย์ รวมถึงการลดราคาน้ำมันช่วงเทศกาล ขณะที่ภาคเอกชนนั้น นอกจากกิจกรรมลดแลกแจกแถมแล้ว อาจจำเป็นต้องมีการคัดเลือกสินค้าที่อิงกระแสการใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสินค้าที่อ่อนไหวต่อกำลังซื้อน้อยกว่ากลุ่มอื่น จะช่วยสร้างความแตกต่างและกระตุ้นความสนใจคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้หากทุกฝ่ายเร่งกิจกรรมที่ทำให้บรรยากาศมีความคึกคัก ก็อาจหนุนให้เม็ดเงินใช้จ่าย ช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากที่ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 29,800 ล้านบาทได้

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้