สินเชื่อสุทธิเดือน พ.ย. 2561 เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ เงินฝากชะลอลงจากเดือนก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน พ.ย. 2561 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในระดับที่เกิน 8 หมื่นล้านบาทติดกันเป็นเดือนที่สอง โดยเพิ่มขึ้นที่ 8.7 หมื่นล้านบาทในเดือน พ.ย. 2561 หรือ 0.76% MoM มาที่ 11.515 ล้านล้านบาท สูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อน 6.20% โดยการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อค่อนข้างกระจายตัวไปยังทุกธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท และสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่ ภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอี ยังมีทิศทางขยับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
ภาพรวมเงินฝากเดือน พ.ย. 2561 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 6.2 หมื่นล้านบาท หรือ 0.49% MoM มาที่ 12.442 ล้านล้านบาท (เทียบกับที่มีเงินฝากไหลเข้าถึง 2.28 แสนล้านบาทในเดือนต.ค.) โดยการเคลื่อนไหวของเงินฝากในเดือนนี้ สะท้อนภาพการบริหารจัดการสภาพคล่องที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มีเงินฝากที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ ยอดคงค้างเงินฝากของกลุ่มธนาคารขนาดกลางขยับขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม สำหรับภาพรวมเงินฝากในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.01%
ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคาร 14 แห่ง ซึ่งคำนวณจากข้อมูล ธ.พ. 1.1 ยังอยู่ในระดับสูงที่กว่า 3.6 ล้านล้านบาท โดยปรับลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากทิศทางสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับเงินฝากและเงินกู้ยืมที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากที่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมของธ.พ. (LTD+Borrowing Ratio) ปรับขึ้นมาที่ 87.85% ในเดือนพ.ย. 2561 จากระดับ 86.72% ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ปรับลดลงเป็น 21.03% ในเดือนพ.ย. 2561 จากระดับ 21.64% ในเดือน ต.ค. 2561
แม้มีปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบที่สูงของสินเชื่อที่เร่งตัวขึ้นมากในเดือนธันวาคม 2560 แต่คาดว่า สถานการณ์สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปี 2561 จะขยายตัวเข้าใกล้ตัวเลขประมาณการที่ 6.0% ได้ โดยมีแรงหนุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปีจากสินเชื่อรายย่อย และการเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจตามปัจจัยด้านฤดูกาล
สำหรับแนวโน้มในปี 2562
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ประมาณ 5.0% ตามทิศทางเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อที่มีโอกาสเติบโตได้ดีต่อเนื่อง น่าจะเป็นสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่ สินเชื่อรายย่อยโดยรวม คงชะลอลงตามสถานการณ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถ ที่เปรียบเทียบกับฐานที่เร่งตัวขึ้นค่อนข้างมากในปี 2561 นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระหว่างปี 2562 คงมีผลต่อการดำเนินนโยบายเครดิตที่ระมัดระวัง เพื่อจำกัดขอบเขตความเสี่ยงและบรรเทาภาระการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ก่อนที่ธนาคารจะเข้าสู่มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ที่จะมีผล 1 ม.ค. 2563
สำหรับประเด็นด้านสภาพคล่องนั้น
แม้สัดส่วน Loan to Deposit+Borrowing จะขยับขึ้นในเดือนพ.ย. 2561 จากผลของการเคลื่อนไหวที่สวนทางกันของสินเชื่อและเงินฝาก แต่ก็เป็นภาพสะท้อนบางส่วนจากมิติของ LTD+Borrowing Ratio เท่านั้น อย่างไรก็ดี ระดับสภาพคล่องโดยรวมของธนาคารที่ยังสูง คงช่วยยืดระยะเวลาการขยับอัตราดอกเบี้ยในระบบออกไปได้บ้าง แต่ก็คงต้องยอมรับว่า มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะเริ่มขยับขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในระหว่างปี 2562
แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย สูตรเดิม มักใช้ได้เสมอ ใช้หุ้นDELTA นำ ตามด้วย .....
NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68