ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
ปรับตัวดีขึ้นตามภาระค่าใช้จ่ายที่ผ่อนเบาลง
⦁ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.9 ในเดือนเม.ย. 2561 จากมุมมองของครัวเรือนที่เป็นบวกมากขึ้นต่อประเด็นทางด้านภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ที่คาดว่าจะบรรเทาลง หลังผ่านพ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงครัวเรือนบางส่วนมีการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานไปบ้างแล้ว
⦁ ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนเม.ย. 2561 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 45.3 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากครัวเรือนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับแรงกดดันทางด้านภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี รายได้ของครัวเรือนบางส่วนปรับตัวดีขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2561 ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการสำคัญปรับตัวดีขึ้น ช่วยหนุนรายได้ครัวเรือนเกษตรให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย
⦁ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มุมมองของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า จากแรงกดดันทางด้านค่าใช้จ่ายที่ลดลง แต่ยังต้องติดตามเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่มีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้นจากต้นทุนทางด้านพลังงานที่สูงขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้น และสามารถประคองตัวเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 46.3 ในเดือนมี.ค. มาอยู่ที่ระดับ 46.9 ในการสำรวจช่วงเดือนเม.ย. 2561 สะท้อนมุมมองที่ดีขึ้นของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในอนาคต โดยครัวเรือนมองว่า ภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือนพ.ค.-ก.ค. 2561) น่าจะผ่อนเบาลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากผ่านพ้นช่วงที่มีการใช้จ่ายสำคัญของครึ่งปีแรกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่าย กินเลี้ยงสังสรรค์ ท่องเที่ยว ทำบุญ หรือกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการชำระค่าเล่าเรียนของบุตรหลานล่วงหน้าก่อนเปิดปีการศึกษาใหม่ในช่วงกลางเดือนพ.ค. 2561 ซึ่งครัวเรือนบางส่วนก็เริ่มทยอยซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้แก่บุตรหลานไปบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.- เม.ย. ที่ผ่านมา
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”
หมายเหตุ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยายขอบเขตการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไปยังส่วนภูมิภาค (ต่างจังหวัด) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เป็นต้นไป
ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนเม.ย. 2561 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 45.3 จากเดิมที่ระดับ 45.6 ในเดือน มี.ค.
จากแรงกดดันทางด้านค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลมากขึ้นต่อภาระค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นตามระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ที่ในเดือนเม.ย. เร่งตัวขึ้นตามราคาอาหารสดและราคาพลังงานในประเทศ
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
อย่างไรก็ดี มุมมองของครัวเรือนต่อประเด็นทางด้านรายได้และการมีงานทำกลับปรับตัวดีขึ้นแตะระดับ 50.0 ในเดือนเม.ย. 2561
เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่มาอยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561) ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการสำคัญปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. ช่วยหนุนรายได้ครัวเรือนเกษตรให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ การประกาศฟรีค่าธรรมเนียมบนการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็มีส่วนช่วยหนุนการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ
จากการสำรวจ พบว่า ต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน (Transaction cost) ที่ลดลง จูงใจให้ครัวเรือนบางส่วนทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 12.3 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจซื้อหาสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องไปกับฝั่งครัวเรือนที่มีการค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การประกาศฟรีค่าธรรมเนียมบนการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้บรรยากาศการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์คึกคัก ดังจะเห็นได้จากค่าใช้จ่ายของครัวเรือนผู้ซื้อสินค้าและรายได้ของครัวเรือนผู้ขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น
โดยสรุป
มุมมองของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพในอีก 3 เดือนข้างหน้าเป็นบวกมากขึ้นจากแรงกดดันทางด้านค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ที่ลดลงเป็นสำคัญ ในขณะที่มุมมองของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพในปัจจุบันที่ลดลงมาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์และภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มุมมองของครัวเรือนในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามแรงกดดันทางด้านค่าใช้จ่ายที่ลดลง แต่ยังต้องติดตามเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่อาจเร่งตัวขึ้นจากต้นทุนราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงยังต้องติดตามราคาสินค้าเกษตรเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันรายได้ครัวเรือนเกษตร
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนรายได้ รายจ่าย ภาระหนี้สิน รวมถึงประเมินกำลังซื้อของครัวเรือนในกลุ่มสำรวจเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ดังนั้น ดัชนี KR-ECI จึงสามารถใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของดัชนีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับรายได้และการมีงานทำสอดคล้องไปกับอัตราการว่างงานของประเทศในแต่ละเดือน นอกจากนี้ การสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ก็สามารถสะท้อนการใช้จ่ายจริงของครัวเรือนที่เปลี่ยนแปลงตามปัจจัยฤดูกาล (Seasonal factors) เช่น เทศกาลสงกรานต์ วันตรุษจีน รวมถึงสอดคล้องไปกับตัวเลขดัชนีการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนของไทยด้วย
แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย สูตรเดิม มักใช้ได้เสมอ ใช้หุ้นDELTA นำ ตามด้วย .....
NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68