คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00 ตามการคาดการณ์ของตลาด ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 โดยประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แถลงการณ์หลังการประชุมนโยบายการเงินรอบนี้ ยังได้สะท้อนมุมมองในเชิงบวกต่อทิศทางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากผลกระทบน้ำท่วม และสัญญาณเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ เงินเฟ้ออาจได้รับแรงกดดันมากขึ้น จากทิศทางเศรษฐกิจ ค่าจ้างและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
มติของกนง.ในรอบนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนว่า ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคชะลอตัวลงมากเกินคาดทั้งในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.47 (YoY) และร้อยละ 2.13 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในเดือนเมษายน 2555 จากร้อยละ 3.45 และร้อยละ 2.77 ในเดือนมีนาคม ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า แรงกดดันเงินเฟ้ออาจผ่อนคลายลงในระยะสั้น ซึ่งจะทำให้ธปท. พอมีเวลาในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ทิศทางเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวกลับมาจากผลของการส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อกลายเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท.
การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตนับจากต้นปี 2555...ยังสอดคล้องกัน
• ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับระดับสิ้นปี 2554 ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับระดับราคาสินค้าผู้ผลิตที่ขยับขึ้นราวร้อยละ 1.7 ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ สถานการณ์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2555 ต่างก็ต้องเผชิญกับภาพแรงกดดันสะสมของค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากราคาพลังงาน (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายจ่ายผู้บริโภค ก็เป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจ) ได้
ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมๆ กับราคาสินค้าเกษตร (ที่เป็นทั้งอาหารของภาคครัวเรือน และเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม)
นอกจากนี้ ในขณะที่ แรงกดดันเงินเฟ้อของผู้บริโภคได้ถูกลดทอนลงด้วยมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาล และการติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดจากกระทรวงพาณิชย์ ภาระต้นทุนของผู้ประกอบการก็ผ่อนปรนลงบางส่วน เนื่องจากมีการต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมสำหรับภาคธุรกิจ รวมถึงการเลื่อนกำหนดการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 จากแผนเดิมในช่วงต้นปี 2555
• อย่างไรก็ดี เมื่อตัวแปรค่าจ้าง ค่าไฟ พลังงาน และความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ส่งผลกดดันต้นทุนของภาคธุรกิจมากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ก็อาจทำให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้ถึงแรงกดดันต่อภาระค่าครองชีพได้มากขึ้นผ่านการไล่ระดับขึ้นของราคาสินค้าแบบเดือนต่อเดือนในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงทรงตัวในกรอบสูงได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง
แรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง อาจมีน้ำหนักมากขึ้นต่อจุดยืนเชิงนโยบายการเงิน
สภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในไตรมาส 2/2555...ยังไม่กดดันการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ด้วยผลทางเทคนิคจากฐานเงินเฟ้อที่สูงในปี 2554 อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไตรมาส 2/2555 มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งน่าจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีช่วงเวลาสำหรับรอประเมินทิศทางการฟื้นตัวของภาคการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งคาดว่า อาจสามารถสะท้อนภาพเชิงบวกที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2/2555 หรือต้นไตรมาส 3/2555 ก่อนที่จะเทน้ำหนักไปที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่จะกลับมาเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง
จากประมาณการเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทยนั้น แม้มีความเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถกลับมาขยายตัวในกรอบที่สูงกว่าร้อยละ 3.0 ในช่วงไตรมาส 2/2555 (เร่งขึ้นจากที่คาดว่า จะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 ในช่วงไตรมาส 1/2555) แต่ทิศทางของเงินเฟ้อที่น่าจะโน้มชะลอลงในช่วงไตรมาส 2/2555 ไปอยู่ที่กรอบร้อยละ 2.9-3.2 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และร้อยละ 2.0-2.3 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (จากค่าเฉลี่ยร้อยละ 3.4 และร้อยละ 2.7 ในช่วงไตรมาส 1/2555 ตามลำดับ) ก็น่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.00 ไปตลอดในช่วงที่เหลือของไตรมาส 2/2555
แรงกดดันเงินเฟ้อจะมีน้ำหนักมากขึ้นในการกำหนดจุดยืนนโยบายการเงินของธปท.ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ท่ามกลางแรงกดดันที่มีต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งที่มาจากการเพิ่มสูงขึ้นของค่าจ้างแรงงาน ค่าไฟฟ้า และราคาพลังงานและวัตถุดิบบางประเภท อาจทำให้กระบวนการส่งผ่าน ”ภาระสะสม” ของต้นทุนการผลิต มาที่ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค มีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ซึ่งก็จะเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ถูกคาดหมายว่า จะมีเส้นทางการฟื้นตัวที่มั่นคงมากขึ้นในช่วงดังกล่าว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 4.0 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็อาจไล่ระดับเข้าใกล้ร้อยละ 3.0 ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อร้อยละ 0.5-3.0 ของธปท. ดังนั้นถึงแม้ จะคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีโอกาสยืนที่ร้อยละ 3.00 ไปตลอดจนถึงสิ้นปี 2555 แต่ก็คงต้องยอมรับว่า โอกาสของการกลับมาส่งสัญญาณเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินในช่วงท้ายๆ ปีก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ สำหรับในกรณีที่ทิศทางราคาพลังงานไม่ได้เร่งตัวสูงเกินกว่ากรอบที่ประเมินไว้ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบที่กรอบ 112-122 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล) และสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปไม่มีพัฒนาการไปสู่จุดที่เลวร้ายมากขึ้นแล้ว ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2555 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็น่าจะสามารถยืนอยู่ที่ร้อยละ 3.9 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 3.5-4.5) และร้อยละ 3.0 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.6-3.6) ตามลำดับ เช่นเดิม
ซึ่งตามประมาณการข้างต้นนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานจะเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 และน่าจะเริ่มมีน้ำหนักต่อสัญญาณเชิงคุมเข้มนโยบายการเงิน และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินของไทยมากขึ้นในช่วงท้ายปี 2555 หรือช่วงต้นปี 2556
By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย สูตรเดิม มักใช้ได้เสมอ ใช้หุ้นDELTA นำ ตามด้วย .....
NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68