Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

เวทีความคิด

คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ จีดีพีทั้งปี 2555 อาจขยายตัว 4.5-6.0%

2,786

 เครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงเดือนที่ผ่านมาของปี 2555 บ่งชี้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากเผชิญกับมหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายมากเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ เศรษฐกิจโลกสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการในทางบวกของทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางความพยายามของชาติยูโรโซนในแก้ไขวิกฤตหนี้ของกรีซ ทั้งนี้ แม้ว่าการเปิดศักราชปี 2555 จะออกตัวเริ่มต้นได้ค่อนข้างดี แต่สถานการณ์ข้างหน้ามีโอกาสพลิกผันจากหลายจุดเสี่ยงที่รออยู่ตลอดเส้นทางการฟื้นตัวในช่วงเวลาที่เหลือของปี

    เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2555 หดตัวร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year: YoY) ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีที่ปรับฤดูกาลลดลงถึงร้อยละ 10.7 (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter: QoQ, s.a.) ซึ่งนับเป็นการทรุดตัวไตรมาสเทียบไตรมาสในอัตราที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นอย่างน้อย ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนภาพผลกระทบจากน้ำท่วมในระดับที่รุนแรงกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น เส้นทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สะดุดลงนี้ จึงส่งผลทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญจากที่ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 15 ปีที่ร้อยละ 7.8 ในปี 2553

    ภาคการผลิตไทยทยอยฟื้นตัว แต่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการกลับคืนสู่ภาวะปกติ สัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสะท้อนได้จากภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา โดยการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ได้ส่งผลให้ยอดการผลิตรถยนต์เริ่มกลับเข้าใกล้ระดับปกติ ขณะเดียวกัน กิจกรรมในภาคการบริการก็มีทิศทางดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมกราคม 2555 ที่ 1.94 ล้านคน แม้เป็นช่วงที่หลายประเทศยังคงสถานะการเตือนการเดินทางของพลเมืองของตนเข้ามายังประเทศไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คงมีผลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในระยะนี้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งหาข้อเท็จจริง และชี้แจงทำความเข้าใจกับนานาประเทศโดยเร็ว

      ทิศทางเศรษฐกิจที่เป็นแกนสำคัญของโลกยังคงมีภาพที่ไม่น่าไว้วางใจนักในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 โดยแม้ว่าสหรัฐฯ จีน และเอเชียในภาพรวมอาจยังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเติบโตอาจโน้มชะลอลงท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ วิกฤตหนี้ยุโรป และทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงท่ามกลางข้อพิพาทของอิหร่านและชาติตะวันตก ขณะที่ แม้ว่าทางการยุโรปจะใช้ความพยายามในการผลักดันมาตรการช่วยเหลือประเทศสมาชิกยูโรโซน (โดยเฉพาะกรีซ) ที่เผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะ แต่ก็คงต้องยอมรับว่า ผลกระทบจากมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจนั้นคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2555 น่าจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.5-13.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, s.a.) ตามทิศทางการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเร่งระดับขึ้นได้ค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวที่เทียบกับช่วงเดืยวกันของปีก่อนอาจยังอยู่ในระดับต่ำประมาณร้อยละ 1.0-1.5 (YoY) เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก น่าจะมีแรงขับเคลื่อนมาจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาจากอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บวกกับกิจกรรมในการบูรณะซ่อมแซมความเสียหายของอาคาร สิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรต่างๆ เพื่อให้กลับมาดำเนินการผลิตได้เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ในบางโรงงานที่ถูกน้ำท่วมเสียหายรุนแรงอาจยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการฟื้นฟูสายการผลิต นอกจากนี้ แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐอาจยังมีไม่มากนักในไตรมาสแรกนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ประกอบกับการดำเนินการตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริหารจัดการน้ำยังต้องมีขั้นตอนในการเตรียมการ

    สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสถัดๆ ไป คาดว่า จะมีปัจจัยหนุนมาจากการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต และเม็ดเงินจากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ที่จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาเรื้อรังของวิกฤตหนี้ยูโรโซน และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นจากปัญหาความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ตลอดจนปัจจัยความไม่แน่นอนภายในประเทศ โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองและปัญหาอุทกภัย


โดยสรุป ภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2555 เป็นช่วงเวลาของการพลิกฟื้นประเทศจากอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่ฉุดให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาสที่ 4/2555 หดตัวลงถึงร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) อันส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปี 2554 ต่ำลงมาเหลือเพียงร้อยละ 0.1 ซึ่งจากฐานมูลค่าเศรษฐกิจที่ดิ่งลงรุนแรงกว่าที่คาดในปี 2554 นั้น จะทำให้ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 เป็นร้อยละ 5.0 ในกรณีพื้นฐาน (Base Case) โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5-6.0 (จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4.3 ในกรณีพื้นฐาน และมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-4.8)

    ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 มีปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่หยุดชะงักไปในช่วงอุทกภัย รวมทั้งการลงทุนของภาคธุรกิจในการฟื้นฟูสายการผลิตและสถานประกอบการที่ได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาครัฐนั้น คาดว่า จะมีการใช้จ่ายเม็ดเงินทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 และงบประมาณภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 350,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะมีโครงการส่วนหนึ่งที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ แม้คาดว่า เม็ดเงินส่วนใหญ่จากพ.ร.ก. ดังกล่าวที่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาจจะเริ่มต้นได้ชัดเจนในปี 2556 ก็ตาม


                ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระตุ้นจากกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับปัญหาอุทกภัยทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน จะมีส่วนหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยร้อยละ 1.0 ของจีดีพี และมีโอกาสสูงไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลสามารถผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ให้มีความคืบหน้าได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แม้การใช้จ่ายเพื่อการพลิกฟื้นประเทศหลังอุทกภัยจะเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจระยะสั้นในปี 2555 นี้ แต่หากมองในระยะที่ไกลออกไป คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บทเรียนจากความสูญเสียมูลค่ามหาศาลจากภัยพิบัติอุทกภัยที่ผ่านมา ได้เข้ามามีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติที่อาจต้องหันกลับมาพิจารณากลยุทธ์การลงทุน โดยคงมีการหยิบยกประเด็นการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการกำหนดฐานที่ตั้งของการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่บริษัทต่างชาติที่ผ่านประสบการณ์ภัยพิบัติในประเทศไทย อาจเล็งเห็นถึงความจำเป็นในสร้างความสมดุลระหว่างการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนควบคู่ไปกับการรักษาโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทยไว้ต่อไป
   
นอกจากนี้ ภายใต้สภาวการณ์ที่ยากจะคาดคะเนถึงแนวโน้มการเกิดอุทกภัยในปีนี้ ก็อาจทำให้การลงทุนใหม่ๆ ของภาคธุรกิจบางส่วนมีโอกาสที่จะชะลอออกไปเพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์น้ำและแผนการรับมือของทางการไทยในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงในปีนี้ก่อน ซึ่งผลของการดำเนินมาตรการของรัฐในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ จะเป็นทั้งบทพิสูจน์และเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศในระยะต่อไป อนึ่ง นอกเหนือจากปัจจัยด้านอุทกภัยแล้ว เศรษฐกิจไทยในช่วงระยะข้างหน้า ยังอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เมื่อความสามารถในการแข่งขันในด้านต้นทุนการผลิตของไทยเริ่มสูงขึ้นกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และช่วงห่างของความแตกต่างด้านต้นทุนจะยิ่งกว้างมากขึ้นไปตามการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศจึงต้องมุ่งวางรากฐานรองรับการพัฒนาของภาคเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยที่ก้าวขึ้นไปอีกระดับของห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต บนพื้นฐานขององค์ความรู้และประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

 

By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้