เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในช่วงไตรมาส 1/2555...
หลังผลกระทบจากอุทกภัยคลี่คลายลง
ทิศทางเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยจากรายงานล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า สภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายจากผลกระทบอุทกภัยครั้งรุนแรงของไทยในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนธันวาคม 2554 ได้คลี่คลายลงไปบ้างแล้วในช่วงก่อนสิ้นปี 2554 โดยที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ภาคส่วน พลิกกลับมาขยายตัว/หดตัวในอัตราที่ลดลงสอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่เริ่มฟื้นตัวจากที่ไถลลงอย่างต่อเนื่องในช่วงน้ำท่วม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงหนุนจากใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูบูรณะความเสียหายจากภาวะอุทกภัยของภาครัฐ-ภาคเอกชน และในส่วนที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาล อาจช่วยชดเชยความอ่อนแอของภาคการส่งออก (ที่ได้รับแรงกดดันจากทิศทางการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ) และภาวะการหดตัวต่อเนื่องของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ที่ยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวกลับสู่ระดับเต็มศักยภาพการผลิต) ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 ทั้งเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า (QoQ,s.a.) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) หลังจากที่เผชิญกับภาวะหดตัวรุนแรงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554
สภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น พร้อมๆ กับสถานการณ์น้ำท่วมที่คลี่คลายลง
เครื่องชี้ด้านผลผลิตภาคการเกษตร ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการใช้จ่ายและความเชื่อมั่นภาคเอกชนในเดือนธันวาคม 2554 สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยที่กระจายออกไปในวงกว้าง แม้ว่าเครื่องชี้ส่วนใหญ่ ยกเว้นผลผลิตเกษตร จะยังคงหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ก็ตาม
§ ผลผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2554 พลิกกลับมา “ขยายตัว” เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าร้อยละ 5.0 (MoM) และร้อยละ 37.9 (MoM) จากที่ “หดตัว” ลงร้อยละ 0.6 (MoM) และร้อยละ 23.5 (MoM) ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ โดยปัญหาการขนส่ง-การจัดหาชิ้นส่วน/วัตถุดิบได้คลี่คลายลง พร้อมๆ กับการกลับมาทยอยเดินเครื่องผลิต (แม้จะยังไม่เท่ากับระดับปกติก่อนน้ำท่วม) ของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ขณะที่ การขยายตัวของผลผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ ช่วยชดเชยผลผลิตข้าวที่สูญเสียไปในช่วงอุทกภัย
§ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเดือนธันวาคม 2554 ทยอยฟื้นตัวขึ้นเช่นกันกับภาพในภาคการผลิต โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.7 (MoM) ในเดือนธันวาคม พลิกจากที่หดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น แม้จะยังคงหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ก็เป็นอัตราการหดตัวที่น้อยลงมาที่ร้อยละ 2.3 (MoM) ในเดือนธันวาคม เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 6.8 (MoM) ในเดือนพฤศจิกายน
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า องค์ประกอบของเครื่องชี้ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2554 นั้น เป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการกลับสู่ภาวะปกติของของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นฟูประเทศในช่วงหลังน้ำลด อาทิ ยอดจำหน่ายยานยนต์-เชื้อเพลิง (ที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่เส้นทางคมนาคมขนส่งกลับมาใช้การได้ตามปกติ) การนำเข้าสินค้าทุน-สินค้าอุปโภคบริโภค (ที่เพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนและการทดแทนส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วม) ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ที่เพิ่มขึ้นตามการซ่อมแซมบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายจากน้ำท่วม รวมถึงการต่อเติมเพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นอีกในระยะข้างหน้า) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ที่เพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาพรวม)
§ การส่งออกเดือนธันวาคม 2554 พลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ร้อยละ 12.5 (MoM) นำโดย สินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน (ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะอุกภัย) โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ส่วนในด้านการนำเข้านั้น ขยายตัวถึงร้อยละ 8.6 (MoM) นำโดย การนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค
ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่เร่งตัวสูงขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงหลังน้ำท่วม ส่งผลทำให้ดุลการค้าของไทยต้องเผชิญกับภาวะการขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีครึ่ง ที่ประมาณ 237.9 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนธันวาคม 2554 เทียบกับที่เกินดุล 218.4 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ดี รายรับในรายการเงินโอนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยต่างประเทศให้กับผู้ทำประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ บันทึกยอดเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ระดับสูงถึง 2,177.7 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งก็ส่งผลต่อเนื่องให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยบันทึกยอดเกินดุลสูงถึง 1,939.9 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนธันวาคม พลิกจากที่ขาดดุล 136.3 ล้านดอลลาร์ฯ
§ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนเดือนธันวาคม 2554 ทั้งที่วัดในมิติของผู้บริโภคและมิติของภาคธุรกิจ สะท้อนการทยอยฟื้นคืนความเชื่อมั่นกลับมา แม้ว่าจะยังไม่กลับไปสู่ระดับที่มีความเชื่อมั่นเต็มที่ก็ตาม โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (รายงานโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) ขยับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน มาที่ระดับ 73.1 ในเดือนธันวาคม จากระดับ 71.0 ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (รายงานโดยธปท.) ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาที่ระดับ 48.5 ในเดือนธันวาคม จากระดับ 39.0 ในเดือนพฤศจิกายน
แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยปี 2555 : มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ทิศทางที่ดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่สะท้อนผ่านเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญในช่วงปลายปี 2554 อาจเป็นภาพที่สะท้อนว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมครั้งรุนแรงของประเทศน่าที่จะทยอยคลี่คลายลงตามลำดับ และน่าจะทำให้กิจกรรมฟื้นฟูบ้านเรือน-สิ่งปลูกสร้าง การลงทุนเพื่อทดแทนส่วนที่สูญเสีย-ป้องกันการสูญเสียจากอุทกภัยครั้งใหม่ของภาคธุรกิจ ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นตัวผลักดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยฟื้นกลับสู่เส้นทางการขยายตัวตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 แม้ว่าภาพความอ่อนแอของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยังน่าจะดำเนินต่อไปในช่วงเวลาเดียวกันก็ตาม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่จะมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศดังกล่าวข้างต้น น่าที่จะช่วยชดเชยผลกระทบด้านลบจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีต่อภาคการส่งออกของไทยลงไปได้บ้างบางส่วน ดังนั้นโดยสุทธิแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการหดตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะสิ้นสุดลงแล้วในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 และเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 นี้ เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นคาดว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสที่ 1/2555 น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.0 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอัตราการหดตัวที่รุนแรงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามตัวแปรที่จะมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2555 อาทิ ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตหนี้ยุโรป ระดับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไป
แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....
FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น
NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68