ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : เงินบาทแข็งค่าใกล้ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯขณะที่หุ้นไทยปิดบวกได้ จากแรงซื้อของต่างชาติ แม้ประสบวิกฤตน้ำท่วม
ตลาดเงินระยะสั้นและตลาดตราสารหนี้
อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้น
อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังคงทรงตัว โดยธนาคารพาณิชย์มีการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดในช่วงสิ้นเดือน และความต้องการถือเงินสดที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ภาวะอุทกภัยยังไม่ยุติ ขณะที่ระบบการเงินยังคงทำงานได้เป็นปกติ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) มีระดับหนาแน่นที่ 3.40-3.45% เทียบกับ 3.40% ในสัปดาห์ก่อน ส่วนอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน อยู่ที่ 3.4993-3.50% เทียบกับ 3.50% ในสัปดาห์ก่อน
ในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 4 พ.ย. 2554 ธนาคารพาณิชย์จะมีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ ขณะที่ แม้ความต้องการถือเงินสดเพิ่มจะยังคงมีต่อเนื่องในช่วงวิกฤตน้ำท่วม แต่สภาพคล่องในตลาดเงินคงจะยังมีระดับสูงและไม่เปลี่ยนแปลงมาก อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจึงน่าจะยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 3.50% นอกจากนี้ ตลาดคงจะติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ด้วย
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐฯ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี ปิดที่ระดับ 3.24% ในวันศุกร์ ลดลงจาก 3.31% ในสัปดาห์ก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงในเกือบทุกประเภทอายุ ท่ามกลางความกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจจากผลกระทบของน้ำท่วมที่ขยายเข้าสู่กรุงเทพฯ ขณะที่ กองทุนในประเทศยังคงซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี ปิดที่ระดับ 2.32% ในวันศุกร์ ปรับขึ้นจาก 2.22% ในสัปดาห์ก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในวันจันทร์ จากมุมมองเชิงบวกต่อการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป ก่อนที่จะปรับลดลงในวันอังคาร จากความไม่มั่นใจของนักลงทุนก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำยูโรโซนรอบที่สองในวันพุธ จากนั้น อัตราผลตอบแทนปรับพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งในวันพฤหัสบดี หลังทางการยุโรปมีความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการปกป้องสถาบันการเงิน รวมถึงแผนการปรับลดหนี้แก่กรีซ อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนปรับลงในวันศุกร์ จากแรงซื้อของนักลงทุนหลังอัตราผลตอบแทนได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ค่าเงินบาท (Onshore)
เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทได้รับแรงหนุนจากทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาคท่ามกลางสัญญาณบวกจากความคืบหน้าในการเร่งแก้วิกฤตหนี้สาธารณะของทางการยุโรป ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนความต้องการเสี่ยงของนักลงทุน นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทย โดยมีนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิอีกด้วย
ในวันศุกร์ (28 ต.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.52 จาก 30.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 ต.ค.)
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ถัดไป (31 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2554) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 30.45-30.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคงต้องจับตาแถลงการณ์ของการประชุมกลุ่ม G-20 (3-4 พ.ย.) ซึ่งน่าจะมีการหารือในประเด็นเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยุโรป ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (1-2 พ.ย.) ธนาคารกลางยุโรป (3 พ.ย.) ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงาน อัตราการว่างงาน ดัชนี ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกเดือนต.ค. ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
เงินยูโร และเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ
เงินยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ก่อนลดช่วงบวกลงเล็กน้อย โดยเงินยูโรทรงตัวในกรอบที่ค่อนข้างจำกัดในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนยังคงไม่มั่นใจว่า ที่ประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปจะสามารถประกาศมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขวิกฤตหนี้ยุโรป อย่างไรก็ดี เงินยูโรทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงท้ายสัปดาห์ และแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 สัปดาห์ที่ 1.4248 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร หลังจากที่ผู้นำสหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนการจัดการปัญหาหนี้ยุโรปที่สำคัญหลายมาตรการ ทั้งในเรื่องการเพิ่มขนาดกองทุน EFSF การปรับลดมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลกรีซลง 50% โดยสมัครใจในภาคเอกชน และการวางแนวทางเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับภาคสถาบันการเงิน เงินยูโรลดช่วงบวกลงเล็กน้อย หลังจากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีออกมาอ่อนแอเกินคาด ขณะที่ นักลงทุนยังคงรอรายละเอียดเพิ่มเติมของมาตรการแก้ไขวิกฤตหนี้ยุโรป
เงินเยนแข็งค่าแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 75.66 เยนต่อดอลลาร์ฯ แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ขณะที่นักลงทุนค่อนข้างระมัดระวังถึงโอกาสการเข้าแทรกแซงเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินเยนจากทางการญี่ปุ่น
ในวันศุกร์ (28 ต.ค.) เงินยูโรอยู่ที่ 1.4147 เทียบกับ 1.3894 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโรในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 ต.ค.) ส่วนเงินเยนอยู่ที่ 75.72 จาก 76.24 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า
ตลาดทุน
ตลาดหุ้นไทย
ดัชนี SET ปิดบวก จากแรงหนุนการซื้อสุทธิของต่างชาติ แม้มีความกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัยในกรุงเทพฯ โดยดัชนีปิดที่ระดับ 973.18 จุด เพิ่มขึ้น 6.20% จากสัปดาห์ก่อน ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 30.60% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 27,786.94 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ ขณะที่ นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 242.79 จุด เพิ่มขึ้น 2.98% จากสัปดาห์ก่อน
ดัชนีเปิดปรับขึ้นในวันอังคาร จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่มีมุมมองเชิงบวกต่อการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป จากนั้น ดัชนีปรับลงในวันพุธ จากการชะลอการลงทุนก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป อย่างไรก็ดี ดัชนี SET ปิดบวกขึ้นปลายสัปดาห์ ตามตลาดต่างประเทศ หลังการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปมีความคืบหน้า แม้ว่าจะมีแรงขายหุ้นทำกำไรท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายสู่กรุงเทพฯ ก็ตาม
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 4 พ.ย. 2554 บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด และบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนียังมีโอกาสฟื้นตัวต่อ จากมาตรการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปที่อาจส่งผลบวกต่อการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายสู่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ คงต้องจับตาการประชุม FOMC, ECB และ G-20 การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน รวมถึงการรายงานเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนและเงินเฟ้อของไทย ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 960 และ 934 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 992 และ 1,008 จุด ตามลำดับ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ดัชนี DJIA บวกขึ้น จากความกังวลที่ผ่อนคลายลงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป โดยในวันศุกร์ ดัชนี DJIA ปิดที่ 12,231.11 จุด เพิ่มขึ้น 3.58% จากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับขึ้นในวันจันทร์ จากผลกำไรของบริษัทคาเตอร์พิลลาร์ที่แข็งแกร่ง และข้อตกลงควบรวมกิจการในธุรกิจดูแลสุขภาพและเทคโนโลยี แต่ตลาดปรับลงในวันอังคาร จากความกังวลก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป จากนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทะยานขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ หลังมีความคืบหน้ามากขึ้นเกี่ยวกับมาตรการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป อีกทั้งจีดีพีสหรัฐฯ ที่ขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 3/2554 และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฟื้นตัวขึ้น ช่วยหนุนตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ดัชนี Nikkei ปิดเหนือ 9,000 สูงสุดในรอบเกือบ 2 เดือน จากความหวังต่อการแก้ปัญหาหนี้ในยูโรโซน โดยเมื่อวันศุกร์ ดัชนี Nikkei ปิดที่ 9,050.47 จุด เพิ่มขึ้น 4.28% จากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นโตเกียวปรับขึ้นในวันจันทร์ โดยได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป ก่อนที่จะปรับลงช่วงกลางสัปดาห์ จากความกังวลก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป และการประกาศผลกำไรของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ดัชนี Nikkei ทะยานขึ้นต่อเนื่องช่วงปลายสัปดาห์ โดยปิดเหนือ 9,000 หลังผู้นำยุโรปเห็นพ้องในการเพิ่มทุนธนาคารพาณิชย์ และการขยายความสามารถของกองทุน EFSF เพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ที่ออกมาดี
แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....
FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น
NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68