Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

เวทีความคิด

สภาพคล่อง ก.ย.2554 ลดลง...ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/2554 สถานการณ์อุทกภัยคงเป็นตัวแปรสำคัญ

2,107

สภาพคล่อง ก.ย.2554 ลดลง...ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/2554 สถานการณ์อุทกภัยคงเป็นตัวแปรสำคัญ

By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง (เบื้องต้น) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 เทียบกับสิ้นเดือนสิงหาคม 2554 และสิ้นปี 2553 พร้อมประเมินแนวโน้มของตัวแปรดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ก.ย.2554 : สินเชื่อเพิ่มมากกว่าเงินฝากรวมกับตั๋วแลกเงิน ส่งผลให้สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ไทยปรับลดลง  
สินเชื่อและตั๋วแลกเงิน ขยับขึ้น...ขณะที่ เงินฝากขยับลง  ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย มีจำนวน 7.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.48 แสนล้านบาท จาก 7.05 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 (จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในทุกกลุ่มธนาคาร นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ) ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อสุทธิดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม หลังผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นคลี่คลาย ซึ่งสอดคล้องกับโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ดี ตามการขยายตัวของภาคการส่งออก ขณะที่ ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นและยังไม่กลับสู่ภาวะปกติในหลายจังหวัด ยังคงไม่มีผลกระทบเชิงลบสะท้อนมาถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ด้านยอดเงินฝาก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 มีจำนวน 7.02 ล้านล้านบาท ลดลง 6.64 หมื่นล้านบาท จาก 7.09 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 (ตามการลดลงของเงินฝากในทุกกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่) ด้านตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) เพิ่มขึ้น 2.41 หมื่นล้านบาท จาก 1.56 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 มาที่ 1.58 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ การลดลงของเงินฝาก และการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมนั้น คาดว่า คงยังสะท้อนการปรับกลยุทธ์ระดมเงินออมของธนาคารพาณิชย์ ดังจะเห็นได้จากแคมเปญเงินฝากที่มีความหนาแน่นลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อรองรับการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงมุมมองในเชิงระมัดระวังมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและสินเชื่อในระยะถัดไป

สินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทยตามความหมายกว้าง  (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ – รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิ) ลดลงจากเดือนก่อน โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.32 ล้านล้านบาท ลดลงจำนวน 2.21 แสนล้านบาท จาก 2.54 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 อันเป็นผลจากการลดลงของเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ขณะที่ เงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ (รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิ)  และเงินสด ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การลดลงของสภาพคล่องดังกล่าว สะท้อนการลดลงของสภาพคล่องในทุกกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง ขณะที่ หากไม่รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและและบริษัทร่วมสุทธิแล้ว สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ระดับ 2.12 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน ลดลงจาก 2.34 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554

หมายเหตุ* : ธปท. มีการปรับรูปแบบรายงานเพื่อรองรับการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 : สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2553
สินเชื่อ เงินฝาก รวมทั้งตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม ล้วนเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) เพิ่มขึ้น 6.94 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตร้อยละ 10.67 จาก ณ สิ้นปี 2553 ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น 1.90 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 2.78 จาก ณ สิ้นปี 2553 ส่วนตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม เพิ่มขึ้น 5.83 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 58.45 จากปี 2553

สภาพคล่องตามความหมายกว้างเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 สภาพคล่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น 1.23 แสนล้านบาท จากระดับประมาณ 2.20 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 มาที่ระดับ 2.32 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 โดยแม้ว่า สินเชื่อสุทธิจะเติบโตได้ดีกว่าเงินฝาก แต่การระดมเงินผ่านตั๋วแลกเงินที่เร่งขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม เพื่อรองรับการจำกัดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 50 ล้านบาท เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมขยับขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า

แนวโน้มไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ... คาดสินเชื่อเผชิญปัจจัยลบจากภัยน้ำท่วมและความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ขณะที่ความต้องการถือเงินสดคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านสินเชื่อ แม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะเติบโตสูงเหนือความคาดหมาย ตามอานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างน่าประทับใจจากปัญหาอุทกภัยในช่วงต้นปี และเหตุธรณีพิบัติภัยในญี่ปุ่นที่กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อมองออกไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 นี้ คงต้องยอมรับว่า การประคองแรงส่งที่แข็งแกร่งของสินเชื่อดังกล่าว น่าจะเผชิญความซับซ้อนมากขึ้น โดยนอกจากจะมีปัจจัยลบจากการที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะยูโรโซนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาวิกฤตหนี้และความจำเป็นในการรัดเข็มขัดด้านการคลัง จนมีผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับการส่งออกสูงแล้ว  การเบิกใช้วงเงินสินเชื่อก็ยังน่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนและตุลาคม จนส่งผลกระทบต่อเขตเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่งและสร้างความเสียหายมูลค่าไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท  

จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมสินเชื่อในช่วง 1 – 2 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม 2554 – พฤศจิกายน 2554) คงมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2554 เนื่องจากความต้องการเบิกใช้สินเชื่อภาคธุรกิจอาจปรับลดลง ทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อการค้าและการลงทุน ตลอดจนสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียน หลังการดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก ประกอบกับการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสะดวกเหมือนในภาวะปกติ ขณะที่ความต้องการสินเชื่อเพื่อการบริโภคของประชาชน และความต้องการสินเชื่อในบางธุรกิจ อาทิ ภาคการก่อสร้างและวัสดุ อาจเร่งตัวขึ้นได้ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์อุทกภัยที่เข้าใกล้เขตเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ขณะที่ เมื่อมองไปในเดือนสุดท้ายของปี 2554 แล้ว พบว่า ภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ คงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมเป็นสำคัญ ซึ่งหากวิกฤตดังกล่าวคลี่คลายลง ความต้องการสินเชื่อในภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์อาจทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ โดยเฉพาะความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้ในการฟื้นฟูธุรกิจ

ด้านเงินฝาก คาดว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร อาจหนุนให้ความต้องการถือเงินสดของประชาชนและภาคธุรกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2554 มีมากกว่าช่วงภาวะการณ์ปกติอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งเพื่อสำรองไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคสินค้าจำเป็นต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าเหล่านั้นยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้อีก และสำหรับการซื้อสินค้าในร้านค้าที่รับชำระเป็นเงินสดเท่านั้น นอกจากนี้ ประชาชนและภาคธุรกิจคงจะยังมีความต้องการสำรองเงินไว้เผื่อฉุกเฉิน ยิ่งในภาวะที่การเข้าถึงช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์อาจเผชิญกับอุปสรรค (อาทิ จากการปิดการให้บริการของสาขา/เครื่องเอทีเอ็มที่อยู่ในเขตอุทกภัย)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่เปลี่ยนแปลงเดือนต่อเดือน คงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความกังวลและส่งผลต่อพฤติกรรมการถือเงินสดของประชาชนและภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ซึ่งหากมีความชัดเจนว่าวิกฤตน้ำท่วมใกล้จะคลี่คลายลงแล้ว ความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เบาบางลง คงจะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจทยอยกลับมาใช้ชีวิตประจำวัน อันจะส่งผลให้พฤติกรรมการถือเงินสดกลับเข้าสู่ภาวะที่เป็นปกติมากขึ้น สำหรับการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์นั้น คงจะมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความต้องการเบิกใช้เงินสดดังกล่าวไว้แล้ว และเมื่อประกอบกับกลไกการดูแลและบริหารจัดการสภาพคล่องทั้งระบบของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้คาดว่าสภาพคล่องทางบัญชีในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้