ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : ผลกระทบน้ำท่วมต่ออุตสาหกรรมไตรมาส 4/2554 รุนแรงกว่าสึนามิ ... คาดผลผลิตหดตัว 6.3-13.2%
By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า สถานการณ์อุทกภัยที่น้ำไหลทะลักเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอีก 1 แห่งในจังหวัดปทุมธานี ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากทั้ง 2 จังหวัดนี้มีสัดส่วนความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมไทยถึงร้อยละ 17.2 ของผลผลิตอุตสาหกรรมของประเทศ โดยจากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อภาคอุตสาหกรรมจะสูงกว่าผลที่เกิดจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยในไตรมาสที่ 2/2554 หดตัวลง และเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 3/2554 ที่ผ่านมา
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มกลับมาหดตัวอีกครั้งในไตรมาสที่ 4/2554 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI (Manufacturing Production Index) อาจหดตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ในกรณีพื้นฐาน โดยมีกรอบคาดการณ์อยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 6.3-13.2 ซึ่งจะเป็นการหดตัวในระดับที่รุนแรงกว่าในช่วงผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น ที่ทำให้ผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 2.5 (YoY) ในไตรมาสที่ 2/2554 โดยเดือนที่ผลกระทบหนักที่สุดคือเดือนเมษายน การผลิตหดตัวลงร้อยละ 8.1 สำหรับในครั้งนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมน่าจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมรุนแรงที่สุดในเดือนตุลาคม โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ไว้ 3 กรณี ดังนี้
ประมาณการผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 4 และทั้งปี 2554
กรณี |
การเติบโตของผลผลิตอุตสาหกรรม (%YoY) |
สถานการณ์ |
|
4Q/2554 |
ปี 2554 |
||
กรณีผลกระ ทบจำกัด |
-6.3 |
-2.1 |
|
กรณีพื้นฐาน |
-9.0 |
-2.8 |
|
กรณีเลวร้าย |
-13.2 |
-3.8 |
|
อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์เสียหายหนักที่สุด โดยในช่วงเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในครั้งนั้นคืออุตสาหกรรมยานยนต์ รองลงมาคืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องหยุดสายการผลิตเนื่องจากการขาดแคลนชิ้นส่วนนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น สำหรับในรอบนี้ผลกระทบยังซ้ำเข้ามาที่ 2 อุตสาหกรรมเดิม แต่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดครั้งนี้คืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ เฉพาะจังหวัดอยุธยาและปทุมธานีนั้น เป็นโซนที่มีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตรวมทั้งประเทศ ในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบรุนแรงรองลงมา โดยนอกจากโรงงานประกอบรถยนต์แล้ว ยังมีโรงงานชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่หลายบริษัทที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย ส่งผลให้แม้ว่าพื้นที่โซนอยุธยามีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์น้อยกว่าพื้นที่ภาคตะวันออก แต่การขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญก็ส่งผลกระทบไปถึงการผลิตของโรงงานที่อยู่นอกพื้นที่ประสบภัยด้วยเช่นกัน
ภาพรวมตลอดทั้งปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมอาจหดตัวร้อยละ 2.8 ในกรณีพื้นฐาน โดยมีกรอบคาดการณ์อยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 2.1-3.8 สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ประกอบด้วย
อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบ เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ พรินท์เตอร์ กล้องดิจิตอล เป็นต้น ซึ่งสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมกันมีความสำคัญถึงประมาณร้อยละ 27 ของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกโดยรวมของไทย ซึ่งผลกระทบของน้ำท่วมน่าจะมีผลต่อห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มากกว่ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยในส่วนของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อาจเสียหายกว่าครึ่งของการผลิตรวมของประเทศ
ยานยนต์และส่วนประกอบ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบ เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ โดยสินค้ากลุ่มนี้มีความสำคัญถึงประมาณร้อยละ 10 ของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ ผลกระทบจากน้ำท่วมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีผลทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่อื่นก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ และต้องประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวเช่นกัน
โรงสีข้าว จากภาวะน้ำท่วมหนักครอบคลุมพื้นที่จังหวัดที่เป็นแหล่งกระจุกตัวของโรงสีที่สำคัญ โดยเฉพาะจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีโรงสีขนาดใหญ่และเป็นท่าข้าวสำคัญที่สุดของประเทศ รวมทั้งพื้นที่จังหวัดพิจิตร อุทัยธานี อยุธยา และลพบุรี ซึ่งโรงสีที่ได้รับความเสียหายคาดว่าอาจสูงถึงเกือบร้อยละ 30 ของประเทศ (เฉพาะโรงสีขนาดใหญ่และขนาดกลาง)
ผลิตภัณฑ์อาหาร โดยโรงงานที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเป็นโรงงานผลิตสินค้าอาหารทั้งเพื่อการส่งออกและการผลิตป้อนร้านอาหารและภัตตาคารชั้นนำหลายแห่ง แต่ในกรณีบริษัทที่มีโรงงานหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่อื่น ได้มีการย้ายการผลิตไปยังจังหวัดที่ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาด้านโรงงานผลิตแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น การขนส่งวัตถุดิบทำได้ไม่สะดวก การขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งผู้ผลิตอาจต้องพิจารณานำเข้าวัตถุดิบบางประเภท
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โรงงานหลักที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครสวรรค์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ชาพร้อมดื่ม กาแฟกระป๋อง น้ำผลไม้ และน้ำดื่มบรรจุขวด เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการบางรายที่ไม่มีการกระจายโรงงานการผลิตในพื้นที่อื่นจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม โรงงานที่ไม่ได้รับความเสียหายน่าจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ประชาชนมีการซื้อสินค้าจำเป็นเพื่อเก็บสำรองไว้ในช่วงน้ำท่วม และเพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม หรือผู้ที่เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ ส่งผลให้เครื่องดื่มประเภทต่างๆ อาทิ ชาพร้อมดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำดื่มบรรจุขวด มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำดื่มบรรจุขวดที่คาดว่าจะมียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติประมาณร้อยละ 15-20
อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีโรงงานผลิตอยู่ในพื้นที่ประสบภัย เช่น รองเท้า สิ่งทอ เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์พลาสติก บรรจุภัณฑ์ โลหะ เครื่องจักร แม่พิมพ์อุตสาหกรรม เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และเลนซ์ เป็นต้น
โดยสรุป จากสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี รวมทั้งโรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมในจังหวัดที่ประสบภัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้จะฉุดให้ภาคอุตสาหกรรมไทยหดตัวอย่างรุนแรง โดยคาดว่า ในกรณีพื้นฐาน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI (Manufacturing Production Index) ในไตรมาสที่ 4/2554 อาจหดตัวร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีกรอบคาดการณ์อยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 6.3-13.2 ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 2554 อาจหดตัวร้อยละ 2.8 ในกรณีพื้นฐาน และกรอบคาดการณ์อยู่ที่หดตัวร้อยละ 2.1-3.8
จากทิศทางดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพีของภาคอุตสาหกรรม (มูลค่า ณ ราคาคงที่) ในปี 2554 อาจหดตัวร้อยละ 1.5 ในกรณีพื้นฐาน โดยกรอบคาดการณ์อยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 1.1-2.0 จากที่เติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 13.9 ในปี 2553
สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก (มีโรงงานในพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายและโรงงานที่หยุดการผลิตเนื่องจากผลกระทบทางอ้อม คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของอุตสาหกรรมนั้นๆ) ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ โรงสีข้าว ผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีโรงงานได้รับความเสียหาย อาทิ รองเท้า สิ่งทอ เครื่องประดับผลิตภัณฑ์พลาสติก บรรจุภัณฑ์ โลหะ เครื่องจักร แม่พิมพ์อุตสาหกรรม เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และเลนซ์ เป็นต้น
แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....
FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น
NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68