Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

เวทีความคิด

การประชุม 19 ต.ค.คาด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ

2,085

การประชุม 19 ต.ค.คาด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ

By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

              ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ได้เริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.คงจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 3.50% ในวันที่ 19 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นการประชุมรอบที่ 7 ของปีนี้ โดยมองว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งจากภายในและภายนอกประเทศได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและกิจกรรมการผลิตในประเทศ ตลอดจนความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตหนี้ในยุโรปและการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ขณะที่ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในบางรายการจากผลของภาวะอุทกภัย น่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว

ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ...เพิ่มขึ้น จากปัญหาอุทกภัยในประเทศและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
            แม้ว่าแรงส่งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมายังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเห็นได้จากเครื่องชี้วัดการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวหลังผลกระทบจากเหตุการณ์ในญี่ปุ่นทยอยคลี่คลาย ผนวกกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังคงเติบโต อีกทั้งภาคการส่งออกก็ยังคงขยายตัวในอัตราน่าพอใจ อย่างไรก็ตาม มองไปในระยะที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2555 ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจในประเทศมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

            โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเบื้องต้นว่า ปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงในปี 2554 ที่ความเสียหายต่อภาคส่วนเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายนั้น อาจสร้างมูลค่าสูญเสียสุทธิเป็นจำนวน 75,000-113,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.69-1.04% ของจีดีพีไทยทั้งปี 2554 ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักหรือชะลอลงจากปัญหาอุทกภัย คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2554 ขยายตัวชะลอลงมาที่ 2.0-3.8% (จากคาดการณ์เดิมที่ 4.0-5.8%) และส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีดีพีทั้งปี 2554 ชะลอลงมาที่ 2.9-3.6% (กรณีพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 3.3%) เมื่อเทียบกับที่เติบโตสูงถึง 7.8% ในปี 2553

           นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจหลักในโลกที่เพิ่มขึ้น นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงมีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำกว่าศักยภาพ และวิกฤตหนี้ในยุโรปที่ยังมีอีกหลายเหตุการณ์สำคัญรออยู่อันอาจมีผลต่อพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา แม้ว่าล่าสุดแนวทางในการปรับเพิ่มบทบาทกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) และการเตรียมแผนการเพิ่มทุนภาคธนาคารจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง โดยในส่วนกรีซที่เป็นต้นตอของปัญหานั้น ต้องติดตามว่ากรีซจะสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้หรือไม่ และจะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ (โดยมีการลดหนี้บางส่วน) ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังสถาบันการเงินในขอบเขตที่มากน้อยเพียงใด ส่วนแผนการเพิ่มทุนธนาคารพาณิชย์ในยุโรป โดยเฉพาะธนาคารของประเทศที่มีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ก็ยังคงต้องติดตามว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นหรือไม่ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญที่ยังบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน คงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การแก้ปัญหาหนี้ในยุโรปยังต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก และอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า

           ทั้งนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเครื่องชี้วัดกิจกรรมการผลิต (PMI) ของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียเริ่มส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียเริ่มชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือแม้กระทั่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

          ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ...แม้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงในช่วง 6 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย แต่เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว ขณะที่การปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2555 คงจะทำให้ กนง.สามารถใช้ดุลพินิจได้มากขึ้น

           ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศยังคงมีอยู่ และมีโอกาสที่จะปรับตัวเร่งขึ้นในระยะสั้น (ช่วงไตรมาส 4/2554 ถึงไตรมาส 1/2555) นำโดยราคาในหมวดอาหาร และสินค้าจำเป็น อันเป็นผลจากการขาดแคลนสินค้าในช่วงน้ำท่วม จากผลผลิตที่เสียหายและความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินหลายมาตรการของรัฐบาลในช่วงต้นปี อันได้แก่ การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ/ค่าตอบแทนข้าราชการ การทยอยลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติ และการทยอยเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันบางประเภท หากเกิดขึ้น ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่เร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นได้


              อย่างไรก็ดี ภาวะอุทกภัยครั้งรุนแรงและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า คงจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนให้มีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะผู้ที่ประสบภัย ประกอบกับราคาน้ำมันตลาดโลกที่อ่อนตัวลงและอาจมีแนวโน้มไม่เร่งขึ้นมากท่ามกลางความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจหลัก น่าที่จะมีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อได้บางส่วน

         ขณะเดียวกัน การประเมินว่าภาวะอุทกภัยที่ผลักดันราคาสินค้าบางรายการให้เร่งขึ้น อาจเป็นผลจากปัจจัยที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ผนวกกับการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2555 จากปัจจุบันที่กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสที่ 0.5-3.0% เป็นการกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปีที่ 3.0% โดยสามารถเบี่ยงเบนได้ (+/-) 1.5% นั้น ก็น่าที่จะเปิดโอกาสให้ กนง.สามารถใช้ดุลพินิจได้มากขึ้นและทำให้มีความจำเป็นลดลงที่ กนง.จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ

            โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) คงจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.50% ในการประชุมรอบที่ 7 ของปีในวันที่ 19 ตุลาคม 2554 นี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยคาดว่า กนง.คงจะให้น้ำหนักกับความเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรง รวมทั้งความเสี่ยงภายนอกประเทศจากปัญหาหนี้ในยูโรโซนที่อาจจะลุกลามไปสู่ภาคธนาคาร ในขณะที่การแก้ไขปัญหาอาจเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทาย โดยคงจะต้องติดตามอีกหลายเหตุการณ์ที่รออยู่ข้างหน้าซึ่งอาจมีผลต่อพัฒนาการการแก้ไขปัญหา อาทิ การอนุมัติแผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของกรีซ การประชุมผู้นำยุโรปนัดต่างๆ เป็นต้น

           ขณะเดียวกัน แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศยังคงมีอยู่ โดยในระยะสั้นยังคงมีแรงหนุนจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและสินค้าจำเป็นที่ปรับตัวสูงจากผลของอุทกภัยก่อนที่กำลังการผลิตจะฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ รวมถึงนโยบายของภาครัฐโดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2555 อย่างไรก็ตาม การประเมินว่าภาวะอุทกภัยที่ผลักดันราคาสินค้าบางรายการดังกล่าวให้เร่งขึ้น อาจเป็นผลจากปัจจัยที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ขณะที่กำลังซื้อที่อาจมีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ และราคาพลังงานโลกที่ไม่เร่งขึ้นมาก คาดว่าจะช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อลงได้ในบางส่วน ทั้งนี้ เมื่อประกอบกับการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2555 ที่เปิดโอกาสให้ กนง.สามารถใช้ดุลพินิจได้มากขึ้น ก็คงจะทำให้ กนง.มีความจำเป็นน้อยลงที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในระยะที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้าเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ กนง.อาจจำเป็นต้องพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น หากพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงกว่าที่ประเมินไว้

           สำหรับอัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์นั้น คาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เป็นการทั่วไปคงจะทรงตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ ในระยะสั้นในฝั่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ธนาคารพาณิชย์คงจะมีการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจากภาวะอุทกภัย ด้วยการพิจารณาเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น และการช่วยเหลือวงเงินสำหรับการฟื้นฟูกิจการ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แม้อัตราดอกเบี้ยทั่วไปตามประกาศคงจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก แต่ธนาคารพาณิชย์น่าจะยังคงมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษเพื่อรักษาฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่ยังคงเข้มข้น ซึ่งก็จะเป็นผลดีที่ทำให้ผู้ออมมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้