Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : HANA กับ วัฏจักรขาลง ?

3,289

HotNews : HANA กับ วัฏจักรขาลง ? 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (20   มีนาคม  2562)  ราคาหุ้น  HANA   ทิ้งตัวลง  ก่อนปิดวันนี้ที่ระดับ 30.50  บาท ลดลง 2.75 บาท  หรือคิดเป็น 8.27%  มูลค่าการซื้อขาย  674.93  ล้านบาท ระหว่างวันทำจุดต่ำสุดที่  29.50  บาท   และมีราคาสูงสุดที่  33.25  บาท   ขณะที่เหล่าเซียนหุ้น  ประสานเสียงแนวโน้มกำไร HANA  ไม่สดใส  เริ่มจาก เทพหุ้น FSS  หั่นประมาณการกำไรปกติปี 62 ลง 7% เป็น 2,358 ล้านบาท เหลือเพียงทรงตัวจากปีก่อน จากเดิมที่คาดโต 8% และปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 41 บาท จากเดิม 44 บาท    ด้านกูรูกสิกรไทยปรับลดคำแนะนำ HANA ลงเป็น "ถือ" จาก "ซื้อ"ลดราคาเป้าหมายปี 2562 ลงเป็น 31.50 บาท (จาก 44 บาท) หลังจากที่เราได้ปรับลดประมาณการกำไรธุรกิจหลักปี 2562-63 ลง 19%/20%

 

 

เทพหุ้นดีบีเอสฯ มองแนวโน้มธุรกิจอ่อนลง คาดงวด 1Q62 รายได้หดตัวลง y-o-y ขณะที่โหรหุ้นเคทีบีฯ คาดกำไร HANA ปกติใน 1Q19 จะหดตัวทั้ง YoY และ QoQ ปรับคำแนะนำลงเป็น ขายที่ราคาเป้าหมายใหม่ 30 บาท ส่วนเซียนหุ้นKGI ส่องหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กำลังอยู่ในวัฏจักรขาลง ระบุประมาณการกำไรสุทธิปี 62 ต่ำกว่าประมาณการเฉลี่ยของตลาดอยู่ 17%สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับวัฏจักรขาลง

 

 


บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า บมจ. ฮานา ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (HANA) แนะนำ "HOLD" ราคาเป้าหมาย 41 บาท/หุ้น โดยจากประชุมวานนี้ โทนเป็นลบ โดยเริ่มเห็นผลกระทบจาก Trade War ซึ่งสร้างความกังวลให้กับลูกค้า ทำให้เริ่มมีการลดระดับ Inventory และชะลอคำสั่งซื้อในช่วง 1H19 กอปรกับได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งนอกจากกระทบต่อการแปลงรายได้เป็นสกุลบาทแล้ว ยังทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่ซื้อไว้ช่วงก่อนหน้า กลายเป็นต้นทุนแพง

 

 

จึงอาจทำให้แนวโน้มกำไรใน 1H19 ไม่สดใส และคาดคำสั่งซื้อน่าจะกลับมาฟื้นตัวในช่วง 2H19 อย่างน้อยมองว่าลูกค้าน่าจะกลับมา Restocking หรือถ้าหากสถานการณ์ Trade War คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้น แต่อาจไม่เพียงพอที่จะหนุนให้ทั้งปีกลับมาเติบโตได้ เราจึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2019 ลง 7% เป็นกำไรที่ทรงตัวจากปีก่อน จากเดิมคาดโต 8% และปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 41 บาท จากเดิม 44 บาท (อิง PE เดิม 14 เท่า) แม้ราคาหุ้นจะปรับลงมาจนยังมี Upside 23.3% แต่ด้วยโมเมนตัมของกำไรที่ไม่สดใส และยังมี Sentiment เชิงลบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คงคำแนะนำเพียง ถือ

 



ความกังวลเรื่อง Trade War ทำให้ลูกค้าลดระดับ Inventory และชะลอคำสั่งซื้ออย่างชัดเจน โดยใน 1Q19 คำสั่งซื้อกลุ่มสินค้า IC (38% ของรายได้รวม) ลดลงจากประมาณการเดิมของลูกค้าราว 15% แม้คำสั่งซื้อกลุ่มสินค้า PCBA (57% ของรายได้รวม) จะไม่ลดลง แต่ทำได้เพียงทรงตัวเท่านั้น ทั้งนี้บริษัทส่งสัญญาณถึงแนวโน้มคำสั่งซื้อจะไม่สดใสในช่วง 1H19 และหากปัญหา Trade War สามารถคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น อาจจะได้เห็นการฟื้นตัวอีกครั้งใน 2H19 ส่วนหนึ่งเรามองว่าอาจจะมาจากการ Restock ของลูกค้า แต่อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยให้ภาพรวมคำสั่งซื้อทั้งปีกลับมาเติบโตได้สำหรับกลุ่มประเภทสินค้าหลักของบริษัทถือว่ามีแนวโน้มไม่สดใสแทบทุกกลุ่ม อาทิ Computer คาดยอดขายทั่วโลกปี 2019 อาจทำได้ดีสุดคือ ทรงตัว Y-Y หลังจากหดตัวมาตลอดในหลายปีที่ผ่านมา, Automotive แนวโน้มยอดขายรถยนต์ทั่วโลกชะลอตัว ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และจีนที่ยอดขายรถยนต์หดตัวลงเป็นครั้งแรกในปี 2018, Smartphone คาดยอดขายทั่วโลกจะลดลงราว 3.3% Y-Y และภาพใหญ่ในส่วนของ Semiconductor คาดยอดขายทั่วโลกจะลดลง 3% Y-Y

 

 

นอกจากนี้ด้วยสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่านับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นลบต่อทั้งรายได้สกุลบาทแล้ว ยังทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่ซื้อไว้ก่อนหน้า กลายเป็นของแพง จะกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นในช่วง 1H19 เบื้องต้นคาดกำไรปกติจะไม่สดใสนัก และยังมี Sentiment เชิงลบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของหลายพรรคการเมือง ที่มีนโยบายปรับขึ้นเป็น 400 - 425 บาท/วัน จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 315 บาท/วัน ถือเป็นลบ ไม่เพียงแต่ HANA เท่านั้น

 

 

แต่เป็นลบต่อกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังมีการใช้แรงงานเข้มข้น และต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะ แม้ปัจจุบันแรงงานของบริษัทจะมีค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่หากค่าแรงขั้นต่ำถูกยกฐานขึ้น ต้นทุนค่าจ้างแรงงานก็ต้องปรับขึ้นตามเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการแย่งชิงแรงงานที่มีทักษะ โดยปัจจุบันต้นทุนแรงงานคิดเป็น 8% ของรายได้รวม กรณีการปรับขึ้นค่าแรงทุกๆ 10% โดยกำหนดให้ตัวแปรอื่นคงที่ จะกระทบต่อกำไรสุทธิราว 7% ทั้งนี้บริษัทมองว่าน่าจะมีการทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว จึงยังเน้นการหันมาใช้ Automation มากขึ้น และมีการขยายฐานการผลิตไปยังกัมพูชาเพื่อรองรับไว้ส่วนหนึ่งแล้ว

 

 

ด้วยสถานการณ์ที่ไม่สดใสมากขึ้น เราจึงปรับลดสมมติฐานรายได้ปีนี้เป็นโตเพียง 2% Y-Y จากเดิมคาดโต 6% Y-Y และปรับลดอัตรากำไรขั้นต้นลง 50 bps เป็น 14.5% ใกล้เคียงปีก่อน นำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไรปกติปี 2019 ลง 7% เป็น 2,358 ล้านบาท เหลือเพียงทรงตัวจากปีก่อน จากเดิมที่คาดโต 8% และปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 41 บาท จากเดิม 44 บาท (อิง PE เดิม 14 เท่า)

 

ความเสี่ยง - คำสั่งซื้อเติบโตช้ากว่าคาด, ปัญหาสายการผลิต, สูญเสียลูกค้าให้กับคู่แข่ง, ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยี, ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่า

 

 

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ระบุว่า HANA (ถือ ปิด 33.25 บาท พื้นฐาน 31.50 บาท -5.26%) เราปรับลดคำแนะนำ HANA ลงเป็น "ถือ" จาก "ซื้อ" เพราะเราได้ปรับลดราคาเป้าหมายปี 2562 ลงเป็น 31.50 บาท (จาก 44 บาท) หลังจากที่เราได้ปรับลดประมาณการกำไรธุรกิจหลักปี 2562-63 ลง 19%/20% และปรับลดมูลค่า PER ลงเป็น 11 เท่าจาก 12 เท่า ทั้งนี้ ผู้บริหารได้ให้แนวทางระหว่างการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวานนี้ (19 มี.ค. 2562) ว่าครึ่งแรกของปี 2562 ถือเป็นช่วงที่ท้าทายสำหรับ HANA

 

จากประเด็นความกังวลเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคหลักๆ ทั้งหมดของ HANA เช่น PC สมาร์ทโฟน และอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ทั้งนี้ แม้ว่าการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของ HANA จะอ่อนแอกว่าคาด แต่เราเชื่อว่าราคาหุ้นจะได้รับแรงหนุนมาจากคาดการณ์เงินปันผลต่อหุ้น (DPS) ปี 2562 ที่ 2 บาท (สะท้อนอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (DY) ต่อราคาหุ้นปัจจุบันที่ 6%)

 

 


บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจอ่อนลง คาดงวด 1Q62 รายได้หดตัวลง y-o-y ในภาพใหญ่ WSTS (World Semiconductor Trade Statistic) ได้ปรับลดยอดขายเซมิคอนดัคเตอร์โลกปีนี้ลงเป็น -3.0% เมื่อกลาง ก.พ.62 ที่ผ่านมา เทียบกับ +2.6% ที่คาดไว้เมื่อ 4Q61 ถือว่าสัญญาณขาขึ้นอาจได้สิ้นสุดลงแล้ว รวมทั้งตัวเลข PMI (Purchasing Manager Index) สิงคโปร์ได้ต่ำกว่า 50 จุด มาหลายเดือน ส่งสัญญาณหดตัว

 


แม้ว่าธุรกิจโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) จีนจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก แต่คาดว่าในส่วนธุรกิจอื่นจะอ่อนแอลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าได้มีการปรับลดประมาณการปีนี้และปี 63 ลงในอัตรา 16%/12% ตามลำดับ บริษัทคาดว่าในงวด 2H62 อาจมีการฟื้นตัวดีขึ้น หากการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐมีทิศทางดีขึ้นปรับลดคำแนะนำเป็นเชิงลบ จากซื้อเป็นเต็มมูลค่า ด้วยราคาพื้นฐานใหม่ที่ปรับลดเป็น 29.50 บาท ซึ่งประเมินด้วย P/E ปี 62 ที่ 12 เท่า (-0.5 SD จาก P/E เฉลี่ย 5 ปี) ราคาปิดมีส่วนลด (Downside) ได้อีกถึง 11% หากในที่สุดไทยมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ บริษัทก็จะได้รับผลลบไปด้วย

 

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า มีมุมมองเป็นลบจากการประชุมนักวิเคราะห์วานนี้ (19 มี.ค. 19) เนื่องจากมองว่าอุตสาหกรรม Semiconductor, PC, และ Smartphone จะหดตัวในปีนี้ อีกทั้งลูกค้า IC ปรับลดประมาณการยอดสั่งซื้อใน 1Q19 กับ HANA ลง 15% จากประมาณการเดิม เนื่องจากต้องการลด Inventory เพื่อรอความชัดเจนของ Trade war ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เราจึงปรับประมาณการกำไรปกติปี 2019 ลง 12.8% จากประมาณการเดิมเป็น 2,123 ล้านบาท (-10% YoY) โดยการปรับยอดขายสกุลเงินดอลลาร์ลง 7% และปรับอัตรากำไรขั้นต้นลง จากยอดขายที่ลดลง มองกำไรปกติ 1Q19 จะหดตัวทั้ง YoY และ QoQ ทำจุดต่ำสุดของปี จึงปรับคำแนะนำลงเป็น ขาย จากเดิม ซื้อ ที่ราคาเป้าหมายใหม่ 30.00 บาท (อิง PER 11.5x เทียบเท่า -1SD) เดิม 44.00 บาท (อิง PER 14.6x เทียบเท่า +0.5SD)

 

 

มีมุมมองเป็นลบจากการประชุมนักวิเคราะห์วานนี้ (19 มี.ค. 19) เนื่องจากผู้บริหารให้มุมมองของอุตสาหกรรมและลูกค้าที่มีอยู่ ดังนี้ 1) มองอุตสาหกรรม Semiconductor ถึงจุดพีคแล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบของ Trade war และฐานที่สูงในปีที่แล้ว (ปี 2018 worldwide semiconductor billings อยู่ที่ 470 พันล้านเหรียญฯ (+16% YoY)) 2) คาดอุตสาหกรรม PC ทรงตัวหรือยังคงลดลงต่อเนื่อง 3) อุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ของโลกชะลอตัวลง 4) คาดตลาด smartphone ปีนี้จะลดลง 3% YoY จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม HANA ได้ market share เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ตัว Sensor ที่ทำได้ดี และ 5) ลูกค้า IC ปรับลดประมาณการยอดสั่งซื้อใน 1Q19 กับ HANA ลง 15% จากประมาณการเดิม (ยอดขายกลุ่ม IC คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 43%) เนื่องจากต้องการลด Inventory เพื่อรอความชัดเจนของ Trade war

 

 

ปรับประมาณการกำไรปกติปี 2019 ลง 12.8% จากประมาณการเดิมเป็น 2,123 ล้านบาท (-10% YoY) โดยการปรับ 1) ยอดขายสกุลเงินดอลลาร์ลง 7% จากประมาณการเดิมเป็น 670 ล้านเหรียญฯ (-2.7% YoY) จากคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรม IC และ PCBA ในปีนี้จะหดตัวลง YoY จากผลกระทบของ Trade war ที่ลูกค้าของ HANA หลายรายใช้กลยุทธ wait & see ชะลอคำสั่งซื้อลง และ 2) ปรับอัตรากำไรขั้นต้นลงเหลือ 14.0% จากเดิมใช้ 14.6% เนื่องจากการปรับลดยอดขายลง

 

 

คาดกำไรปกติใน 1Q19 จะออกมาหดตัว QoQ เนื่องจากเงินบาทเฉลี่ยใน 1Q19 ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 31.61 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัว YoY แต่แข็งค่าขึ้น 3.7% QoQ คาดจะเห็นอัตรากำไรขั้นต้นใน 1Q19 ที่ระดับประมาณ 10% ส่วนหดตัว YoY เนื่องจากคาดยอดขายจะหดตัวลงจากผลกระทบของ Trade war ทำให้เศรษฐกิจในจีนและสหรัฐฯ ชะลอตัวลง รวมทั้งเศรษฐกิจยุโรปก็มีความน่ากังวลเช่นเดียวกัน เราจึงมองว่า 1Q19 จะทำจุดต่ำสุดของปี และคาดจะได้เห็นการฟื้นตัวในช่วง 2H19 หากผลการเจรจาการค้าออกมาดี

 

 


ปรับราคาเป้าหมายปี 2019 ลงเป็น 30.00 บาท (อิง Forward PER ที่ 11.5x เทียบเท่า -1SD) เดิม 44.00 บาท (อิง Forward PER ที่ 14.6x เทียบเท่า +0.5SD) เนื่องจากเรามองว่าอุตสาหกรรม IC จะหดตัวลงในปีนี้ ทำให้คาดว่ากำไรปกติของ HANA จะหดตัวลงเช่นเดียวกันตั้งแต่ 1Q19 เป็นไตรมาสแรก จึงปรับคำแนะนำลงเป็น ขาย จากเดิม ซื้อ

 

 


ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลังอยู่ในช่วงขาลง ตามที่เรามองไว้ซึ่งคาดว่าจะกินเวลาประมาณ 1.5-2.0 ปี ถึงแม้ว่าประมาณการกำไรปี 2562 ของเราจะสะท้อนความกังวลในเรื่องนี้ไปแล้ว (ประมาณการกำไรปี 2562 ลดลง 14% YoY) แต่ตลาดอาจจะยังไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก ดังนั้น เราจึงมีโอกาสจะเห็นนักวิเคราะห์ในตลาดปรับลดประมาณการกำไรลงอีก เรายังคงคำแนะนำ "ถือ" และให้ราคาเป้าหมายปี 2562 ที่ 35.00 บาท อิงจาก PER ที่ 14.0x (ค่าเฉลี่ยของกลุ่ม -0.25 S.D.) เราแนะนำให้นักลงทุนรอดูสถานการณ์ไปก่อน และจะกลับมาทบทวนหุ้น HANA อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้

 

 

อยู่ในวัฎจักรขาลง
จากบทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ "Into the darkness" ของเราที่ออกเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 เราได้กล่าวถึงว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลังจะเข้าสู่วัฎจักรขาลงหลังจากที่มีสัญญาณเตือนหลายประการ จนจึงขณะนี้ มุมมองของเราก็ได้รับการยืนยันชัดเจนแล้วว่าธุรกิจนี้กำลังอยู่ในวัฏจักรขาลงจริงๆ ดังจะเห็นได้จาก i) SIA รายงานว่ายอดขาย semiconductors โลกในเดือนมกราคม 2562 ลดลง 6% YoY และ 7% MoM เหลือ US$3.55 หมื่นล้าน

 

ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ยอดขายลดลง YoY หลังจากที่โตต่อเนื่องมาถึง 29 เดือน (Figure 1 และ 3) ii) WSTS ประมาณการว่ายอดขาย Global semiconductors ในปีนี้จะลดลง 3.0% iii) Trendforce ประเมินว่ายอดผลิต smartphone โลกในปีนี้จะลดลง 3.3% สอดคล้องกับประมาณการของ KGI Taiwan ที่ประเมินว่าจะลดลง 5% YoY และ iv) ลูกค้าส่วนใหญ่ของ HANA เริ่มชะลอคำสั่งซื้อลงเพื่อลดสต็อก ซึ่งทำให้ผู้บริหารมองว่าวัฏจักรขาขึ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมได้ผ่านพ้นไปแล้วและอัตราการเติบโตในระดับสองหลักน่าจะเป็นไปได้ยาก

 

 

นักวิเคราะห์ในตลาดน่าจะปรับลดประมาณการกำไรลงอีก
ประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ของเราต่ำกว่าประมาณการเฉลี่ยของตลาดอยู่ 17% ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของเราเกี่ยวกับวัฏจักรขาลง โดยเราใช้สมมติฐานอัตราการเติบโตของยอดขายที่ -3% YoY (ในขณะที่ตลาดประเมินไว้ที่ +5%) และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 13.4% (ในขณะตลาดประเมินไว้ที่ 14.5%) ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าสมมติฐานของเราในปัจจุบันค่อนข้างอนุรักษ์นิยมพอสมควร และมีโอกาสที่จะเห็นนักวิเคราะห์ในตลาดปรับลดประมาณการกำไรลงอีก

 

 

คาดว่ากำไรจะอ่อนแอใน 1H62 ก่อนที่จะฟื้นตัวใน 2H62
เราคาดว่าผลประกอบการในครึ่งแรกจะอ่อนแอ เนื่องจาก i) เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 3.4% QoQ (Ytd อยู่ที่ 31.6 บาท/US$ จาก 32.7 บาท/US$ ใน 4Q61) ซึ่งจะกดดันอัตรากำไรขั้นต้นใน 1Q62 และ ii) KGI Taiwan ประเมินว่าผู้ผลิตจะมีการระบายสินค้าคงคลังในช่วงครึ่งแรกของปีซึ่งจะทำให้ยอดขายอ่อนแอใน 1H62 ซึ่งทำให้ประมาณการกำไรของเราในปี 2562 ปรับตัวลง 14% YoY

 

 

Valuation & Action
เรายังคงคำแนะนำ "ถือ" และให้ราคาเป้าหมายปี 2562 ที่ 35.00 บาท อิงจาก PER ที่ 14.0x (ค่าเฉลี่ยของกลุ่ม -0.25 S.D.) อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลจากราคาปิดล่าสุดที่ 6.0% ถือเป็นผลตอบแทนระหว่างที่รอให้ธุรกิจพลิกกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง เราแนะนำให้นักลงทุนรอดูสถานการณ์ไปก่อน และจะกลับมาทบทวนหุ้น HANA อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ เพราะจากข้อมูลในอดีต วัฎจักรขาลงมักจะใช้เวลาประมาณ 1.5 - 2.0 ปี ซึ่งในรอบนี้เพิ่งผ่านไปแค่ 5 เดือนเท่านั้น (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 - มีนาคม 2562)

 

 

Risks
ภัยธรรมชาติ, มีการปิดโรงงานนอกแผน, มีการเปลี่ยน supplier, ราคาวัตถุดิบแพงขึ้น, เงินบาทแข็งค่าขึ้น (เราใช้สมมติฐานค่าเงินบาทปี 2562-63 ที่ 32.2 บาท/US$), และการจัดส่งสินค้าล่าช้า

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้