
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (1 พฤศจิกายน 2561)
- NER เผยหุ้น IPO ขายหมดเกลี้ยง 600 ล้านหุ้น ระดมทุนทรัพย์เกือบ 1.5 พันลบ. ประกาศลงสนามเทรด 7 พ.ย. นี้ มั่นใจ นลท. ตอบรับดี เหตุพื้นฐานแกร่ง มั่นใจปีนี้รายได้-กำไร โตกว่าปี 60 หลังจากบริหารจัดการต้นทุนดีขึ้น

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยกับสำนักข่าวหุ้นอินไซด์ว่า บริษัทฯ เสนอขายหุ้นสามัญเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering : IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาเสนอขายหุ้นละ 2.58 บาท หมดทั้งจำนวน 600 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเงินระดมทุน 1,474.23 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินระดมทุนดังกล่า ไปใช้ตามวัตถุประสงค์การระดมทุน โดยจะนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับรองรับแผนขยายธุรกิจ ซึ่งทำให้บริษัทฯมีศักยภาพในการเข้าร่วมประมูลงานภาครัฐ และเอกชน ในมูลค่าโครงการที่สูงมากขึ้น ช่วยผลักดันให้ธุรกิจของอนาคตเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น แบ่งเป็น ใช้ปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตยางผสม 40 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตยางแท่งและยางผสมใหม่ 455.63 ล้านบาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียน 978.60 ล้านบาท
โดยบริษัทเตรียมที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย( SET) เป็นวันแรกในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากบริษัทฯเป็นธุรกิจที่มีพื้นฐานที่ดี มีแนวโน้มการเติบโตดี ขณะที่จากผลประกอบการที่ผ่านมาก็ได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
" การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ต้องขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่ได้ให้ความสนใจในการจองซื้อหุ้นของบริษัท สำหรับการระดมทุนครั้งนี้ NER จะนำเงินที่ได้จากลงทุนในเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรยางแผ่นผสม (RSS Mixtures Rubber) ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 60,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 และมีแผนที่จะสร้างโรงงานใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตยางแท่ง (STR) และยางแท่งผสม (Mixtures Rubber) กำลังการผลิต 172,800 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 ส่วนเงินระดมทุนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ " นายชูวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อรวมการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรยางแผ่นผสม (RSS Mixtures Rubber) ที่จะแล้วเสร็จในปี 2562 และการลงทุนก่อสร้างโรงงาน ยางแท่ง STR และยางแท่งผสมแห่งใหม่ที่จะแล้วเสร็จในปี 2563 จะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตยางพาราแปรรูป รวมทั้งโรงงานเป็น 465,600 ตันต่อปี
นายชูวิทย์ กล่าวด้วยว่า บริษัทฯมั่นใจว่ารายได้ และกำไรสุทธิ ในปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตกว่าปี 2560 ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 9,819.70 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 224.12 ล้านบาท จากการที่บริษัทฯได้มีการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น โดยในครึ่งปีแรกบริษัทฯสามารถทำรายได้แล้ว 3,976.51 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 166.67 ล้านบาท
นายนิมิต วงศ์จริยกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) (CNS) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ของบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า หุ้น NER ได้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชน (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น ในราคาจองซื้อหุ้นละ 2.58 บาท มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายและผู้ร่วมรับประกันการจัดจำหน่าย 7 แห่ง ได้แก่ บล. โกลเบล็ก บล. เคทีบี (ประเทศไทย) บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บล. ทรีนีตี้ บล. ฟินันเซีย ไซรัส บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) และ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระหว่างวันที่ 29 – 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก และมีการจองซื้อเต็มจำนวนจากนักลงทุนโดยมีการจัดสรรให้แก่นักลงทุนมากกว่า 6,000 ราย เนื่องจากนักลงทุนมีความสนใจและเห็นถึงโอกาสการเติบโตในอนาคต
ปัจจัยที่ทำให้หุ้น NER ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนนั้น เห็นได้จากการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด รวมถึงการโรดโชว์ในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการความสนใจเป็นอย่างดี รวมไปถึงบริษัทมีแผนธุรกิจและการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่การกำหนดราคาจองซื้อหุ้น ที่ราคา 2.58 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 9.96 เท่า ซึ่งคำนวณกำไรสุทธิจากผลประกอบการของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 และเชื่อว่าการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันแรกจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า NER จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ในหมวดธุรกิจการเกษตร ซึ่งเชื่อมั่นว่าการที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยดำเนินธุรกิจมากว่า 11 ปี เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้นำเสนอข้อมูลให้แก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่องและมั่นใจว่าหุ้น NER จะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ด้วยผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่อง และนโยบายการจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
“การที่ NERได้ทำการโรดโชว์ในประเทศไทยจำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง นครปฐม ราชบุรี อุบลราชธานี สุรินทร์ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งโรดโชว์ในต่างประเทศ 3 ประเทศ สิงค์โปร์ ฮ่องกง และจีน ซึ่งมีนักลงทุนเข้าร่วมงานและรับฟังอย่างหนาแน่น ทำให้มีความเข้าใจในธุรกิจของบริษัท และรู้ถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงแผนการขยายธุรกิจในอนาคตที่ชัดเจน” นายสมภพ กล่าว
-----------------------------------------------------
ด้านเจ้าพระยามหานคร คาดเปิดจองซื้อหุ้น IPO พร้อมเข้าเทรด mai ภายในเดือน พ.ย. นี้
ด้านนายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ CMC เปิดเผยว่า CMC เตรียมเข้าระดมทุนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 250 ล้านหุ้นมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท/หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25 % ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยคาดว่าจะเปิดจองซื้อหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุน IPO ไปใช้ชำระหนี้ที่มีต้นทุนสูงเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางการเงิน โดย ปัจจุบันบริษัทฯมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1.8 เท่า ซึ่ง ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่บริษัทฯมีD/E สูงถึง 3 เท่า จากการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ทำให้บริษัทฯมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง ปัจจุบันบริษัทฯมีต้นทุนดอกเบี้ยอยู่ที่ 7.8% โดย บริษัทฯจะนำเงินไปใช้ลงทุนซื้อที่ดินเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มเติม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานเพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ

ขณะที่นายแพทย์วิเชียร แพทยานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ CMC เปิดเผยว่า สำหรับปีนี้บริษัทฯ มั่นใจว่ารายได้จะเติบโตกว่าปี 2560 ซึ่งบริษัทฯมีรายได้อยู่ที่ 1,525.23 ล้านบาท โดยในครึ่งปีแรกบริษัทฯมีรายได้อยู่ที่ 976 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทฯมีโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างรอขายทั้งหมด 25 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาท ที่สามารถโอนแล้วรับรู้รายได้ในทันทีซึ่งจะช่วยหนุนให้รายของบริษัทฯเติบโตและบริษัทฯยังมีนโยบายที่จะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 40% จากการที่บริษัทฯสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทฯเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในครึ่งปีแรกบริษัทฯมีกำไรสุทธิเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 กว่า 130 %
นอกจากนี้ บริษัทฯมีแผนที่จะพัฒนาและมีที่ดินเตรียมพร้อมแล้ว 10 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 10,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะเปิดตัวได้ 3 โครงการ มูลค่า 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมีเนียม ทำเลติวานนท์ รามคำแหง และวงศ์สว่าง ซึ่งขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างขอวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้บริษัทฯเน้นเปิดโครงการในทำเลใกล้รถไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการในอนาคตที่ภาครัฐมีการอนุมัติให้ก่อสร้างแล้ว และบริษัทฯเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุดในตลาดฯ โดยลูกค้าราว 80-90% ที่ซื้อโครงการของบริษัทฯจะเป็นพนักงานออฟฟิสที่มีรายได้มั่นคง
ขณะที่ปัจจุบันบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้จากโครงการคอนโดมิเนียม 95% และโครงการแนวราบ 5% และในอนาคตบริษัทฯมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากโครงการแนวราบให้มากขึ้น เนื่องจากมองว่าตลาดแนวราบมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
อนึ่ง CMC รายงานผลประกอบการครึ่งปีแรก 2561 บริษัทฯมีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ 795 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้น 405 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึงเท่ากับ 41.6% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ 336 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ 53 ล้านบาท
--------------------------------------------------
ส่วน TQM ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. เตรียมขาย IPO ไม่เกิน 75 ล้านหุ้น พาร์ 1 บ./หุ้น ระดมทุนเพื่อปรับปรุง - พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟท์แวร์

ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ประธานบริษัท บมจ. ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ผู้นำธุรกิจนายหน้าประกันภัย ภายใต้แนวคิด “TQM ไม่หยุดทำดีที่สุดเพื่อคุณ” เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้
ปัจจุบันบริษัทฯ แบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 4 ด้าน คือ
(1) ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ให้บริการผ่าน บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (“TQM Broker”)โดยมีการขายผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยทั้งสิ้นกว่า 130 ผลิตภัณฑ์ ทั้งในกลุ่มประกันรถยนต์ (Motor) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และกลุ่มประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และกลุ่มประกัน Non-Motor ในรูปแบบประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันวินาศภัยเบ็ดเตล็ด เป็นต้น
(2) ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต ดำเนินธุรกิจผ่าน บริษัท ทีคิวเอ็ม ไลฟ์ อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (“TQM Life”) ซึ่งมีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตทั้งสิ้นกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมทั้งประกันชีวิตประเภทรายบุคคลและประกันชีวิตประเภทกลุ่ม
(3) ธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ผ่านบริษัท แคสแมท จำกัด (“Casmatt”) ซึ่งครอบคลุมการให้คำปรึกษาด้านกระบวนการทางธุรกิจ งานวิจัยตลาดดิจิตอล เป็นต้น
(4) ธุรกิจให้บริการด้านคำแนะนำเกี่ยวกับประกันภัย ผ่านบริษัท ทีคิวแอลดี จำกัด (“TQLD”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม เพื่อเป็นช่องทางให้กับลูกค้าในการค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดเวลา ผ่านรูปแบบการกรอกข้อมูลของลูกค้า ทั้งนี้ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ มีพันธมิตรที่เป็นบริษัทประกันภัยกว่า 40 แห่ง มีพนักงานขายที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยให้บริการกว่า 2,000 คน ผ่านสาขาและศูนย์บริการทั่วประเทศรวม 95 แห่ง ที่สามารถให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย
ดร.นภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจของบริษัทฯ มีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันทำให้โอกาสเติบโตมีมาก นอกจากนี้ อัตราการทำประกันภัยในประเทศไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยจากข้อมูลรายงานธุรกิจประกัน ประจำปี 2559 ของ สวีส รีอินชัวร์รัน ซึ่งเป็นบริษัทประกันชั้นนำของโลก พบว่าธุรกิจประกันของประเทศในทวีปเอเชีย ประเทศไทย มีสัดส่วนเบี้ยประกันรับรวมทุกประเภทต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Insurance Penetration) ที่ร้อยละ 5.42 หากพิจารณา เบี้ยประกันภัยต่อคน (Insurance Density) พบว่า ประเทศไทยมีเบี้ยประกันภัยต่อคน (Insurance Density) เพียง 323.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน (GDP) ต่อจำนวนประชากร ต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้
ซึ่งผลดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมประกันที่มีโอกาสขยายตัวได้อีกในอนาคต โดยกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัย จึงไม่มีความเสี่ยงด้านการดำรงเงินกองทุนฯและการบริหารผลตอบแทนจากเบี้ยประกันภัย
“ปัจจุบันรูปแบบการทำธุรกิจนายหน้าประกันภัยนั้นมีความท้าทายมากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ เห็นโอกาสนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขยายฐานลูกค้าโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ดีมากยิ่งขึ้น จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลการดำเนินและรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจโบรกเกอร์ประกันภัยให้แก่บริษัทฯ อย่างยั่งยืน” ดร.นภัสนันท์กล่าว
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท โดยเป็นทุนที่ชำระแล้ว 225 ล้านบาทมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งในจำนวนนี้จะจัดสรรให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือพนักงานบริษัท และ/หรือพนักงานบริษัทย่อย (ESOP) จำนวนไม่เกิน11.25 ล้านหุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายทั้งหมด และส่วนที่เหลือจะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป
นางสาวพันทิตา แซ่เอ็ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวานิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์การใช้เงิน โดยจะระดมทุนเพื่อนำไปใช้พัฒนาโครงการสำหรับปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจ โดยลงทุนในระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) การเพิ่มทุนชำระแล้วในบริษัทแกน ได้แก่ TQM Broker และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มบริษัทฯ
ทั้งนี้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการนายหน้าประกันภัยปัจจุบันมีบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก 2 บริษัท ได้แก่ TQM Broker ดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย และ TQM Life ดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าประกันชีวิต
NER CMC TQM