
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 27 สิงหาคม 2561)
TPLAS แต่งตั้ง บล.เออีซี เป็น Lead underwriter ขายหุ้น IPO ที่ 1.48 บาท เสนอขายระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคมนี้ พร้อมดีเดย์ เข้าทำการซื้อขายตลาด mai เดือนกันยายนนี้ พร้อมดึง บล. เคที ซีมิโก้ , บล.ยูโอบี เคย์เฮียน และ บล. คันทรี่ กรุ๊ป เป็น Co-Underwriter มั่นใจจะได้ผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุน พร้อมเดินหน้าเร่งระดมทุนขยายโรงงาน เครื่องจักรใหม่ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หนุนผลงานใน 3 ปีข้างหน้าโตอย่างมั่นคง

นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการ การจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS เปิดเผยว่า ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ TPLAS ที่ ราคา 1.48 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) เท่ากับ 14.80 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนอื่นที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจใกล้เคียงกับ TPLAS เช่น บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) (TPBI) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) เฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี เท่ากับ 21.37 เท่า และปัจจุบันเท่ากับ 30.99 เท่า
ทั้งนี้ TPLAS จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหุ้นในวันที่ 28-30 สิงหาคมนี้ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Co-Underwriter)หุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และคาดว่าจะเข้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ประมาณวันที่ 5 เดือนกันยายนนี้ ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อว่าการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก

สำหรับการระดมทุนในครั้งนี้ TPLAS เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 70 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 25.93 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 100 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 200 ล้านหุ้น โดยหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้จะทำให้ทุนจดทะเบียน เพิ่มเป็น 135 ล้านบาท หรือคิดเป็น 270 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป จำนวนไม่เกิน 58.62 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 10.50 ล้านหุ้น เสนอขายต่อกรรมการและผู้บริหารและพนักงานบริษัทฯจำนวนไม่เกิน 0.88 ล้านหุ้น
“การกำหนดราคา IPO ที่ระดับราคา 1.48 บาทต่อหุ้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างยั่นยืน ตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ส่งให้มีการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่ม และผลิตภัณฑ์ของ TPLAS จัดเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้สูง” นายชนะชัย กล่าว
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงผลประกอบการของบริษัทฯในปี 2560 มีรายได้จากการขายรวม 530.96 ล้านบาท กำไรสุทธิ 22.09 ล้านบาท และล่าสุด บริษัทฯมีรายได้รวม งวด 6 เดือนปี 2561 ที่ 273.14 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 12.52 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากดีมานความต้องการใช้ถุงพลาสติกยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯต้องเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตถุงพลาสติกของบริษัทฯ เพื่อรองรับกับดีมานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ด้าน นายธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS เปิดเผยว่า บริษัทฯเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหารประเภท ถุงร้อน ผลิตจากพลาสติกชนิด PP , ถุงขุ่น และ ถุงหูหิ้ว ผลิตจากพลาสติกชนิด HDPE ภายใต้ตรา “หมากรุก” และฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ผลิตจากพลาสติกชนิด PVC ภายใต้ตรา “Vow Wrap” โดยมีสโลแกนคือ “ มาตรฐาน ทนทาน เหนียวแน่น ” และมีนโยบายมุ่งเน้นสร้างการเติบโตโดยการเจาะตลาดท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าฐานเดิมที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อีกทั้ง บริษัทฯมีแผนที่จะเพิ่มกำลังผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด พร้อมๆกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณพร้อม และการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าทั่วไป และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการเก็บรักษาสินค้าและวัตถุดิบให้อยู่ได้นาน หรือห้างสรรพสินค้า และโรงแรมที่มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ นอกจากนี้ ในอนาคตบริษัทฯมีแผนที่จะเพิ่มช่องทางการตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบายเปิดการค้าเสรี (AEC)

“ เรามั่นใจในศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิต ส่งผลให้บริษัทฯมีความพร้อมที่จะมุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารที่ทันสมัย และมีคุณภาพสูง ที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศและภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ” นายธีระชัย กล่าว

สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จำนวน 103.60 ล้านบาท เพื่อลงทุนสินทรัพย์ในการขยายอาคารโรงงานใหม่ พร้อมติดตั้งเครื่องจักรใหม่ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก และปรับปรุงอาคารโรงงานเดิม รวมถึงสำนักงานบริษัทฯ เพื่อเป็นการรองรับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากถุงพลาสติก และการขยายตลาดมากขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทฯมีการผลิตสินค้าขนาดที่ใช้ทั่วไปในตลาดแบบ Mass Production เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกและฟิล์มถนอมอาหารที่มีมากในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันกำลังการผลิตถุงพลาสติก รวม 10,281.60 ตันต่อปี โดยแบ่งเป็น ถุงพลาสติกประมาณ 850 ตันต่อเดือน ในขณะที่กำลังการผลิตฟิล์มถนอมอาหาร (PVC) อยู่ที่ 1,411.20 ตันต่อปี หรือประมาณ 120 ตันต่อเดือน

ด้านนายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า หลังจาก บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต.ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อย โดย บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 194,444,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละไม่เกิน 28 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ซึ่งมีการจัดสรรหุ้นจำนวนไม่เกิน 19,444,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายในครั้งนี้ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มบริษัทฯ โดยวัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้เพื่อชำระเงินกู้ยืมสำหรับการขยายโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วแห่งใหม่ในจังหวัดราชบุรี และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ทั้งนี้ หลังจากที่ สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติให้เสนอขายหุ้น IPO และแบบไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ จะกำหนดวันเสนอขายหุ้น IPO และคาดว่าจะนำ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปีนี้
ทั้งนี้ บมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส และบริษัทย่อย เป็นผู้ผลิต จัดจำหน่าย ส่งออก และนำเข้าบรรจุภัณฑ์แก้ว โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วมากที่สุดในประเทศไทย (อ้างอิงจากรายงาน GlobalData Plc วันที่ 2 ก.พ. 2561) ด้วยกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 3,095 ตันต่อวันในปัจจุบัน เนื่องจากบรรจุภัณฑ์แก้วใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่มีผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศไทยเพียงไม่กี่ราย ธุรกิจของบมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จึงถือเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคง และมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “BGC”) และบริษัทย่อย (“กลุ่มบริษัทฯ”) ผู้ผลิต จัดจำหน่าย ส่งออก และนำเข้าบรรจุภัณฑ์แก้ว กล่าวว่า บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์จะก้าวสู่การเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพในภูมิภาคอาเซียน โดย BGC มีความสามารถเชิงการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วที่หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันแบ่งบรรจุภัณฑ์แก้วที่ผลิตออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ขวดเบียร์ 2.ขวดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ 3.ขวดอาหาร 4.ขวดยาและยาฆ่าแมลง และ 5.ขวดผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เครื่องดื่มที่ให้พลังงาน สุรา ฯลฯ
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 BGC มีบริษัทย่อยที่ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว 6 บริษัท มีเตาหลอมแก้วรวมทั้งสิ้น 10 เตา กำลังการผลิตรวม 3,095 ตันต่อวัน และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วและเตาหลอมแก้วแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรีอีก 1 เตา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ตันต่อวัน รวมเป็นประมาณ 3,495 ตันต่อวัน โดยโรงงานแห่งใหม่ดังกล่าวได้รับการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น นำระบบสื่อสารข้อมูลการผลิตแบบออนไลน์เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสามารถผลิตสินค้าในปริมาณมากเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำและมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนสายการผลิตอีกด้วย

กรรมการผู้จัดการ BGC กล่าวว่า บริษัทฯ มีโรงงานผลิตกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ เช่น จังหวัดปทุมธานี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ส่งผลดีต่อการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ การบริหารต้นทุนโลจิสติกส์ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันบริษัทฯ ถือเป็นผู้จำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วเพียงรายเดียวให้แก่กลุ่มบุญรอด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มเบียร์และโซดารายใหญ่ของประเทศไทย
ทั้งนี้ บริษัทฯ เชื่อว่าภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมด และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีข้อจำกัดในการเข้าแข่งขันสูง (High barrier to entry) เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

นางสาวศิริกุล มังกรกนก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักงานการเงินและบัญชี BGC กล่าวว่าบริษัทฯ มีผลการดำเนินงานที่ดีเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปีก่อนหน้า โดยในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2561) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 270.1 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมีกำไรสุทธิ 121.7 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 122.0 โดยมีสาเหตุหลักจากต้นทุนคงที่ลดลงจากการย้ายฐานการผลิตจากโรงงานระยองที่ปิดตัวลงไปยังเตาที่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานดีขึ้น และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
BGC TPLAS