HotNews: เจาะกลุ่มแบงก์
ท่ามกลางศึกลดค่าฟี
กูรู ชู BBL -KKP-TISCO
กระทบจิ๊บๆ
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 5 เมษายน 2561)--------ท่ามกลางความร้อนระอุของสงครามลดค่าธรรมเนียมผ่านธุรกรรม Online สื่งที่ต้องขบคิดต่อไปคือผลกระทบที่มีต่อกลุ่มแบงก์จะหนักหนาสาหัสขนาดไหน แล้วแบงก์ไหนจะโดนเยอะสุด ขณะที่แบงก์ไหนจะรอด หรือหากโดนผลกระทบก็เพียงแค่หางเลข หรือโดนแบบจิ๊บๆ ....วันนี้ทีมข่าวหุ้นอินไซด์ จึงขอหยิบยกมุมมองของเหล่านักวิเคราะห์ทั่วฟ้าเมืองไทยมาให้เป็นข้อมูล ซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจดังนี้
หยวนต้า ลดน้ำหนักลงทุนกลุ่มแบงก์
สะท้อนรายได้ค่าธรรมเนียมหด
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราห์เปิดเผยว่า 4 เหตุผลที่ปรับลดน้ำหนักกลุ่มเป็น "เท่ากับตลาด" จากเดิม "มากกว่าตลาด" หลังการยกเว้นค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงินกระทบต่อประมาณการ 1) คาด KBANK และ SCB กระทบรุนแรงสุด 2) ขณะที่ TMB เสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้ง 3) แนวโน้มค่าธรรมเนียมประเภทอื่นอาจถูกยกเลิกได้อีก ดังนั้น 4) เราเลือกธนาคารที่ปลอดภัยสูงจากประเด็นเสี่ยงนี้ คือ BBL และ KKP เป็น Top pick ของกลุ่ม จากก่อนหน้า KBANK และ TMB
การยกเว้นค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทาง Mobile banking และ Internet banking ใน 4 รายการหลัก ได้แก่ 1) โอนเงินข้ามเขต 2) โอนเงินต่างธนาคาร 3) เติมเงิน และ 4) การจ่ายบิลสินค้า ตามมาด้วยวานนี้ KBANK ปรับเป้าหมายรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) ปีนี้จากเดิมทรงตัวจากปีก่อนหน้า เป็น -6% ถึง -8% แย่กว่าที่เราเคยประเมินว่าการยกเว้นดังกล่าวจะทำให้รายได้ Non-NII ทรงตัวจากปีก่อนเท่านั้น
ประเด็นดังกล่าว เราคาดว่า KBANK และ SCB ได้รับผลกระทบสูงสุด เพราะมีฐานลูกค้า Mobile banking มากเป็นลำดับที่ 1 และ 2 (fig 5) ขณะที่ KTB และ BBL กระทบปานกลางเพราะมีฐานลูกค้า Mobile banking น้อยกว่า อีกทั้งในปีนี้ BBL จะมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันให้กับพันธมิตร AIA เข้ามาเป็นปีแรก อาจชดเชยผลกระทบได้บางส่วน ส่วน BAY กระทบน้อยที่สุด
ดังนั้นเราปรับลดสมมติฐาน Non-NII ปีนี้ เพื่อสะท้อนประเด็นดังกล่าวใน 5 ธนาคาร ดังนี้ KBANK -12%, SCB -9%, KTB -7%, BBL -4% และ BAY -3% ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ลดลงจากเดิมดังนี้ KBANK -16%, SCB -8%, ส่วน KTB และ BBL -7% ตามด้วย BAY -3% ท้ายที่สุดทำให้กำไรปกติปี 2561 ของกลุ่มธนาคารเติบโตเหลือเพียง 4% จากเดิม 13% (fig 1-4)
สำหรับภาพในระยะกลาง-ยาว เรามองว่า TMB จะได้รับผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขัน หลังธนาคารขนาดใหญ่ยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงิน เพราะก่อนหน้านี้ TMB มีจุดเด่นจากบัญชี "TMB all free" โดยธุรกรรมทางการเงินผ่านบัญชีดังกล่าวไม่เสียค่าธรรมเนียม นอกจากนี้อาจกระทบต่อฐานลูกค้า รวมถึงการ Cross-selling ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เช่น Bancassurance และกองทุนรวม ซึ่งถือเป็นอีกจุดเด่นของ TMB
ด้วยความเสี่ยงดังกล่าว เรามองว่าเป้าหมายการดำเนินงานปี 2561 ของ TMB ส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียม (Net fees and services income) เติบโต 15-20% YoY กลายเป็น Downside Risk ที่ทำให้เราปรับสมมติฐานรายได้ส่วนนี้ในปีนี้จากเดิมที่คาดเติบโต 18% เป็น 9% ส่งผลให้กำไรสุทธิปรับลงเป็น 9.3 พันล้านบาท จากเดิม 1.1 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเหลือเพียง 8% YoY
การยกเว้นค่าธรรมเนียมประเภทอื่นอาจมีตามมาอีก ซึ่งยังไม่รวมในประมาณการ
จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเพื่อชิงฐานลูกค้า รวมถึงนวัตกรรมทางการเงิน FinTech ที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารในระยะกลางถึงยาว ทำให้เรามองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารอาจประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมอื่นๆ ตามมาได้อีก อาทิเช่น 1) การถอนเงินข้ามเขตของธนาคารเดียวกัน 2) ค่าธรรมเนียม ATM รายปี 3) ค่าธรรมเนียมสิ่งพิมพ์จากระบบ และ 4) ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ (Loan related fee) ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังไม่รวมไว้ในประมาณการของเรา ณ ปัจจุบัน
เรามองว่าธนาคารขนาดเล็กดูจะปลอดภัยในเกมส์การแข่งขันนี้
เรามองว่าธนาคารขนาดเล็กได้รับผลกระทบจำกัดต่อการยกเว้นค่าธรรมเนียม รวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมประเภทอื่นที่อาจตามมาภายหลัง เนื่องจากมีฐานรายได้ธุรกรรมทางการเงินต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก ประกอบกับมีฐานลูกค้า mobile banking ไม่มาก
ลดน้ำหนักกลุ่มฯ เป็น "เท่ากับตลาด" เลือก Top pick เป็น BBL และ KKP
ด้วยปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ซึ่งถือเป็นรายได้ที่มีต้นทุนและความเสี่ยงต่ำของธนาคารขนาดใหญ่ และสะท้อนภาพการแข่งขันระหว่างธนาคารขนาดใหญ่จะเข้มข้นมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของกำไรในปีนี้ลดลงเหลือ 4% จากเดิม 13% ทำให้เราปรับลดน้ำหนักกลุ่มลงเป็น "เท่ากับตลาด" พร้อมปรับหุ้น Top Pick เป็น BBL และ KKP ที่ได้รับผลกระทบที่จำกัดจากประเด็นดังกล่าว โดยราคาหุ้น ณ ปัจจุบันของ BBL ซื้อขาย P/BV61 ต่ำเพียง 0.8 เท่า
เทพหุ้นฟินันเซียฯหั่นกำไรกลุ่มแบงก์ปีนี้ลง4%
หลังแบงก์ยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมผ่าน Mobile Banking
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เราปรับลดกำไรสุทธิปี 2018 ของกลุ่มลง 4% เป็น 1.96 แสนลบ. (+6.5% Y-Y) จากการปรับลดรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 5-8% เพื่อสะท้อนการยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมผ่าน Mobile Banking โดยคาดว่า KBANK จะได้รับผลกระทบมากสุด จากส่วนแบ่งการตลาด Mobile Banking ที่สูงสุด ส่วน TMB TCAP และ TISCO ได้รับผลกระทบไม่มีนัยสำคัญ แนวโน้มกำไร 1Q18 ของทั้งกลุ่ม คาดว่ายังไม่ได้รับผลกระทบ เราคาดกำไร +22% Q-Q แต่ลดลง 2.5% Y-Y ที่จะโตดีทั้ง Q-Q และ Y-Y คือ BBL, KBANK, BAY, TMB, TISCO
เราปรับน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารจาก Overweight เป็น Neutral เลือก TISCO เป็น Top Pick ราคาเป้าหมาย 98 บาท (ปันผล 5.6% XD 27 เม.ย.)
กูรูกสิกรไทย ลดประมาณการกำไรสุทธิปี 61-63
กลุ่มธนาคารฯ ลง 4-6%
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย ระบุว่า Banking Sector (มากกว่าตลาด) เราปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-2563 ของกลุ่มธนาคารลง 4-6% ตามการปรับลดประมาณการอัตราเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลงเป็น 2%/6%/8% จาก 9%/9%/8% เพื่อสะท้อนการประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิตอลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารเป็น "มากกว่าตลาด" ตามเดิม แม้มีปัจจัยลบจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงและการตั้งสำรองที่สูงเพื่อเตรียมความพร้อมใช้งานมาตรฐานบัญชี IFRS9 เนื่องจาก 1) สภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่มีแนวโน้มดีขึ้น (การท่องเที่ยว, การส่งออก, การลงทุนของภาครัฐ, CAPU, MPI) 2) กำไรสุทธิที่คาดฟื้นตัวขึ้น และ 3) มูลค่าที่ถูกและเงินปันผลที่สูงโดยระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3% ในส่วนหุ้นเด่นในกลุ่มฯ ของเรายังคงเป็น BBL และ KTB จากภาพเศรษฐกิจมหภาคที่ดีขึ้นและผลกระทบค่าฟีที่น้อยกว่า ขณะที่เราเลือก TISCO เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มฯ แทน TMB จากแนวโน้มกำไรสุทธิที่มีความแน่นอนมากกว่าจากการไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยจากการลดค่าธรรมเนียม เงินปันผลที่สูง คุณภาพสินทรัพย์ที่ดี และสำรองที่เพียงพอแล้วสำหรับ IFRS9
เซียนหุ้นทิสโก้ หั่นมูลค่าที่เหมาะสมกลุ่มแบงก์ลง 5-14%
สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า เราปรับประมาณการของกลุ่มธนาคารลง 3-8% และมูลค่าที่เหมาะสมลง 5-14% เพื่อสะท้อนผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียม ในขณะที่ SETBANK ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการลดค่าธรรมเนียม แต่เราเชื่อว่าราคาหุ้นจะยังอ่อนแอจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจภายในประเทศ, การตั้งสำรอง IFRS9 และกระบวนการ Digital Transformation โดยเราเลือก BBL เป็นหุ้นแนะนำ โดยปรับคำแนะนำของ KBANK ลงเป็น "ถือ" และ KKP เป็น "ซื้อ"
การยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของ SCB จะส่งผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมของ SCB และธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ โดยการชำระเงินส่วนใหญ่มาจากธุรกรรมผ่านมือถือและอินเทอร์เน็ต ซึ่ง KBANK, SCB และธนาคารใหญ่อื่นๆ จะได้รับผลกระทบก่อนจากฐานลูกค้าที่ใหญ่ และจะกระทบต่อ BBL และ KTB ในระยะต่อมา แม้ว่าในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อตัวเอง แต่เรามองว่าในระยะยาวจะทำให้ธนาคารที่ปรับตัวกลายเป็นผู้อยู่รอดในอุตสาหกรรม และจะช่วยประหยัดค่าจัดการเงินสด, การปรับลดพนักงานของสาขา ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากการลงทุนขนาดใหญ่ใน Big Data/Machine Learning และ AI จะเป็นการสร้าง S-Curve ใหม่ในอนาคต และชิงส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มในช่วง 3 - 5 ปีข้างหน้า
ความปั่นป่วนของอุตสาหกรรมยังไม่จบใน 1H18
แม้ว่าการยกเว้นค่าธรรมเนียมจะเริ่มสะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นของ SETBANK แล้ว แต่เราปรับประมาณการปี 2018-20F ลง และเชื่อว่าจะยังมีดาวน์ไซด์จาก 1) การฟื้นตัวที่ช้าของเศรษฐกิจทำให้สินเชื่อเพื่อการบริโภค และ SME ฟื้นตัวช้า 2) การตั้งสำรอง IFRS9 สำหรับ TDR/SML 3) ต้นทุน/รายได้ที่เพิ่มขึ้น & NIM ที่โดนกดดันจาก Digital Transformation และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น 4) กระแสเงินทุนที่ไหลออกโดยเฉพาะในธนาคารขนาดใหญ่ เราปรับคำแนะนำของ KBANK ลงจาก "ซื้อ" เป็น "ถือ" (มีความเสี่ยงสูงสุดในกลุ่มธนาคาร) และเราชอบและแนะนำให้ "ซื้อ" BBL มูลค่าที่เหมาะสม 222 บาท ในฐานะหุ้นเชิงรับ (IFRS9 และการเป็นหุ้นส่วนกับ AIA, การส่งออกที่ฟื้นตัว, การปลดล็อคข้อจำกัดของ NVDR และเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น) และเราปรับคำแนะนำของ KKP ลงเป็น "ถือ" จาก NIM ที่ปรับตัวลดลงช้ากว่าคาด และมีเงินปันผลที่น่าสนใจการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมและความเสี่ยง
เราประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของกลุ่มธนาคารด้วย GGM โดยใช้ PBV เป็นตัวคูณในการหามูลค่าที่เหมาะสม โดยมีความเสี่ยงในเชิงบวกคือ 1) การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 2) ความเสี่ยงทางการเมือง 3) ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน และ 4) กฎระเบียบของกลุ่มที่เข้มงวดขึ้น
เคจีไอชี้ ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ลดลง 10% จะฉุดให้กำไรของ KBANK ลดลง 2.4% และของธนาคารอื่นลดลง 1-1.5%
บทวิเคราะห์ บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ(ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ความพยายามที่จะเร่งให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้ช่องทาง digital banking เพิ่มขึ้น และเพิ่มฐานลูกค้า ทำให้สองธนาคารใหญ่ (KBANK และ SCB) ต้องรุกออกแคมเปญ "โอนเงินฟรีผ่านช่องทาง digital " ซึ่งกลยุทธ์นี้จะพลิกโฉมหน้าการแข่งขันของธุรกิจธนาคาร และแสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ต่อไป
ที่จะต้องมีการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงเพื่อเพิ่มความสามารถใจการทำกำไรในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ธนาคารทุกแห่งจะถูกกระทบหมด เรายังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารที่ overweightและเลือก BBL เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มเนื่องจากเราได้รวมผลจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงบางส่วนไว้ในประมาณการกำไรปีนี้แล้ว
การที่ KBANK และ SCB ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม digital banking ทำให้ธนาคารอื่นๆ ยกเว้นค่าธรรมเนียมตาม และอาจจะทำให้สภาวะการแข่งขันของธุรกิจธนาคารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเรามองว่า 1.) ธนาคารใหญ่ต่างพยายามใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง KBANK และ SCB 2.) ธนาคารพยายามบีบให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำธุรกรรมdigital banking มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานในอนาคต เราคาดว่าธนาคาต่างๆ อาจจะออกกลยุทธ์ใหม่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวในด้านการกำหนดตำแหน่งในตลาดของธุรกรรม digital banking ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลกระทบด้านลบต่อ TMB มากที่สุด
บทวิเคราะห์ระบุว่า ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมก้อนใหญ่สุดของ KBANK ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 31% ของรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการทั้งหมดสุทธิ (หรือประมาณ 7% ของรายได้จากการดำเนินงาน) สูงกว่าของ BBL และ KTB ซึ่งอยู่ที่ 20%, ของ SCB ที่ 15% และของ TMB ที่ 12% (ดูรายละเอียดใน figure 1) ค่าธรรมเนียมการโอนเงินเป็นแค่ส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ได้เปิดเผยไส้ใน โดยค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมประกอบด้วยค่าธรรมเนียม ATM, การชำระค่าสินค้าและบริการ, การโอนเงิน ฯลฯ จากข้อมูลที่ได้จาก BBL ธุรกรรม digital bankingของธนาคารไม่ค่อยคึกคัก และรายได้จากค่าธรรมเนียมประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนแค่ไม่ถึง 10% ของธุรกรรม digital ทั้งหมดเท่านั้น เช่นเดียวกับ KTB
แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมประเภทนี้ของ KBANK น่าจะมีปริมาณมากเนื่องจากธุรกรรม digital banking น่าจะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณครึ่งหนึ่งของธุรกรรมทั้งหมดของธนาคาร เราคาดว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านธุรกรรม digital จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20-30% ของค่าธรรมเนียมธุรกรรมทั้งหมด ซึ่งรายได้ก้อนนี้จะถูกกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเพิ่งประกาศออกมา
"เราได้ทำการวิเคราะห์ sensitivity ของกำไรสุทธิจากการที่รายได้ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมลดลง และพบว่ารายได้ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ลดลงทุกๆ 10% จะฉุดให้กำไรสุทธิของ KBANK ลดลง 2.4%, ของ KTB ลดลง 1.5%, ของ BBL ลดลง 1.2%, ของ TMB ลดลง 1.1% และของ SCB ลดลง 0.8% (ภายใต้ข้อสมมติว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคงที่) ทั้งนี้ การที่ SCB รุกเปิด platform
ด้าน digital banking ในขณะที่ยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอน และต้องทุ่มงบการตลาดอย่างหนักเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดด้าน digital banking ก็อาจจะกระทบกำไรในระยะสั้นได้ "บทวิเคราะห์ระบุว่า
เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงเป็นไปตามที่ธนาคารคาดไว้อยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงคาดว่า non-NII ของ KBANK ในปีนี้จะโตแค่ 2% (เมื่อเทียบกับ SCB ที่ 6%, BBL ที่ 8%, KTB ที่ 6%, และ TMBที่ 10%) ลดลงจาก +6.5% ในปี 2560 ซึ่งที่ระดับนีน้ เรายังคงประมาณการของทุกธนาคารเอาไว้เท่าเดิม ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อกำไรของธนาคารจะมาจากพฤติกรรมของลูกค้า และการย้ายไปทำธุรกรรม digital
สงครามลดค่าธรรมเนียมธุรกิจ Online พ่นพิษ ยังกดดันหุ้นแบงก์/CPALL, FSMART โดนหางเลข
บทวิเคราะห์ บมจ. หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า กระแสสงครามการแข่งขันยกเลิกค่าธรรมเนียมบริการ โอนเงิน, จ่ายบิลสินค้า, เติมเงินมือถือ ผ่านระบบ Online หรือ Application ของธนาคารพาณิชย์รุนแรงและเกิดขึ้นรวดเร็ว แม้ TMB ได้เป็นผู้นำร่องไปก่อนตั้งแต่ปลายปี 2560 แต่ยังไม่มีคู่แข่งผู้ใดลงมาเล่น แต่ล่าสุดสัปดาห์นี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ประกาศสงครามฟรีค่าธรรมเนียมที่ชัดเจนขึ้น คือ SCB ประกาศใช้ 26 มี.ค.2561, KBANK 28 มี.ค., KTB 29 มี.ค. และ BBL 1 เม.ย. เป็นต้น
การไม่คิดค่าธรรมเนียมครั้งนี้ เป็นการเร่งให้เกิดธุรกรรมโอนเงิน Online มาแทนระบบ Oflline (เคาน์เตอร์, ตู้เติมเงิน) เร็วขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้หากพิจารณามูลค่าการชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินและ ช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2559 388 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.7% จากปี 2558 ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าเป็นการโอนเงินข้ามธ.พ. ผ่านอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมกัน 38% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 24.9% และคาดว่าจะขึ้นในปีถัดๆ ไป
ขณะที่กระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคิดเป็น 5%ของรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งรายได้ค่าธรรมเนียมคิดเป็น 30% ของรายได้รับสุทธิ(รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ บวกกับ ค่าธรรมเนียม) ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมที่เหลือส่วนใหญ่ของธนาคาร ได้แก่ กำไรขาดทุนจากเงินลงทุน กำไรขาดทุนจาก FX ที่ปรึกษาการเงิน การให้สินเชื่อ และการขายประกัน เป็นต้น ยังคงมีแนวโน้มขยายตัว แต่การลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะบั่นทอนการเติบโตของค่าธรรมเนียมโดยรวมและอาจจะกดดันการเติบโตระยะยาว
ผลกระทบของการลดค่าธรรมเนียมธุรกรรม Online มิได้กระทบเฉพาะธนาคารเท่านั้น แต่กระทบจากผู้ให้บริการรับชำรำเงินค่าสินค้าและบริการ ผ่าน counter service เช่น ผู้ให้บริการค้าปลีก CPALL, BIGC, รวมถึง FSMART ซึ่งเป็นผู้บริการให้บัตรเติมเงินและปัจจุบันยังให้บริการโอนเงินหรือ banking agent รายแรกของประเทศ โดยได้รับการแต่งตั้งจาก KBANK, KTB, BBL, SCB ซึ่งเน้นลูกค้าที่มิใช่คนทำงาน อาจจะแตกต่างจากลูกค้าธนาคารพาณิชย์ แต่เชื่อว่าน่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากรณีนี้ รวมถึงการที่ธนาคารแหงประเทศไทยต้องการให้ non bank สามารถให้บริการธุรกรรม banking agent ได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย หากได้รับการตอบรับจากธนาคารพาณิชย์ ระยะสั้นแนะนำชะลอการลงทุน FSMART
CPALL ปัจจุบันให้บริการ counter servce จึงน่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ด้วย โดยปัจจุบันดำเนินงานผ่านบริษัทย่อย Counter Services (CPALL ถือหุ้น 99.99%) แม้สัดส่วนรายได้จะอยู่ที่เพียง 1% ของรายได้รวม แต่กำไรสุทธิสูงถึงกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี หรือราว 5% ของกำไรสุทธิ CPALL ประกอบกับจำนวนสาขาในประเทศกว่า 1.03 หมื่นแห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในกรณีหาก CPALL ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Banking Agent น่าจะเป็นส่วนช่วยหนุนกำไร CPALL เพิ่มขึ้นได้เฉลี่ยปีละ 1%
นอกจากนี้ การที่ CPALL ขายหุ้น MAKRO เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ MAKRO และเป็นไปได้ว่า CPALL จะขายหุ้น MAKRO ออกมาอีก จนมีสภาพคล่องไม่ต่ำกว่า 15% (ปัจจุบัน 6%) โดยเงินสดที่ได้จากการขายหุ้น MAKRO ทาง CPALL จะนำไปชำระหนี้สิน ทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง แต่ก็อาจกระทบต่อสัดส่วนกำไรสุทธิที่ได้จาก MAKRO ก็จะลดลงเช่นกัน
นักวิเคราะห์ ASPS อยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการฯ แม้มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มกำไรสุทธิ และมูลค่าหุ้นขึ้น แต่คาดว่ายังต่ำกว่าราคาตลาด จึงปรับลดคำแนะนำลงเป็น switch
ขุนคลังแจงแบงก์ยอมลดค่าฟีเพื่อแข่งนอนแบงก์
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการเงินของสถาบันการเงินหลายแห่งช่วงนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่เดินหน้าต่อมาจากนโยบาย National e-Payment ของรัฐ ที่มีเรื่องพร้อมเพย์ขึ้นมา เพื่อให้ใช้ ID อะไรก็ได้ให้สามารถโอนเงินได้ โดยเดิมใช้คำว่า AnyID แต่ตอนหลังมาเปลี่ยนเป็นพร้อมเพย์ ซึ่งในระยะแรกนำร่องแค่เลขบัตรประจำตัวประชาชน กับหมายเลขโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
ทั้งนี้ เชื่อว่าจะหนุนธุรกรรมพร้อมเพย์ให้ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะผูกเบอร์บัญชีเข้าแพลตฟอร์มพร้อมเพย์นี้
ระยะข้างหน้า มีแผนจะเชื่้อมโยงระบบ e-Payment เข้ากับประเทศอื่น ๆด้วย เพื่อให้สามารถขยายบริการได้กว้างออกไป โดยปัจจุบันที่มีการหารือคืบหน้ามากสุด ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์
----จบ---