Today’s NEWS FEED

News Feed

SCGC เดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โชว์ศักยภาพด้านนวัตกรรมและ เทคโนโลยีดิจิทัล ต่อยอดความเชี่ยวชาญสู่ธุรกิจใหม่ พร้อมเตรียมเดินเครื่องโรงงาน LSP เวียดนาม

109

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(15 กรกฎาคม 2568)---------เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC นำโดยนายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการและนวัตกรรม และนายชาตรี เอี่ยมโสภณา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์ เผยถึง การเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน แม้สถานการณ์ปิโตรเคมียังคงผันผวนและแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง เชื่อมั่น SCGC มีความพร้อมและมีศักยภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อรับตลาดปิโตรเคมีในภูมิภาคช่วงฟื้นตัวในอนาคต โดยได้ปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ เน้นการบริหารจัดการกระแสเงินสดเพื่อเสริมความเข้มแข็งทางการเงินอย่างต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอกย้ำจุดแข็งสำคัญ อาทิ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระดับสากลเพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง (HVA : High Value Added Products & Services) และพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การขยายและต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ รวมทั้งการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต (By - product) มาสร้างโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเผยถึงความคืบหน้าของโรงงานลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ ประเทศเวียดนาม (LSP) ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อกลับมาดำเนินการเชิงพาณิชย์ คาดว่าประมาณปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน 2568 โดยบริษัทฯ จะยังคงติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC เผยว่า “สถานการณ์ปิโตรเคมีในครึ่งปีหลัง ยังคงมีความผันผวนและแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ เช่น ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนเรื่องภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ (US Tariff) การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจาก OPEC+ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อุปสงค์ (Demand) ยังคงชะลอตัว ในขณะที่อุปทาน (Supply) ยังคงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการหยุดผลิตของโรงงานที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำและต้นทุนสูง ซึ่งช่วยชดเชยส่วนของอุปทานที่สูงขึ้น ดังนั้น คาดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และจะอยู่ในภาวะทรงตัวอีกระยะ โดยพิจารณาได้จากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ (Spread) ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2568”

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงในรอบนี้จะรุนแรงและยาวนานกว่าปกติ แต่ SCGC พร้อมรับมือกับความท้าทายและความผันผวนที่เกิดขึ้น โดยมีกลยุทธ์ระยะสั้น ได้แก่ 1) การลดต้นทุนวัตถุดิบ ลดเงินทุนหมุนเวียน และลดค่าใช้จ่ายด้วย Digital และ AI 2) เร่งพัฒนากลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือ HVA (High Value Added Products & Services ) รวมไปถึงการพัฒนาพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) 3) เร่งขยายธุรกิจ Service Solutions ครบวงจร และ 4) การขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจาก PVC (PVC Fabrication) สำหรับกลยุทธ์ระยะยาว ได้แก่ การเพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทนที่โรงงาน LSP ประเทศเวียดนาม (โครงการ LSPE)” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC กล่าว

โดย SCGC ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอกย้ำจุดแข็งสำคัญในด้านต่าง ๆ อาทิ

1) กระบวนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระดับสากล (Innovation Management) เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Products & Services หรือ HVA) รวมถึงพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมครบวงจร i2P Center” (Ideas to Products) โดยมีเครือข่ายนวัตกรรมจากทั่วโลก เพื่อช่วยลูกค้า เจ้าของแบรนด์ หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งพันธมิตรทางธุรกิจ ในการค้นหาไอเดียและเทรนด์ต่าง ๆ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบสินค้า การทดสอบขึ้นรูป ฯลฯ ซึ่งช่วยให้พัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาโครงการด้านนวัตกรรมกว่า 100 โครงการ

2) การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI (Artificial Intelligence) และระบบ Robotics & Automation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) และยกระดับความปลอดภัยในโรงงาน นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยคาดการณ์อนาคตของเครื่องจักรในกระบวนการผลิตได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับเครื่องจักรและกระบวนการผลิตเฉพาะของแต่ละโรงงาน เช่น ระบบ Robotics & Automation ของโรงงานนวพลาสติกอุตสาหกรรม ซึ่งผลิตท่อและข้อต่อ PVC รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจาก PVC โดยมีสัดส่วนการนำหุ่นยนต์มาใช้ภายในโรงงาน (Robot Density) ระดับ Best in Class ของโลก

นอกจากนั้น ยังได้ต่อยอดความเชี่ยวชาญสู่ธุรกิจ Industrial Service Solutions พัฒนาโซลูชัน “DRS by REPCO NEX” (Digital Reliability Service Solutions) ซึ่งช่วยยกระดับการดูแลเครื่องจักรและเพิ่มความสามารถในการผลิต (Productivity) โดยให้บริการลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซ อาหารเครื่องดื่ม และสาธารณูปโภค เป็นต้น
และ 3) การนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต (By - product) มาต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น การนำอะเซทิลีนที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตของโรงงานโอเลฟินส์ ไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอะเซทิลีนแบล็ก (Acetylene Black) ซึ่งเป็นส่วนประกอบนำไฟฟ้าในการผลิตขั้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตของโรงงานพอลิโอเลฟินส์ ไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสาร Phase Change Material ซึ่งนำไปพัฒนาใช้ในโซลูชันด้านการควบคุมอุณหภูมิและประหยัดพลังงานสำหรับธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อาคารสำนักงาน และ data center ภายใต้แบรนด์ “CHILLOX” (ชิลล็อกซ์) เป็นต้น

“สำหรับความคืบหน้าของโรงงานลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ ประเทศเวียดนาม (LSP) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อกลับมาดำเนินการเชิงพาณิชย์ คาดว่าประมาณปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน 2568 โดยบริษัทฯ จะยังคงติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC กล่าว

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

สัมผัสต้าน By : แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เช้าวันนี้ พบหุ้นแบงก์ ถูกแรงขาย หลัง ครม.ไม่มี วาระพิจารณาแต่งตั้ง ผู้ว่าแบงก์ชาต ฝั่งตลาด...

มัลติมีเดีย

CRD ครึ่งปีหลัง68 เร่งเครื่องสร้างผลงาน ชูBacklog กว่า700 ลบ. #งานmaiforum2025

CRD ครึ่งปีหลัง68 เร่งเครื่องสร้างผลงาน ชูBacklog กว่า700 ลบ. #งานmaiforum2025

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้