สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (11 กรกฎาคม 2568 )-----• เนื้อหมูและเครื่องใน เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรอันดับต้นๆที่ถูกนำมาใช้ต่อรองเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังจากสหรัฐฯประกาศภาษีนำเข้าตอบโต้ โดยไทยโดน 36% มีผลบังคับใช้ 1 ส.ค. 2568
• หมูสหรัฐฯมีการผลิตในขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการแข่งขันสูง ทำให้สหรัฐฯขายหมูได้ในราคาต่ำเฉลี่ย 1.7 ดอลลาร์ฯ ต่อ กก. ขณะที่ราคาขายหมูไทยสูงเฉลี่ยที่ 2.3 ดอลลาร์ฯ ต่อ กก.
• หากไทยเปิดให้หมูสหรัฐฯราคาถูกเข้ามาตีตลาด จะกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทานหมูไทย โดยเฉพาะเกษตรกรที่จะถูกบีบให้เลิกกิจการมากขึ้น รวมถึงมูลค่าตลาดเนื้อหมูที่อาจสูญเสียไปราว 112,330 ล้านบาท
เนื้อหมูและเครื่องใน อาจตกเป็นหนึ่งในข้อเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนภาษีทรัมป์ที่ไทยโดน 36%
• เนื้อหมูและเครื่องใน เป็นหนึ่งในรายการสินค้าเกษตรอันดับต้นๆที่ถูกนำมาใช้ต่อรองเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังจากในวันที่ 7 ก.ค. 2568 สหรัฐฯได้ประกาศใช้อัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ฉบับใหม่ โดยไทยโดนเก็บ 36% มีผลบังคับใช้ 1 ส.ค. 2568
• สหรัฐฯมีแนวโน้มกดดันให้ไทยนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในที่ Made in USA เนื่องจากเป็นรายการสินค้าเกษตรเข้าข่ายที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ได้ประเมินไว้ให้ไทยต้องเปิดตลาดและเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ด้วยเหตุที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากสหรัฐฯสูง ในขณะที่ไทยนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯในสัดส่วนน้อย
ศักยภาพการผลิตหมูไทยแข่งขันกับหมูสหรัฐฯได้ยากในทุกมิติ
หมูสหรัฐฯมีความโดดเด่นในด้านการผลิตระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าไทย
ราคาขายหมูไทยแพงกว่าหมูสหรัฐฯกว่า 1.3 เท่า
ศักยภาพหมูสหรัฐฯที่แข็งแกร่งและมีต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้สหรัฐฯสามารถขายหมูได้ในราคาต่ำ (รูปที่ 2) โดยในช่วงปี 2563-2567 ราคาขายหมูสหรัฐฯเฉลี่ยที่ 1.7 ดอลลาร์ฯต่อกก. ขณะที่ราคาขายหมูไทยเฉลี่ยที่ 2.3 ดอลลาร์ฯต่อกก.
หากไทยยอมเปิดตลาดให้หมูสหรัฐฯเข้ามาตีตลาด จะส่งผลกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทานหมูไทย
เนื้อหมูและเครื่องในราคาถูกจากสหรัฐฯที่จะทะลักเข้ามายังไทย จะกระทบต่ออุตสาหกรรมหมูไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เป็นหลัก ซึ่งแต่ละผู้เล่นต่างมีความเชื่อมโยงและจะกระทบต่อเนื่องกันเป็น Domino Effect ดังนี้
• เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จำนวน 1.49 แสนราย ที่เกือบทั้งหมดเป็นรายย่อยกว่า 97% จะได้รับผลกระทบโดยตรงให้ว่างงานและขาดรายได้ ซ้ำเติมเดิมที่ผู้เลี้ยงลดลงไปแล้วกว่า 21% ในช่วงปี 2564-2567 จากภาวะขาดทุนสะสมจนต้องเลิกกิจการไป
• เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างรำสด ข้าวโพด ปลายข้าว (วัตถุดิบหลักในประเทศที่ใช้เลี้ยงหมู) รวมราว 5 ล้านครัวเรือน จะมีผลผลิตเหลือ และกดดันราคาให้ตกต่ำ กระทบรายได้เกษตรกรกลุ่มนี้ให้ลดลง
• โรงชำแหละ อาจถูกตัดวงจรขั้นตอนนี้ไป จนต้องเลิกกิจการในที่สุด
• เขียงหมู ถูกกดดันรายได้บางส่วนจากเนื้อหมูและเครื่องในหมูสหรัฐฯที่ทำการแยกชิ้นส่วนสำเร็จพร้อมบริโภคมาบ้างแล้ว
• มูลค่าตลาดเนื้อหมูไทยคาดสูญเสียเบื้องต้นราว 112,330 ล้านบาท ในกรณีที่ไทยเปิดตลาดให้เนื้อหมูสหรัฐฯเข้ามาอย่างเสรี 100% ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวยังไม่นับรวมความสูญเสียในกรณีที่ไทยนำเข้าเครื่องในหมูด้วย
• ผู้บริโภคและร้านอาหาร แม้จะสามารถซื้อเนื้อหมูและเครื่องในหมูสหรัฐฯได้ในราคาถูก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตอาหารได้ แต่ในระยะยาว สารเร่งเนื้อแดง ในหมูสหรัฐฯ จะทำให้ผู้บริโภคอาจเกิดอาการข้างเคียงต่อสุขภาพได้หลากหลาย