สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(7 กรกฎาคม 2568)-------เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวสะท้อนผ่าน PMI และแรงงาน ส่วนเงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้มีความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าที่อาจปรับขึ้นเพราะภาษีนำเข้าแต่ถึงกระนั้นหากไปพิจารณาที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) ในรอบล่าสุดพบว่ามิได้เร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าราคาน้ำมันที่ปรับลงจึงต้องติดตามพัฒนาการของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเกิดความกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลาง แม้ล่าสุดจะไม่มีความรุนแรงแล้วแต่ก็มิสามารถวางใจได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบจะมิได้เร่งตัวแรงมากด้วยอุปสงค์ที่ไม่แข็งแกร่ง ด้านทิศทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตลดลงในครึ่งปีหลังตามการส่งออกที่เร่งขยายตัวไปก่อนหน้า ประกอบกับการท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ 2Q25 แต่อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยอาจมี Downside Risk ที่ไม่มากด้วย Valuation ที่ไม่แพง ล่าสุดลงมาซื้อขายในช่วง 1xPBV เป็นระดับที่ในอดีตเมื่อลงมาทดสอบมักเป็นแนวรับที่ดีแต่อย่างไรก็ตาม Upside ก็อาจมิได้สูงมาก จากปัจจัยพื้นฐานที่ยังไม่แข็งแกร่ง ในเชิงกลยุทธ์จึงเน้นเลือกเป็นรายตัว Top Pick AMATA BDMS MINT OSP KTB KTC
• ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่ามีลักษณะชะลอตัวลงจากหลายๆตัวเลขไม่ว่าจะเป็นดัชนี PMI ภาคบริการและผลิตจากสถาบัน ISM ที่เข้าสู่โซนต่ำกว่า 50 สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่เริ่มขยับขึ้นมาทดสอบระดับ 4.2% จากก่อนหน้าที่ 3.5 – 3.7% ด้านทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) แม้ในช่วงแรกจะมีความกังวลเกี่ยวกับภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับหลายๆประเทศ อย่างไรก็ตามพบว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ มิได้เร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าราคาน้ำมันดิบปรับลง ซึ่งเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนล่าสุดพบว่าราคาพลังงานลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนราว 12% เมื่อผสานกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทำให้เปิดโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะใช้มาตรการผ่อนคลาย สอดคล้องกับทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
• ในช่วงที่ผ่านมาอาจมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน อย่างไรก็ตามหากไปดูสถิติที่ผ่านมาระหว่างตลาดหุ้นกับสงครามจะพบว่าเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งแต่ก็มักจะเป็นเพียงระยะสั้น อย่างกรณีล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านก็เกิดเพียงระยะสั้นไม่กี่วันและสุดท้ายก็เกิดการเจรจาหยุดยิงหรือแม้กระทั่งกรณีของยูเครน - รัสเซีย ที่ค่อนข้างเป็นกรณีน่ากังวลแต่ท้ายที่สุดก็ผ่านไปได้ดีและตลาดก็จะไปให้น้ำหนักกับปัจจัยอื่นๆมากกว่า อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณียืดเยื้อก็เชื่อว่าจะกระทบกับราคาน้ำมันไม่มากนัก (ไม่ทำให้น้ำมันปรับขึ้นแรงอย่างมีนัยยะ) เพราะว่าอุปสงค์น้ำมันมิได้แข็งแกร่ง หากดูปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจากจีน EIA จะพบว่าไม่ขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2020 และมีคาดการณ์จากทาง EIA ว่าในช่วง 25 – 26 ภาวะตลาดน้ำมันจะเข้าสู่อุปทานส่วนเกินและในขณะเดียวกันจะพบว่าอุปสงค์ทั่วโลกก็อาจมิได้แข็งแกร่งเท่าใดนัก สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ย่ำแย่
• ปัจจัยในประเทศมีประเด็นจากหนุนจากเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับไทย ข้อมูลล่าสุดนั้นพบว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้เดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อพูดคุยกับสหรัฐฯ ทั้งนี้หากสามารถเจรจาการค้าได้และกดภาษีนำเข้าไทยให้ลงมาเหลือในระดับ 10-15% ระดับดังกล่าวถือว่าสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งประเทศไทยเองก็ถือว่าพึ่งพิงการส่งออกไปสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง (อันดับแรก)
• ทิศทางเศรษฐกิจไทยอาจมิได้แข็งแกร่งมากนัก ในช่วง 1Q25 ได้แรงหนุนจากการส่งออกเพราะเร่งนำเข้าของผู้ประกอบการสหรัฐฯก่อนจะเผชิญกับภาษีนำเข้าในอัตราที่สูง แต่หากพิจารณาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ จะพบว่าค่อนข้างนิ่งและในครึ่งปีหลังธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (%) จะลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก
• แม้ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะมิได้เติบโตแข็งแกร่งมากนักประกอบกับยังมีปัจจัยกดดันโดยเฉพาะการเมือง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า Downside Risk หุ้นไทยอาจไม่มากนัก เนื่องด้วยระดับ Valuation ที่ไม่แพง SET INDEX ลงมาซื้อขายในระดับ 1xPBV ในอดีตที่ผ่านมาการลงมาที่ 1xPBV เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤต Hamburger หลังจากนั้นมักจะเห็นการฟื้นตัวตามมาอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้ปัจจัยพื้นฐานไทยปัจจุบันมิได้แข็งแกร่งเท่าในอดีตที่ผ่านมาแต่ก็เชื่อว่าความเสี่ยงขาลงเริ่มจำกัด