สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(28 พฤษภาคม 2568)-----บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)DMT แจ้งตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทยทราบว่า บริษัทฯ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อใช้สิทธิและปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานทางหลวงในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง - ดอนเมือง (และทีแก้ไขเพิ่มเติม) ("สัญญาสัมปทาน') ต่อกรมทางหลวงเพื่อให้กรมทางหลวงแก้ไขผลเสียต่อฐานะทางการเงินของบริษัทฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. วันที่ยื่นคำเสนอข้อพิพาท:
วันที่ 27 พฤษภาคม 2568
2. ข้อมูลคู่กรณี:
ผู้เรียกร้อง: บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)
ผู้คัดค้าน: กรมทางหลวง
3. สรุปสาระสำคัญของข้อพิพาท:
บริษัทฯ เป็นผู้รับสัมปทานทางหลวงในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 (ถนนวิภาวดีรังสิต) จากกรมทางหลวง รวม 2 ตอน ได้แก่ สัมปทานทางหลวงตอนดินแดง - ดอนเมือง และสัมปทานทางหลวงตอนดอนเมือง - อนุสรณ์สถาน โดยระหว่างอายสัญญาสัมปทานในปี 2563 ถึงปี 2565 ปรากฎการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร อันเป็นเหตุสุดวิสัยตามสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้บริมาณการจราจรที่ใช้ทางหลวงสัมปทานทางหลวงเดิมและทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายทางด้านทิศเหนือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ปฏิปฏิบัติตามข้อกำหนดของสัญญาสัมปทานโดยแจ้งเหตุสุดวิสัยให้กรมทางหลวงทราบ
ต่อมา บริษัทฯ ซึ่งได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยข้างต้นมีหนังสือขอให้กรมทางหลวงแก้ไขผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ตามหน้าที่ของบริษัทฯ และกรมทางหลวงซึ่งกำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน จากนั้น บริษัทฯ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระเพื่อประเมินการสูญเสียปริมาณการจราจรและรายได้ค่าผ่านทางของทางหลวงสัมปทานทั้งสองตอน ในระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ระยะเวลาประมาณ 2 ปี 6 เดือน อันเป็นช่วงระยะเวลาที่มีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น ซึ่งที่ปรึกษาอิสระได้พิจารณาแล้วประเมินว่าบริษัทฯ ได้สูญเสียปริมาณจราจรของทางหลวงสัมปทานทั้งสองตอนรวม 63,804,258 คัน คิดเป็นจำนวนเงินรายได้ค่าผ่านทางที่บริษัทฯ สูญเสียไปรวม 4,297,787,290 บาท ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อฐานะทางการเงินของบริษัทฯ คิดเป็นจำนวนเงิน
2,307,899,050 บาท (มูลค่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2565) โดยบริษัทฯ ได้มีหนังสือนำส่งรายงานการศึกษาของที่ปรึกษาอิสระต่อกรมทางหลวงแล้ว
จนถึงปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่ได้รับการเยียวยาชดเชยผลเสียต่อฐานะทางการเงินของบริษัทฯ จากกรมทางหลวง ดังนั้น บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธธรรม เพื่อใช้สิทธิตามสัญญาสัมปทานให้กรมทางหลวงแก้ไขผลเสียต่อฐานะทางการเงินของบริษัทฯ
4. การดำเนินการของบริษัทฯ เกี่ยวกับข้อพิพาพ :
บริษัทฯ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ซึ่งเป็นการดำเนินการชั้นแรกของการเริ่มกระบวนการพิจารณาข้อพิพาท ซึ่งต่อไปสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธธรรม จะนำส่งสำเนาคำเสนสข้อข้อพิพาทของบริษัทฯให้แก่กรมทางหลวง เพื่อให้กรมทางหลวงยืนคำคัดค้านภายในระยะเวลาที่กำหนดต่อไป
5. ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น:
หากคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้บริษัทฯ ชนะคดี บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับการเยียวยาชดเชยผลเสียต่อฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ที่คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,307,899,050 บาท อย่างไรก็ตาม ผลของการพิจารณาข้อพิพาทดังกล่าวยังไม่มีความแน่นอน
ทั้งนี้ หากสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม หรือคณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งสำคัญหรือคำชี้ขาดเป็นประการใด บริษัทฯ จะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป