Today’s NEWS FEED

News Feed

แสนสิริ ก้าวข้ามแผ่นดินไหว ผนึกกำลังพาร์ตเนอร์ เซ็ตมาตฐานใหม่ ภาคอสังหาฯ ไทย เดินหน้าต่อ ระดมผู้เชี่ยวชาญแชร์มุมมอง "BEYOND THE BLUEPRINTS" 60 วัน หลังแผ่นดินไหว ก้าวต่อด้วยพลังความร่วมมือ

101

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (27 พฤษภาคม 2568 )-------สร้างความตระหนักรู้ ย้ำอาคารสูงในกรุงเทพฯ ปลอดภัย

ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ภาควิชาวิศวกรรมโครงสร้างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านมาตรฐานการออกแบบสำหรับอาคารใหม่ จากการออกกฎกระทรวงและมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะ กฎกระทรวงปี 2564 ถือเป็นพัฒนาการที่ดีมากสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย กฎหมายนี้บังคับให้การก่อสร้างอาคารใหม่ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้น มีประเภทอาคารที่หลากหลายขึ้น นอกจากนี้โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ที่สร้างขึ้นภายใต้กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 และมาตรฐาน มยผ. 1301/1302-61 นับว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและปฏิบัติตามมาตรฐาน รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีและวิธีการออกแบบที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีมาตรฐานการออกแบบอาคารที่เข้มงวด แต่การออกแบบและการก่อสร้างที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าอาคารต่างๆ สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ อีกทั้งในอนาคต เราควรนำนวัตกรรมใหม่ๆ ที่พัฒนาและใช้กันแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศมาช่วยลดระดับการโยกตัวและการสั่นไหวของอาคารในประเทศไทย นวัตกรรมเหล่านี้ ได้แก่ อุปกรณ์ที่ช่วยดูดซับพลังงานการสั่นไหวของอาคาร เช่น Viscous Dampers หรือ Oil Dampers และที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว และแนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ รวมถึงการพัฒนาแผนรับมือเหตุฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

 

พลังแห่งความร่วมมือ สู่บทพิสูจน์ อสังหาฯ ไทยสอบผ่าน

อุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ เราพิสูจน์ได้ว่าภาคอสังหาฯ ของเราแข็งแกร่ง และสอบผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหว สำหรับแสนสิริด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปี ในการพัฒนาธุรกิจคอนโดมิเนียม ผ่านการสร้างโครงการแนวสูง 225 โครงการ รวมกว่า 90,000 ยูนิต เราเล็งเห็นโอกาสนี้ ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานทั้งอุตสาหกรรม เมื่อเราพิสูจน์ว่าการอยู่อาศัยในโครงการแนวสูงมีความมั่นคงปลอดภัยจริง และสิ่งที่ทำให้แสนสิริฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ได้คือ เครือข่ายพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง ประกอบด้วย: พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้ดูแลงานนิติบุคคลระดับมืออาชีพ, ผู้รับเหมารายใหญ่ ที่เร่งรีบเข้ามาสนับสนุนงานตั้งแต่วันแรก, ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำเชิงเทคนิคและร่วมลงพื้นที่, ทีมลิฟต์  หัวใจสำคัญของการขนส่งในตึกสูงที่ทำงานหนักที่สุดทีมหนึ่ง และบริษัทประกัน ที่ยืนเคียงข้างลูกบ้านอย่างมั่นคง

 

แสนสิริมองไปข้างหน้าเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการทำงานให้แข็งแกร่งขึ้น อาทิ การนำข้อมูลจากเหตุการณ์จริงมารีวิวและปรับปรุงคู่มือมาตรฐานการก่อสร้าง การเตรียมพร้อมและซ้อมแผนฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงระบบเตือนภัยและการตรวจสอบที่ช่วยป้องกันปัญหาก่อนเกิดขึ้น เป็นการรวมพลังทั้งวงการเพื่อเป้าหมายเดียว คือ ที่พักอาศัยที่แข็งแรง ปลอดภัย

 

"เราไม่ได้แค่รอดพ้น แต่ต้องทำให้วงการนี้แข็งแกร่งกว่าเดิม ด้วยการจัดงานแสนสิริอินไซต์ทอล์ค "BEYOND THE BLUEPRINTS" 60 วัน หลังแผ่นดินไหว ก้าวต่อด้วยพลังความร่วมมือ จะเป็นการจุดประกายความร่วมมือของคนในวงการอสังหาฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยหัวใจการทำงาน 3 ด้าน คือ Quality คุณภาพที่เหนือมาตรฐาน, Service บริการต่อเนื่อง และ Well-being ส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งสู่การดูแลลูกบ้านอย่างไม่มีวันสิ้นสุด" อุทัย กล่าวย้ำ

 

แผ่นดินไหว กระทบเชื่อมั่นระยะสั้น

บริสุทธิ์  กาสินพิลา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โฮมบายเออร์ ไกด์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร The Next Real กล่าวว่า บริษัทอสังหาฯ ขนาดใหญ่หลายแห่งมีการตอบสนองอย่างรวดเร็วในการส่งทีมวิศวกรเข้าตรวจสอบอาคารและออกแถลงการณ์หรือสื่อสารกับลูกบ้านต่อเนื่อง สิ่งนี้ช่วยลดความตื่นตระหนกและสร้างความมั่นใจ ทั้งนี้ อสังหาฯ ไทย ผ่านมาแล้วทุกวิกฤติ ทั้งน้ำท่วมใหญ่, โควิด เชื่อมั่นว่าสถานการณ์แผ่นดินไหวในไทยที่ผ่านมา มีผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น ตรงกันข้าม สำหรับแบรนด์ที่ทำได้ดี โครงการมั่นคงปลอดภัย มีการดูแลลูกค้าอย่างรวดเร็ว จะได้รับความเชื่อมั่นและเกิดการบอกต่อ ส่วนในระยะยาวตลาดอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวและฟื้นตัวได้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบและการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สิ่งที่สำคัญ


คือการร่วมมือกันใน Ecosystem จับมือกันฝ่าก้าวข้ามทุกวิกฤติมาได้อย่างแข็งแกร่ง นำบทเรียนการก้าวข้ามผ่าน สู่การพัฒนาโปรดักส์ใหม่ที่มีคุณภาพ มีเทคโนโลยีการก่อสร้างรูปแบบใหม่ๆ และมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มข้นขึ้นอีกในอนาคต และที่สำคัญ After Sale Service จะเป็นหัวใจหลักของผู้ประกอบในการเร่งเครื่องพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละเซ็กเมนต์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะยังคงต้องปรับตัวในหลายมิติ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย ตรงกับความต้องการของตลาด และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตลาดและการขายมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มคนสูงอายุ (Aging Society) หรือกลุ่มที่ต้องการบ้านเพื่อการลงทุนปล่อยเช่า"

 

ความปลอดภัยของลูกบ้านคือหัวใจ และนำสู่การเซ็ตมาตรฐานใหม่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ

องอาจ สุวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เราไม่มีเวลาแม้แต่จะตั้งรับ สิ่งที่ทำได้คือบริหารจัดการความโกลาหลที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือความปลอดภัยและความสบายใจในการพักอาศัยของลูกบ้าน เราเร่งจัดตั้ง War Room ระดมกำลังทุกหน่วยงาน พร้อมหยุดงานขายชั่วคราวเพื่อทุ่มเททรัพยากรทั้งหมด ประสานงานกับพาร์ตเนอร์ผู้เชี่ยวชาญ จัดทำคู่มือ Key Check List ให้วิศวกรลงพื้นที่ทันทีเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง สถาปัตย์ ลิฟต์ ระบบไฟฟ้า ประปา ไปจนถึงระบบป้องกันอัคคีภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของระบบลิฟต์เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย

 

ผลการตรวจสอบที่ครอบคลุมทุกโครงการของแสนสิริ ทั้งที่อยู่ระหว่างการขาย การก่อสร้าง และโครงการแนวราบ รวมถึงพื้นที่ส่วนกลาง บ้านตัวอย่าง และบ้านที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ยืนยันว่าโครงสร้างอาคารปลอดภัย 100% นอกจากนี้ สิ่งที่เราเร่งดำเนินการคือการอำนวยความสะดวกในการเคลมประกันภัยให้กับลูกบ้าน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ลูกค้าอาจไม่คุ้นเคย ทีมงานของเราได้เข้าไปช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ทั้งการถ่ายภาพและเก็บข้อมูล เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

 

"แสนสิริไม่ได้มองว่าอะไรทำได้ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น แต่เราทุ่มเททรัพยากรที่มีทั้งหมดเพื่อดูแลลูกบ้านอย่างเต็มที่ และจากบทเรียนครั้งนี้ เราจะนำข้อมูลจาก LIV-24 ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลความปลอดภัยแบบเรียลไทม์ 24 ชม. มาศึกษาและใช้ประโยชน์สูงสุดในการรับมือวิกฤตในอนาคต รวมถึงการนำเคสความเสียหายต่าง ๆ มาวางแผนใหม่ เช่น การทำฝ้าและผนังให้มีความยืดหยุ่นในการรับมือแผ่นดินไหวมากขึ้น ตลอดจนนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาแนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างในอาคารสูงที่เราได้ศึกษามาตั้งแต่ปี 2560 จะถูกรีวิวและปรับปรุงใหม่ร่วมกับสถาบันการศึกษาและพาร์ตเนอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และนำมาตรฐานระดับสากลมาอ้างอิงเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจสูงสุดให้กับลูกบ้านในทุกสถานการณ์" องอาจ กล่าว

 

มาตรฐานการทำงาน เหนือกว่าข้อกำหนดทั่วไป

ดร.วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
"แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่เราสามารถทำให้ครั้งต่อไป ให้ไม่เป็นวิกฤติ ถ้าเรายกระดับความพร้อมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่วันนี้ สำหรับฑีฆามองว่าการออกแบบงานที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม รวมทั้งใช้วัสดุที่มีคุณภาพแข็งแรงปลอดภัยตามหลักวิชาการ ระบบการทำงานต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยทุกขั้นตอนในการทำงาน โดยต้องตรวจสอบการทำงานทั้งหมด และต้องสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้กับวิศวกร แรงงานก่อสร้าง ให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นทุกเวลา จะนำมาสู่มาตรฐานการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ นวัตกรรมที่อยากเห็นในวงการก่อสร้างคือการใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปมากขึ้น เช่น ผนังน้ำหนักเบาโครงโลหะ ที่มีความแข็งแรงรับแรงและกันเสียงได้ดี ซึ่งเมื่อเกิดการแตกร้าว อาทิ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะสามารถซ่อมแซมได้ง่ายกว่าผนังปูน พร้อมกับอยากเห็นภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง"


บทเรียนจากเหตุอาคารถล่ม – "Bad Conditions" และความรับผิดชอบที่ต้องมี

กฤษฎา แท้ประสาทสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟรา กรุ๊ป จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารสูงและแรงลมแผ่นดินไหว กล่าวว่า สาเหตุของอาคารถล่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและต่างประเทศ มาจาก Bad Conditions หลายประการที่มาประกอบกัน เช่น จุดต่อที่ทำไม่สมบูรณ์เพียงจุดเดียว แต่เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชันการใช้งานภายในอาคาร หรือการเปลี่ยนแปลงของน้ำใต้ดิน ก็อาจนำไปสู่อาคารถล่มอย่างคาดไม่ถึงได้ ฉะนั้น การออกแบบที่ดี ต้องการผู้รับเหมาผู้ควบคุมงานที่ดี และสิ่งสำคัญคือเจ้าของโครงการจะต้องเข้าใจและให้การสนับสนุน แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมก็ตาม เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะพิสูจน์ผลงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบและผู้รับเหมา สิ่งสำคัญคือการเคารพในวิชาชีพ มีความรับผิดชอบ และตั้งใจทำงาน เพราะผลงานที่ดีจะสะท้อนเพอร์ฟอร์แมนซ์ของอาคาร และขอฝากถึงทุกภาคส่วนให้รักษาคุณภาพมาตรฐานงานออกแบบ-ก่อสร้าง โดยเฉพาะการใช้วัสดุก่อสร้างอย่างเหล็กและคอนกรีตที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และเสนอให้มีการสุ่มตรวจคุณภาพหน้างานไม่ใช่แค่ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น"


รับมืออย่างรวดเร็ว สื่อสารเรียลไทม์ และล้ำหน้าอยู่เสมอ    

นฤมล อาภรณ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารอาคารที่พักอาศัย บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า "พลัส พร็อพเพอร์ตี้ดูแลโครงการกว่า 400 แห่ง ครอบคลุมลูกบ้านมากกว่า 100,000 ครอบครัว เราจึงต้องคิดและวางแผนอย่างรอบด้านและเป็นระบบ โดยให้ความสำคัญสูงสุดต่อความรู้สึกและความปลอดภัยของลูกค้า โดยมีการจัดตั้ง War Room ทันทีเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ มีการสื่อสารสถานการณ์ที่ถูกต้อง แม่นยำ เพื่อสร้างความมั่นใจและลดความตื่นตระหนก พร้อมดำเนินมาตรการตรวจสอบอาคาร ฟื้นฟูความเสียหาย และอำนวยความสะดวกในการเคลมประกันและซ่อมแซม เพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด สำหรับเทรนด์ในอนาคตมองว่าควรมีการพัฒนา Data Center การเข้าถึงข้อมูลลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงวัย ผู้ป่วย ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะในเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องอพยพ เพื่อที่สามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ถัดมาคือเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับด้านความปลอดภัย อย่างแสนสิริ และ พลัสฯ ที่เรามีการใช้เทคโนโลยีของ LIV-24 ในหลายโครงการที่เราดูแล ซึ่งเป็นการนำ AI มาใช้เพื่อความปลอดภัยในที่อยู่อาศัย โดยระบบสามารถประมวลผลจากข้อมูลแบบเรียลไทม์


ทำให้สามารถรู้ได้ว่าระบบอะไรบ้างที่ใช้งานได้หรือได้รับผลกระทบ อาทิ ระบบลิฟต์ ไฟฟ้า ดับเพลิง สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อวางแผนบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเทรนนิ่ง เป็นสิ่งที่ควรทำต่อเนื่องทั้งกับพนักงานและลูกค้า ในเรื่องการปฏิบัตตัว เวลาเกิดเหตุแผ่นดินไหวให้ออกห่างจากหน้าต่างและไม่ใช้ลิฟต์ การอพยพต้องอยู่ให้ห่างจากตัวอาคารเท่าความสูงของอาคาร เพื่อเป็นการทบทวน เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง จะได้สามารถรับมือได้ทั้งพนักงานและลูกบ้าน"

 

แผ่นดินไหวคือความท้าทาย มุ่งสู่การปรับตัว

วิญญู อังศุนิตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความท้าทายในการจัดการสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้คือการรับมือกับจำนวนการเคลมที่เข้ามาอย่างมาก โดยเฉพาะจากลูกค้ารายย่อย โดยเราได้เร่งกระบวนการพิจารณาและจ่ายสินไหมทดแทน เน้นการสำรวจความเสียหายและอนุมัติการจ่ายเคลมอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการควบคุมราคาค่าซ่อมแซม โดยเจรจากับผู้รับเหมาเพื่อให้มั่นใจว่าค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า นอกจากนี้ ได้ขยายความร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วน ประกอบไปด้วย ภาครัฐโดยทำงานใกล้ชิดกับสำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องประกันภัยและภัยธรรมชาติให้แก่ประชาชน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องความจำเป็นของการมีประกันภัย ที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดหมายได้"


ก้าวต่อไปของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย จึงไม่ใช่แค่การสร้างที่อยู่อาศัย แต่คือการสร้าง "ความเชื่อมั่น" และ "ความยั่งยืน" ไปพร้อมกัน แสนสิริ พร้อมร่วมจุดประกายให้เกิดการผนึกกำลังครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไปจนถึงผู้ประกอบการด้วยกัน เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอนาคตของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ให้บ้านทุกหลัง อาคารทุกแห่ง เป็นพื้นที่แห่งความสุขและความปลอดภัยอย่างแท้จริง

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

เด้งขาย By : นายกล้วยหอม

นายกล้วยหอม เด้งขาย ลงซื้อ ทำรอบ หมุนรอบ มิควร ซื้อหุ้นไทยแล้ว ถือยาว ด้วยเงินไม่หนา แถม ต้องกิน ต้องใช้ทุกวัน....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้