สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (27 พฤษภาคม 2568 )-------ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของบริษัทฯ ที่ ‘F1(tha)’
แนวโน้มเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงความเสี่ยงที่อัตราส่วนของหนี้สินของบริษัทฯ วัดจากหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) จะยังคงสูงกว่า 4.5 เท่าหลังปี 2569 ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิต อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าบริษัทฯ มีแผนในการลดระดับหนี้สิน รวมไปถึงการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และการออกหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน บริษัทฯ ได้รับการขยายเทอมการชำระเงินในการซื้อน้ำมันดิบกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตที่ BBB+/AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการบริหารเงินทุนหมุนเวียน และเสริมสภาพคล่องให้กับ TOP ในการบริหารจัดการเพื่อลดระดับหนี้สินลง
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนของหนี้สินอยู่ในระดับสูง: ฟิทช์คาดว่า TOP จะมีอัตราส่วนของหนี้สินอยู่ในระดับสูงที่ 5.1 ถึง 5.2 เท่าในปี 2568 และ 2569 เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่สูงขึ้น และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง อัตราส่วนของหนี้สินอาจจะปรับตัวดีขึ้นกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์มาอยู่ที่ประมาณ 4.0 เท่าในปี 2568 และ 2569 หากบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการขายสินทรัพย์
หาก TOP ไม่สามารถจำหน่ายสินทรัพย์ จะทำให้การลดอัตราส่วนของหนี้สินช้าลง โดยอัตราส่วนหนี้สินจะลดลงต่ำกว่าระดับ 4.5 เท่าในปี 2571 หลังจากที่บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายกำลังการกลั่น ความซับซ้อนในการกลั่นของโรงกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนลดลง ภายหลังโครงการ Clean Fuel Project (CFP) ดำเนินงานเต็มรูปแบบ
เป้าหมายในการลดหนี้สินของบริษัทฯ: ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทฯ กำลังจัดทำแผนกลยุทธ์ทางเลือกในการลดหนี้สิน รวมถึงการขายสินทรัพย์ ซึ่งอาจเพิ่มความยืดหยุ่นในการลดหนี้สินได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปี 2568 และ 2569 อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่ได้นำการขายสินทรัพย์ออกรวมในประมาณการ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในกระบวนการขายสินทรัพย์
ความล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญของโครงการ CFP: ความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการ CFP และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนหนี้สินของ TOP บริษัทฯ ประกาศในเดือนธันวาคม 2567 ว่าการเริ่มเดินเครื่อง CFP จะล่าช้าประมาณสามปีจากกำหนดการเริ่มต้นเดิมในปี 2568 เนื่องจากผู้รับเหมาหลักในงานวิศวกรรม การจัดซื้อ และการก่อสร้าง (EPC) ไม่สามารถชำระเงินให้กับผู้รับเหมาช่วงได้ ส่งผลให้การดำเนินงานหยุดชะงัก ฟิทช์คาดว่าจะค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและการล่าช้าในการสร้างกระแสเงินสดจากโครงการ อาจมีผลต่ออันดับเครดิต
บริษัทฯ กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้และกำลังพัฒนาแผนปฏิบัติงานเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการจะดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับเงินมูลค่า 440 ล้านเหรียญสหรัฐจากการบังคับหลักประกันภายใต้สัญญา EPC และได้ยุติสัญญา EPC กับผู้รับเหมาเดิมในเดือนเมษายน 2568 บริษัทฯ คาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินงานเต็มรูปแบบในไตรมาสที่ 3 ปี 2571 โครงการนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมประมาณ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 33 ของประมาณการค่าใช้จ่ายโครงการเดิมที่ 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงส่งผลต่ออัตราส่วนของหนี้สินเพิ่มขึ้น: ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของ TOP จะยังคงสูงและมีความยืดหยุ่นน้อยลงในปี 2568-2570 เนื่องจากความล่าช้าและค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง CFP ที่เพิ่มขึ้น ฟิทช์คาดการณ์ว่าบริษัทฯ จะใช้จ่ายประมาณ 7.0 หมื่นล้านบาทในปี 2568-2569 ส่วนใหญ่เพื่อใช้ในโครงการ CFP ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในปี 2567 ต่ำกว่าที่คาดการณ์เนื่องจากการหยุดชะงักของการทำงานในโครงการ CFP ส่วนใหญ่ของนี้จะเลื่อนการเงินลงทุนไปเป็นปี 2568 และ 2569 เมื่อการก่อสร้างสามารถกลับมาดำเนินการได้
รายได้ที่ลดลง: ฟิทช์คาดการณ์ว่า EBITDA ของ TOP จะลดลงอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้าน 2568 (ปี 2567: 2.0 หมื่นล้านบาท) TOP ได้รับประโยชน์จากค่าการกลั่นที่แข็งแกร่งอย่างมากในปี 2565 ถึง 2566 ฟิทช์คาดว่าค่าการกลั่นจะปรับตัวลงในปี 2567 และ 2568 แม้ว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีเนื่องจากสภาวะอุตสาหกรรมกลับสู่ปกติ อย่างไรก็ตาม การขยายกำลังการผลิตและการปรับปรุงความซับซ้อนของโรงกลั่นจากโครงการ CFP จะสนับสนุนค่าการกลั่นและการเพิ่มขึ้นของ EBITDA ตั้งแต่ปี 2571
การขยายเทอมการชำระเงินช่วยเสริมความคล่องตัวทางการเงิน: ฟิทช์มองว่าการขยายเทอมการชำระเงินในการซื้อน้ำมันดิบกับบริษัท ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ นั้น จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน และเสริมสภาพคล่องให้กับ TOP ในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สินในช่วงที่มีการลงทุนสูง ปตท. ได้เพิ่มวงเงินของการขยายเทอมการชำระเงินตั้งแต่ มกราคม ถึง พฤษภาคม 2568 ซึ่งจะช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนประมาน 3.0 หมื่นล้านบาทในปี 2568
ความสัมพันธ์กับปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TOP ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับ จากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของบริษัทฯ อยู่ที่ ‘a-(tha)’ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ TOP ในระดับปานกลางในด้านการความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางการสนับสนุนด้านดำเนินงาน (Operational incentive) ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์เชื่อว่าธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่ง TOP เป็นหนึ่งในบริษัทหลักของธุรกิจนี้ มีความสำคัญต่อ ปตท. ในขณะที่แรงจูงใจทางกฎหมาย (Legal incentive) อยู่ในระดับต่ำ
ความสำคัญกับปตท.: TOP เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของ ปตท. อีกทั้ง TOP มีแนวโน้มที่จะเป็นบริษัทหลักของ ปตท. ในการธุรกิจการกลั่นน้ำมัน โดย TOP เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปให้กับ ปตท. คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมดที่ ปตท. จัดจำหน่าย นอกจากนี้ ปตท. ยังขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบให้กับ TOP เพื่อช่วยรักษากระแสเงินสดและลดความต้องการใช้เงินกู้ในช่วงที่มีการลงทุนสูง และรับซื้อหุ้น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตที่ BBB-/A+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) เพื่อสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการของ TOP
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะทางเครดิตโดยลำพังของ TOP ที่ ‘a-(tha)’ สะท้อนถึงขนาดธุรกิจและโรงกลั่นที่มีการผลิตแบบคอมเพล็กซ์ของบริษัท สถานะทางธุรกิจของ TOP แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต
TOP มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าและมีการผลิตปิโตรเคมีที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ‘a+(tha)’) ซึ่ง PTTGC ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า เนื่องจากมีการดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่าและตัวชี้วัดเครดิตที่ดีกว่า ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การจัดอันดับเครดิตของ TOP ต่ำกว่าของ PTTGC
บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC, อันดับเครดิต A-(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง: bbb(tha)) เป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดและเป็นหน่วยดำเนินการหลักด้านเคมีภัณฑ์ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC, A(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย TOP มีสถานะทางธุรกิจที่คล้ายคลึงกับ SCGC โดยมีขนาดที่เทียบเคียงกันได้ โดยวัดจาก EBITDA ที่ประมาณ 2.5 - 3.0 หมื่นล้านบาท ทั้งสองบริษัทเผชิญกับอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนของการกลั่นและเคมีภัณฑ์และมีอัตราส่วนของหนี้สินอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ TOP มีการกระจายผลิตภัณฑ์/ธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นในด้านการกลั่นและพลังงานหมุนเวียน ด้วยสถานะทางธุรกิจที่เทียบเคียงได้และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า TOP จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตสูงกว่า SCGC สองอันดับ
บริษัท เอชเอ็มซี โพลีเมอส์ จำกัด (อันดับเครดิต BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ; สถานะเครดิตโดยลำพัง: bbb(tha)) ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สะท้อนถึงตำแหน่งของบริษัทในฐานะผู้ผลิตโพรพิลีนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อย่างไรก็ตามด้วยการกระจายผลิตภัณฑ์ที่จำกัด อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีความผันผวนตามวัฏจักร และฟิทช์คาดการณ์ว่าอัตราส่วนของหนี้สินทางการเงินจะเพิ่มขึ้นในช่วงระยะกลาง ในทางกลับกัน TOP มีขนาดการดำเนินงานที่ใหญ่กว่ามากและมีการกระจายผลิตภัณฑ์และธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งควรจะชดเชยได้มากกว่าสำหรับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้สถานะเครดิตโดยลำพังของ TOP จึงสูงกว่าสองอันดับ
สมมุติฐานที่สำคัญ:
- ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2569 และ 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2570 ,และ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2571 และหลังจากนั้น โดยมีการปรับด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ TOP
- CFP จะเริ่มดำเนินการ CDU-4 ในครึ่งหลังของปี 2570 และการเริ่มต้นหน่วย Residue Hydrocracking ในปี 2571 ส่งผลให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นและกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน
- ค่าการกลั่นที่ไม่รวมกำไร/ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ปรับตัวลดลงสู่ระดับปกติในปี 2568
- การใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ร้อยละ 110 ในปี 2567-2570 และร้อยละ 87-95 ในปี 2571-2572 เมื่อ CFP เริ่มดำเนินการ
- การใช้กำลังการผลิตธุรกิจอะโรเมติกส์จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปี 2567 ในขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในปี 2568 จะสอดคล้องกับปี 2567
- ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจะลดลงจากปี 2568
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 7.0 หมื่นล้านบาทในปี 2568-2569
- เงินได้จากการขายหน่วยพลังงาน ERU ของ TOP ในปี 2572
- อัตราการจ่ายเงินปันผลที่ร้อยละ 45
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
- มีปัญหาที่ท้าทาย หรือเกิดความล่าช้าที่ทำให้โครงการ CFP ดำเนินการผลิตเต็มรูปแบบในทุกหน่วยการผลิตได้
- อัตราส่วน EBITDA Net Leverage ให้อยู่ในระดับสูงกว่า 4.5 เท่าหลังปี 2569 อย่างต่อเนื่อง
- แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ที่ลดลง
ปัจจัยบวก:
- มีอัตราส่วน EBITDA net leverage ต่ำกว่า 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ที่เพิ่มขึ้น
สภาพคล่องและโครงสร้างหนี้สิน
สภาพคล่องของ TOP ที่แข็งแกร่งได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่จำนวน 4.0 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับหนี้สินจากเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 2.7 พันล้านบาทและและเงินกู้ระยะยาวจำนวน 5.2 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปี 2568 และรองรับค่าใช้จ่ายในการลงทุน
สภาพคล่องยังได้รับการสนับสนุนโดยวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่ (การขยายระยะเวลาเทอมการชำระเงิน) กับปตท. ประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท และวงเงินกู้ประเภท Committed จำนวน 212 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และวงเงินกู้ทั่วไปจำนวน 513 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากสถาบันการเงิน TOP มีความสามารถในการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ที่เพียงพอเนื่องจากบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนและมีความเกี่ยวข้องกับปตท. และเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจการกลั่นน้ำมันของประเทศไทย
เกี่ยวกับบริษัท
TOP เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการกลั่นน้ำมันที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากโครงการ CFP แล้วเสร็จ บริษัทฯ ยังได้กระจายธุรกิจไปยังธุรกิจอะโรเมติกส์และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น รวมถึงธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจสารทำละลาย เอทานอล และผลิตไฟฟ้า