Today’s NEWS FEED

News Feed

พาณิชย์ เผยตัวเลขส่งออกภายใต้ FTA สองเดือนแรกปี 68 โต 24.11%

56

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(19 พฤษภาคม 2568)-------------กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของปี 2568 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 15,086.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 467,672.20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA 81.36% เติบโต 24.11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พร้อมเชิญชวนให้ใช้สิทธิ FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วทั้ง 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศคู่ค้า เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าโดยการขยายตลาดใหม่ๆ และลดการพึ่งพาตลาดเดียวในการส่งออก

 

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลการใช้สิทธิ FTA ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2568 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลง FTA รวม 15,086.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 81.36% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 24.11% โดยเป็นการส่งออกไปยังอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 5,303.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 68.50% อันดับสอง


เป็นการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) มูลค่า 3,163.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 90.66% อันดับสามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 3,206.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 89.97% อันดับสี่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 1,027.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.93% อันดับห้า การค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 894.95ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 58.16 ภาพรวมสินค้า 5 อันดับแรกที่มีการใช้สิทธิฯ FTA ส่งออกมาที่สุดได้แก่ (1) แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผง มูลค่า 1,513.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) ยานยนต์สำหรับขนส่งของอื่น ๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน มูลค่า 999.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3) แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผงอื่น ๆ มูลค่า 697.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4) ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มูลค่า 602.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (5) น้ำตาลที่ได้จากอ้อยอื่น ๆ มูลค่า 372.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


นางอารดาฯ เพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากคือ อาเซียน-อินเดีย ที่มีมูลค่าการส่งออกที่ใช้สิทธิ FTA ในเดือนกุมภาพันธ์เพียงเดือนเดียวอยู่ที่ 1,737.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 53,855.37 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมากกว่า 300% เป็นผลมาจากมีการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงไปยังอินเดีย ได้แก่ แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป หรือเป็นผง และ เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ ส่งผลให้ตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในภาพรวมเพิ่มขึ้นด้วยโดยสำหรับการส่งออกไปอินเดีย นอกจาก FTA อาเซียน-อินเดียแล้ว ไทยยังมีความตกลง FTA ไทย-อินเดีย ด้วยโดยช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ที่ 76.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,385.82 ล้านบาทมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 35.61% และมีอัตราการเติบโต 2.94% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและถึงแม้ว่าภายใต้ FTA ไทย-อินเดียนั้น อินเดียไม่ได้ลดภาษีให้สินค้าไทยมากนัก ส่งผลให้อัตราการใช้สิทธิฯ ไม่สูงมาก แต่ขณะนี้ไทยและอินเดียอยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจาปรับปรุงความตกลงที่คาดว่าจะครอบคลุมสินค้าจำนวนมากขึ้น รวมถึงการค้าบริการและการลงทุน โดยหากการเจรจาแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้ไทยมากขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะตลาดอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพเนื่องจากเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงด้วยจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1.4 พันล้านคน มีกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ และแนวโน้มเศรษฐกิจอินเดียที่เติบโตต่อเนี่อง มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ

 

นางอารดาฯ ยังกล่าวอีกว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศได้เชิญภาคเอกชนผู้มีประสบการณ์ในการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก FTA แลกเปลี่ยนความเห็นถึงโอกาสและความท้าทายจากสถานการณ์ทางการค้าโลกจากผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ พูดคุยกับผู้แทนจากสภาผู้ส่งออก และกรมการค้าต่างประเทศ ภายใต้หัวข้อแนวทางรับมือสำหรับผู้ประกอบการ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี ภายใต้โครงการส่งเสริม SMEs ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่อง “FTA ขยายธุรกิจ พิชิตส่งออก” ที่จังหวัดนครพนม โดยจากงานสัมมนาดังกล่าว ทุกคนเห็นร่วมกันว่า FTA เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างแต้มต่อในการส่งออก ช่วยลดภาษีนำเข้า ลดต้นทุนทางการค้า ทำให้สินค้าส่งออกจากไทยน่าดึงดูดเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก FTA และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้เจรจาจัดทำ FTA ฉบับใหม่ๆ กับประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นไทย-ศรีลังกา ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ เอฟต้า ไทย-ภูฏาน โดยการใช้สิทธิฯ ผ่าน FTA ทั้งหมดนี้ จะช่วยขยายตลาดการส่งออกใหม่ๆ และลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในการส่งออกได้ ซึ่งในปี 2568 กรมการค้าต่างประเทศยังคงมีแผนการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศต่อเนื่องทั้งจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ลำพูน และหนองคาย

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ขุดหุ้น มาเก็งกำไร By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย เช้าวันนี้ ปรับตัวลดลง ตามตลาดต่างประเทศ ด้วยมูดี้ส์.....

LEO จับมือพันธมิตรจีน พัฒนาระบบโลจิสติกส์ส่งออกทุเรียนไทย

LEO จับมือพันธมิตรจีน พัฒนาระบบโลจิสติกส์ส่งออกทุเรียนไทย

SNNP รับประกาศนียบัตรรับรองจาก CAC ครั้งแรก ตอกย้ำองค์กรโปร่งใส

SNNP รับประกาศนียบัตรรับรองจาก CAC ครั้งแรก ตอกย้ำองค์กรโปร่งใส

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้