สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(6 พฤษภาคม 2568)-------เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 1/2025 เติบโตชะลอลงมาอยู่ที่ 4.87%YoY (รูปที่ 1) เป็นการเติบโตรายไตรมาสที่ต่ำสุดนับจากไตรมาส 3/2021 ผลจากการบริโภคในประเทศอ่อนแอและการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว ทั้งที่มีมาตรการช่วยเหลือการบริโภคและแรงหนุนจากเทศกาลรอมฎอน
- การบริโภคภาคเอกชนที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญสุด ไม่สามารถฟื้นตัวได้ขยายตัว 4.89% แม้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดค่าไฟฟ้าและตั๋วเครื่องบินมาใช้ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ขณะที่เดือน มี.ค. ที่ผู้คนจะมาจับจ่ายในเทศกาลรอมฎอนก็ไม่คึกคักเหมือนทุกปีตอกย้ำการชะลอตัวของการบริโภคที่ชัดเจนขึ้น
- กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมชะลอลง การลงทุนภาคเอกชนเติบโตช้าลงที่ 2.12% เป็นการชะลอลงในทุกภาคส่วน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐบาลหดตัว 1.38% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อนที่มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเบิกจ่ายงบที่จำกัดจากการจัดสรรงบประมาณใหม่ให้กับโครงการที่มีความสำคัญอย่างการแจกอาหารกลางวันฟรีในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าและบริการยังคงขยายตัวสูงที่ 6.78% ผลบวกจากการส่งออกน้ำมันปาล์มและฐานต่ำในปีก่อนหน้า
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2025 อาจโตต่ำกว่า 5% จากความไม่แน่นอนของผลการเจรจา Reciprocal tariffs และหลายภาคส่วนที่ยังเผชิญแรงกดดันสำคัญในช่วงที่เหลือของปี
- การส่งออกมีความเสี่ยงหดตัวในปี 2025 จากความไม่แน่นอนในการเจรจาต่อรอง Reciprocal tariff ที่สหรัฐฯ เก็บอินโดนีเซีย 32% แม้จะมีการหยุดเก็บภาษีอัตราดังกล่าวชั่วคราวแต่อินโดนีเซียยังถูกเก็บภาษีที่ 10% ซึ่งในเบื้องต้นผลกระทบจากการส่งออกไปสหรัฐฯ มีไม่มาก แต่ผลกระทบสำคัญมาจากการส่งออกที่อาจหดตัวจากผลของคู่ค้ารายสำคัญอย่างจีนที่เผชิญอัตราภาษีสูงและคู่ค้ารายอื่นที่มีความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ดี การเจรจาของอินโดนีเซียกับสหรัฐฯ สำเร็จและช่วยลดอัตราภาษีดังกล่าวได้ก็อาจส่งผลบวกต่อการส่งออก
- การบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวลงอีก การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องทั้งดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคและยอดค้าปลีก สะท้อนผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ขณะที่ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้านำเข้าและราคาพลังงานในประเทศเพิ่มขึ้น
- ทิศทางการลงทุนภาคเอกชนยังไม่แน่นอนเติบโตในระดับต่ำ รอความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐทั้งในด้านการเงินและการคลังที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และผลการเจรจาระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐฯ ก็มีส่วนต่อการตัดสินใจลงทุนใหม่ในระยะข้างหน้า
- แนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวขึ้นจากการเบิกจ่ายที่น่าจะเร่งตัวขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรก รวมถึงรายได้ภาษีที่ฟื้นตัวและการเร่งใช้จ่ายเพื่อพยุงเศรษฐกิจในภาวะที่นโยบายการเงินเผชิญข้อจำกัดจากเงินรูเปียห์อ่อนค่า
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2025 อาจขยายตัวต่ำกว่า 5% โดยมีความเสี่ยงชะลอลงถึง 4.5% หากการเจรจาเพื่อลดผลกระทบจากนโยบาย Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ ไม่คืบหน้า ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติม นโยบายการเงินกลับเผชิญข้อจำกัดจากการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์และกระแสเงินทุนไหลออก ส่งผลให้ธนาคารกลางต้องชะลอการลดดอกเบี้ย ความท้าทายหลักของรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ที่การใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างรอบคอบเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ