ภาพตลาดและแนวโน้ม
Highlights:
กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากภูมิภาค คิดเป็นมูลค่า 4,574 ล้านเหรียญ ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2,897 ล้านเหรียญ โดยแรงขายดังกล่าวเกิดขึ้นใน 4 ประเทศจากทั้งหมด 5 ประเทศ
ดัชนี Volume Index สะท้อนว่าเซกเตอร์ที่โดดเด่นในระดับภูมิภาคยังคงกระจายตัวอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Infrastructure ในอินโดนีเซีย, Communication ในเกาหลีใต้, และ Transportation ในไต้หวัน
รายละเอียด:
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสเงินลงทุน (fund flows) ใน 5 ประเทศมีทิศทางไหลออก โดยมียอดขายสุทธิรวม 4,574 ล้านเหรียญสหรัฐ เร่งตัวขึ้นจากยอดขายสุทธิ 2,897 ล้านเหรียญในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยมีเงินทุนไหลออกทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน (-2,292 ล้านเหรียญ), เกาหลีใต้ (-1,001 ล้านเหรียญ), ไทย (-27 ล้านเหรียญ), และ อินโดนีเซีย (-1,260 ล้านเหรียญ) ขณะที่ฟิลิปปินส์มียอดซื้อสุทธิเล็กน้อย 6 ล้านเหรียญ ภาพโดยรวมดังกล่าวจึงสะท้อนถึงภาวะ risk-off sentiment ที่ยังครอบคลุมตลาดหุ้นในภูมิภาค
แรงขายต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้ นับตั้งแต่ต้นปี 2025 ยอดขายสุทธิรวมใน 5 ประเทศถึง 38,266 ล้านเหรียญ โดยไต้หวันเป็นตลาดที่เผชิญแรงขายมากที่สุด (-20,822 ล้านเหรียญ) ตามมาด้วย เกาหลีใต้ (-12,318 ล้านเหรียญ) และอินโดนีเซีย (-3,405 ล้านเหรียญ)
จากสัญญาณดัชนี Volume Index ในสัปดาห์ที่แล้วสะท้อนว่า เซกเตอร์ที่โดดเด่นในระดับภูมิภาคยังคงกระจายตัวอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Infrastructure ในอินโดนีเซีย, Communication ในเกาหลีใต้, และ Transportation ในไต้หวัน สถานการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่ายังไม่มีธีมการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมใดที่ชัดเจน
แนวโน้มเซกเตอร์ไทย:
สำหรับสัปดาห์นี้ คาดว่ากลุ่ม ICT จะเป็นเซกเตอร์เด่นของตลาดหุ้นไทย
สรุปภาพตลาดวานนี้
วานนี้แรงขายมากกว่าคาด โดยนอกจากกลุ่มธนาคาร แม้งบฯ ออกมาดี แต่ก็มีการขายออกมาตามคาด แต่ะพบว่ากลุ่มอื่นๆ ก็โดนประเด็นกดดันจากมหภาคไปด้วย ทั้งสงครามการค้า และการเมืองในประเทศ ทำให้หุ้นใหญ่อื่นๆ ถูกขายออกมากระจายทั้ง GULF AOT DELTA CPALL BTS BGRIM เป็นต้น ส่วนหุ้นบวกสวนตลาด PSG THCOM TLI BLA SINGER เป็นต้น
แนวโน้มตลาดวันนี้
งบแบงก์ดีให้ขาย งบแย่เปิดช่องให้ทุบ
กลุ่มธนาคารกลายเป็นหุ้นกดดันบรรยากาศลงทุนหุ้นไทย แทนกลุ่ม Global play แม้งบจะดีก็โดนขาย และเราคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ปรับลงได้ต่อเนื่อง (ตามที่เราเตือนในรายงาน Weekly /และย้ำรายการตอนเช้า “BLS Daily”) กดดันบรรยากาศการลงทุน แต่เรายังคงแนะนำ เลือกเล่นหุ้นที่ราคาไม่ลอยอยู่ด้านบน เพราะเสี่ยงโดนขายแถมจะโดนช๊อตซ้ำเติม หากผิดหวังงบไตรมาสแรกที่ทยอยประกาศ
ส่วนภาพทางเทคนิค การสร้างกราฟรูปแบบ “Island” บริเวณ 1050 จุด ซึ่งหลายครั้งที่หลุดแบบนี้ จากเหตุการณ์ Panic sell มักจะไม่เห็นหุ้นไทยวกกลับลงมาสร้างจุดต่ำสุดใหม่ในระยะสั้น อย่างน้อยก็ 2-3 สัปดาห์ ข้างหน้า หากอิงเหตุการณ์สถิติ เช่น เมื่อครั้ง น้ำท่วมใหญ่, ชุมนุมการเมืองในประเทศจนนำไปสู่การเกิดจราจล / รัฐประหาร, โรคซาร์ระบาดช่วงแรก และโควิด ปิดเมือง, ตกใจแคปปิตอล คอนโทรล เป็นต้น ดังนั้นเราคาดว่าแรงขายแค่กลุ่มที่ราคาลอยอยู่ด้านบนจะไม่กดดัน SET ไปมากกว่านี้ (เพราะหุ้นไทยราคานอนตายอยู่ด้านล่างเสียเป็นส่วนใหญ่แล้ว)
กลยุทธ์
แนะนำเล่นหุ้นแบบ Buy the dips
1) กลุ่มเล่นรีบาวด์สั้น ขึ้นขายลงซื้อ ตามเทคนิค สินค้าทดแทนการส่งออกจีนไปสหรัฐฯ อย่างอิเล็กทรอนิกส์-ชิ้นส่วนยานยนต์ CCET DELTA HANA KCE เก็งกำไรให้จบรอบก่อนงบฯ ไตรมาส 1 (ปลาย เม.ย.)
2) การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ชดเชยผลกระทบ GDP จากการส่งออก STECON CK การซ่อมบ้าน และคอนโด (HMPRO และหุ้นค้าปลีกที่เชื่อมโยง เช่น CBG OSP CPALL CPAXT)
3) เล่นเก็งกำไรการลดดอกเบี้ย เช่น ไฟแนนซ์ MTC TIDLOR และ
4) กลุ่มหลัก ที่ใช้สะสมแบบ DCA เน้นเลือกที่แนวโน้มกำไรยังแกร่ง (จากผลกระทบสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลก) และเป็นหุ้น Defensive ได้แก่ ค้าปลีก CPALL BJC โรงพยาบาล BDMS BCH โรงไฟฟ้า GULF และไอซีที ADVANC TRUE
กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ แนะนำเล่นหุ้นแบบ Buy the dips
1) กลุ่มเล่นรีบาวด์สั้น ขึ้นขายลงซื้อ ตามเทคนิค
2) การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ชดเชยผลกระทบ GDP จากการส่งออก
3) เล่นเก็งกำไรการลดดอกเบี้ย
4) กลุ่มหลัก ที่ใช้สะสมแบบ DCA เน้นเลือกที่แนวโน้มกำไรยังแกร่ง (จากผล กระทบสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลก) และเป็นหุ้น Defensive ได้แก่ ค้าปลีก โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า และไอซีที
วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET ชนต้าน ชนเส้น EMA 25 วัน & ตำแหน่ง Fibo 23.6% ที่ 1,150 จุด ไม่ผ่าน! ส่งผลให้แนวโน้มระยะสั้นมีโอกาสลงปิด gap บริเวณ bear case zone ที่ 1,100-1,120 จุด หลังจากนั้นคาดว่าดัชนีจะเริ่มสร้างฐานใหม่อีกครั้ง ลักษณะ higher low จุดสังเกตหากดัชนีจะผ่านมรสุมครั้งนี้ไปให้ได้ การปรับฐานจะต้องไม่มี low ต่ำกว่า 1,056 จุดนั่นเอง
Note: “Bank sector” signal alert! เตือนต้องระวัง ตรงกันข้ามกลุ่มเกษตรส่งออกเนื้อหมู....เด่น! ส่วนหุ้นแนะนำเพิ่มหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเข้าพอร์ต เตือน SCC ร่วง! วันนี้ต้องกลับมายืนปิดบวดให้ได้!
What to watch
หุ้นอเมริกาตกแรง โดยอ้างอิงเหตุผล ปธน.เล็งปลดประธานเฟด
ทีมเจรจาเศรษฐกิจไทย เผยเลื่อนเดินทางไปอเมริกา เหตุยังไม่ได้คิวเจรจาการค้า
DHL Express ประกาศระงับส่งสินค้าที่มีมูลค่าเกิน 800 เหรียญให้กับลูกค้าในอเมริกา จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง สืบเนื่องมาตรการศุลกากรสหรัฐฯ
ประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการลดหรือคงดอกเบี้ย ก่อนการประชุม กนง. วันที่ 30 เม.ย.
ติดตาม กสทช. เคาะแนวทางประมูลคลื่นมือถือรอบใหม่
ติดตามงบการเงินกลุ่มธนาคาร
หุ้นแนะนำวันนี้
TRUE หุ้น Domestic Play แนวโน้มผลประกอบการดี มี Sentiment ประมูลคลื่นคืบหน้า
แนวรับ 11.5 ต้าน 12.5 Stop loss 11
CBG เก็งแนวโน้มอุปสงค์ช่วงไตรมาส 2 โดยเฉพาะงานซ่อมบ้านเพิ่ม หนุน อุปสงค์เครื่อมดื่มชูกำลัง
แนวรับ 62 ต้าน 66 Stop loss 60
รายงานพื้นฐานวันนี้
Econ
คาด กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้ง เหลือ 1.5%
เราปรับมุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จากมุมมองเดิมที่คาดว่าจะลดอีก 1 ครั้ง (เหลือ 1.75% ณ สิ้นปี 2025) เป็นคาดว่าจะปรับลดอีก 2 ครั้ง (ครั้งละ 25 bps) เหลือ 1.5% ณ สิ้นปี 2025 โดยลดครั้งที่ 1 ในวันที่ 30 เมษายน 2025 และครั้งที่ 2 ภายใน 2H25 โดยมีเหตุผลรองรับ 3 ข้อหลัก คือ
1) เศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนราว 60% ของ GDP ไทย และยังส่งผลให้เกิดภาวะชะลอการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบของนโยบายการค้าโลก เราก็มองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีแรงกดดันจากโครงสร้างภายในประเทศ อาทิ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ภาคการบริโภคภายในประเทศยังคงอ่อนแอ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SMEs ไทยยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคากับสินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ ธปท. ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.9%
2) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยตลอดปี 2025 จะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 1% โดยยังมีแรงกดดันทั้งจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะจากจีน) ที่น่าจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศยังคงอ่อนแอจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจึงไม่ได้ส่งผลต่อความกังวลด้านเงินเฟ้อ และยังสามารถบรรเทาภาระหนี้ของครัวเรือนบางส่วน
3) ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าส่งออกไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
Economist view: จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้ง เหลือ 1.5% ณ สิ้นปี 2025 จึงสอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นการรองรับกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2025
Bank Sector
ความท้าทายยังไม่ได้จบแค่นี้
ภาพรวมกำไรกลุ่มธนาคารใน 1Q25 อยู่ที่ 5.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% YoY และ 13% QoQ หลักๆ มาจากกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง โดยกำไรที่ออกมาดีกว่าที่เราคาด 9% และตลาดคาด 6% ธนาคารที่รายงานกำไรสุทธิ 1Q25 เติบโตสูง YoY ได้แก่ BBL และ SCB
แม้ใน 1Q25 เราเห็นสัญญาณบวกจากการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี และการเน้นเติบโตในรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคาร แต่สัญญาณลบที่เราเห็น คือ NIM ของหลายธนาคารปรับลดลงค่อนข้างเยอะ และหากมองไปช่วงที่เหลือของปี เราคาดว่าจะเห็นแรงกดดันในด้าน NIM ต่อเนื่อง เพราะนักเศรษฐศาสตร์ของเราเพิ่งปรับมุมมองว่า กนง. น่าจะลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี ทำให้ในเบื้องต้นเราเห็น downside risk สำหรับ NIM ของกลุ่มธนาคารราว 5-10bps หรือคิดเป็น downside ต่อประมาณการกำไรปีนี้ราว 3-7%
Fundamental view: หลังจากที่เราออกบทวิเคราะห์กลุ่มธนาคารไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2025 และได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารลงจาก “เท่าตลาด” เป็น “น้อยกว่าตลาด” แล้ว ดัชนี SETBANK ก็ปรับตัวแย่กว่า (underperform) ดัชนี SET ถึง 6% แต่เรายังประเมินว่ากลุ่มฯ จะยังเผชิญความท้าทายในด้านคุณภาพสินทรัพย์และ NIM ในช่วงที่เหลือของปีต่ออีกด้วย จึงยังคงน้ำหนักการลงทุนตามเดิม
Agro & Food Sector
ทางแยกของกลุ่มเกษตร-อาหาร
แม้อุตสาหกรรมอาหารไทยยังถูกกดดันจากสงครามการค้า แต่กลุ่มปศุสัตว์กลับเดินหน้าต่อได้จากการฟื้นตัวของราคาเนื้อสัตว์และต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง ขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกอาหารยังเผชิญต้นทุนสูงและแรงกดดันจากภาษีสหรัฐฯ
ราคาหมูและไก่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ (ข้าวโพดและกากถั่วเหลือง) ลดลงอย่างมีนัยยะ โดยทุกๆ 10% ของการลดลงของราคาวัตถุดิบ อาจเพิ่มกำไรปี 2026 ได้ราว 6% และหากต้นทุนลดลงถึง 20% จะช่วยหนุนกำไรสูงถึง 15% นอกจากนี้ หากดีลภาษีระหว่างไทย–สหรัฐฯ บรรลุผล และสามารถลดต้นทุนอาหารสัตว์จากการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากสหรัฐฯ จะยิ่งเป็น Upside เพิ่มอีก
ในทางตรงข้าม ITC และ TU ยังคงเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบ เช่น ทูน่า แรงงาน และค่าขนส่ง ขณะที่ความต้องการหลังการเร่ง stock ในช่วงก่อนหน้านี้เริ่มอ่อนตัวลง ทำให้ทั้งปริมาณและ margin ยังมีแนวโน้มถูกกดดัน หากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 36% ถูกใช้เต็มจำนวน อาจเกิดแรงกดดันต่อยอดขายและความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนทันที
Fundamental view: เรายังคงน้ำหนัก “เท่ากับตลาด” สำหรับกลุ่มโดยรวม แต่แบ่งมุมมองชัดเจน
CPF และ BTG เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มปศุสัตว์จากโมเดลธุรกิจที่ครบวงจร การกระจายตลาด และโอกาสการฟื้นตัวของกำไรที่ชัดเจน ส่วน TFG และ GFPT ยังได้อานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรที่สูงและต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง
ในขณะที่ TU และ ITC เรายังคงคำแนะนำ ขาย แม้ราคาหุ้นจะปรับฐานแล้ว แต่ความท้าทายเชิงโครงสร้างยังมีอยู่มาก
Weekly Commodities
ค่าการกลั่นฟื้นเด่นสุด
ภาพรวม: ค่าการกลั่น (GRM) ฟื้นตัวเด่นสุดในรอบสัปดาห์ หนุนโดยดีมานด์ที่แข็งแรงและการปิดซ่อมโรงกลั่นในซาอุฯ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบขยับขึ้นตามความคาดหวังว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ EU จะคืบหน้า ด้านราคาถ่านหินและค่าระวางเรือยังอ่อนต่อเนื่อง ส่วนสเปรดเคมีตกต่ำจากต้นทุนเพิ่มขึ้น
น้ำมันดิบ: ราคาดูไบเฉลี่ยขยับขึ้น $2.51 WoW สู่ $66.91/bbl จากความกังวล supply ตึงตัว และข่าวบวกจากความหวังในข้อตกลงการค้าระหว่าง EU-US
ค่าการกลั่น: GRM สิงคโปร์ขยับขึ้น $0.30 WoW สู่ $3.51/bbl จากการฟื้นตัวของ spread ทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน (+$0.58 WoW) และ HSFO ที่กลับมาเป็นบวก (+$1.46 WoW)
เคมีภัณฑ์: สเปรดยังคงลดลงแรงจากต้นทุน Naphtha ที่สูงขึ้น โดย Ethylene -$30 สู่ $196/t, Propylene -$30 สู่ $226/t, HDPE -$40 สู่ $426/t และ PP -$50 สู่ $456/t
ถ่านหิน: ราคา NEX ลดลง $1.54 WoW (-2%) สู่ $92.35/tonne จากความต้องการที่อ่อนลงในภูมิภาค
ค่าระวางเรือ: BDI -47 จุด WoW สู่ 1,262 โดย Capesize -7%, Panamax -1%, Supramax -1% ขณะที่ค่าระวางคอนเทนเนอร์ (WCI) -3% WoW สู่ 2,192 จุด
Fundamental view: เรายังคงน้ำหนัก “น้อยกว่าตลาด” ต่อกลุ่ม Commodities แม้สหรัฐฯ ประกาศพักการขึ้นภาษี 90 วัน แต่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและดีมานด์ที่ไม่แน่นอนยังคงกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เรายังคงคำแนะนำ “ถือ” สำหรับ PTTEP (จาก yield สูง), TOP (จาก valuation ที่ถูก), และ IVL (จากแนวโน้มกำไร 1H25 ที่ดีกว่าคู่แข่ง) ขณะที่ยังไม่เห็นปัจจัยหนุนรอบใหม่สำหรับกลุ่มอื่นในระยะสั้น
รายงานผลประกอบการวันนี้
(+) KBANK รายงานกำไรสุทธิ 1Q25 ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% YoY (credit cost ลดลง) และ 28% QoQ (ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและ credit cost ลดลง) สูงกว่าที่เราคาด 14% และตลาดคาด 9% จากกำไรจากเงินลงทุนสูงกว่าคาดและ credit cost ที่ดีกว่าคาด ด้านคุณภาพสินทรัพย์ของ KBANK ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน แนวโน้วกำไรสุทธิ 2Q25 จะลดลง YoY และ QoQ กดดันจาก NIM และกำไรจากเครื่องมือทางการเงินลดลง เราประเมินว่าความเสี่ยงจากสงครามการค้า จะส่งผลกระทบลูกค้าในกลุ่ม SME ทำให้เรายังแนะนำ ขาย
(+) SCB รายงานกำไรสุทธิ 1Q25 ที่ 1.25 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% YoY และ 7% QoQ จากค่าใช้จ่าย OPEX และ credit cost ลดลง โดยกำไรสูงกว่าที่เราคาด 11% และตลาดคาด 6% จาก credit cost และค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่ำกว่าคาด และกำไรจากเครื่องมือทางการเงินสูงกว่าคาด ด้านคุณภาพสินทรัพย์ของ SCB อ่อนแอลงเล็กน้อย QoQ ในไตรมาสนี้ แนวโน้มกำไรสุทธิ 2Q25 จะปรับลดลง YoY และ QoQ กดดันจาก NIM และกำไรจากเครื่องมือทางการเงินลดลง เราประเมินว่า SCB มีจุดเด่นที่ dividend yield อยู่ในระดับสูงที่ราว 8% จึงยังแนะนำ ถือ เพื่อรับปันผล
(-) KKP รายงานกำไรสุทธิ 1Q25 ที่ 1.1 พันล้านบาท ลดลง 30% YoY และ 24% QoQ จากสินเชื่อและ NIM ลดลง และ credit cost สูงขึ้น โดยกำไรสุทธิ 1Q25 ต่ำกว่าที่เราคาด 10% และตลาดคาด 15% จาก credit cost สูงกว่าคาด คุณภาพสินทรัพย์ของ KKP อ่อนแอลงบ้างใน 1Q25 แนวโน้มกำไรสุทธิ 2Q25 จะเพิ่มขึ้น YoY (credit cost ลดลง) และทรงตัว QoQ โดยเราปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2025 ลง 5% ทำให้ภายหลังปรับประมาณการ คาดกำไรปีนี้จะลดลง 4% YoY ทั้งนี้ เราประเมินว่าธุรกิจตลาดทุนจะฟื้นตัวค่อนข้างช้าในปีนี้ อีกทั้ง valuations ของ KKP แพงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ ทำให้เรายังแนะนำ ขาย
สรุปประเด็นจาก Quick take
Telecom
อัพเดทประมูลคลื่น
กสทช. เตรียมจัดประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่าน ได้แก่ 850 MHz, 1500 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz
View from fundamental: ราคาคลื่นที่ตั้งต้นสูงขึ้นกว่าคาด อาจสร้าง sentiment เชิงลบต่อกลุ่ม Telecom อย่างไรก็ตาม เรายังชอบ TRUE มากที่สุด (“ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 15 บาท) จาก earnings upside ที่ยังมากกว่า ADVANC
CPF
เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
เข้าซื้อเงินลงทุน CPP เพิ่ม
CPF เข้าซื้อเงินลงทุนใน CPP อีกร้อยละ 23.8 ของจำนวนหุ้น CPP จำนวน US$1,100m จาก ITOCHU ทำให้การถือหุ้นเพิ่มสัดส่วนเป็น 100%
View from fundamental: มองบวกจากดีล เนื่องจากลงทุนไม่แพงที่ 11 เท่า ใกล้เคียง CPF เทรด 10 เท่า และจะมีความคล่องตัวในการนำ CPP Vietnam เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน