Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

223

 

ภาพตลาดและแนวโน้ม

Highlights:

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกเริ่มฟื้นตัวทางเทคนิค หลังเผชิญแรงเทขายอย่างหนักในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ถูกกดดันจากแรงขาย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเปราะบาง เนื่องจากความตึงเครียดด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังไม่คลี่คลาย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม: CN 1Q25 GDP (พุธ) ตลาดคาดเติบโต 5.1% YoY, CN Industrial Production (พุธ) ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 5.6% YoY, CN Retail Sales (พุธ) ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 4.1% YoY, US Retail Sales (พุธ) ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 1.3% MoM
รายละเอียด:
“ภาวะการลงทุนในสัปดาห์ก่อน”

ตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มฟื้นตัวทางเทคนิค หลังจากเผชิญแรงขายอย่างหนักในช่วงก่อนหน้า ซึ่งกดดันให้ Momentum Tracker เข้าสู่ภาวะ mild oversold ส่งผลให้ดัชนี MSCI All-Country World Equity ปรับตัวขึ้น 3.4% ขณะเดียวกัน ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นถึง 6.6% ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 3,245 ดอลลาร์สหรัฐ และเข้าใกล้เป้าหมายปี 2025 ของเราที่ 3,250 ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับเผชิญแรงขายต่อเนื่อง โดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 7–10 ปี ที่ราคาปรับตัวลดลงถึง 3.2% จากแรงกดดันของความกังวลด้านเงินเฟ้อ ซึ่งสะท้อนผ่านอัตรา US 1Y Inflation Swap ที่ปรับขึ้นแตะระดับ 3.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2023

สำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยที่ 0.3% ท่ามกลางแรงซื้อคืนในบางอุตสาหกรรม โดยพบว่ามีเพียง 5 จาก 20 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยกลุ่มที่โดดเด่นคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปรับตัวขึ้นแรงถึง 18.5% โดยมีแรงหนุนหลักจากหุ้น DELTA เพียงตัวเดียว ตามด้วยกลุ่มสื่อสารที่เพิ่มขึ้น 2.5%
“พัฒนาการสำคัญในต่างประเทศ ได้แก่”

องค์การการค้าโลก (WTO) เตือนว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจทำให้การค้าระหว่างสองประเทศลดลงถึง 80% ซึ่งแม้จะคิดเป็นเพียง 3% ของการค้าโลก แต่มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกโดยรวม
WTO กังวลว่า หากการค้าโลกแตกออกเป็น “สองขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์” อาจทำให้ GDP โลกหดตัวลงระยะยาวเกือบ 7% โดยประเทศกำลังพัฒนาอาจได้รับ
ผลกระทบมากที่สุด


มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าที่ดำเนินอยู่ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ในปัจจุบัน ส่งผลให้คาดว่าอัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริงของสหรัฐฯ (US Effective Tariff Rate) อาจปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงถึง 22% โดยมีสมมติฐานในการคำนวณดังนี้
1. ภาษีนำเข้า 25% สำหรับเหล็ก อะลูมิเนียม และรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 4.5% ของมูลค่านำเข้ารวม คิดเป็น 25% × 4.5%
2. ภาษี 145% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งมีสัดส่วน 14% ของมูลค่านำเข้ารวม โดยสมมติว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การนำเข้าสินค้าจากจีนลดลง 40% ส่งผลให้มูลค่าสินค้าที่ได้รับผลกระทบเหลือ 60% = 145% × (14% × 60%)
3. อัตราภาษีทั่วไป (Universal Tariff) ที่ 10% สำหรับสินค้านำเข้าอื่นๆ ซึ่งคิดเป็น 87.1% ของมูลค่านำเข้ารวม = 10% × 87.1%
เมื่อรวมผลกระทบจากทั้งสามรายการ คาดว่า US Effective Tariff Rate จะอยู่ที่ระดับประมาณ 22%
ระดับภาษีดังกล่าวถือว่าสูงใกล้เคียงกับช่วงปี 1930 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ ประกาศใช้กฎหมายภาษี Smoot-Hawley Tariff Act โดยในเวลานั้น อัตราภาษีนำเข้าได้ปรับเพิ่มจากประมาณ 6% ในปี 1920 เป็น 15% ในปี 1923 และเร่งขึ้นถึง 20% ในปี 1930 ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในเวลาต่อมา


“ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่”
วันพุธ: 1) CN GDP ตลาดคาดตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/2025 จะเพิ่มขึ้น 5.1% YoY ชะลอตัวลงจาก 5.4% ในไตรมาสก่อนหน้า, 2) CN Industrial Production ตลาดคาดตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนเดือนมีนาคมจะเพิ่มขึ้น 5.6% YoY ชะลอตัวลงจาก 5.9% ในเดือนก่อนหน้า, 3) CN Retail Sales ตลาดคาดตัวเลขค้าปลีกจีนเดือนมีนาคมจะเพิ่มขึ้น 4.1% YoY เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจาก 4.0% ในเดือนก่อนหน้า, และ 4) US Retail Sales ตลาดคาดตัวเลขค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนมีนาคมจะเพิ่มขึ้น 1.3% MoM เร่งตัวขึ้นจาก 0.2% ในเดือนก่อนหน้า
“แนวโน้มราคาสินทรัพย์ต่างๆ”

ดัชนี S&P 500 ยังคงมีแนวโน้มเผชิญกับความผันผวนในระยะสั้น โดยแรงกดดันหลักมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าภายใต้รัฐบาลทรัมป์ ซึ่งได้ส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดการเงินสหรัฐฯ อย่างรุนแรง และกดดันให้ Dollar Index อ่อนค่าลง
เราประเมินว่า ดัชนี S&P 500 ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการสร้างฐานใหม่ ก่อนที่ภาวะความผันผวนจะคลี่คลายอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนตลาดให้กลับเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ คือความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ต้องเริ่มมีสัญญาณบวกอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่แนวต้านระยะสั้นของดัชนี S&P 500 อยู่ที่บริเวณ 5,600 จุด

ราคาทองคำมีแนวโน้มเผชิญกับแรงขายทำกำไรในระยะสั้นจากภาวะ Technical Overbought ขณะเดียวกัน สถานะ Net Long Position ในตลาดฟิวเจอร์สปรับลดลงจาก 176,553 สัญญา เหลือ 138,465 สัญญา สะท้อนการลดน้ำหนักการเก็งกำไรของนักลงทุนลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการถือครองทองคำจากธนาคารกลางและนักลงทุนภายใต้บรรยากาศความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากข้อพิพาททางการค้าโลก อาจช่วยประคองราคาทองคำให้สามารถฟื้นตัวเป็นระยะ
ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนสภาพตลาดที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยมีแรงกดดันจากภาวะ Overbought ที่ขัดแย้งกับแรงหนุนจากเหตุการณ์เฉพาะ (Event Driven) ทำให้การประเมินทิศทางราคาทองคำในช่วงนี้มีความท้าทายเพิ่มขึ้น เราจึงแนะนำให้นักลงทุนลดการเก็งกำไรในผลิตภัณฑ์ Leverage ที่เชื่อมโยงกับราคาทองคำในระยะสั้น



สรุปภาพตลาดวานนี้
หุ้นไทยพักก่อนสงกรานต์ เพราะเลี่ยงความเสี่ยงช่วงหยุดยาว ทำให้มีแรงขายในหุ้นใหญ่ออกมาก่อนอย่าง GULF AOT PTTEP SCC เป็นต้น ขณะที่แรงซื้อไปอยู่กลุ่มปลอดภัย ADVANC CPALL HMPRO BJC BDMS เป็นต้น

แนวโน้มตลาดวันนี้
ควันหลงหุ้นไทยหลังสงกรานต์
ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาหลังทรัมป์ทำเซอร์ไพร์สตลาดต่อเนื่องด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีชั่วคราวในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ (แต่ก็อย่าเบาใจ สัปดาห์นี้อาจจะมีประกาศเพิ่มเติม) โดยใน 2 วันที่ทำการที่มีผ่านตลาดหุ้นโลก MSCI World ฟื้นตัว 1.5% และดัชนีประเทศสำคัญ ฟื้นตัวเฉลี่ยในช่วง 1-2% ดังนั้น แรงอั้นจาก Sentiment บวกน่าจะหนุน SET สัปดาห์นี้ราว 1.5% เป็นแนวต้านรอบสัปดาห์ราว 1140/1150 ซึ่งตรงกับแนวต้านทางเทคนิคด้วย โดยคาดกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าโภคภัณฑ์ นำรีบาวน์ระยะสั้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่าตลาดหุ้นจะกลับเป็นขาขึ้นในทันที โดยปัจจัยที่จะทำให้ผันผวนแบ่งเป็น

ปัจจัยหนุน ได้แก่ 1) การผ่อนคลายระยะสั้นของประเด็นสงครามการค้า ที่ตลาดเห็นความตึงเครียดในระดับแย่สุด (Worst case) ไปแล้วช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกำแพงภาษีสูงสุดทั้งกลุ่มไม่ตอบโต้ และตอบโต้ (อย่างจีนขึ้นไปกันจนถึงจุดที่มากกว่านี้ก็ไม่มีความหมาย); 2) การเดินหน้าเจรจา โดยเราคิดว่าในประเทศใกล้เคียงไทย น่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม ที่จะเป็นกลุ่มแรกๆ และเป็นตัวอย่างในไทยลำดับถัดไปซึ่งคิดว่าเราจะอยู่ช่วงกลางๆ และตัวแทนฯ ได้วางแผนทางไปเจอภาคส่วนต่างๆ ของสหรัฐฯ แล้วหลังสงกรานต์; 3) โอกาสการลดดอกเบี้ยนโยบายทั้งเฟด-ยุโรปประเทศอื่นๆ รวมไทย และ 4) หุ้นไทย PBV ต่ำเพียง 1 เท่า และ Downside น้อยแล้ว (ช่วงวิกฤติฯ ที่เกิดจากต่างประเทศลงไปต่ำสุดเฉลี่ย 0.9 เท่า)

ส่วนประเด็นกดดัน ได้แก่ 1) แรงกดดันจากกลุ่มธนาคาร จากการขึ้น XD ของหุ้นธนาคารใหญ่ และ Div. yields สูง โดยวันพุธ KTB, SCB และพฤ. KBANK; 2) ใกล้เข้าสู่ช่วงงบฯ กลุ่มธนาคาร เริ่มจาก TISCO พฤ. นี้ และที่เหลือต้นสัปดาห์หน้า และแนะติดตามการประชุมนักวิเคราะห์ต่อ เพราะจะพูดถึงผลกระทบจากสงครามการค้า; 3) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้า แต่จะขยับจากภาษีทุกรายการเป็นภาษีรายสินค้า และเริ่มเข้าสู่การพูดถึง Non-Tariff มากขึ้นตั้งแต่สัปดาห์นี้ เช่น การระงับ/เพิ่มการนำเข้า-ส่งออก การขึ้นบัญชีดำต่างๆ หรือการปรับกฏเกณฑ์ด้านการแข่งขัน นอกจากนี้ จีนก็มีการขยับตัวเจอประเทศต่างๆ ในอาเซียน (ซึ่งเป็นคู่ค้าที่ใหญ่พอๆ กับสหรัฐฯ ด้วย) และ 4) ความผันผวนของค่าเงิน
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้... (หัวข้อถัดไป)

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ 1) กลุ่มเล่นรีบาวด์สั้นตามเทคนิค และการทดแทนการส่งออกจีนไปสหรัฐฯ อย่างอิเล็กทรอนิกส์-ชิ้นส่วนยานยนต์ CCET DELTA HANA KCE เก็งกำไรให้จบรอบก่อนงบฯ ไตรมาส 1 (ปลาย เม.ย.) ที่จะไม่ดีแล้วพักก่อน; 2) การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ชดเชยผลกระทบ GDP จากการส่งออก STECON CK; 3) เล่นเก็งกำไรการลดดอกเบี้ย เช่น ไฟแนนซ์ MTC TIDLOR และ 4)กลุ่มหลัก ที่ใช้สะสมแบบ DCA เน้นเลือกที่แนวโน้มกำไรยังแกร่ง (จากผลกระทบสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลก) และเป็นหุ้น Defensive ได้แก่ ค้าปลีก CPALL BJC โรงพยาบาล BDMS BCH โรงไฟฟ้า GULF และไอซีที ADVANC TRUE


วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET week หลุด low แล้วดึงกลับทันที! ปิดเขียวแท่งใหญ่ ภายหลัง drawdown ปรับตัวลงมาแล้วทั้งสิ้นถึง -22% YTD ส่วนมุมองกราฟเทคนิค…ยังคงมีโอกาสเกิดภาพ V-shape recovery! เนื่องด้วยดัชนีปรับลงมาที่ bear case zone 1,100 จุด ขณะที่ RSI (week) เตือนอยู่ในภาวะ oversold (หากมีข่าวดีจะกระตุ้นให้ตลาดฟื้นตัวขึ้นได้ไม่ยาก) ส่วนจุดต้านประเมินตามตัวเลข Fibonacci retracement 23.6% และ 38.2% จะอยู่บริเวณ 1,155 จุด และ 1,200 จุดตามลำดับ…
Update: หุ้นแนะนำเดือนเม.ย. รุ่น “เราต้องรอด” ยังไปได้สวย! แผนเทรดเมื่อ Bank เตรียมขึ้น XD…..หลังสงกรานต์! ส่วน theme play วันนี้เน้นค้าปลีกคัด 3 ตัวเด่น! เฉลยที่หน้าถัดๆไป

 


What to watch
มีมาตรการคุม Short Sell ใหม่ออกมา หลักๆ คือ ให้ Short Sell ได้เฉพาะหุ้นใน SET100 และใช้เกณฑ์ Uptick Rule และให้กลุ่ม HFT ซื้อขายเฉพาะหุ้นใน SET100
การปรับกลยุทธ์มาเป็นการพิจารณาภาษีรายสินค้า เช่น ยกเว้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ - ยานยนต์ และการใช้มาตรการ Non-tariff เพิ่มขึ้น เช่น ล่าสุดจีนระงับแผนการนำเข้าโบอิ้ง (ซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่)
สงครามการค้า มีแนวโน้มที่จะปรับกลยุทธ์มาเป็นการลดหย่อนภาษีรายสินค้า เช่น ยกเว้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ - ยานยนต์ และการใช้มาตรการท Non-tariff เพิ่มขึ้น สำหรับชาติเจรจากลุ่มแรก เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม
สี จิ้นผิง เยือนประเทศในอาเซียน เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา แนะติดตามการขยับของจีน ในเวทีทางการฑูตในภูมิภาคมากขึ้น แม้ทรัมป์จะยังไม่ให้น้ำหนักประเด็นนี้มาก
WTO ออกมาเตือนความเสี่ยงสงครามการค้า อาจกระทบ GDP โลกกว่า 7% จากกรณี US Effective Tarriff Rate ที่สูงราว 22% ซึ่งใกล้เคียงระดับสงครามการค้าปี 1930 ที่ราว 20% ก่อนที่สหรัฐฯ จะเผชิญเศรษฐกิจถดถอย
ความผันผวนของค่าเงิน และ Dollar Index
คลัง และ ธปท. เตรียมหารือมาตรการรับมือสงครามการค้า ในวันที่ 16-17 เม.ย. นี้ โดย นลท. คาดหวังนโยบายด้านช่วยเหลือการคลัง การลดดอกเบี้ย และการจัดการความผันผวนของค่าเงิน
สำหรับการเจรจา คณะทำงานโดย รองนายกฯ และ รมว. คลัง จะนำคณะเดินทางไปพบนักธุรกิจในสหรัฐฯ 17 เม.ย. และคาดว่าจะเจรจากับผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันที่ 21 เม.ย.
การขึ้น XD ของหุ้นกลุ่มธนาคาร คาดกดดันดัชนีภาพรวม
ปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญ ได้แก่ GDP จีน, การประชุม ECB (ตลาดคาดลดดอกเบี้ย) และการกล่าวสุนทรพจน์ของพาวเวล ใน Economic Club of Chicago


หุ้นแนะนำวันนี้
TRUE เป็นตัวแทนหุ้นกลุ่มปลอดภัยที่ราคาพักตัวลงมาให้สะสม และเล่น รีบาวน์ รวมทั้ง Sentiment จากความคืบหน้าประมูลคลื่นหลัง Public Hearing
แนวรับ 11.5 ต้าน 12.2 และ 12.8 Stop loss 11.0

CPALL กำไรยังแกร่ง รวมทั้งปลอดภัยจากแรวกระแทกสงครามการค้าในระดับหนึ่ง และเสี่ยงกระทบจากสินค้าจีนน้อยกว่ากลุ่มอื่นในค้าปลีก
แนวรับ 48-49 ต้าน 55 Stop loss 47

Tactical port ถอด COM7


รายงานพื้นฐานวันนี้

Electronic Sector
ความไม่แน่นอนยังสูง
ช่วงสุดสัปดาห์ทีผ่านมามีประเด็นการยกเว้นภาษีสินค้า Consumer electronics หลังจากนั้นประกาศว่าจะไม่มีการยกเว้นใดๆ และจะตรวจสอบสินค้าเหล่านี้ “ด้านความมั่นคงของชาติ” คาดจะประกาศเร็วๆนี้ แต่ก็ตามมาด้วยข่าวดีในการส่งสัญญานยกเว้นภาษีกลุ่มยานยนต์
เรายังเชื่อว่าการเลื่อนภาษี 90 วัน จะนำไปสู่ “panic order” ทำให้รายได้อาจพุ่งชั่วคราวใน 2Q25 และอาจลากยาวถึง 3Q–4Q หากความไม่แน่นอนยังอยู่
อย่างไรก็ตามจะตามมาด้วยความเสี่ยงเนื่องจากอุปสงค์ที่แท้จริงไม่ได้ฟื้นตัว และมีโอกาสที่จะมีการชะลอตัวทั้งในแง่การลงทุนและการทำสัญญาแบบระยะยาว
Fundamental / Tactical view: สำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เรายังไม่ได้แนะนำในเชิงพื้นฐาน เพียงแต่บางจังหวะจะสามารถ เล่นเก็งกำไร ตามรอบได้ โดยเราได้ประเมินกรอบราคาเทคนิคสำหรับเล่นรอบ คือ DELTA: 50–80 บาท, KCE: 13.5–17.5 บาท, HANA: 14–18 บาท (อย่าลืมวางจุดล็อคกำไร และตัดขาดทุน)

KTC
บัตรกรุงไทย
กำไรยังอ่อนแอ
เราคาดคุณภาพสินทรัพย์ของ KTC น่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขของธนาคารพาณิชย์ไทยที่รายงาน NPLs/loans ratio ของกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต ณ ปลายปี 2024 ที่ปรับลดลง QoQ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 2Q23 สอดคล้องกับ NPLs/loans ratio ของสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อบุคคลอื่นของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย QoQ ณ ปลายปี 2024
นอกจากนี้ KTC ยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ปี 2024 ซึ่งจากข้อมูลในอดีต พบว่าในช่วงที่สินเชื่อของ KTC เติบโตช้า ทิศทางคุณภาพสินทรัพย์ก็เห็นการฟื้นตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้เราคาดกำไรปี 2025 ของ KTC จะเติบโตเพียง 3% YoY ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนที่ 9% YoY
แนวโน้มกำไรสุทธิ 1Q25 เราคาดที่ 1.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 4% YoY (รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น) แต่ลดลง 1% QoQ (สินเชื่อและ NIM ลดลง)
Fundamental view: เรายังคงคำแนะนำขาย

 


HMPRO
โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์
การฟื้นตัวจะเห็นในไตรมาส 2
เราคาดกำไรหลัก 1Q25 อยู่ที่ 1,715 ลบ. ทรงตัวทั้ง YoY และ QoQ จากกำลังซื้อที่ยังซบเซา เพดาน e-Receipt ลดลง และผลของปีปฏิทินเดือน ก.พ. ขณะที่ SSSG ของ HomePro ซึ่งคิดเป็น 80% ของยอดขาย คาดว่าลดลง 3.3% โดยยอดขายรวมโตเพียง 1% YoY จากจำนวนสาขาใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 131 แห่ง (เพิ่มขึ้น 8 สาขา YoY) ส่วน GM คาดที่ 26.3% (+10bps YoY) จาก Product-mix ที่ดี
แนวโน้ม 2Q25 จะฟื้นตัว โดยยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้ายังอ่อนแอ (SSS ในช่วง 1–7 เม.ย. ลดลงระดับ low-to-mid single digit) แต่เราคาดว่าการฟื้นตัวจะชัดเจนในปลาย 2Q25 จากแรงหนุนของการซ่อมแซมบ้านหลังแผ่นดินไหว และการฟื้นตัวของอสังหาฯ จากมาตรการลดค่าธรรมเนียมและคลายเกณฑ์ LTV
Fundamental view: แม้ HMPRO จะเผชิญความเสี่ยงจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ มากกว่ากลุ่มสินค้าจำเป็น แต่ความเสี่ยงหลักยังเป็นเรื่องอุปสงค์ในประเทศ และการแข่งขันจากสินค้าจีนที่อาจเข้ามามากขึ้น หาก SSSG ปีนี้ลดลง 2% (แย่กว่ากรณีฐานที่คาดว่า SSS ทรงตัว) จะกระทบกำไรหลักราว 7% แต่ราคาหุ้นที่เทรดที่ PER ปี 2025 เพียง 17.3x ยังต่ำกว่า ROE ที่ 24–25% และมีแรงหนุนจากโครงการซื้อหุ้นคืนวงเงิน 7 พันลบ. และเงินปันผลอีก 0.25 บาท (Yield 2.8%, XD 22 เม.ย.) ซึ่งจะช่วยจำกัด downside ได้ดี เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 9.80 บาท

วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้