สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(10 เมษายน 2568)---------เดือน มี.ค.68 เงินเฟ้อจีนติดลบติดต่อกัน 2 เดือน (รูปที่ 1) ได้รับแรงกดดันจากราคาอาหาร ทั้งในส่วนของราคาไข่ และผักสด อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อพื้นฐานกลับมาเป็นบวกสะท้อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ทยอยออกมา เช่น โครงการ Trade in เริ่มส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเงินเฟ้อในส่วนของเสื้อผ้า สินค้าในบ้าน ปรับเพิ่มขึ้น (รูปที่ 2) ขณะที่ราคารถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าในโครงการ Trade in เริ่มมีสัญญาณชะลอการปรับลดลงเล็กน้อย
o แม้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของจีนจะเริ่มส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายของครัวเรือน และทางการจีนยังมีแนวโน้มที่จะทยอยออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ แต่คาดว่าผลจากมาตรการจะเข้ามาชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่ได้เพียงบางส่วน ปัญหาเงินฝืดจะยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจจีน มีรายละเอียด ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนยังคงปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 30 (รูปที่ 1) และในระยะข้างหน้ายังมีทิศทางปรับลดลงต่อจากปัญหาสงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่จะยิ่งกดดันปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินในประเทศของจีน
2. ล่าสุดสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมด 125% ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกจีนไปสหรัฐฯ ราว 50% กดดันให้สินค้าบางส่วนที่เคยถูกส่งออกไปสหรัฐฯ ถูกนำมาระบายในประเทศกดดันราคาสินค้าในจีนให้ยังมีแนวโน้มปรับลดลง
3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจีนยังกดดันมุมมองเกี่ยวกับรายได้ และการจ้างงาน (รูปที่ 4)
o เงินเฟ้อจีนปี 2568 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% (Bloomberg consensus) โดยยังต้องติดตามความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการจีนจะทยอยออกมาเพื่อชดเชยผลกระทบเพิ่มเติม