สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (9 เมษายน 2568)-------ฟิทช์ เรทติ้งส์-ฮ่องกง/กรุงเทพฯ – 8 เมษายน 2568: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็น ‘BBB-‘ จาก ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) เป็น ‘AA-(tha)’ จาก ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
รายการการจัดอันดับเครดิตทั้งหมดอยู่ด้านล่าง
การปรับลดอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า อัตราส่วนหนี้สินของ PTTGC จะอยู่ในระดับสูงกว่า ระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิต ‘BBB/AA(tha)’ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจาก การฟื้นตัวของกำไร จะล่าช้ากว่าที่คิดเคยคากการณ์ไว้ จากวัฏจักรขาลงที่ยาวนานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี น่าจะยังคงอ่อนแอในปี 2568 เนื่องจากการเติบโตของอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่มีกำลังผลิตใหม่เข้าสู่ตลาด ฟิทช์คาดว่า หนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) จะยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบอันดับเครดิต (Rating Headroom) อยู่ในระดับต่ำ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่ากำไรจะมีการฟื้นตัว และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจะปรับตัวลดลงในปี 2568
อันดับเครดิตของ PTTGC ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ที่ ‘bb’/’a(tha)’ ซึ่งมีการปรับลดจาก ‘bb+’/’a+(tha)’ สะท้อนถึงแรงจูงใจของบริษัทแม่ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’/‘AAA(tha)’) ในการให้การสนับสนุน จากความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) แก่ PTTGC ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) อันดับเครดิตของ PTTGC สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ PTTGC ในฐานะบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำในภูมิภาค การที่บริษัทฯ มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้จากสัญญาการจัดหาวัตถุดิบ และสัญญาซื้อผลิตภัณฑ์ระยะยาวกับบริษัทแม่
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง: EBITDA Net Leverage ของ PTTGC ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.6 เท่า ณ สิ้นปี 2567 จาก 6.9 เท่า ในปี 2566 เนื่องจากกำไรที่ต่ำกว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้ การปรับตัวลดลงของอัตราส่วนหนี้สิน น่าจะช้ากว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของอุตสาหกรรม ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตของ PTTGC จะอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่า EBITDA Net Leverage จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4-5 เท่า ในปี 2568 และ 2569 จากกำไรที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลง
กำไรที่ฟื้นตัวล่าช้า: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจาหน่าย (EBITDA) ของ PTTGC น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3.2-3.9 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในปี 2568 - 2569 (ปี 2567 อยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท) และปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2571-2572 อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ที่อ่อนแอกว่าที่คาด อาจทำให้การฟื้นตัวของกำไรล่าช้าออกไป
ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์เคมีที่ต่ำ: ฟิทช์คาดว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะยังคงอ่อนแอในปี 2568 เนื่องจาก ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของความต้องการของผู้บริโภคจากประเทศจีน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ช้าลง และสภาวะกำลังการผลิตที่เกินความต้องการ จะยังคงกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจีนน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนการเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด อย่างน้อยจนถึงปี 2569 สงครามทางการค้าที่รุนแรงขึ้น น่าจะส่งผลกดดันต่ออุปสงค์ที่ยังคงอ่อนแอ ฟิทช์คาดว่ากำลังผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2568 และ 2569 แม้ว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะถูกลดทอนบางส่วนจากการหยุดเดินเครื่องของกำลังการผลิตในอุตสาหกรรม
เป้าหมายในการลดหนี้สินของบริษัทฯ: กำไรที่ฟื้นตัวล่าช้า จะส่งผลต่ออัตราส่วนของหนี้สินของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่า PTTGC กำลังจัดทำแผนกลยุทธ์ทางเลือกในการลดหนี้สิน รวมถึงการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน การลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน การลดรายจ่ายจากการดำเนินงาน การขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ซึ่งอาจเพิ่มความยืดหยุ่นในการลดหนี้สิน หากการฟื้นตัวของกำไรล่าช้ากว่าที่ฟิทช์คาด
แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ในระดับปานกลาง: การปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ สะท้อนถึงแรงจูงใจของบริษัทแม่ซึ่งได้แก่ ปตท. ในการให้การสนับสนุน จากความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) แก่ PTTGC ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์เชื่อว่าธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่ง PTTGC เป็นหนึ่งในบริษัทหลักของธุรกิจนี้ มีความสำคัญด้านกลยุทธ์ต่อ ปตท. นอกจากนี้ PTTGC ยังเป็นผู้รับซื้อวัตถุดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ของ ปตท.
การขยายเทอมการชำระเงินช่วยเสริมความคล่องตัวทางการเงิน: ฟิทช์มองว่าการขยายเทอมการชำระเงินในการซื้อวัตถุดิบจาก ปตท. นั้น จะช่วยเสริมสภาพคล่องและเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้กับ PTTGC ในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สิน PTT ได้ขยายเทอมเทอมการชำระเงินเพิ่มเติมในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งน่าจะช่วยลดความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน จำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2568
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
PTTGC มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า Alpek, S.A.B. de C.V (อันดับเครดิตที่ ‘BBB-‘/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) เล็กน้อย โดย Alpek เป็นผู้นำในธุรกิจ PTA, PET rPET และ Expandable Polystyrene ในทวีปอเมริกา ในขณะที่ PTTGC เป็นบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ประมาณร้อยละ 92 ของรายได้ของ Alpek มาจากผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ที่มีความผันผวนต่ำ ในขณะที่การเข้าซื้อกิจการของ Allnex ได้ทำให้กำไรของ PTTGC มีเสถียรภาพมากขึ้น และทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจาหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ปรับตัวดีขึ้น อันดับเครดิตของ Alpek อยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ PTTGC ที่ ‘bb’ อยู่ 2 อันดับ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินของ Alpek อยู่ในระดับต่ำกว่าของ PTTGC
สถานะทางธุรกิจของ PTTGC ก็มีลักษณะใกล้เคียงกันกับของ Braskem S.A. (อันดับเครดิตที่ ‘BB+’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) Braskem มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า PTTGC แต่มีผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้าง ซึ่งทำให้กำไรของ Braskem มีความผันผวนมากกว่า อันดับเครดิตของ Braskem สูงกว่า อันดับเครดิตโดยลำพังของ PTTGC ที่ ‘bb’ อยู่ 1 อันดับ เนื่องจาก Braskem มีอัตราส่วนหนี้สินที่แข็งแกร่งหว่า PTTGC
สถานะทางธุรกิจของ Synthos Spolka Akcyjna (อันดับเครดิตที่ ‘BB’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) อ่อนแอกว่า PTTGC จากขนาดของธุรกิจที่เล็กว่า การกระจายตัวของรายได้ที่น้อยกว่า และสถานะการเป็นผู้นำของผลิตภัณฑ์ที่อ่อนแอกว่า แม้ว่าธุรกิจ Synthetic Rubber จะแข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเข้าซื้อทรัพย์สินจาก Trinseo Synthos มีอัตราส่วนหนี้สินที่ดีกว่า PTTGC เล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอที่จะชดเชยสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ทำให้ Synthos มีอันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตโดยลำพังของ PTTGC
สถานะทางธุรกิจของ PTTGC แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่าเมื่อเทียบกับ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha); แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) นอกจากนี้ PTTGC ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า TOP
PTTGC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด หรือ SCGC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) เนื่องจาก PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่มากกว่า นอกจากนี้ PTTGC ยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า ดังนั้นอันดับเครดิตโดยลำพังของ PTTGC ที่ ‘a(tha)’ จึงอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ SCGC ที่ ‘bbb(tha)’
สมมุติฐานที่สำคัญ:
- ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2569, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2570, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2571 และ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2572 และหลังจากนั้น โดยมีการปรับด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ PTTGC;
- กำไรของธุรกิจปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2568 เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามาและอุปสงค์ที่ยังคงอ่อนแออยู่ จะกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบ
- ค่าการกลั่นที่ไม่รวมกำไร/ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ปรับตัวดีขึ้นในปี 2568 เป็นต้นไป
- การใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอยู่ในระดับสูงในปี 2567 เนื่องจากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงกลั่น
- การขยายเทอมการชำระเงินเพื่อซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท. ต่อเนื่องจนถึงปี 2568-2569
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนรวมจำนวน 6.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2568-2570
- จ่ายเงินปันผลร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม
- รวมงบการเงินของบริษัทลูก บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด (อันดับเครดิตที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ตามสัดส่วนการถือหุ้นของ PTTGC
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
- บริษัทฯ ไม่สามารถปรับลดอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ตามที่ฟิทช์คาดการ ให้ไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ที่ลดลง
ปัจจัยบวก:
- EBITDA Net Leverage ปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ที่เพิ่มขึ้น
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: PTTGC มีหนี้ทั้งหมด จำนวน 2.4 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2567 โดยหนี้จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า สภาพคล่องของ PTTGC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้น ปี 2567 กระแสเงินสดจากการขยายเทอมการชำระเงินเพื่อซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท. นอกจากนี้ PTTGC มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งตลาดเงินกู้ จากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ ปตท. และสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทย
เกี่ยวกับบริษัท
PTTGC เป็นบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและกลั่นน้ำมันครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเคมีจำนวน 14 ล้านตันต่อปี และมีกำลังการกลั่นน้ำมันที่ 2.8 แสนบาร์เรลต่อวัน ณ สิ้นปี 2567