สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(8 เมษายน 2568)--------เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/2568 เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.93%YoY ชะลอจากไตรมาสที่ 4/2567 ที่ 7.55%YoY (รูปที่ 1) ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 1 มาจากการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นถึง 16.9%YoY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเครื่องจักรที่เพิ่มสูงขึ้น หลังพายุไต้ฝุ่นยางิสร้างความเสียหายให้กับฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม ประกอบกับการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในภาคการผลิตก็เติบโตเร่งขึ้น ส่วนการส่งออกในไตรมาสที่ 1 เติบโตที่ระดับ 10.6%YoY ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าลดลงในไตรมาสที่ 1/2568 (รูปที่ 2 และ 3)
• เวียดนามเป็นประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) สูงถึง 46% (รูปที่ 4) และเสี่ยงส่งผลกระทบเชิงลบต่อ GDP สูงถึง 1.5% จากการที่เศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน (รูปที่ 5) นอกจากนี้ เวียดนามอาจไม่ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มากเหมือนที่ผ่านมา โดยอานิสงส์หลักจากสงครามการค้าอาจจะลดน้อยลงไป อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คาดยังพอมีศักยภาพดึงดูดเม็ดเงินลงทุน เนื่องจาก Reciprocal Tariffs มีข้อยกเว้นในบางรายสินค้า ซึ่งเซมิคอนดักเตอร์ก็เป็นหนึ่งในข้อยกเว้นที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% เท่ากันทั่วโลก
• การส่งออกเวียดนามได้รับผลกระทบทางตรงจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเชื่อมห่วงโซ่อุปทานกับจีน คาดส่งออกหดตัว -4.5% ในปี 2025 จากประมาณการเดิมที่ 12% โดยมีรายละเอียดดังนี้
ผลกระทบทางตรง: การส่งออกเวียดนามไปยังสหรัฐฯ คาดว่าจะหดตัวที่ -8.1% ในปี 2025 จากความต้องการสินค้าที่ลดลงในกลุ่มสินค้าที่เวียดนามพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ของเล่น เครื่องหนัง และรองเท้า รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐฯ (รูปที่ 6)
ผลกระทบทางอ้อม: (1) การส่งออกสินค้าของเวียดนามที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเชิงลบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เส้นด้ายฝ้าย และกระดาษลูกฟูก เป็นต้น (2) การส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมทั้งยังต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจีนในกลุ่มสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ของเล่น เกมส์ และผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เป็นต้น
• ความคืบหน้าการเจรจากับสหรัฐฯ ณ วันที่ 4 เม.ย. ประธานาธิบดีทรัมป์เผย เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โตเลิมของเวียดนามเสนอลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% เพื่อบรรลุข้อตกลง Reciprocal Tariffs กับสหรัฐฯ และขอให้สหรัฐฯ เลื่อนการเก็บ Reciprocal Tariffs 46% ออกไปก่อนในระหว่างการเจรจาการค้า อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ชี้ปัญหาอยู่ที่ประเด็นข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ทั้งนี้ คาดเวียดนามจะพิจารณาทบทวนแก้ไขตามข้อเรียกร้องบางส่วนเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีตามรายงานของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) (ตารางที่ 1) นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา เวียดนามได้ประกาศลดภาษีนำเข้ารถยนต์ ก๊าซ LNG เอทานอล และสินค้าเกษตรหลายรายการ อาทิ แอปเปิล อัลมอนด์ และเชอรี่ อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามยังให้คำมั่นจะนำเข้า เครื่องบิน ก๊าซธรรมชาติ สินค้าไฮเทค และสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ จึงเป็นการแสดงความร่วมมือในการแก้ปัญหาสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศ
• ลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ปรับปรุงกระบวนการศุลกากรให้เร็วขึ้นและโปร่งใสขึ้น
• ผ่อนปรนข้อจำกัดการนำเข้า
• ผ่อนปรนข้อจำกัดด้านอิเล็กทรอนิกส์และการชำระเงินดิจิทัล
• ปรับปรุงระบบขึ้นทะเบียนยา-เวชภัณฑ์ให้มีความโปร่งใส
• เพิ่มความชัดเจนในข้อกำหนดด้านการเก็บข้อมูล และไม่บังคับ Data localization สำหรับต่างชาติ
• บังคับใช้กฎหมาย IP อย่างเข้มงวด
• อนุญาตให้บริษัทต่างชาติให้บริการ Over-the-top (OTT) โดยไม่ต้องตั้งสำนักงานในประเทศ
• เปิดให้ต่างชาติลงทุนมากขึ้นในภาคส่วนธนาคาร โทรคมนาคม และ Cloud services
• ในเบื้องต้น Reciprocal Tariffs คาดส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตชะลอลงมาที่ 5.3% (รูปที่ 7) แต่ยังมีปัจจัยบวกหากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า Reciprocal Tariffs เป็นเกมการเจรจาของสหรัฐฯ เพื่อนำมาสู่ข้อตกลงใหม่ของสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง จึงจำเป็นต้องติดตามผลการเจรจาซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการค้าการลงทุน และแนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะข้างหน้า