Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: ไทยโดนภาษีตอบโต้ 36% กูรูศก.คาดฉุด GDPไทยโตแค่ 1.45% โบรกฯ สั่งหลีกเลี่ยง หุ้นส่งออก ซบDefensive,Domestic

1,056

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(3เมษายน 2568)------- TISCO ESU ประเมินทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสูงสุดในรอบ 100 ปี กดดัน ศก.สหรัฐฯ ชะลอตัว - ฉุด GDP ไทยโตแค่ 1.45% ด้าน โบรกฯ สั่งหลีกเลี่ยง หุ้นส่งออก ซบDefensive,Domestic ขณะที่ SCB FM มองเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อได้อีกไม่มากในระยะสั้น แม้สหรัฐฯจะประกาศ Reciprocal tariffs แต่ปลายปียังไม่แน่นอนสูง บาทอาจอ่อนต่อ

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาด ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสูงสุดในรอบกว่า 100 ปี ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวชัดเจน เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำเพียง 1.45% และอาจปรับลงอีกหากต้องเจรจาต่อรอง ด้านกลยุทธ์ลงทุน ธนาคารทิสโก้แนะทยอยซื้อ 6 สินทรัพย์รับดอกเบี้ยขาลง หุ้นที่ประเทศที่มีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อ GDP น้อย และราคาหุ้นน่าสนใจ ได้แก่ ตราสารหนี้โลก Global REITs หุ้นอินเดีย ญี่ปุ่น จีน และไทย


นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากหลายประเทศเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา นับเป็นมาตรการที่เข้มงวดที่สุดในรอบกว่า 100 ปี เพื่อปกป้องเศรษฐกิจและลดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้เกือบ 60 ประเทศเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน ยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น พลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยา และทอง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ถูกตอบโต้โดยตรงก็เผชิญอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น 10% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย.นี้

 

จากอัตราภาษีศุลกากรที่ปรับเพิ่มขึ้นมากนี้ โดยเฉพาะ Reciprocal Tariffs ทาง TISCO ESU มองว่า จะส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่สหรัฐฯ จัดเก็บกับคู่ค้าปรับขึ้นราว 14 จุด (Percentage Point (ppt)) และหากรวมกับการตั้งภาษีนำเข้ายานยนต์ อัตราภาษีเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นราว 16 จุด ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เคยประเมินว่า ทุก 1 จุดที่อัตราภาษีเฉลี่ยปรับขึ้น จะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจราว -0.14 จุด ดังนั้น หากมีการปรับขึ้นอัตราภาษีตามที่ประกาศนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession Risks) เพิ่มขึ้นมาก
ผลกระทบต่อตลาดเงิน การขึ้นภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ระยะ 10 ปี ปรับลดลงต่ำกว่า 4.1% ขณะเดียวกัน Fed Funds Futures มอง Fed จะลดดอกเบี้ยมากขึ้นเป็น -3.2 ครั้ง หรือลดลง 0.81% ในปีนี้ ขณะที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ดัชนีหุ้นหลักของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงหนัก โดย Dow Jones ลดลง 1.9%, S&P500 ลดลง 2.7%, และ Nasdaq ลดลงกว่า 3.3% ส่วนราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สะท้อนภาวะเสี่ยงสูง (Risk-off) เป็นวงกว้าง ขณะที่ราคาทองคำยังทรงตัวอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยออนซ์

 

“เรามองว่า Sentiment ลบในภาพรวมมีแนวโน้มดำเนินต่อไปจนกว่าจะเห็นแนวโน้มการเจรจาผ่อนผันข้อบังคับระหว่างประเทศมากขึ้น ด้าน Sector ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มองว่าเผชิญแรงกดดันหนักจะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงที่เสี่ยงต่อการถูกโต้ตอบกลับ อาทิ วัสดุอุตสาหกรรม, เทคโนโลยี และ การสื่อสาร” นายคมศร กล่าว


ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ ประกาศกับไทยที่ 36% TISCO ESU ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากที่ราว 1.35 จุด จากปัจจุบันที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% เหลือเพียง 1.45% โดยยังไม่นับรวมผลของมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง เช่น 1. การลดการกีดกันทางการค้า (Non-tariff Barrier) และเปิดเสรีให้กับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ มากขึ้น 2. การเพิ่มโควต้านำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของหลายประเทศ อาจส่งผลให้สินค้าไทยที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรถูกลดการนำเข้าจากตลาดในต่างประเทศลง เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลกับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า อาทิ แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติที่อาจลดลง เนื่องจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทำได้ยากขึ้น และประเด็นสุดท้าย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ในการประชุมรอบที่ 2/2025 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ 1 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจลดลงเหลือ 1.50% ภายในสิ้นปีนี้

 

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน จากอัตราภาษี Reciprocal Tariff ที่ 34% บวกอัตราภาษีเดิมที่ 20% ทำให้จีนต้องเผชิญอัตราภาษีรวมกว่า 54% ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจจีนราว 1.5-2.0 จุด ทั้งจากผลกระทบทางตรงผ่านช่องทางการส่งออก และผลกระทบทางอ้อมผ่านความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ตลอดจนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่มีแนวโน้มลดลง และอาจจะกระทบต่อการลงทุนในประเทศของภาคธุรกิจในระยะต่อไป


อย่างไรก็ตาม คาดว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบผ่านการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงอาจมีมาตรการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ผ่านทั้งมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff measures) เช่น การควบคุมการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังสหรัฐฯ การดำเนินการกับบริษัทสหรัฐฯ หรือการจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ เป็นต้น

แนะทยอยซื้อตราสารหนี้โลก Global REITs หุ้นอินเดีย ญี่ปุ่น จีน และไทย


ด้าน นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกลยุทธ์การลงทุนหลังทรัมป์ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้า ว่า จากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ธนาคารทิสโก้คาดว่าหลังจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจโดยรวมที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จึงส่งผลดีต่อราคาตราสารหนี้โลก และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โลก (Global REITs) ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้


นอกจากนี้ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ทยอยซื้อ หุ้นประเทศอินเดีย หุ้นประเทศญี่ปุ่น และหุ้นจีน เพราะมูลค่าหุ้น (Valuation) เริ่มน่าสนใจ เศรษฐกิจเติบโตจากการบริโภคในประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ต่ำ เมื่อเทียบกับ GDP ของแต่ละประเทศ


“ปัจจุบันประเทศอินเดียมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.4% ของ GDP ส่วนญี่ปุ่นมีสัดส่วนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.6% ของ GDP และประเทศจีนมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพียง 2% ของ GDP ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศแคนนาดาที่มีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ 19.4% ของ GDP และเม็กซิโก้มีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ 25.6% ของ GDP นอกจากนี้ ในด้านราคาหุ้นอินเดีย ญี่ปุ่น และจีนยังน่าสนใจ โดยปัจจุบันหุ้นอินเดียมี Forward P/E อยู่ที่ 19.3 เท่า ต่ำกว่าเฉลี่ย 5 ปีที่อยู่ที่อยู่ในระดับ 20.20 เท่า หุ้นญี่ปุ่นมี Forward P/E อยู่ที่ 17.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่อยู่ในระดับ 19.1 เท่า และหุ้นจีนมี Forward P/E อยู่ที่ 11.2 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่อยู่ในระดับ 11.5 เท่า” นายณัฐกฤติกล่าว


ดังนั้น ธนาคารทิสโก้จึงแนะนำให้ลูกค้าใช้จังหวะที่หุ้นย่อตัวลงในช่วงนี้ ทยอยลงทุนในตราสารหนี้โลก ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โลก (Global REITs) หุ้นตลาดหุ้นอินเดีย ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นจีน นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นไทยเพิ่ม เพราะมูลค่าหุ้นในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังและลงมาอยู่ในระดับเทียบเท่าช่วงที่เกิดวิกฤติ COVID- 19 แล้ว โดยปัจจุบัน Forward P/E หุ้นไทยอยู่ที่ 12.3 เท่า ขณะที่ช่วง COVID –19 อยู่ที่ 12.9 เท่า

 

ข้อมูลเพิ่มเติม
ประเทศสำคัญที่ถูกตั้งกำแพงภาษีศุลกากรตอบโต้ ได้แก่
• ไทย: 36% (สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยมูลค่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2% ของการนำเข้าทั้งหมด)
• จีน : 34% (สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนมูลค่า 4.6 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 13% ของการนำเข้าทั้งหมด)
• สหภาพยุโรป: 20% (สหรัฐฯ นำเข้าจากสหภาพยุโรปมูลค่า 6.1 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 18% ของการนำเข้าทั้งหมด)
• ญี่ปุ่น: 24% (สหรัฐฯ นำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 4.5% ของการนำเข้าทั้งหมด)
• เวียดนาม: 46% (สหรัฐฯ นำเข้าจากเวียดนามมูลค่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 4.2% ของการนำเข้าทั้งหมด)
• เกาหลีใต้: 25% (สหรัฐฯ นำเข้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 1.3 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 4% ของการนำเข้าทั้งหมด)
• ไต้หวัน: 32% (สหรัฐฯ นำเข้าจากไต้หวันมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3.5% ของการนำเข้าทั้งหมด)
• อินเดีย: 26% (สหรัฐฯ นำเข้าจากอินเดียมูลค่า 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3% ของการนำเข้าทั้งหมด)

 

 


บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง ออกบทวิเคราะห์ ระบุว่า จากการที่ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้ หรือ Reciprocal tariff กับไทยสูงถึง 36% ในทุกๆ รายการ ในเบื้องต้น เราประเมินว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการส่งออกไทย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกกว่า 18.3% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด หากเราประเมินผลกระทบในเชิงตัวเลข เราอาจจะเห็นตัวเลขการส่งออกที่หดตัวต่ำกว่า 1% และอาจเห็น GDP growth ของไทยในปี 2025 ลงไปแตะ 1% หรือต่ำกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่สงครามการค้ายืดเยื้อ

อย่างไรก็ดี การที่ทรัมป์เรียกเก็บภาษีกับ 50 ประเทศคู่ค้าในอัตราที่สูงแบบนี้ ก็สะท้อนถึงความต้องการในการบีบการเจรจาทางการค้ากับคู่ค้าต่างๆ ให้จบเร็วขึ้น และสำหรับไทยเอง ภาครัฐก็คงต้องเร่งเจรจาทางการค้าเร็วขึ้น และเราอาจจะเห็นภาพการเปิดเสรีทางการค้าในบางกลุ่มสินค้าเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าไทยอาจจะจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลายรายการที่ไทยเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ สูง และอาจจะมี Non-tariff barriers ทางการค้าในอดีต เช่น เนื้อหมู นอกเหนือจากถั่วเหลือง ข้าวโพด ที่เราเคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และอาจจะต้องเจรจานำเข้าสินค้าพลังงานหรือสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องบิน อาวุธ ยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ เป็นต้น


คาดกดดัน sentiment ตลาดหุ้นไทยรุนแรงจากความกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรง และทางอ้อม ในแง่ผลกระทบทางตรง สัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ของ SET อยู่ที่ราว 1.4% โดยบริษัทฯ ที่มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ สูง เช่น ITC (ราว 50%), TU (ราว 39%), DELTA (ราว 25%), HANA (ราว 25%), KCE (ราว 23%), CPF (ราว 10%), SAT (ราว 5%)


Base Case ของเราที่ให้น้ำหนักความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจจนเข้าสู่ Mild Recession เป็นความเสี่ยงต่อกลุ่ม Cyclical/Global Play โดยสำหรับไทย Downside ต่อ EPS ของ SET ราว 6-7%


และหากอิงจากข้อมูลในอดีต การปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ลง 1% อาจส่งผลให้ การประมาณการกำไรของ SET ลดลงถึง 4.4% ทำให้เรามอง EPS ของ SET อาจมี downside อยู่ที่ราว 88


หากอิงจาก PER ต่ำสุดช่วง Trade War รอบแรก และ COVID จะได้ PER ที่ 12.3x ทำให้ประเมิน downside ของ SET ราว 1080

ในแง่กลยุทธ์ระยะสั้น ยังเน้นเพิ่มน้ำหนักกลุ่ม Defensive เช่น โรงพยาบาล สื่อสาร และ Domestic เช่น ค้าปลีกของใช้จำเป็น (Consumer staples) ที่มีรายได้พึ่งพาในประเทศสูง


ในขณะที่ ลดน้ำหนักกลุ่ม Exporter ไปสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง, ลดน้ำหนักหุ้น Cyclical/Global Play ที่อ่อนไหวต่อการชะลอตัวของการค้าโลก


ทั้งนี้ มองถือเงินสดบางส่วนเพื่อรอเข้าซื้อในช่วง Turning Point สำคัญ คือ “สัญญาณการเปิดทางเจรจา” และสัญญาณจุด Bottom ของตลาดหุ้นทั่วโลกหลังสงครามการค้าคลี่คลาย จึงเป็นสัญญาณสำคัญในการเพิ่ม Beta พอร์ต ทยอยเข้าสะสมหุ้นที่ราคาย่อตัวแรงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกลุ่มวัฏจักร/Global Play เช่น กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์จากคาดเศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุด และเข้าสู่การเติบโตรอบใหม่

 

 

บล.เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์เปิดเผว่า หลังจากที่ TRUMP ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ทั่วโลก ซึ่งไทยโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้า 36%(สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน) มีผลบังคับใช้ 9 เม.ย.68 โดยสัดส่วนการส่งออกไทยไปสหรัฐฯราว 18% ซึ่งหากการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ลดลงทุกๆ 1% จะส่งผลให้มูลค่าส่งออกไทยลดลงราว 1.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน GDP ไทยราว -0.11%

ขณะที่ในมุมอื่นๆที่น่าจะกระทบต่อไทย คือ มูลค่า FDI มีโอกาสที่จะไม่เพิ่มขึ้นหรือไม่โดดเด่นดังยุค TRUMP 1.0เนื่องจากTRUMP จงใจขึ้นภาษีทุกประเทศ (การย้ายฐานการผลิตอาจจะไม่มีผล)ซึ่งองค์ประกอบของ GDP ที่มีโอกาสลดลงทั้งตัวแปร X, I และส่งผลต่อเนื่องถึงตัวแปร C ทำให้เปิด DOWNSIDE ของ GDP GROWTH ปี 2568โดยตัวเลขของบางสำนักเศรษฐกิจคาดว่า GDP อาจแตะระดับต่ำกว่า 2% ได้ไม่ยาก ซึ่งค่าเฉลี่ยแต่ละสำนักเศรษฐกิจก่อนหน้านี้
อยู่ที่ +2.9%YOY ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เสนอว่าแผลการรับมือของไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 แนวทาง


1. ไทยพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าแต่ละสินค้าลงให้ไม่เกิน 36% คาดจะทำให้ผลขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ไทย ลดลง 3200 ล้านเหรียญฯ
2. ไทยเพิ่มปริมาณสินค้านำเข้าเกษตรจากสหรัฐญเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื้อสัตว์ แอลกฮอล์ ถั่วเหลือง เศษเนื้อและเครื่องใน เครื่องบิน

ประเมินแนวรับทางพื้นฐานที่สำคัญของ SET 1125 – 1140 จุด นักลงทุนเหมือนโดนมีดบาดนิ้ว ด้วยประเด็น TARIFF เช้านี้ แต่ต้องตั้งสติ เพราะนิ้วยังไม่ขาด โดยเบื้องต้นฝ่ายวิจัยฯประเมินรายได้ของ SET ส่งออกไปสหรัฐราว6.56 แสนล้านบาท หรือราว 3 –4% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนผลกระทบน่าจะจำกัด หากอิงอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น 36% และอัตรากำไรสุทธิที่ 2% –5% จะกระทบ EPS 68F ราว 0.5 –1 บาท/หุ้น



กลยุทธ์แนะนำหลีกเลี่ยง หุ้นส่งออก -> อาหาร, เกษตร ยานยนต์ ชินส่วนฯ ชั่วคราว เน้นหุ้น DOMESTIC ผันผวนต่ำCPALL, BEM, BDMS, WHA, ADVANC

 

 

 

 

ด้าน กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า แม้สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าที่คาด แต่เงินบาทยังอ่อนค่าตามกรอบที่ประเมินไว้ สำหรับในระยะสั้นนี้ มองว่าปัจจัยเรื่อง Tariffs จะไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่านี้มากนัก เพราะสหรัฐฯ จะใช้มาตรการภาษีนี้ในการเปิดการเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยหากไทยบรรลุข้อตกลงได้ ก็อาจทำให้ตลาดคลายความกังวลและแรงกดดันต่อเงินบาทอาจลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้บาทอ่อนค่าได้ในระยะ 1-2 เดือนนี้ คือการจ่ายเงินปันผล (Dividend payout) ของผู้ประกอบการต่างชาติกลับไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ จึงมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าในกรอบ 34.15-34.65สำหรับในระยะกลาง-ยาว SCB FM มองว่า หากประเทศอื่น ๆ ไม่มีการตอบโต้รุนแรง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ มีจำกัด เงินบาทต่อดอลลาร์ ณ ปลายปีนี้อาจอยู่ที่ราว 32.50-33.50 ได้ แต่หากผลกระทบจากมาตรการ Tariffs ต่อภาพรวมเศรษฐกิจออกมารุนแรง ทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อ Recession risk เกิดเป็น Risk-off เงินบาท ณ ปลายปีอาจอ่อนค่าไปที่ราว 34.00-35.00

 

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ล่าสุดนี้ ทำให้ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้น และมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา จนทำให้เงินบาทอ่อนค่าแรง โดยหลังทรัมป์ประกาศมาตรการ เงินบาทอ่อนค่าขึ้นถึง 30 สตางค์ ก่อนที่จะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และล่าสุดอยู่ที่ราว 34.30 บาท นอกจากนี้ มาตรการยังส่งผลต่อตลาดการเงินโลกอีกด้วย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ปรับลดลงถึง 10-15 bps ขณะที่ราคาทองคำสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเงินเยนแข็งค่า (ด้วยมุมมอง safe-haven currency) ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียเปิดมาวันนี้ติดลบ ราคานำมันปรับลดลงเช่นกัน ตามความกังวลว่ามาตรการภาษีจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ
สหรัฐฯ ตั้งอัตราภาษี "ตอบโต้" โดยคำนวณจากอัตราภาษีที่แต่ละประเทศเก็บกับสหรัฐ และการตั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ซึ่งจะพบว่า แม้ส่วนต่างอัตราภาษี Effective tariffs rates ของไทยกับสหรัฐฯ จะต่างกันราว 7% แต่สหรัฐฯ ประเมินว่าไทยมีมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ รวมถึงการแทรกแซงค่าเงิน ทำให้เทียบได้ว่ามีส่วนต่างภาษีจากสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้นราว 72% (ซึ่งคำนวณจากการนำ Trade balance ระหว่างไทย-สหรัฐฯ หารด้วยมูลค่าสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มาไทย) โดยสหรัฐฯ ตัดสินใจเก็บภาษีนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 36% (หรือราวครึ่งหนึ่งจากที่สหรัฐฯ ประเมินว่าไทยเก็บจากสหรัฐฯ) ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ เวียดนามถูกเรียกเก็บภาษีที่ 46% ซึ่งสูงกว่าไทย

 

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะได้รับผลกระทบที่ชัดเจนในระยะสั้นนี้ โดยค่าเงินส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในทางทฤษฎีนั้น หากราคาสินค้าในต่างประเทศเปลี่ยนไปจากการขึ้นภาษี ค่าเงินจะเป็นตัวปรับสมดุล โดยประเทศที่ถูกขึ้นภาษีก็จะเห็นสกุลเงินนั้นอ่อนค่าลงเพื่อลดทอนผลกระทบต่อผู้ส่งออกของประเทศนั้น ในระยะสั้นนี้ มองว่าปัจจัยเรื่อง Tariffs จะไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่านี้มากนัก เนื่องจากสหรัฐฯ จะใช้มาตรการภาษีนี้ในการเปิดการเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยหากไทยปรับลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในบางกลุ่มสินค้า (เช่น จักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร) และอาจนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ รวมถึงออกไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น จะทำให้มีโอกาสที่สหรัฐฯ จะปรับภาษีลงจากที่ประกาศไว้ที่ 36% ได้ ซึ่ง SCB FM มองว่าโอกาสที่ไทยจะเจรจากับสหรัฐฯ ให้ลดภาษีลง มีมากกว่าโอกาสที่จะเกิดข้อพิพาทจนถูกขึ้นภาษีเพิ่ม นอกจากนี้ จะเห็นว่า Reaction ของตลาดในช่วงที่ผ่านมาไม่รุนแรงนัก เพราะมาตรการยังมีความไม่แน่นอนสูงและเปลี่ยนแปลงไปมาได้ง่าย จากที่ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแก้ไขได้ทุกเมื่อ จึงทำให้ตลาดยัง Price-in โอกาสที่จะลดอัตราภาษีลงได้ในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้บาทอ่อนค่าได้ในระยะ 1-2 เดือนนี้ คือการจ่ายเงินปันผล (Dividend payout) ของผู้ประกอบการต่างชาติกลับไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า การจ่ายเงินปันผลในปีนี้อาจสูงกว่าปีก่อน นำโดยเงินปันผลของกลุ่มธนาคาร ซึ่งมีผลประกอบการในปีที่ผ่านมาค่อนข้างดี โดยนับตั้งแต่กลางเดือนนี้ต่อเนื่องถึงเดือนหน้าอาจมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดการเงินไทย กดดันให้บาทอ่อนค่าเพิ่มเติมได้ เมื่อผนวกกับความเสี่ยงเรื่อง Tariffs จึงมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าในกรอบ 34.15-34.65


สำหรับในระยะกลาง-ยาว มองว่าความไม่แน่นอนยังสูง และแนวโน้มเงินบาทอาจขึ้นอยู่กับผลกระทบของของมาตรการ Tariffs ต่อเศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นของตลาดที่ส่งผลต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Portfolio reallocation) ในกรณีฐาน หากประเทศอื่น ๆ ไม่มีการตอบโต้รุนแรง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ มีจำกัด ขณะที่เงินเฟ้ออาจปรับสูงขึ้นราว 1-2% ก็อาจทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่าในระยะสั้น และกลับมาอ่อนค่าต่อได้เล็กน้อยในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องมาตรการภาครัฐในภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป ที่จะลดความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ลง ทำให้ในกรณีนี้ SCB FM มองว่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ณ ปลายปีนี้อาจอยู่ที่ราว 32.50-33.50 ได้


ในกรณีที่ผลกระทบจากมาตรการ Tariffs ต่อภาพรวมเศรษฐกิจออกมารุนแรง ทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อ Recession risk เกิดเป็น Risk-off นักลงทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยง และเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่าเร็ว US Treasury yields อาจปรับลดลง ขณะที่เงินภูมิภาคจะอ่อนค่าเพื่อ cushion ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในกรณีนี้ SCB FM มองว่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ณ ปลายปีอาจอ่อนค่าไปที่ราว 34.00-35.00 ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้า/ส่งออกควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้บางส่วน ผ่านการใช้ FX Forward ในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และอาจพิจารณาใช้สกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง

 

///จบ///

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ประคับประคอง By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ บ่ายวันนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย คงประคับ ประคอง แกว่งตัวไปมา ท่ามกลาง บริษัทจดทะเบียนไทย...

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้