Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

328

 

ภาพตลาดและแนวโน้ม


ไทยมีทางเลือกอะไรรับมือมาตรการภาษี Trump 2.0

กลุ่มสินค้าส่งออกใดเสี่ยงถูกเก็บ Reciprocal Tariff

กลุ่มสินค้าความเสี่ยงสูง หากถูกเก็บภาษี จะยังแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้หรือไม่

หากไทยจำเป็นต้องเพิ่มการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ สินค้าใดมีความเป็นไปได้สูงสุด

ผลกระทบต่อการส่งออกและ GDP ไทยจะเป็นอย่างไร

ทางเลือกของไทยจากมาตรการขึ้นภาษีในยุค Trump 2.0 มีอะไรบ้าง
เราประเมินว่า มาตรการการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ในยุค Trump 2.0 โดยเฉพาะการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) กับสินค้าไทยเพิ่มเติมเป็นบางรายการ จะเปิดทางให้ไทยสามารถพิจารณาทางเลือกเชิงกลยุทธ์ได้ 2 แนวทางหลัก นั่นคือ
แนวทางที่ 1: เกิดการเจรจาทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยไทยจำเป็นต้องมีการนำเข้าสินค้าอื่นๆ ที่สำคัญของสหรัฐฯ เพิ่มเติม เพื่อลดการเกินดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ และลดทอนความเสี่ยงจากการโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม
แนวทางที่ 2: ไทยอาจจำเป็นต้องเจรจาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นบางรายการ ซึ่งอาจต้องทำควบคู่กับแนวทางที่ 1

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมใดของไทยที่มี“ความเสี่ยงสูง”จะถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) เพิ่มเติม
• ยางล้อรถยนต์
• ชิ้นส่วนยานยนต์
• เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ

หากกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษี Reciprocal tariff จะยังสามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้หรือไม่
เราคาดว่ายางล้อรถยนต์จะยังพอแข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากมีส่วนต่างของภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ ที่ 10% น้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน อย่างเช่น เวียดนาม (21.3%) อินโดนีเซีย (15%) และกัมพูชา (15%) ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (อาทิ เครื่องปรับอากาศ ทีวี ตู้เย็น) ไปยังตลาดสหรัฐฯ จะมีความท้าท้ายมากขึ้น เนื่องจากส่วนต่างของภาษีนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้ากับสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง ขณะที่เครื่องซักผ้าไทย น่าจะยังพอมีโอกาสเข้าไปทดแทนสินค้านำเข้าจากจีนและเม็กซิโกในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากมีส่วนต่างของภาษีกับสหรัฐฯ ที่ 10% นับว่าต่ำกว่าจีนและเม็กซิโกที่จะโดนเรียกเก็บขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมอีก 20% และ 25% ตามลำดับ


หากรัฐบาลจะเจรจาทางการค้า ด้วยการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น สินค้าใดที่มีความเป็นไปได้สูงสุด เพราะเหตุใด
สินค้าความเป็นไปได้ระดับสูง ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ทั้งนี้ รัฐบาลอาจต้องลดภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมด้วย (ปัจจุบัน ไทยเก็บภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ที่ 80%) เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งจากสหรัฐฯ จะแพงกว่าบราซิลซึ่งเป็นคู่ค้าถั่วเหลืองรายใหญ่ของไทยกว่า 30%
ส่วนสาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องเลือกนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพด คือ เป็นที่ต้องการสูงในไทย ขณะที่ไทยจำเป็นต้องพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยปัจจุบัน ไทยสามารถถั่วเลืองได้เพียง 0.6% ขณะเดียวกัน ก็สามารถผลิตข้าวโพดได้ราว 60% จากปริมาณความต้องการใช้ในประเทศทั้งหมด


ผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยและ GDP ไทยจะเป็นอย่างไร
หากภาครัฐไทยสามารถเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้ตามกลยุทธ์ในแนวทางที่ 1 และ 2 ตามที่กล่าวมาข้างต้น และไทยไม่โดนเรียกเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้าแบบ Reciprocal tariff เพิ่มเติม โดยไทยโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเฉพาะบางรายการเหมือนเช่นประเทศอื่นๆ ตามที่สหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีไว้ก่อนหน้านี้ (อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม เซมิคอนดักเตอร์ ยา รถยนต์ รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์) ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยราว 0.2% และทำให้การส่งออกไทย ในปี 2025 ขยายตัวที่ 1.8%

อย่างไรก็ดี หากไทยโดนเรียกเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้าแบบ Reciprocal tariff เพิ่มเติม โดยเฉพาะในกลุ่มรายการที่เราประเมินไว้ว่าเป็นความเสี่ยงสูง (ได้แก่ ชิ้นส่วนยางยนต์ ยางล้อรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ) ควบคู่กับการโดนเรียกเก็บภาษีในบางรายการสินค้าที่สหรัฐฯ ได้ประกาศไว้ข้างต้น ก็น่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกไทยราว 0.6% และทำให้การส่งออกไทยปี 2025 โตชะลอลงอยู่ที่ราว 1.2% และท้ายที่สุดอาจส่งผลให้ GDP ไทยปี 2025 โตชะลอลงเหลือราว 2.0%

สรุปภาพตลาดวานนี้
หุ้นไทยยังเทรดแบบเนือยๆ ด้วยปริมาณการซื้อขายที่ยังน้อยกว่าเฉลี่ย โดย SCC SCGP กลับมากดดันตลาดร่วมกับกลุ่มคอมเมิร์ช CPALL CRC CPN HMPRO ขณะที่เม็ดเงินไหลไปพักที่ธนาคาร TRUE และหมู-ไก่

แนวโน้มตลาดวันนี้
กังวลวิกฤตโกเร็งมากเกินไป
ผิดคาดหุ้นไทยไม่สามารถรีบาวด์ได้ต่อเนื่อง เมื่อวานพยายามกลับลงมาหาฐานโซน 1170 (อีกแล้ว) ตามที่เราคาดไว้ในกรอบระยะสัปดาห์ จากปัจจัยใหม่เรื่องความกังวล กิจการที่มีการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย เช่น กลุ่ม ปตท. ปูนซีเมนต์ไทย แบงก์พาณิชย์ไทย ฯลฯ อาจกระทบหางเลขจากภาวะความกังวล เศรษฐกิจอินโดนีเซียกระทบจากค่าเงินอ่อนยวบ, การประท้วง กม.ทหาร, การเมือง และเรื่องการจัดตั้งกองทุนดานันทารา เพื่อบริหารทรัพย์สินรัฐวิสาหกิจฯกว่า 9แสนล้านเหรียญ (แต่จากที่เราศึกษาข้อมูลรีเสริชโบรกเกอร์ ต่างประเทศ บางแห่งยังชอบตลาดหุ้นอินโดฯ และมองพื้นฐานเศรษฐกิจยังไม่เป็นปัญหาวิกฤต)
หากเป็นตามมุมมองโบรกต่างชาติ เราคาดว่าราคาหุ้นไทยหลายตัวที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจอินโดฯ ไม่น่าจะลงไปมากกว่านี้ (แต่ยังวางใจไม่ได้ ต้องติดตามกันต่อไป) และอาจจะมีรีบาวด์ เร็วๆ นี้


โดยไม่นับรวมเรื่อง อินโดฯ เราคาดว่าเรื่องอื่นๆ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น การเก็บภาษีตอบโต้ของอเมริกา จะมีความชัดเจน 2 เมย. ตามกำหนดเดิม แม้ล่าสุด นลท.หุ้นโลกอาจจะมองว่ามีแนวโน้มผ่อนคลายขึ้น, ภัยสงครามตะวันออกกลาง, รัสเซียยูเครน ที่ยังไม่จบ, ตัวเลขเศรษฐกิจอเมริกาหดตัวเช่น PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของ S&P หดตัว
เรามองว่าเป็นเรื่องเดิมที่ยังเป็นปัจจัยลบกดดันบรรยากาศลงทุน แต่เชื่อว่า ระยะสั้นน่าจะไม่กดหุ้นไทยให้ปรับลงรุนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา ด้วยหลายประเด็นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามผลลัพธ์ที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นถ่วง Upside หุ้นไทย แต่ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพร์สที่ จะกดหุ้นไทยให้ร่วงรุนแรง
ดังนั้นกลยุทธ์หลักเรายังเน้นไปที่การเลือกหุ้นลงทุนเป็นรายตัว ท่ามกลางความเสี่ยงด้านล่างของภาพรวมการลงทุนหุ้นไทยที่เรามองว่ายังมีจำกัดในระยะนี้ โดยกรอบดัชนีฯสัปดาห์นี้ คาดขึ้นสลับย่อ กรอบ 1,170-1,200 จุด

กลยุทธ์การลงทุน
เลือกสะสมหุ้นรายตัว (Hold ระยะยาวหน่อย) จากเกณฑ์
1) ราคาหุ้นทรงตัวได้ดี Outperform ในเชิงเทคนิคคอล ไม่ Overbought
2) ความถูกของราคาหุ้นเมื่อเทียบมูลค่าทางบัญชี (PBV) และเทียบกับ Bands
3) แนวโน้มผลการดำเนินงานระยะสั้น ดูแล้วไม่น่าจะสร้างความผิดหวัง
4) โอกาสที่กำไรระยะสั้นจะดีกว่าที่คิด เพราะมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว เช่น มาตรการ ช้อปช่วยชาติ แจกเงินหมื่น ในช่วงไตรมาสแรก หนุนกำไรโตต่อเนื่อง 4Q24-1Q25
5) มีปันผลระหว่างกาล

วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET Index ปรับลง...อยู่ในโหมดสร้างฐานใหม่ ภายหลังผ่านการ drawdown ลงมาทั้งสิ้น 22% (วัดจาก 1,500 จุด) แนวโน้มระยะสั้นมีขึ้นสลับลง กลับมายืนเกาะเส้น EMA 10 วันที่ 1,180 จุด...สำเร็จ เริ่มทำค่าเฉลี่ยขึ้น จับตาจุดผลิกผันอาจต้องรอสัญญาณกลับตัว รอทะลุ > 1,200 จุด (EMA 25 วัน) ขึ้นไปให้ได้เสียก่อน! ส่วนภาพใหญ่นับคลื่น “Corrective wave” คลื่นขาลง คาดว่าฟอร์มตัวอยู่ใน Wave 5 ยังพอมีความหวังมีโอกาสฟื้นตัว แต่มีเงื่อนไขต้องยืนสู้ที่ low ห้ามลงต่ำกว่า 1,157 จุด
Note: สแกนหุ้นใหญ่โครงสร้างแกร่ง เช่น กลุ่มน้ำมัน (PTT ,PTTEP) สื่อสาร (ADVANC, TRUE) ธนาคาร (KTB, SCB) และเกษตร (CPF) เด่นที่สุด!

 

 

 


What to watch
คกก.ตลาดทุนตุรกี ประกาศห้าม ชอร์ตเซล, อนุญาตให้ บจ.ซื้อหุ้นคืนได้ในราคาสูงกว่าราคาปิดวานก่อน, ลดสัดส่วนหลักประกัน จาก 35% เหลือ 20% มีผลถึง 25 เม.ย. นี้
สว.เรียก กลต. ตลท. ชี้แจง และทบทวนมาตรการ เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นหุ้นไทย
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เตรียมประกาศใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ตามที่วางแผนไว้ในวันที่ 2 เม.ย. อย่างไรก็ดี สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ภาษีศุลกากรซึ่งจะเรียกเก็บเป็นรายภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาษีนำเข้ารถยนต์และเซมิคอนดักเตอร์นั้น มีแนวโน้มว่าจะไม่ประกาศใช้ในเวลาเดียวกัน
ปธน.ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ (21 มี.ค.) ว่าจะมีการใช้ความยืดหยุ่นต่อแผนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ซึ่งสหรัฐฯ มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. พร้อมกับกล่าวว่าเขามีแผนที่จะพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน หลังจากที่จีนประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้าเกษตรนำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน
วันพุธ อเมริการายงาน GDP 4Q (3rd) คาด +2.4% q-q จาก 2.3% q-q
วันศุกร์ รายงานเงินเฟ้ออเมริกา PCE คาด +0.3% m-m

หุ้นแนะนำวันนี้
TOP
เรื่องโครงการโรงกลั่น CFP สะท้อนไปในราคาหุ้นหมดแล้ว เหลือแต่การเดินหน้าโครงการและกลับมามี Upside ในอนาคต
แนวรับ 25.5 แนวต้าน 28 ตัดขาดทุน 24

 

 


รายงานพื้นฐานวันนี้

Wealth Insight
Trump Effect...เขย่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
เราประเมินว่า มาตรการการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ในยุค Trump 2.0 โดยเฉพาะการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) กับสินค้าไทยเพิ่มเติมเป็นบางรายการ จะเปิดทางให้ไทยสามารถพิจารณาทางเลือกเชิงกลยุทธ์ได้ 2 แนวทางหลัก นั่นคือ 1) นำเข้าสินค้าอื่นๆ ที่สำคัญของสหรัฐฯ เพิ่มเติม และ 2) เจรจาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นบางรายการ ซึ่ง 2 รายการอาจจะทำไพร้อมกัน
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมใดของไทยที่มี“ความเสี่ยงสูง”จะถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) เพิ่มเติม ได้แก่ ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ โดยเราคาดว่ายางล้อรถยนต์จะยังพอแข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากมีส่วนต่างของภาษีนำเข้าน้อยกว่าคู่แข่ง
ในด้านแนวทางการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น สินค้าใดที่มีความเป็นไปได้สูงสุด ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด และอาจจะต้องลดภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมด้วย
ผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยและ GDP ไทย:
1) หากไทยเจรจาได้ตามกลยุทธ์ และไม่โดน Reciprocal tariff เพิ่มเติมจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยราว 0.2% และทำให้การส่งออกไทยในปี 2025 ขยายตัวที่ 1.8%
2) หากไทยโดนเรียกเก็บ Reciprocal tariff เพิ่มเติม โดยเฉพาะในกลุ่มรายการความเสี่ยงสูง จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกไทยราว 0.6% และทำให้การส่งออกไทยปี 2025 โตชะลอลงอยู่ที่ราว 1.2% และท้ายที่สุดอาจส่งผลให้ GDP ไทยปี 2025 โตชะลอลงเหลือราว 2.0%

 

CPN
เซ็นทรัลพัฒนา
Ecosystem เริ่มลงหลักปักฐาน
CPN เดินหน้าขยาย Ecosystem อย่างต่อเนื่อง โดยเราคาดว่ารายได้ค่าเช่าจะเติบโตเด่นขึ้น YoY และ HoH ตั้งแต่ 2H25 เป็นต้นไป และเร่งตัวขึ้นในปี 2026 (+9% YoY) จากการเปิด 3 ศูนย์การค้าใหม่ในปี 2025 และอีก 2 แห่งในปี 2026 รวมถึงกลยุทธ์ Premiumization ของศูนย์การค้าเดิมในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองสำคัญ ซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในปี 2026 หนุนให้ค่าเช่าเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้น

CPN ตั้งเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปีใน 5 ปีข้างหน้า ผ่าน Ecosystem ที่สร้างขึ้น โดยขยายพื้นที่เช่าเฉลี่ย 1 แสน ตร.ม. ต่อปี โรงแรมใหม่ปีละ 1 แห่ง และรายได้อสังหาฯ โต 10% อย่างไรก็ตาม ในปี 2025 นี้ กลุ่มพัฒนาอสังหาฯ เพื่อขาย (Residential) ยังมี Backlog ที่น้อยอาจจะเป็นปัจจัยกดดันการเติบโต
ในส่วนโครงการ Central Park คืบหน้า โดยมียอดจองพื้นที่ล่วงหน้าแล้ว 40-45% สำหรับออฟฟิศ และ 80-85% สำหรับพื้นที่รีเทล คาดเปิดบริการ ส.ค. 2025 โดยมีอัตราเช่าเริ่มต้น 80% และแตะ 90% ภายในสิ้นปี 2026 อย่างไรก็ดี เราคาดว่าปี 2025 จะยังขาดทุนในปีแรกราว 284 ล้านบาท แต่จะเริ่มมีกำไรราว 165 ล้านบาทในปี 2026

Fundamental view: เรายังคงคำแนะนำ ถือ ราคาเป้าหมาย 58 บาท แม้แนวโน้มระยะกลางจะสดใสจากการฟื้นตัวของรายได้ค่าเช่าและการเปิดโครงการใหม่ แต่การเติบโตของรายได้ที่อยู่อาศัยยังไม่เด่น และ Central Park จะใช้เวลาก่อนถึงจุดคุ้มทุน นักลงทุนควรรอจังหวะทยอยสะสมช่วงครึ่งปีหลัง 2025 เมื่อรายได้เริ่มเร่งตัวชัดเจน


สรุปประเด็นจาก Quick take

Chemical
อินเดียประกาศจัดเก็บ anti-dumping duties กับผลิตภัณฑ์ PVC
อินเดียประกาศจัดเก็บ anti-dumping duties กับผลิตภัณฑ์ PVC ที่นำเข้าจากจีน, เกาหลี, มาเลเซีย, ไทย, ไต้หวัน, และนอร์เวย์ เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2025 เป็นต้นไป
View from fundamental: ข่าวดังกล่าวอาจเป็น sensitive sentiment ต่อราคาหุ้น SCC และ PTTGC ในกลุ่มปิโตรเคมีเราชอบ IVL มากกว่า เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว รวมทั้งกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของผลิตภัณฑ์ PET

HMPRO
โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์
ซื้อหุ้นคืนวงเงินไม่เกิน 7 พันลบ.
HMPRO จะซื้อหุ้นคืนจำนวนไม่เกิน 800 ล้านหุ้น (ไม่เกิน 6% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว)
View from fundamental: เรามองบวกต่อข่าวการซื้อหุ้นคืน ระยะสั้นยังเตรียมจ่ายเงินปันผล 0.25 บ/หุ้น (yield 3.2%) ขึ้น XD 22 เม.ย.25 หนุนราคาหุ้น HMPRO จะปรับขึ้น

TOP
ไทยออยล์
กระบวนการอนุญาโตตุลาการของโครงการ CFP
Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (ผู้ร้อง) ได้เริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับบริษัทซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทในเรื่องสัญญา EPC (กรณีการใช้สิทธิในการบังคับหลักประกันของกลุ่มกิจการร่วมค้าเป็นจํานวนเงินประมาณ US$358m)
View from fundamental: ข่าวนี้อาจเป็น negative sentiment ต่อราคาหุ้นในระยะสั้น เราจะมา update ข้อมูลเพิ่มเติมหลังจาก conference call ช่วงเช้าวันนี้

วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ปลุกหุ้นใหญ่ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย สูตรเดิม มักใช้ได้เสมอ ใช้หุ้นDELTA นำ ตามด้วย .....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้