Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: KKP Research หั่นเป้า GDP เหลือ 2.3% /ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงคาดการณ์ที่ 2.4%

1,437

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(21 มีนาคม 2568)--------- KKP Research ปรับลด GDP เหลือ 2.3% ชี้ไทยเสี่ยงโตต่ำเพิ่มจากนักท่องเที่ยวจีนหด และนโยบาย Trump พร้อมคาดการณ์ กนง. ลดดอกเบี้ยต่อถึง 1.25%

KKP Research ประเมินเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มโตต่ำและเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากนโยบายการค้าของสหรัฐ ฯ โดยพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจปี 2024 ที่เติบโตได้ค่อนข้างต่ำเพียง 2.5% แม้ว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดีและมีมาตรการแจกเงินขนาดใหญ่จากภาครัฐแล้วก็ตาม บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจนจากปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีขนาดประมาณ 25% ของ GDP แต่หดตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในหลายอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางและกระจุกตัวมากขึ้น จากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวได้ อีกทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ยังจะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มที่อาจต่ำกว่า 2.0% ภายในปี 2035

 

สำหรับปี 2025 KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2026


ท่องเที่ยวจีนไม่มา ชั่วคราวหรือถาวร ?


จำนวนนักท่องเที่ยวจีนตั้งแต่ช่วงหลังตรุษจีนมาเติบโตได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้มาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนปรับตัวลดลงจากประมาน 6 แสนคนต่อเดือน หรือ 60% ของช่วงก่อนโควิด ลงมาที่ระดับต่ำกว่า 4 แสนคน หรือ 35% ของช่วงก่อนโควิดซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2023 ประเด็นที่น่ากังวล คือ สัญญาณการฟื้นตัวที่ช้าของนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราวและอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าลงในระยะยาว

 

1) นักท่องเที่ยวจีนมีความนิยมเที่ยวในประเทศมากขึ้น ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีนฟื้นตัวช้ากว่าการท่องเที่ยวในประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยการท่องเที่ยวต่างประเทศต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดประมาณ 13.5% ในขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดประมาณ 6.4% ซึ่งอาจสะท้อนว่านักท่องเที่ยวจีนมีความชื่นชอบในการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
2) การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและมาเลเซีย โดยจำนวนเที่ยวบินจากจีนไปยังญี่ปุ่นและมาเลเซียมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 อย่างชัดเจน นอกจากนี้เหตุการณ์ลักพาตัวนักแสดงจีนในไทยยังเพิ่มความกังวลกับนักท่องเที่ยวจีนที่จะมาเที่ยวไทย
3) กรุ๊ปทัวร์จีนคือกลุ่มหลักที่ไม่กลับมา โดยแม้นักท่องเที่ยวทั่วไป (Free Individual Traveler) จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้กว่า 77% ของช่วงก่อนโควิด แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์ยังคงไม่กลับมาในระดับเดิม โดยอยู่เพียงระดับประมาณ 45% ของจำนวนช่วงก่อนโควิดเท่านั้น

 

KKP Research ประเมินว่าหากนักท่องเที่ยวจีนไม่กลับมาฟื้นตัวจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยอาจไม่สามารถกลับไปแตะระดับ 40 ล้านคนเท่ากับช่วงก่อนโควิดได้เร็วตามคาด เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด โดย KKP Research ปรับประมาณการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2025 เป็น 37.2 ล้านคน จาก 38.1 ล้านคน และปี 2026 เป็น 39.9 ล้านคนจาก 40.6 ล้านคน


เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจากนโยบายการค้าสหรัฐ ฯ

 

KKP Research ประเมินว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญความเสี่ยงจากนโยบายการค้าสหรัฐ ฯ เป็นลำดับต้น ๆ ของภูมิภาค โดยมีโอกาสสูงที่ไทยจะอยู่ในรายชื่อกลุ่มแรกของการเรียกเก็บภาษี reciprocal tariffs ซึ่งสะท้อนจากข้อมูลสองส่วน คือ 1) การเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ ในระดับสูง ซึ่งไทยถือเป็นประเทศลำดับที่ 11 ของโลกที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ มากที่สุด 2) ส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีเฉลี่ยตามน้ำหนักการค้าที่ไทยคิดกับสหรัฐ ฯ และสหรัฐ ฯ คิดกับไทยถือว่าสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศกลุ่ม Emerging Markets และสูงที่สุดใน ASEAN และไทยยังมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอีกด้วย


KKP Research ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนสูงมากและยังไม่ได้รวมผลกระทบไว้ในการประเมินตัวเลข GDP โดยมี 4 ปัจจัยหลักที่ต้องประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษี คือ 1) ขนาดของภาษีที่สหรัฐ ฯ จะขึ้นกับไทย 2) ผลต่อการชะลอตัวของการส่งออกของไทยจากการขึ้นภาษี 3) มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จากการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ และ 4) ระยะเวลาที่ไทยจะถูกขึ้นภาษี โดยประเมินว่า


1) อัตราภาษีที่ไทยจะถูกเรียกเก็บจากสหรัฐฯ จะอยู่ในช่วง 10% - 20% โดยคำนวณจากส่วนต่างของอัตราภาษีที่ไทยคิดกับสหรัฐ ฯ และสหรัฐ ฯ คิดกับไทย อย่างไรก็ตามอัตรานี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง
2) มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้ในประเทศจากสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 30% - 40% ในช่วงก่อนปี 2020 สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างสูงที่ประมาน 50% - 60% อย่างไรก็ตามตั้งแต่หลังปี 2020 การเติบโตของการส่งออกเกิดจากการนำเข้าจากจีนเพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มในประเทศในระดับต่ำมาก ทำให้มูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกไทยในปัจจุบันลดต่ำลง

 

จากสองปัจจัยสำคัญ KKP Research คาดการว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะอยู่ในช่วง 0.2 – 0.4ppt หากมีการประกาศขึ้นภาษีจริงและอัตราภาษีคงไว้ทั้งปี ผลกระทบดังกล่าวไม่รวมถึงผลจากข้อเสนอที่ไทยอาจต้องเจรจาเพื่อให้สหรัฐปรับลดอัตราภาษีนำเข้าลงมา ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมโดยต้องจับตาช่วงต้นเดือนเมษายน ที่สหรัฐฯ จะมีการประกาศเกี่ยวกับนโยบายภาษีนำเข้าเพิ่มเติม


นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมีแนวโน้มให้ผลจำกัด

 

มาตรการแจกเงินผ่านนโยบาย Digital Wallet เป็นความหวังของภาครัฐว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ส่งผลบวกน้อยกว่าที่ประเมินไว้ โดยมาตรการแจกเงินใน 2 ระยะแรกคิดเป็นเงินมูลค่ารวมกว่า 1.77 แสนล้านบาท แต่การบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อย และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีโดยเฉพาะเมื่อไม่รวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทำให้แม้ว่าภาครัฐมีการอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการแจกเงินระยะที่สามซึ่งจะแจกคนเป็นจำนวน 2.7 ล้านคนอายุระหว่าง 16-20 คิดเป็นเงิน 2.7 หมื่นล้านบาทและจะเริ่มแจกช่วงไตรมาส 2 ของปี และการแจกเงินระยะสุดท้ายน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่จากขนาดของการแจกเงินที่เล็กลง KKP Research ประเมินว่าผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะมีจำกัดโดยคาดว่าการบริโภคจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับระดับที่เคยประเมินไว้


คาด ธปท. ลดดอกเบี้ยถึง 1.25% ในปี 2026

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือนตุลาคมและเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลงมาที่ระดับ 2% ซึ่งมีทิศทางสอดคล้องกับที่ KKP Research ประเมินไว้ว่ามีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับลดลงเหลือ 1.5% ในปีนี้ อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนด้านการค้าโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวจากการหดตัวของสินเชื่อ และคุณภาพสินเชื่อที่ยังคงแย่ ส่งผลให้ KKP Research คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2 ครั้งในปี 2025 และอีก 1 ครั้งในปี 2026 และทำให้อัตราดอกเบี้ยสุดท้าย (Terminal rate) ในรอบการลดดอกเบี้ยนี้จะอยู่ที่ 1.25% เหตุผลสำคัญที่เชื่อว่าดอกเบี้ยควรลดลงเพิ่มเติม คือ

1) ปัญหาด้านความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินลดน้อยลงมาก จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และสินเชื่อภาคธนาคารหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณหนี้ต่อ GDP ของไทยเริ่มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการสื่อสารของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาที่กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้จะไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน

2) สัญญาณในตลาดการเงินหลายส่วนสะท้อนว่านโยบายการเงินในปัจจุบันอาจตึงตัวมากเกินไป อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพในอดีต นอกจากนี้สัญญาณของตลาดการเงินทั้งเงินบาทที่แข็งค่า อัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยระยะยาวที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อาจส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเกินไป

 

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเศรษฐกิจไทย 2568 เสี่ยงหลายปัจจัยลบ ทำภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดแรงส่งจากการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แบบจำกัด ขณะที่ ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 เติบโตที่ 2.4% อย่างไรก็ตามท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากกว่าที่ประเมิน อาจทำให้การขยายตัวของจีดีพี 2568 มีโอกาสเติบโตต่ำกว่าคาดได้ ทั้งนี้ จากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า (Tariff) และการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในระยะเวลาสองเดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกคงต้องเตรียมเผชิญกับความไม่แน่นอนและเตรียมรับมือกับผลกระทบด้านการจัดระเบียบการเงินครั้งใหม่ในอีกไม่นาน

 

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ท่ามกลางความท้าทายทางด้านการขาดดุลการค้าอย่างเรื้อรังและหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นของสหรัฐฯ แนวทางการแก้ปัญหาที่เริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้นในปี 2568 คือข้อตกลง Mar-a-Lago Accord  คล้ายคลึงกับข้อตกลง Plaza Accord  ในปี 2528 ที่สหรัฐฯ เคยนำมาใช้ โดยเป้าหมายหลักของ Mar-a-Lago Accord  คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ต้องอ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกสหรัฐฯ รวมถึงการฟื้นฟูภาคการผลิตของสหรัฐฯ และการลดภาระหนี้สหรัฐฯ โดยประเทศพันธมิตรที่พึ่งพาการคุ้มครองด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ต้องเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาล 100 ปี

 


นายรุจิพันธ์ อัสสะรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อตลาดรถยนต์โลก โดยมองว่าจะทำให้ตลาดรถยนต์โลกเกิดการแข่งขันสูงขึ้น ภาวะอุปทานรถยนต์ล้นเกินของโลกรุนแรงขึ้น และราคารถยนต์ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง โดยประเทศผู้ผลิตรายหลักในตลาดโลก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ จะกระจายตลาดส่งออกรถยนต์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกาเพื่อผลิตรถยนต์ป้อนตลาดสหรัฐฯ ลดผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า ทั้งนี้ การแข่งขันในตลาดรถยนต์โลกที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะซ้ำเติมภาวะอุปทานรถยนต์ล้นเกินของโลกให้รุนแรงขึ้น จากปัจจุบันที่ยอดผลิตรถยนต์โลกมีจำนวนที่สูงกว่ายอดขายรถถึง 16% นอกจากนี้ ราคารถยนต์ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นตลาดสหรัฐฯ จากการที่ค่ายรถยนต์จีนน่าจะยังใช้กลยุทธ์ด้านราคาต่อเนื่อง ซึ่งการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว คาดว่ายังจะส่งผลต่อการส่งออกรถของไทยและต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตรถ ซึ่งปัจจุบันพึ่งพาตลาดส่งออกสูงถึง 67% ของยอดการผลิตรถทั้งหมดของไทย

 


นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ ฉุดการผลิตอุตสาหกรรมไทยให้เสี่ยงหดตัวราว 1.0% ในปี 2568 ขณะที่ไทยหวังพึ่งแรงส่งจากการท่องเที่ยวได้ไม่มากเท่าปีก่อน โดยผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะได้รับผลกระทบทางตรงจากการขึ้นภาษีและคำสั่งซื้อที่ลดลงของสหรัฐฯ เนื่องจากพึ่งพาสหรัฐฯ ในฐานะตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนรถยนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ถูกกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางเศรษฐกิจหลักในโลกที่ชะลอลง สิ่งที่ตามมาคือ แรงงานในภาคการผลิตที่ทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงด้านรายได้ โดยโรงงานอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์เริ่มมีสัญญาณการปิดตัวเพิ่มขึ้นและเป็นขนาดกลางถึงใหญ่ ซึ่งสถานการณ์คงจะท้าทายมากขึ้นอีกเมื่อสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในต้นเดือนเมษายนนี้ นอกจากนี้ ไทยคงคาดหวังแรงส่งจากการท่องเที่ยวได้ไม่มากเท่าปีก่อน หลังจำนวนนักท่องเที่ยว 2 ชาติหลักอย่างจีนและมาเลเซียลดต่ำลง อีกทั้ง การแข่งขันกันดึงนักท่องเที่ยวและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้การฟื้นตัวของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดหรือมากกว่านั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

 


นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ขยายความว่า หากไทยโดนภาษีนำเข้า Reciprocal Tariff เพิ่มขึ้นอีก 10% คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีที่ -0.3% ซึ่งผลกระทบดังกล่าวได้รวมไว้ในการประมาณการจีดีพีปี 2568 ที่ 2.4% แล้ว อย่างไรก็ตาม หากไทยโดนภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 25% คาดว่าจะส่งผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น -0.6% และประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ปัจจุบันมองไว้ที่ 2.4% มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงแต่จะยังอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2.0% นอกจากนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2568 แทบจะไม่เติบโตเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) จากผลกระทบสงครามการค้า ปัจจัยฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และแรงส่งทางเศรษฐกิจลดลง


นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาลงทั้งในและต่างประเทศ แต่สำหรับภาคเอกชนไทยที่มีแผนระดมทุน อาจต้องระวังว่า ต้นทุนการระดมทุนอาจไม่ได้ลดลงมากอย่างที่คาด เพราะนักลงทุนในประเทศยังแสดงสัญญาณระมัดระวัง ทำให้ Spread หุ้นกู้บางกลุ่มยังปรับขึ้น ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.0 -34.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงไตรมาส 2/2568 โดยมีโอกาสแข็งค่าในระยะสั้น ตามการปรับขึ้นของราคาทองคำ และการคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟด ส่วนสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว แต่ส่วนหนึ่งเป็นการย้ายมาจากตลาดตราสารหนี้ ทำให้ทั้งปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองว่าสินเชื่อจะโตไม่สูงที่ 0.6% โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะยังหดตัว สอดคล้องกับสถานการณ์ธุรกิจและอำนาจซื้อที่ไม่แน่นอน ขณะที่มองว่ามาตรการ LTV ที่เพิ่งผ่อนคลายจะทำให้ประมาณการสินเชื่อบ้านปีนี้โตเพิ่มขึ้นได้อีก 0.1-0.2% จากประมาณการเดิมที่ 0.5%

 

///จบ///

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้